ไม่ว่าคุณพี่จีนท่านคิดจะเชิญ หรือไม่คิดจะเชิญ ท่านนายกฯ “บิ๊กตู่” ของเรา ไปพูดคุยสนทนาระดับสูง ว่าด้วยโครงการ “หนึ่งแถบ-หนึ่งเส้นทาง” (High-Level Dialogue Belt and Road Forum for International Cooperation) ณ กรุงปักกิ่ง นับตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา คงไม่ได้ถือเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องโตแต่อย่างใด แม้จะเป็นการเปิดโอกาสให้พวก “เผาไทย” หรือพวก “เสื้อแดง” ออกมาเยาะเย้ย นินทา ไปตามประสาของผู้ซึ่งมักไม่นิยมใช้มันสมองไปในทางที่เป็นประโยชน์ ไม่ว่าต่อตัวเอง หรือผู้อื่น...
แต่สำหรับผู้ที่ยังพอหลงเหลือ “สติ - ปัญญา” ติดปลายนวมเอาไว้มั่ง แม้แต่เล็กๆ น้อยๆ โครงการที่เรียกๆ กันว่า “One Belt, One Road” ซึ่งคุณพี่จีนท่านพยายามนำเสนอต่อชาวโลกนับเป็นปีๆ มาแล้ว ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องที่ “ไม่สนใจไม่ได้โดยเด็ดขาด” ยังเป็นเรื่องที่ควรต้องนำมาใคร่ครวญ พินิจ พิจารณา ให้หนักๆ เข้าไว้ ตราบใดที่ประเทศไทยแลนด์ แดนสยาม ของหมู่เฮา ยังคงมีที่ตั้งอยู่บนแผนที่โลก ไม่ได้ล่องลอยอยู่บนอวกาศหรืออยู่ในสุญญากาศ ด้วยเหตุเพราะโครงการที่ว่านี้ อาจเรียกว่า...คือ “โครงการเปลี่ยนโลก” หรือ “เปลี่ยนระเบียบโลก” เอาเลยก็ว่าได้!!!
ถ้าสรุปแบบสั้นๆ ง่ายๆ...โครงการที่ว่านี้ ก็คือโครงการที่พยายามนำเอาเส้นทางการค้า การติดต่อ การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ทั้งทางบกและทางทะเล ที่เคยเปลี่ยนโลกทั้งโลกนับแต่ยุคอดีต หรือที่เรียกๆ กันว่า “เส้นทางสายไหม” (Silk Road) นั่นแหละ มาใช้ในการเปลี่ยนโลก หรือเปลี่ยนระเบียบโลกในยุคนี้คือเส้นทางที่พระชาวจีนอย่าง “หลวงจีนฟาเหียน” ท่านเคยรอนแรมจากจีนเพื่อไปศึกษาพุทธศาสนาในอินเดีย โดยออกเดินทางทางบกเมื่อช่วงปี ค.ศ. 337 แล้วอาศัยเส้นทางเดินเรือจากอินเดียกลับมาถึงเมืองจีนในปี ค.ศ. 422 เพียงแต่ว่า...คราวนี้ คุณพี่จีนท่านไม่ได้คิดจะเน้นหนักในเรื่องการศึกษาพระธรรมคัมภีร์แต่อย่างใด แต่หันมาเน้นในเรื่อง “การเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ” ของโลกทั้งโลกซะมากกว่า ด้วยการอาศัยกระบวนการเข้าไปมีส่วนร่วม ในการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ตลอดทั่วทั้งเส้นทางสายไหมบนบกและในทะเล ไม่ว่าจะในแง่ของการเข้าไปลงทุน ก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน ทางรถไฟ รถยนต์ ท่อขนส่งพลังงาน ตลอดไปจนการก่อสร้างท่าเรือและขยายท่าเรือต่างๆ เพื่อให้บรรดาสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ สนองตอบต่อระบบเศรษฐกิจการค้าของจีนและของโลกไปพร้อมๆ กัน แถมยังตอบสนองต่อ “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” หรือ “ยุทธศาสตร์ความมั่นคงของจีน” ควบคู่ไปด้วย...
