xs
xsm
sm
md
lg

จี้แก้กม.ปิโตรฯหวั่นซ้ำรอยสินปม"โรลส์-รอยซ์"-แฉบิ๊กขรก."ส"มือดีลบินไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน 360 - ภาคประชาชนจี้รัฐบาลดำเนินการปฎิรูปพ.ร.บ.ปิโตรเลียมด้วยความจริงใจ ไม่ให้เอกชนเอาเปรียบประเทศชาติ คฟพ.ซ้ำรอยปมสินบน "โรลส์-รอยซ์" เสนอให้ร่างกม.ปิโตรเลียมระบุราคากลางสำรวจฯ และบริษัทผู้รับสัมปทานห้ามตั้งอยู่ในหมู่เกาะปลอดภาษี พร้อมจี้รัฐเร่งขอข้อมูลเพื่อเปิดโปงสินบนโรลส์-รอยซ์ให้ประชาชน ได้รับรู้ รวมทั้งเสนอตั้งบรรษัทพลังงาน เพื่อความโปร่งใส ด้านอดีตบิ๊กการบินไทย ร้อง "บิ๊กตู่" งัด ม.44 สอบ "จรัมพร" ออกวีซ่าเอื้อประโยชน์ พร้อมรื้อปมจัดซื้อแอร์บัส 10 ลำ หลังขาดทุนยับ ต้องจอดทิ้งรอเป็นเศษเหล็ก แฉชื่อย่อ "ส" ข้าราชการระดับสูงเป็น “ดีดีเงา” มือดีลรับสินบนโรลส์-รอยซ์

นางสาวรสนา โตสิตระกูล แกนนำเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เปิดเผยในงานแถลง”เปิดสินบนโรลส์-รอยซ์กระทบพ.ร.บ.ปิโตรเลียม”วานนี้ (26 ม.ค.) ว่า ตามที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา ได้ตรวจสอบพบว่าบริษัท โรลส์-รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม อิงค์ ได้ให้สินบนบริษัทพลังงานของรัฐในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย คือ บมจ. ปตท. จำกัด (มหาชน) และบมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.)ในช่วงปี 2543-2556 นั้น เป็นการบ่งชี้ว่ากระบวนการทุจริตรับสินเกิดขึ้นในช่วงที่ปตท.ดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัท (มหาชน) เพื่อเข้าตลาดหุ้นในปลายปี 2544 มีการตรวจสอบจากหลายหน่วยงาน แต่ก็ยังมีการทุจริตเกิดขึ้น

โดยการให้สินบนมีการพูดคุยผ่านอีเมลระหว่างนายหน้า และเจ้าหน้าที่โรลส์-รอยซ์ ต่อรองค่าคอมมิชชัน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ปตท.ต้องการค่าคอมมิชชันอยู่ที่ 6.5-7.5% เพื่อที่จะล็อกสเปคให้กับทางโรลส์-รอยซ์ ขณะที่ทางโรลส์-รอยซ์ให้ได้ไม่เกิน 5% จึงต้องมีการแยกเป็น 2 สัญญาเพื่อหลบเลี่ยงโดยส่วนหนึ่งระบุไว้เป็นค่าใช้จ่ายค่าที่ปรึกษาวิศวกรรม ดังนั้นจำเป็นที่รัฐต้องแสดงความจริงใจที่จะแก้ปัญหาโดยต้องสอบสวนหารายชื่อนายหน้าว่าคือใคร และเงินที่ถูกโอนจากสหรัฐฯไปยังบัญชีในประเทศสิงคโปร์และไทยมีการเบิกจ่ายไปให้ใคร

นางสาวรสนา กล่าวว่า การจ่ายสินบนกรณีนี้ มีผลทำให้ต้นทุนในการเจาะสำรวจปิโตรเลียมเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้รัฐมีรายได้จากภาษีลดน้อยลงเท่ากับรายได้ของแผ่นดินลดลง

ส่วนที่การจ่ายสินบนโรลส์-รอยซ์ส่งผลกระทบร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม สืบนื่องจากจากพ.ร.บ.ปิโตรเลียมเดิมมีจุดอ่อนที่ต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งทางคปพ. เคยเสนอแล้ว แต่ไม่ได้รับความสนใจ และกระทรวงพลังงานยังมีการต่อสัญญาสัมปทานให้กับปตท.สผ. และเชฟรอนออฟชอร์ รวม 2 แปลงออกไปอีก 10 ปีโดยไม่ได้รอการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับ

