xs
xsm
sm
md
lg

เทคโนโลยีที่มาเร็วกว่าผลการพยากรณ์

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

เมื่อปี 2543 ทั่วทั้งโลกได้ติดตั้งโซลาร์เซลล์รวมกันจำนวน 2,000 เมกะวัตต์ อีก 2 ปีต่อมา “องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ” (International Energy Agency-IEA ก่อตั้งเมื่อปี 2517) ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อต่อรองกับกลุ่มโอเปกที่ชอบขึ้นราคาน้ำมันดิบถึง 4 เท่าตัวในปีเดียว ทางไออีเอได้ศึกษาสถานการณ์ความก้าวหน้าของโซลาร์เซลล์พร้อมกับได้พยากรณ์ว่าภายในปี 2563 จำนวนโซลาร์เซลล์ติดตั้งสะสมทั่วโลกจะมีประมาณ 10,000 เมกะวัตต์หรือเพิ่มขึ้นเป็น 5 เท่าตัว แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่าในต้นปี 2560 นี้จำนวนโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งแล้วทั่วโลกมีถึง 227,000 เมกะวัตต์ (จากบทความของ JOHN TIMMER https://arstechnica.com/science/2017/04/whats-next-for-solar-energy/) ทั้งๆ ที่ยังมีเวลาเหลืออีก 3 ปีกว่าจะถึงปีเป้าหมาย

นั่นคือ ผลการพยากรณ์ได้ต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างน้อย 23 เท่าตัว

ผมเองเคยสอนวิชาการสร้างตัวแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับการพยากรณ์มานานร่วม 20 ปี ผมคิดว่าผมมีความเข้าใจในกระบวนการพยากรณ์พร้อมกับเงื่อนไขต่างๆ เป็นอย่างดี ถ้าเป็นการพยากรณ์ในปัญหาที่ความซับซ้อนมาก เช่น ความเร็วของกระแสน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ หากผลการพยากรณ์มีความแตกต่างไปจากความเป็นจริงประมาณ 1 เท่าตัว โดยมีแนวโน้มที่เป็นไปในทางเดียวกัน (หรือมีแนวโน้มถูกต้อง) คนในวงการเขาถือว่าเป็นการพยากรณ์ที่พอรับกันได้

แต่สำหรับผลการพยากรณ์จำนวนโซลาร์เซลล์ดังกล่าวต้องถือว่าเป็นการพยากรณ์ที่มีความผิดพลาดถึงอย่างน้อย 23 เท่าตัว ย่อมถือเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง และรับกันไม่ได้แน่นอน แต่อะไรคือสาเหตุความผิดพลาดของการพยากรณ์ดังกล่าว

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของการพยากรณ์ที่ผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง จากข้อมูลของคุณ Tony Seba แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้เล่าในการบรรยายของเขาว่า เมื่อกลางทศวรรษ 1980 บริษัทที่ปรึกษาที่มีชื่อเสียงของโลกคือ McKinsey ได้พยากรณ์ว่าอีก 15 ปีข้างหน้าจะมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือจำนวน 9 แสนรายทั่วโลกภายในปี 2543 แต่ความจริงพบว่ามีผู้ใช้จริงถึง 109 ล้านราย มากกว่าคำพยากรณ์ถึง 120 เท่าตัว

ผมเข้าใจว่าจาก 2 ตัวอย่างที่ผมได้เล่ามาแล้ว มันเป็นการพยากรณ์เชิงปริมาณเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจัยในเชิงปริมาณดังกล่าวมันไปผูกติดกับสิ่งที่นักพยากรณ์คาดไม่ถึง สิ่งนั้นก็คือการบรรลุทางปัญญาครั้งยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ ซึ่งเป็นเรื่องเชิงคุณภาพที่ต้องการวิสัยทัศน์หรือกรอบความคิดใหม่