แม้ว่าแต่เดิมที...ประเทศจีนจะเคยมี “จุดอ่อน” ในด้านเส้นทางทางทะเลอยู่พอสมควร จนถูกนักล่าอาณานิคมตะวันตก อาศัย “เรือปืน” แค่ไม่กี่ลำ ก็แทบจะยึดเมืองจีนได้ทั้งประเทศ แต่ด้วยการนำเอา “วิสัยทัศน์” ของบรรพบุรุษชาวจีนเมื่อครั้งอดีต ไม่ว่าตั้งแต่ยุคนายพลเรือ “เจิ้งเหอ” แห่งราชวงศ์หมิง หรือยุคจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ “ซ้อง” ที่อาศัย “ทุนนิยมศักดินา” ทุ่มทุนสร้างท่าเรือ โกดังเก็บสินค้า และจัดตั้ง “กองทัพเรือจีน” ขึ้นมาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ จนสามารถขยายเขตการค้าไปไกลถึงอาณาจักร “Fu-Lin” หรือจักรวรรดิ “โรมันไบแซนไทน์” โน่นเลยนำมา “ปัดฝุ่น” ใหม่ ให้กลายเป็นแนวคิดริเริ่มที่เรียกว่า “เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21” (21 st Century Maritime Silk Road) อันทำให้อำนาจอิทธิพลทางทะเลของจีน ไม่ว่าการค้า การขนส่ง หรือแม้แต่การทหารก็ตาม ขยายตัวแบบพรวดๆ พราดๆ จนโลกทั้งโลกแทบมิอาจปฏิเสธได้อีกต่อไป...
ด้วยส่วนแบ่งทางการค้าที่มีประมาณถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของการค้าทั้งโลก บรรดาสินค้าเข้า-สินค้าออกของจีน ที่มักอาศัยการขนส่งทางเรือเป็นหลัก ทำให้ประเทศจีนทุกวันนี้แทบกลายเป็น “จุดเริ่มต้น” และ “จุดหมายปลายทาง” ของการขนส่งสินค้าทางเรือทั่วทั้งหมด 7 ใน 10 ของตู้คอนเทนเนอร์ที่กองระเกะระกะอยู่ตามท่าเรือทั่วโลก ล้วนแล้วแต่เป็นตู้คอนเทนเนอร์ที่มาจากเมืองจีนด้วยกันทั้งสิ้น โดยมี “กองทัพเรือแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน” (Chinese People’s Liberation Army Navy-PLAN) ที่ถือเป็นกองทัพเรือที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย มีเรือรบผิวน้ำ 77 ลำ เรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์และดีเซลกว่า 60 ลำ เรือสะเทินน้ำสะเทินบกขนาดกลางและขนาดใหญ่กว่า 55 ลำ เรือติดขีปนาวุธ 85 ลำ และเรือบรรทุกเครื่องบินอีก 2 ลำ คอยปกป้องคุ้มครองได้โดยตลอด แถมยังมี “ฐานทัพเรือถาวร” ที่เริ่มสร้างเอาไว้ในประเทศจิบูตี เป็นตัวรองรับไว้ซะอีกต่างหาก...
โดยพลังอำนาจเช่นนี้นี่เอง ที่ทำให้จีนสามารถแผ่อิทธิพลครอบครองท่าเรือ “ไพเรอุส” (Piraeus) ในเมืองอัตติกา ประเทศกรีซ เอาไว้เป็น “หัวสะพาน” หรือเป็น “ปากประตู” ที่จะช่วยเปิดช่องให้พญามังกรสามารถแล่นเลื้อยเข้าสู่ทวีปยุโรปโดยสะดวก ทั้งยุโรปใต้-กลาง-ตะวันออก จนไปเชื่อมบรรจบกับเส้นทางรถไฟ รถยนต์ ตลอดไปจนท่อแก๊ส ท่อขนส่งน้ำมัน ที่แผ่สยายอยู่ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียกลาง ทางสายไหมทั้งทางทะเลและทางบกที่เกี่ยวโยงในลักษณะต่างกระตุ้นและสนับสนุนซึ่งกันและกัน จึงทำให้สิ่งที่เรียกว่า “One Belt, One Road” แทบไม่ต่างอะไรไปจาก “เชือก 2 เส้น” ที่คอยร้อยรัดทวีปยุโรปเอาไว้ตรงกลาง อันทำให้ “ตลาด EU” อันถือเป็นตลาดการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก แทบ “ดิ้นไม่ออก” หรือแทนที่จะดิ้นอยู่ภายใต้อ้อมอกของอภิมหาอำนาจสูงสุดอย่างคุณพ่ออเมริกาอย่างเท่าที่เคยเป็นมาโดยตลอด เผลอๆ...อาจหนีไม่พ้นต้องดิ้นมาหาไออุ่นจาก “มังกรจีน” ในท้ายที่สุด เอาเลยก็ไม่แน่!!!