xs
xsm
sm
md
lg

สิ่งที่กองเชียร์ประยุทธ์อาจไม่ชอบ

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

หลังรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้มีคนคาดการณ์กันว่า ด้วยอำนาจของ คสช.ที่แต่งตั้ง ส.ว.จำนวน 250 เสียงแล้วให้มีอำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีในเวลา 5 ปีนั้น โอกาสที่จะได้นายกรัฐมนตรีคนนอกมีอยู่สูง และเขาเชื่อกันว่าคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีต่อหลังการเลือกตั้งก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานี่แหละ

แต่หากดูตัวอักษรที่รัฐธรรมนูญเขียนซ่อนเงื่อนไว้ก็ไม่ได้ง่ายเสียทีเดียวถึงวันนั้นก็ต้องดูว่า ส.ส.จะผนึกกำลังเพื่อเอาตัวเองออกจากอำนาจทหารหรือไม่ ถ้า ส.ส.จับมือกันก็พ้นจากร่มเงาของ คสช.ทันที

นี่เป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูกันหลังการเลือกตั้ง และทิศทางจากนี้ไปอีกปีกว่า 2 พรรคการเมืองใหญ่อย่างเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ จะส่งสัญญาณออกมาอย่างไร

แต่หากเราจะไปต่อกับพล.อ.ประยุทธ์ เราน่าจะหันมาดูว่า สิ่งที่เราอยู่กับพล.อ.ประยุทธ์มาแล้วเกือบ 3 ปีและอีกปีกว่าๆ ก่อนจะถึงเลือกตั้งรวมเป็นเกือบ 5 ปี เราควรจะได้นายกรัฐมนตรีคนเดิมอีก 4 ปีหลังการเลือกตั้งหรือไม่

ก่อนที่รัฐบาลทหารจะเข้ามายึดอำนาจจากการรัฐประหารนั้น สังคมไทยแตกออกเป็นเสี่ยงๆ มีเสื้อแดง เสื้อเหลือง มีฝ่ายเอาทักษิณไม่เอาทักษิณ แต่ถามว่า ความเห็นต่างๆ ทางการเมืองของคนไทยก่อนหน้านี้เป็นต้นเหตุของการรัฐประหารหรือไม่ สำหรับผมคิดว่าไม่ใช่นะครับ ความแตกต่างทางการเมืองเป็นความสวยงามของระบอบประชาธิปไตย แต่เหตุผลหลักที่ทหารเข้ามารัฐประหารก็คือ การบิดเบือนอำนาจของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ใช้เสียงข้างมากเพื่อล้มล้างความผิดของทักษิณ และการใช้ความรุนแรงกับฝ่ายต่อต้านนั่นเอง

ฝ่ายที่ต่อต้านทักษิณตั้งแต่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมาจนถึง กปปส.นั้นมีสิ่งที่เรียกร้องตรงกันก็คือ การปฏิรูปประเทศ ในสมัยพันธมิตรฯ นั้นมีการประชุมหลายครั้งจนมีข้อสรุปออกมาอย่างเป็นรูปธรรมในทุกด้าน กปปส.เท่าที่ทราบก็มีหารือถึงแนวทางการปฏิรูปอย่างเป็นงานเป็นการ

แต่คำถามที่ตามมาก็คือ รัฐบาลทหารที่ฝ่ายต่อต้านทักษิณสนับสนุนนั้น ได้ใช้ช่วงเวลาที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จนี้ปฏิรูปประเทศให้เป็นแนวทางไปตามทิศทางที่ต่อสู้เรียกร้องกันมาหรือยัง คำตอบของผมก็คือ 3 ปีกว่านี้ยังไม่ได้ทำอะไรเลยนะครับ

3 ปีที่ผ่านมาละลายหายไปแล้ว เหลืออีกปีกว่าต่อจากนี้พล.อ.ประยุทธ์เป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มเป็นรัฏฐาธิปัตย์ มีมาตรา 44 ที่มีอำนาจเหนือ 3 องค์กรหลักนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ เราจะคาดหวังได้เพียงไหนว่า รัฐบาลนี้จะจริงจังต่อการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ

หลังบริหารประเทศมา 3 ปีแล้ว เพิ่งจะเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้เองที่รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) แล้วประกาศรายชื่อคณะกรรมการปฏิรูปออกมา แต่ตลกมากครับคณะกรรมการปฏิรูปของรัฐบาลประยุทธ์ ล้วนแล้วแต่เป็นคนวัยเกษียณอายุและส่วนใหญ่เป็นอดีตข้าราชการที่คนทั่วไปมองว่าน่าจะเป็นองค์กรที่ต้องปฏิรูปมากที่สุดนั่นแหละ

ไม่ได้หมายความว่าคนเหล่านั้นจะไม่มีความสามารถ แต่การปฏิรูปประเทศมันควรผสมผสานไปด้วยคนหลากหลายรุ่น คนรุ่นใหม่ให้เขาได้มีส่วนกำหนดทิศทางของประเทศร่วมกันจะไม่ดีกว่าหรือ

ส่วนตัวผมคิดว่า คณะกรรมการปฏิรูปที่ตั้งขึ้นนั้นเป็นเพียงพิธีกรรมที่ไม่สามารถคาดหวังอะไรได้เอาง่ายๆ เลย อย่างการปฏิรูปตำรวจก็ชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลนี้เขาไม่ยอมทำแน่ๆ