ผมเองเป็นนักคณิตศาสตร์ ผมทราบว่าองค์ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ของมนุษยชาติต้องหยุดชะงักอยู่เกือบ 2 พันปี เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาที่ต้องหารตัวเลขด้วยจำนวนที่เป็นศูนย์ได้ หลังจากได้นำแนวคิดของลิมิต (Limit) มาใช้แก้ปัญหา เรื่องที่เคยตีบตันมานานก็สามารถแก้ไขได้ด้วยวิชาที่เกิดขึ้นใหม่คือวิชาแคลคูลัสซึ่งมีประสิทธิภาพสูงมาก ใช้งานได้ง่ายกว่าวิชาอื่นๆ ในอดีต ความก้าวหน้าในวงการคณิตศาสตร์และวิชาอื่นๆ ที่ต้องใช้คณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือได้ทำให้โลกได้พัฒนาไปเยอะมากอย่างก้าวกระโดด

แม้ว่าคำว่า “โซลาร์เซลล์ (Solar Cell)” เพิ่งมีการจดลิขสิทธิ์เพื่อ พ.ศ. 2431 แต่ประสิทธิภาพในการแปลงพลังงานแสงแดดมาเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ต่ำ ในขณะที่ต้นทุนในการผลิตก็สูง แต่ด้วยความก้าวของฟิสิกส์ยุคใหม่ รวมถึงวิชาใหม่ๆ เช่น Solid State Physics (เกิดขึ้นในทศวรรษ 1940) และวิชาวัสดุศาสตร์ ได้ทำให้ประสิทธิภาพสูงขึ้น ในขณะที่ต้นทุนต่ำอย่างรวดเร็วอย่างที่นักพยากรณ์คาดไม่ถึง ได้ส่งผลให้ต้นทุนของแผงโซลาร์เซลล์ลดลงถึง 99.61% ในช่วงไม่ถึง 30 ปีจาก 2520 ถึง 2558 (ดูภาพประกอบ)

ผมถือว่าการเกิดขึ้นใหม่ของวิชาฟิสิกส์ยุคใหม่ที่ทำให้เกิดวัสดุศาสตร์ที่กล่าวมาแล้ว รวมทั้งการนำวัสดุลิเธียมไอออนมาทำแบตเตอรี่เก็บไฟฟ้าที่มีราคาถูกและประสิทธิภาพสูงคือการบรรลุทางปัญญาและเทคโนโลยีของมนุษยชาติอีกครั้งหนึ่ง แต่จะนำไปเปรียบกับการคิดค้นเรื่องลิมิตในวิชาคณิตศาสตร์ได้หรือไม่ ผมไม่ทราบ

ขออีกสักตัวอย่างถึงเรื่องการบรรลุทางปัญญา

สตีฟ จ๊อบส์บุคคลอัจฉริยะแห่งวงการคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน ได้เคยตั้งคำถามในการบรรยายของเขาเมื่อปี 1983 ('The Future Isn't What It Used To Be.' Talk By Steve Jobs At IDCA 15 of June 1983) ซึ่งเป็นปีที่คอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลกเพิ่งมีอายุได้เพียง 36 ปี ผู้ฟังส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าคอมพิวเตอร์คืออะไร

สตีฟ จ๊อบส์ จึงได้ตั้งคำถามเองแล้วตอบเองว่า “คอมพิวเตอร์คือเครื่องจักรอย่างง่ายๆ ชนิดใหม่ที่เกียร์และลูกสูบของระบบเดิมถูกแทนที่ด้วยอิเล็กตรอนนับพันๆ ล้านตัวที่เคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็วมาก”

แม้ว่าเราจะไม่มีความรู้ทั้งเรื่องเครื่องยนต์กลไกและคอมพิวเตอร์มากนัก แต่เราก็รู้สึกได้ว่า การเอาเกียร์และลูกสูบซึ่งเป็นหัวใจของเทคโนโลยีเก่าออกไปแล้วแทนที่ด้วยอิเล็กตรอนนับพันๆ ล้านตัว ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่มันไม่ใช่เรื่องธรรมดา แต่มันคือการบรรลุทางปัญญาของมนุษยชาติครั้งใหญ่อีกเช่นกัน

