xs
xsm
sm
md
lg

เอาโรงไฟฟ้าแต่ไม่เอาถ่านหิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถามคนที่คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ภาคใต้ว่า ถ้ามันสร้างไม่ได้ แล้วพลังงานภาคใต้ไฟฟ้าไม่พอใช้จะทำอย่างไร

หลังจากประชาชนที่คัดค้านประกาศมาชุมนุมที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่นายกรัฐมนตรีบอกว่า เป็นวันที่กระทรวงพลังงานจะประชุมกันเพื่อตัดสินใจว่าจะดำเนินการต่อหรือไม่ ถ้าหากไม่ทำแล้วจะทำอย่างไรต่อไป ไทยจะมีความมั่นคงทางพลังงานหรือไม่ และหากทำ จะทำในลักษณะใด

ท่ามกลางเสียงปรามประชาชนที่คัดค้านก็มีเอกสารจากกระทรวงมหาดไทยลงนามโดยรักษาการนายอำเภอในจังหวัดกระบี่ อ้างคำสั่งของนายกรัฐมนตรีให้เกณฑ์ประชาชนมาสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินหมู่บ้านละ 20 คน ไม่น่าเชื่อนะครับว่าเราจะย้อนยุคไปขนาดนี้

แต่ถามว่าไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้วจะเอาอะไร คำตอบนี้ง่ายมากก็หาพลังงานไฟฟ้าเพิ่มสิครับ ประชาชนเขาไม่ได้คัดค้านการจัดหาพลังงานเพิ่มหรือคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม แต่เขาไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินต่างหาก แล้วถามว่า รัฐบาลมีทางเลือกมากกว่าพลังงานจากถ่านหินไหม

คำตอบคือเรามีทางเลือกมากมาย ไม่ว่าข้อเสนอทางเลือกโรงงานไฟฟ้าน้ำมันปาล์มของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีแหล่งปลูกในภาคใต้ และพลังงานทางเลือกอื่นเช่น พลังงานลม, พลังงานน้ำ, พลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานน้ำขึ้นน้ำลง, พลังงานคลื่น, พลังงานความร้อนใต้พิภพ, เชื้อเพลิงชีวภาพ พลังงานน้ำมันดิบ ฯลฯ

และถามว่าเราอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องมีกำลังสำรองต่ำกว่ากำลังใช้น้อยกว่า 15% ไหม จากข้อมูลปรากฏว่าเรามีกำลังผลิตทั้งสิ้นในเดือนธันวาคม 2559 41,556.25 เมกะวัตต์ เราใช้ไฟฟ้าสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2559 ที่ 29618.80 เมกะวัตต์ และเดือนธันวาคม 2559 ที่ 26145.30 เมกะวัตต์ ซึ่งชัดว่าเรายังมีความมั่นคงเกินขีดของกำลังสำรอง 15% อยู่มาก คือมีกำลังสำรองอยู่เกือบ 40%

แต่เอาเถอะมีแนวโน้มว่าพลังงานการใช้ไฟฟ้าสำรองจะเพิ่มขึ้นในอนาคต เรามีค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในปี 2564 ที่ประมาณ 38,726 เมกะวัตต์ ซึ่งแม้จะมีกำลังการใช้ใกล้กับขีดกำลังการผลิตในปัจจุบัน รู้ครับว่าเราไม่ได้สร้างโรงไฟฟ้าได้ในวันสองวัน แต่เห็นว่าเรายังมีเวลาเตรียมการอีกอย่างน้อย 3-4 ปี

เมื่อถามว่าภาคใต้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่เท่าไหร่ มีข้อมูลว่า ภาคใต้จะมีกำลังการผลิตในระบบทั้งหมดในปี พ.ศ. 2562 จากโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในขณะนี้เท่ากับ 3,832 เมกะวัตต์

ยังไม่นับระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงจากภาคกลาง 500 กิโลโวลต์ และที่กำลังดำเนินการสร้างใหม่อีก 500 กิโลโวลต์ ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2562 และสายส่งเชื่อมโยงไทย-มาเลเซีย ซึ่งส่งไฟฟ้าได้อีก 300 เมกะวัตต์ รวมระบบสายส่งที่มาช่วยเสริมหนุนกำลังการผลิตในพื้นที่ได้อีก 1,600 เมกะวัตต์ แล้วเรายังให้ลาวพาดสายไฟฟ้าผ่านภาคใต้ของไทยส่งไปขายสิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งพิสูจน์ว่าเรายังมีทางเลือกอีกมากที่จะรับมือกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคต

ส่วนการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของภาคใต้ในปี พ.ศ. 2562 โดยกำหนดให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นปีละ 5.7% ตามแนวโน้มที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าความต้องการไฟฟ้าของภาคใต้ในปี พ.ศ. 2562 จะเท่ากับ 3,256 เมกะวัตต์ ซึ่งเมื่อเทียบกับกำลังไฟฟ้าแล้วเรายังมีความมั่นคงอยู่

