xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

แท็กซี่กระจอกๆ เท่านั้นที่กลัว! “อูเบอร์” ถูกกฎหมาย?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มแท็กซี่พัทยา กลุ่มแท็กซี่และรถสองแถวแดงเชียงใหม่ บุกล้อมล้อมอูเบอร์หลายคันในหลายพื้นที่
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กลุ่มแท็กซี่พัทยา ขับรถล้อมอูเบอร์ไล่นักท่องเที่ยวลง
กลุ่มแท็กซี่เชียงใหม่ บุกล้อมหยุดรถยนต์ต้องเพื่อตรวจสอบ เพราะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นรถอูเบอร์
กลุ่มคนขับสี่ล้อแดงเชียงใหม่ รุมล้อมบังคับคนขับอูเบอร์ลงจากรถ เหตุไม่พอใจถูกแย่งผู้โดยสาร ฯลฯ

ยังคงเป็นเรื่องบานปลายเป็นข้อพิพาทที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ สำหรับกรณีการให้บริการของแท็กซี่ Uber (อูเบอร์) และ Grab (แกร๊บ) แอปพลิเคชันไรด์แชริ่ง (Ride-Sharing) บริการร่วมเดินทางที่ “ถูกใจประชาชน” แต่สร้างความหัวเสียอย่างหนักให้กับกลุ่มคนขับแท็กซี่และรถรับจ้างสาธารณะ(ส่วนหนึ่ง) ที่อ้างว่าอูเบอร์และแกร๊บเป็นต้นเหตุ “รายได้หดหาย” และ “ผิดกฎหมาย” กลายเป็นปรากฎการณ์ “แท็กซี่บุกล้อมจับอูเบอร์” อย่างต่อเนื่อง

แต่จะอย่างไรก็ตาม ยากที่จะปฏิเสธว่าเหตุผลที่ประชาชนจำนวนมากเลือกใช้บริการไรด์แชริ่งอย่าง อูเบอร์ - แกร๊บ เป็นผลพวงมาจากสารพันปัญหาแท็กซี่ไทย ซึ่งประสบการณ์ยอดแย่ในการเดินทางด้วยแท็กซี่ไทย ยังลุกลามในกลุ่มชาวต่างชาติโดนเอารัดเอาเปรียบมานักต่อนัก ซ้ำร้ายบ้างตกเป็นเหยื่ออาชาญกรรม ดังปรากฎเป็นข่าวให้เห็นก็ไม่น้อย อย่างกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ หนุ่มชาวจีนแฉถูกเเท็กซี่เมืองไทยเอาเปรียบหลายครั้ง จนครั้งล่าสุดรู้สึกไม่ปลอดภัยอย่างหนัก ตัดสินใจแฉความน่ากลัวพร้อมเผยหมดเปลือกดีใจมากที่ยังมีชีวิตอยู่

เมื่อกลุ่มคนขับแท็กซี่ไม่มีการพัฒนาบริการของตนเอง จึงต้องยอมรับชะตากรรมในเรื่องผลกระทบจากสัดส่วนลูกค้าหันไปใช้ไรด์แชริ่ง ซึ่งการบริการที่เข้ามาอุดช่องโหว่ของไรด์แชริ่งกลายเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าสำหรับผู้บริโภค ยกตัวอย่าง ราคาสูงกว่าไม่กี่สิบบาทแต่ประกันความเสี่ยงเรื่องการเอารัดเอาเปรียบไปเปราะหนึ่ง ขณะที่ผู้ขับอูเบอร์-แกร๊บ มีการตรวจสอบประวัติอาชญกรรม และมีระบบคัดกรองการบริการในส่วนของเรตติ้งและรีพอร์ตจากผู้โดยสาร ซึ่งจะชี้ชะตาผู้ขับกลุ่มไรด์แชริ่งกว่าจะสามารถให้บริการต่อไปได้หรือไม่

นั่นจึงเป็นข้อเท็จจริงที่ว่า “แท็กซี่กระจอกๆ เท่านั้นที่กลัวอูเบอร์” น้ำคำจากปากของลุงคนขับแท็กซี่คนหนึ่ง ที่มีการแชร์อย่างแพร่หลายในโซเชียลมีเดีย สะท้อนบริบทในวิชาชีพให้บริการรถสาธารณะได้เป็นอย่างดี และ “โดนใจผู้โดยสาร” การันตีว่าหากบริการดีย่อมมีลูกค้าเรียกใช้งานประจำ ไม่จำเป็นต้องร้องแรกแหกกระเชอใดๆ

สืบเนื่องสถานการณ์ปัญหาที่กล่าวข้างต้นนั้น เมื่อ 23 มิ.ย. 2560 นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตั้งกระทู้ถาม รมว.คมนาคม ในที่ประชุม สนช. ชงประเด็น “อูเบอร์ถูกกฎหมาย” เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ปัญหาการให้บริการรถยนต์ป้ายดำ ที่เกิดเหตุการณ์ถูกกลุ่มแท็กซี่ปิดล้อมหลายกรณี และสร้างความหวาดกลัวต่อผู้โดยสารทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมทั้งกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทย

