xs
xsm
sm
md
lg

สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง หรือเหล้าเก่าในขวดใหม่ที่ซาอุฯ

เผยแพร่:   โดย: สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร

<b>มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน</b>
มกุฎราชกุมารพระองค์ใหม่ของราชวงศ์ซาอุฯ มีพระชนมพรรษาน้อยเพียงครึ่งหนึ่งของมกุฎราชกุมาร Nayef ที่ทรงถูกปลดอย่างสายฟ้าแลบออกจากตำแหน่ง โดยมีพระบรมราชโองการจากพระราชาธิบดี Salman ที่อ้างถึงมติการประชุมของสภาแห่งพระประยูรญาติด้วย

มกุฎราชกุมารพระองค์ใหม่ มีพระชนมพรรษาแค่ 31 พรรษา และได้อยู่ในตำแหน่งรองมกุฎราชกุมารมาเพียง 2 ปี 4 เดือนเท่านั้น ก่อนหน้านี้ ตำแหน่งรองมกุฎราชกุมาร ก็ไม่เป็นที่รู้จัก และทรงทำหน้าที่ดูแล Court ของพระบิดา (ขณะที่ดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมารในพระราชาธิบดี Abdullah ที่เสด็จสวรรคตเมื่อมกราคม 2015)

พระนามของมกุฎราชกุมารพระองค์ใหม่ คือ Mohammed bin Salman และเป็นที่รู้จักกันในอักษรพระนามย่อว่า MbS และเมื่อมาช่วยงานพระราชบิดาก็ยังได้รับสมญาว่า Mr.Everything คือทรงได้รับความไว้วางใจให้ดำเนินงานแทบทุกอย่าง เพราะกษัตริย์ Salman มีพระชนมายุสูงมากถึง 81 พรรษาแล้ว

เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองมกุฎราชกุมาร MbS ได้รับหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคอยดูแลกิจการทหารทั้งหมด และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่หนุ่มที่สุดในโลกแค่ 29 พรรษาเท่านั้น

ท่านทรงมีบทบาทสำคัญในการเสนอให้จัดการกับกบฏ Houthi ในเยเมน เพื่อโอบอุ้มรัฐบาลของประธานาธิบดีซอและห์ (ที่เคยถูกขับออกเมื่อ Arab Spring 2012 แล้วต่อรองดื้อแพ่งจนยังครองอำนาจอยู่ในปี 2015) ที่เป็นสุหนี่

วิธีการของ MbS คือเสนอหมู่มิตรประเทศในอ่าวเปอร์เซีย นำโดย GCC (Gulf Cooperation Council) ให้รวมกันเป็นพันธมิตร ส่งทั้งกองกำลังหรือส่งเงินเพื่อไปปราบกบฏ Houthi โดยมีสหรัฐฯ แอบช่วยซาอุฯ อย่างลับๆ จนมาถึงโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ส่งหน่วยปฏิบัติการพิเศษไปร่วมถล่มโจมตีทางอากาศที่เยเมนด้วย

MbS ได้ให้ความมั่นใจว่าจะสามารถปราบกบฏ Houthi ได้อย่างรวดเร็ว เพราะเป็นประเทศที่เล็กมากและยากจน แต่จนเวลาผ่านไป 2 ปีแล้ว ก็ยังเละเทะอยู่ และฝ่ายกบฏก็ยังยึดเมืองหลวง Sanaa เอาไว้ได้

ช่วงโจมตีทางอากาศนั้น ได้ใช้ทรัพยากรด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ + ทหารของซาอุฯ ไปมากมาย รวมทั้งเกิดการร้องเรียนจากกลุ่มแพทย์ไร้พรมแดน (ที่เคยได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ) ที่ตั้งโรงพยาบาลสนามที่นั้นว่า ถูกถล่มจนหมอตายไปหลายคน แม้เป็นโรงพยาบาลก็ถล่ม แม้เป็นโรงเรียนก็ถล่ม เด็กๆ ที่นั่นตาย 1 คน ต่อ 10 นาที (ตัวเลขจาก UN) จนเลขายูเอ็นออกมาเตือนรัฐบาลซาอุฯ และมองกันว่า MbS มือเปื้อนเลือด ด้วยความเป็นสายเหยี่ยวของท่าน และคาดการณ์ผิดว่าจะชนะในเวลารวดเร็ว ก็ยังไม่สามารถยุติสงครามกลางเมืองที่เยเมนได้