นอกจากนั้นเราเห็นอย่างชัดเจนเลยว่า แม้รัฐบาลนี้จะเป็นรัฐบาลทหารที่มีอำนาจเด็ดขาด แต่ 3 ปีกว่านั้น เขามีจุดยืนไม่ต่างกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพลังงาน การประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษไล่ชุมชนออกจากป่า เอาพื้นที่ป่าสงวนไปให้ต่างชาติเช่าโดยพยายามผลักดันกฎหมายให้เช่าได้ถึง 99 ปี หรือกฎหมายเศรษฐกิจดิจิตอลที่เอื้อกลุ่มทุนใหญ่มากกว่าประชาชน ฯลฯ

แม้แต่เรื่องผลประโยชน์ของแผ่นดินในพื้นที่ทับซ้อนที่มีปัญหาในกรณีของด่านช่องตะกู รัฐบาลทหารก็ไม่ได้แสดงท่าทีออกมาเลยว่า การเข้ามาก่อสร้างบ่อนกาสิโนของเอกชนเขมรในพื้นที่แบบนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แม้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะยอมรับว่า เป็นพื้นที่ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิซึ่งในทางการทูตระหว่างประเทศ “พื้นที่ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ” ก็เป็นคำเดียวกับ “พื้นที่ทับซ้อน” นั่นเอง

นี่เป็นสิ่งสะท้อนว่า ไม่ว่ารัฐบาลทหารหรือรัฐบาลพลเรือน คำว่า “ผลประโยชน์” ก็มีอิทธิพลเหนือกว่ารัฐบาลเหนือกว่าอธิปไตยของชาติเสมอกัน

ในขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ พยายามสร้างความนิยมเพื่อเอาใจประชาชน แต่หลายโครงการก็ออกมาตอบสนองแก่กลุ่มทุนใหญ่ เขาร่ำลือกันถึงขาใหญ่ในวงอำนาจที่ทุกคนต้องผ่านด่านนี้เสียก่อน เครือข่ายและคอนเนกชันของทหารล้วนอาศัยบทบาทและบารมีนี้เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจในทุกที่ ทุกอย่างไม่ต่างจากตอนที่นักการเมืองมีอำนาจเพียงแต่เปลี่ยนมือกันเท่านั้นเอง

ไม่แปลกที่เขามองกันว่ารัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์เพียงแต่ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเพื่อไม่ให้ประชาชนออกมาโต้แย้งวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเท่านั้นเอง ใครมีปากเสียงก็จะถูกทหารเชิญเข้าไปพูดคุยเพื่อให้ปิดปาก ทำให้สังคมไม่สามารถตรวจสอบรัฐบาลได้เลย แต่รัฐบาลเองกลับทำทุกอย่างไม่แตกต่างจากรัฐบาลของนักการเมือง

นี่เป็น 3 ปีที่อยู่ภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ด้วยอำนาจที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทำให้ไม่อาจคาดหวังเลยว่ารัฐบาลนี้จะนำพาประเทศไปสู่การปฏิรูปด้านต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาในกระบวนการยุติธรรมที่ล้วนแล้วแต่เป็นต้นเหตุของความแตกแยกในประเทศนี้

กำลังคิดนะครับว่า มีอำนาจเบ็ดเสร็จขนาดนี้ มีมาตรา 44 อยู่ในมือ เรายังไม่เห็นเลยว่า จะนำพาประเทศให้ดีขึ้นได้อย่างไร สิ่งที่รัฐบาลนี้ทำก็คือ การเอาระบบราชการมาขับเคลื่อนประเทศ เพิ่มอำนาจให้ข้าราชการมากขึ้นซึ่งสะท้อนแล้วว่าเป็นตัวฉุดดึงการพัฒนาประเทศให้ล้าหลัง ไม่ได้มีวิสัยทัศน์ที่จะนำพาประเทศในโลกยุคใหม่เลย

แล้วเราจะคาดหวังได้ไหมครับว่า 1 ปีกว่าก่อนจะมีการเลือกตั้งก่อนจะมีรัฐบาลใหม่ ในขณะที่รัฐบาลยังมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแบบเผด็จการอยู่ในตอนนี้ จะมีความสามารถที่จะวางรากฐานเพื่อให้หลุดพ้นจากความขัดแย้งของประเทศที่ผ่านมาในรอบ 10 ปีได้ หากเป็นเช่นนี้แล้วเมื่อรัฐบาลพลเรือนกลับมา เราจะยังมีความขัดแย้งแบบเดิมๆ อีก

บอกตรงๆ ว่า 3 ปีผ่านไปแล้วเหมือนสายลมที่พัดผ่านเหลืออีกปีกว่าไม่เห็นความหวัง ถ้ามีอำนาจเบ็ดเสร็จขนาดนี้ยังทำไม่ได้ เราจะหวังว่าพล.อ.ประยุทธ์จะทำอะไรได้หากกลับมานั่งเก้าอี้นายกฯ หลังการเลือกตั้งที่ไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหมือนเก่า

พูดแบบนี้กองเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์อาจจะไม่ชอบ แต่ช่วยกันตอบคำถามหน่อยเถอะว่าสิ่งที่เราเรียกร้องการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งนั้น มีอะไรเกิดขึ้นแล้วหรือยัง

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan
กำลังโหลดความคิดเห็น