แต่อย่างที่บอกครับว่า ประชาชนเขาไม่ได้คัดค้านการหาแหล่งพลังงานไฟฟ้าหรือการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม เขาตระหนักว่าเราจะต้องมีพลังงานที่เพียงพอกับการเติบโตของประเทศในอนาคต แต่เรามีทางเลือกอื่นหรือไม่ที่ไม่ใช่ถ่านหิน

ขณะที่ทางการไทยพยายามอ้างตัวเลขว่าทั่วโลกยังมีการใช้พลังงานถ่านหินอยู่ แต่ไม่พูดความจริงทั้งหมด คือ เขาพยายามลดการใช้ถ่านหินเพื่อหาพลังงานทางเลือกอื่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในขณะที่เราอ้างว่าเรายังใช้พลังงานถ่านหินที่ยังต่ำกว่าชาติอื่นอยู่แล้วพยายามเพิ่มให้สูงขึ้น

แล้วรู้ไหมครับว่า ในขณะที่โลกพยายามไม่เพิ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อเพิ่มมลพิษให้กับโลกหลังความตกลงปารีสในปี 2558 ที่นายกฯ ประยุทธ์ก็ไปรับปากต่อพันธสัญญานี้ไว้ด้วย แต่กลับมีความพยายามสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นในภูมิภาคอาเซียน คือ ลาว มาเลเซีย อินโดนีเซีย และประเทศไทยของเรา แล้วเราบอกว่านี่ไงคนอื่นเขาก็ทำกัน

เป็นเรื่องตลกมากที่รัฐมาอ้างว่าเรายังมีการผลิตกำลังไฟฟ้าจากถ่านหินต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เพื่อเป็นเหตุผลว่าเรายังสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มได้อีก รัฐบาลมีแผนจากสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มอีก 9 แห่ง มีกำลังการผลิตรวม 7,400 เมกะวัตต์ ซึ่งจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 41 ล้านตันคาร์บอน

ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า มีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเพิ่งตีพิมพ์เมื่อเร็วๆ นี้ ในวารสาร Environmental Science & Technology สรุปว่ามลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยเฉพาะฝุ่นขนาดเล็กที่มีค่า 2.5 ไมครอน จะทำให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรประมาณ 1,000-5,000 คนในประเทศไทยในปี ค.ศ. 2030 นั่นก็คือ พ.ศ. 2573 อีก 12 ปีนับจากนี้

นอกจากนี้มลพิษที่ประเทศไทยก่อขึ้นสามารถส่งผลไปถึงประเทศเวียดนาม มาเลเซีย และพม่า ทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรเช่นกัน ขณะเดียวกันมลพิษต่อประเทศเพื่อนบ้านก็สามารถส่งผลต่อประเทศไทย

ปัจจุบันภูมิอากาศของโลกกำลังประสบกับภาวะโลกร้อน ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตปีละหลายแสนคนต่อปี และหากไม่ถูกหยุดยั้ง จะทำให้อีกหลายร้อยล้านคนอยู่ในความเสี่ยง โรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นตัวการสำคัญที่สุด ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ก่อมลพิษสูงที่สุด และเป็นตัวปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก ปัจจุบันการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ใน 3 ของโลกมาจากการเผาไหม้ถ่านหิน

แต่นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยประกาศจะเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินให้ได้ โดยข่มขู่ว่าถ้าไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเราจะไม่มีไฟฟ้าใช้

พร้อมกับหลงเชื่อคำโฆษณาของวงการอุตสาหกรรมถ่านหินว่ามีเทคโนโลยีที่จะทำให้เกิด “ถ่านหินสะอาด” โดยการเผาไหม้ถ่านหินไม่ทำลายสภาพภูมิอากาศได้ แต่มีการยืนยันว่าเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS) ซึ่งเป็นแผนการดักจับคาร์บอนที่ปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้า และฝังไว้ใต้พื้นดิน เทคโนโลยีนี้จะพร้อมใช้หลัง 20 ปีข้างหน้า ซึ่งสายเกินไปที่จะปกป้องสภาพภูมิอากาศ

โดยอีก 20 ปีข้างหน้านั้น พล.อ.ประยุทธ์จะมีอายุ 84 ปี ซึ่งกว่าจะถึงวันนั้นพล.อ.ประยุทธ์ก็เลยอายุเฉลี่ยของคนไทยมาหลายปีแล้ว แต่กลับมีคนจำนวนมากต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากมลพิษของถ่านหินจากการคาดการณ์ของนักวิทยาศาสตร์ ดังที่กล่าวอ้างไว้ข้างบน

อย่าข่มขู่ประชาชนว่าถ้าไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้ว เราจะไม่มีไฟฟ้าใช้ในอนาคต ถามตัวเองและถามโลกดูสิว่า เรามีพลังงานถ่านหินเป็นทางเลือกเดียวเพื่อแลกกับชีวิตของคนไทยเช่นนั้นหรือ

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan
กำลังโหลดความคิดเห็น