คนที่ใช้สมาร์ทโฟนส่งข้อมูลหรือรูปภาพผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตคงจะได้เห็นของจริงแล้วว่า เพียงไม่กี่วินาทีที่เราคลิ๊กส่งข้อมูล ผู้รับซึ่งอยู่ห่างออกไปนับหมื่นนับพันกิโลเมตรก็สามารถรับได้ในทันที นี่คือการเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอนที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วใกล้ความเร็วแสง

ปัจจุบันนี้ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีไม่ได้มาทีละตัว ทีละชนิด แต่มาบรรจบพร้อมกันเป็นแผงหลายชนิด คือ โซลาร์เซลล์ กังหันลม ใช้ผลิตไฟฟ้า แบตเตอรี่ใช้เก็บไฟฟ้า หลอดแอลอีดีซึ่งประหยัดไฟฟ้า และสมาร์ทโฟนใช้ทั้งการสื่อสาร เชื่อมโยงและการควบคุมระบบที่เกี่ยวข้องรวมทั้งความบันเทิง

ความผิดพลาดอย่างมากในการพยากรณ์ดังกล่าว จึงน่าจะเกิดจากการขาดองค์ความรู้ที่เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่คล้ายๆ กับ “โรคอุบัติใหม่” ในวงการสาธารณสุขที่ต้องมีการจัดการด้วยวิธีการใหม่เป็นพิเศษ

กลับมาที่การพยากรณ์จำนวนโซลาร์เซลล์อีกครั้งครับ

หลังจากทาง IEA ได้พยากรณ์ผิดพลาดแล้ว จึงได้พยากรณ์ใหม่อีกหลายครั้ง โดยผลการพยากรณ์ครั้งสุดท้ายสรุปว่าจะมีการติดตั้งจำนวน 400,000 เมกะวัตต์

ขณะเดียวกัน ทาง GTM Research ซึ่งเป็นองค์กรที่วิจัยการตลาดที่อ้างว่าเป็นระดับแนวหน้าได้ผลว่าจะมีจำนวน 750,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2020 (ดูภาพประกอบ)

ปัจจุบัน (2558) จีนเป็นประเทศที่ได้ติดตั้งโซลาร์เซลล์สะสมแซงหน้าประเทศเยอรมนี (ผู้ริเริ่ม) เรียบร้อยโรงเรียนจีนไปแล้ว เฉพาะในปี 2015 ปีเดียวประเทศจีนติดตั้งถึงกว่า 1 ใน 3 ของโลก (ดูรายละเอียดจากภาพประกอบ)

โปรดสังเกตว่า ประเทศกำลังพัฒนาที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกคือ จีนและอินเดีย ต่างก็ติดอยู่ในทั้ง 2 กลุ่มข้างต้น

นี่เป็นการพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่า ไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ไม่ได้ราคาแพง ไม่ได้เป็นภาระกับประชาชนผู้มีรายได้น้อยตามที่กระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นำมาหลอกคนไทยเพื่อเปิดทางให้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีแบบดั้งเดิมแต่ประการใด

อ้อ ข้อมูลถึงวันที่ 6 เมษายน 2560 ประเทศอินเดียมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์สะสมถึง 12,280 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจาก 6,780 เมกะวัตต์จากปี 2559 (https://en.wikipedia.org/wiki/Solar_power_in_India)

นี่ก็เป็นการยืนยันว่าข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก สำหรับราคาชนะการประมูลเมื่อเดือนมกราคม ปี 2559 ขนาด 750 เมกะวัตต์ ราคาไฟฟ้าเฉลี่ย 5 เซนต์สหรัฐต่อหน่วยไฟฟ้า หรือประมาณ 2.25 บาทต่อหน่วยเท่านั้น ถูกกว่าค่าไฟฟ้าที่คนไทยต้องจ่ายในปัจจุบัน ถ้าไม่เชื่อก็ลองติดตามดูที่ https://www.bloomberg.com/news/articles/2017-02-10/india-solar-costs-fall-to-record-in-competitive-biding-auction

ขอบคุณครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น