นายวัลลภ กล่าวถึงกรณีไรด์แชริ่งที่กลายมาเป็นทางเลือกตัวเลือกในการเดินทางของผู้คนยุคใหม่มากขึ้น ความว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากการให้บริการของผู้ขับรถแท็กซี่ ที่ถูกร้องเรียนเรื่องการให้บริการเป็นจำนวนมาก ทำให้ประชาชนมองหาทางเลือกอื่นที่ดีกว่า โดยเฉพาะอูเบอร์ การที่กระทรวงคมนาคมไม่สามารถควบคุมการให้บริการแท็กซี่ ที่มีคุณภาพดีตอบสนองประชาชนได้ แต่กลับห้ามรถอูเบอร์ให้บริการอ้างว่าผิดกฎหมาย ส่งผลให้ไม่มีการแข่งขันของผู้ประกอบการ ประชาชนขาดทางเลือกในการใช้บริการรถสาธารณะ

ดังนั้น จึงอยากถามว่ากระทรวงคมนาคมมีนโยบายการให้บริการรถอูเบอร์ให้ถูกกฎหมาย เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ใช้บริการรถยนต์สาธารณะหรือไม่? และมีมาตรการไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่ง หรือความขัดแย้งที่ระหว่างผู้ขับแท็กซี่กับผู้ขับรถอูเบอร์หรือไม่?

แต่งานนี้ฟากเครือข่ายแท็กซี่ฯ ตบเท้าออกมาประท้วงรวดเร็วปานกามนิตหนุ่ม บุกล้อมรัฐสภาในวันรุ่งขึ้น คัดค้านอูเบอร์ถูกกฎหมาย นายวัลลภตกเป้าโจมตีอย่างหนักและให้สัมภาษณ์ในเวลาเดียวกันว่า การตั้งกระทู้ในที่ประชุม สนช. เป็นประเด็นที่ตรงกับข้อเสนอที่ทางเครือข่ายยื่นเรื่องเพื่อขอความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบอาชีพรถแท็กซี่ที่อยู่ภายใต้กฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522

“การตั้งกระทู้นั้น ไม่ได้ต้องการไปซ้ำเติมแท็กซี่ทั่วไป แต่พยายามให้แท๊กซี่อูเบอร์กับแกร็บแท็กซี่ที่ทำผิดกฏหมาย มาอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย สิ่งที่จะทำให้ถูกกฎหมายเร็วที่สุด คือ ให้มีการจดทะเบียนรถแท็กซี่ทั่วไป ซึ่งกระทรวงคมนาคมก็รับฟัง พร้อมนำข้อเสนอดังกล่าวไปหารือกันต่อไป” นายวัลลภอธิบาย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน มี.ค. 2560 เครือข่ายแท็กซี่ฯ ได้รวมตัวยื่นหนังสือต่อ กระทรวงคมนาคม และกรมการขนส่งทางบก เรียกร้องความเป็นธรรมให้รัฐยุติการให้บริการ “อูเบอร์ - แกร๊บ” มาแล้ว

สำหรับยุติข้อพิพาทที่เกิดขึ้นนั้น นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ออกมาชี้แจงว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาของกระทรวงฯ ว่าจะนำอูเบอร์เข้ามาในระบบโดยวิธีการใด เบื้องต้นมีอยู่ 2 แนวทาง คือ “ทำให้ถูกกฎหมาย” หรือ “ออกกฎหมายใหม่” ระหว่างนี้กำลังศึกษาข้อดีข้อเสียอย่างรอบครอบ และจะมีคำตอบที่ชัดเจนเพื่อเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายโดยเฉพาะประชาชนผู้ใช้บริการ เครือข่ายแท็กซี่ที่มีประมาณ 120,000 คัน

กระทรวงคมนาคมคาดว่าจะใช้เวลา 4-5 ศึกษาผลกระทบและแนวทางแก้ปัญหา “รถแท็กซี่ป้ายดำ” ที่ให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่น “อูเบอร์-แกร๊บ”

อย่างไรก็ตาม นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ออกมาปราบกลุ่มรถแท็กซี่ที่มีพฤติการณ์ล้อมรถยนต์ที่เชื่อว่าเป็น อูเบอร์-แกร๊บ ขอให้งดเว้นพฤติกรรมรุมล้อมรถ หากพบรถยนต์ที่สงสัยให้แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบเท่านั้น ย้ำว่าหากตรวจพบพฤติกรรมรุมล้อมรถอีก สำนักงานขนส่งจังหวัดจะพิจารณาลงโทษอย่างเข้มงวด


กำลังโหลดความคิดเห็น