ความเป็นคนหนุ่ม จึงมีคนรุ่นใหม่ที่ซาอุฯ แอบตั้งความหวังว่าจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลง (คล้ายๆ กับที่ประธานาธิบดีมาครง ได้สร้างปรากฏการณ์ที่คนรุ่นใหม่ไปลงคะแนนให้มากมาย) โดย MbS ได้เสนอการปฏิรูปเศรษฐกิจด้วยวิสัยทัศน์ 2030 (คืออีก 13 ปีจากปีนี้ 2017) ซึ่งส่วนหนึ่งที่สำคัญคือการทำให้เศรษฐกิจเลิกพึ่งพารายได้จากน้ำมันอย่างเดียว เป็นการหย่านมจากน้ำมันซึ่งเกิดจากวิกฤตราคาน้ำมันดิ่งเหวมาตั้งแต่ปี 2014 และทำให้งบประมาณซาอุฯ ขาดดุลถึง 12% ของ GDP ขณะที่ซาอุฯ ได้ให้เงินสนับสนุนประชาชน (ที่ไม่ต้องเสียภาษี) ด้านที่อยู่อาศัย/การรักษาพยาบาล/การลาพักผ่อนประจำปี และมากมาย

ส่วนหนึ่งในการปฏิรูป คือการวางแผนสร้างงานถึง 4 แสน 5 หมื่นตำแหน่งกับงานใหม่ๆ นอกเหนือจากอุตสาหกรรมน้ำมัน โดย MbS เสนอตั้งกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund) ให้โตมากๆ ขนาด 2 ล้านล้านเหรียญ จากการนำหุ้นของบริษัทน้ำมันแห่งชาติ Aramco ออกมาขายแค่ 5% ก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มสัดส่วนขายมากขึ้น โดยจะเอาเงินมาทำให้ซาอุฯ เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง (Logistics Hub) ระหว่างเอเชียและยุโรป โดยจะมีทั้ง Commercial Complex รวมทั้งอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่จะสร้างขึ้นมาทำรายได้ใหม่ให้ซาอุฯ

หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมจึงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันตอนนี้ สื่อตะวันตกหลายสำนัก โดยเฉพาะ New Yorker ฟันธงว่า เป็นเพราะกษัตริย์ Salman มีพระชนมายุสูงถึง 81 พรรษา และทรงเริ่มหลงลืม (Dementia) จึงมีการเซ้าซี้จากพระมเหสีพระองค์ที่ 3 ที่เป็นพระมารดาของ MbS ให้รีบผ่องถ่ายอำนาจ ซึ่งได้เริ่มตั้งแต่เมื่อกษัตริย์ Salman ขึ้นครองราชย์เมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่ขณะนั้น MbS มีพระชนมพรรษาแค่ 29 พรรษา จึงมีการรอจนพระชนมพรรษาถึง 30 พรรษาก่อน

ขณะเดียวกัน ก็มีการผลักดันทั้งภาพลักษณ์ของ MbS โดยมีการติดรูปให้ทั่วตามที่ต่างๆ ทั่วซาอุฯ ควบคู่ไปกับ Vision 2030 เพื่อการปฏิรูป ตลอดจนการประทานสัมภาษณ์ทางทีวีบ่อยๆ ให้ประชาชนได้ชินตา

วันที่มีพระบรมราชโองการโปรเกล้าฯ แต่งตั้ง MbS เป็นมกุฎราชกุมารองค์ใหม่นั้น ก็มีการแต่งตั้งพระอนุชา คือเจ้าชายคาลิด ซึ่งยังเยาว์พระชนมพรรษาแค่ 28 พรรษา (เข้าใจว่ามีพระมารดาเดียวกันกับ MbS) ขึ้นดำรงตำแหน่งทูตซาอุฯ ประจำวอชิงตัน ดี.ซี. (ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการทูตใดๆ โดยทรงเป็น Fighter Jet Pilot) แต่เป็นการยึดงานต่างประเทศเสร็จสรรพให้มาอยู่กับ MbS และปูทางเจรจาระหว่าง MbS และโดนัลด์ ทรัมป์ จนทำให้ทรัมป์ตัดสินใจไปเยือนซาอุฯ เป็นประเทศแรกทีเดียว

เรื่องการตัดสัมพันธ์กับกาตาร์ก็เป็นผลงานของ MbS เช่นกัน

สรุปว่า ซาอุฯ กำลังมีท่าทีเปลี่ยนแปลงสำหรับ The King-in-Waiting พระองค์ใหม่ ที่อาจเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ที่เป็นทั้งสายเหยี่ยว, มือเปื้อนเลือด หรือจะเป็นกษัตริย์หนุ่มที่นำการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง โปรดติดตาม.
กำลังโหลดความคิดเห็น