นางสาวรสนา กล่าวต่อไปว่า หากตรวจสอบพบทางปตท.สผ.มีการรับสินบนการซื้ออุปกรณ์แหล่งอาทิตย์และเชฟรอน (ไทย) ที่ซื้อน้ำมันจากโรงกลั่นสตาร์ฯไปให้เชฟรอนประเทศไทยใช้โดยเลี่ยงจ่ายภาษีน้ำมันจะขัดกับกฎหมายปิโตรเลียมหรือไม่ รวมทั้งควรให้สัมปทานต่อไปอีกหรือไม่ ส่วนที่อ้างว่าเชฟรอน (ไทย) คนละบริษัทกับเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด (เชฟรอน สผ.) นั้น อยากให้รัฐแก้ไขกฎหมายตรงนี้ เพราะเท่าเป็นจุดอ่อนทำให้ตั้งบริษัทใหม่เพื่อรับสัมปทาน ถือว่าเอกชนเอาเปรียบรัฐ และยังเสนอให้ร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมกำหนดห้ามไม่ให้บริษัทที่รับสัมปทานฯ จัดตั้งบริษัทอยู่ในหมู่เกาะต่างๆที่ถูกเรียกว่าดินแดนปลอดภาษี

นอกจากนี้ ร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับนี้ยังคงเน้นระบบTurn Key หรือการให้สิทธิสำรวจและผลิตแบบเหมาทั้งโครงการ ก็ควรได้รับการแก้ไข เพื่อใม่ให้เกิดปัญหารับสินบนเหมือนที่เกิดขึ้น โดยยอมรับว่าบุคคลภายนอกจะเข้าไปการตรวจสอบทำได้ยาก เพราะไม่สามารถเข้าถึงบัญชีกระแสเงินสด รายรับ/รายจ่าย ทำให้บริษัทเอกชนสามารถบันทึกค่าใช้จ่ายในอัตราที่สูง เพราะรัฐไม่มีราคากลางของค่าใช้จ่ายในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จึงจำเป็นต้องแก้ไขปิดช่องโหว่ตรงนี้

ดังนั้น ถึงเวลาแล้วไทยจึงควรมีบรรษัทพลังงานแห่งชาติ เพื่อความโปร่งใสและอุดรูรั่ว ให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม หลังจากก่อนหน้านี้ทางบริษัทเอกชนได้คัดค้านมาตลอดอ้างว่าเป็นบริษัทที่มีธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ แต่สุดท้ายก็มีการทุจริตมานานนับ 10 ปีโดยไม่มีหน่วยงานใดตรวจสอบได้

“จากนี้ไปคือสงครามการแย่งชิงการกำหนดกติกา กฎหมายปิโตรเลียม คือ การกำหนดกติกาเข้าไปยึดทรัพยากรปิโตรเลียม การที่รัฐไม่แก้ไขตามที่คปพ.เสนอไป เท่ากับเป็นการเปิดให้เอกชนเข้ามาเอาเปรียบประเทศ “

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำคปพ. กล่าวว่า กรณีสินบนโรลส์-รอยซ์จำเป็นที่รัฐต้องแสดงความจริงใจกับประเทศชาติและประชาชน โดยขอข้อมูลการโอนเงินและผ่องถ่ายเงินให้ใครมาเปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้โดยเฉพาะนายหน้าที่ทำหน้าที่ประสานงานกับปตท.

รวมทั้งรัฐต้องดำเนินการปฏิรูปกฎหมายปิโตรเลียมด้วยความจริงใจ เพื่อไม่ให้เกิดการทุจริตซ้ำอีก ซึ่งร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับใหม่นี้ยังไม่ตอบโจทย์การให้สินบนโรลส์-รอยซ์

ในวันนี้ (27 ม.ค.) ทางคปพ.จะไปยื่นหนังสือต่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) หลังพบว่ามีความพยายามบิดเบือนทางบัญชีในเรื่องทรัพย์สินของชาติ

ด้านนายธีรชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในเรื่องนี้มี 4ประเด็นที่รัฐต้องให้ความสนใจคือ 1. ตามคำพิพากษาศาลสหรัฐฯระบุว่ามีการล็อคสเปกเอื้อประโยชน์ให้กับโรลส์-รอยซ์ ทางกระทรวงพลังงานต้องสอบว่ามีการล็อกสเปกจริงหรือไม่ 2. มีการโอนเงินจากบัญชีจากสหรัฐฯไปยัง 2 ประเทศคือ สิงคโปร์และไทย ถือเป็นเบาะแสสำคัญที่จะสาวไปถึงผู้ที่ทุจริต โดยรัฐต้องขอความร่วมมือจากสิงคโปร์ และรัฐเองก็มีอำนาจในการเข้าไปตรวจสอบบัญชีที่มีการโอนเงินเข้ามาแล้วผ่องถ่ายไปสู่มือใคร

3.เปลี่ยนระบบการจัดซื้อใหม่ อาทิ การบินไทยจากเดิมที่จัดซื้อผ่านตัวกลางในราคาสูงก็เปลี่ยนมาซื้อตรง ซึ่งรูปแบบการจัดซื้อควรนำมาใช้กับทุกรัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะด้านพลังงาน

มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี แกนนำคปพ.กล่าวว่า ปัญหาการให้สินบนกับการบินไทยของโรลส์-รอยซ์เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2534 และปตท.ในปี 2546 ซึ่งเกิดขึ้นมาเป็นเวลานานโดยที่หน่วยงานตรวจสอบของไทยไม่รู้เรื่องทั้งๆที่บริษัทเหล่านี้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ บ่งชี้ว่ากฎหมายไทยล้าสมัย ที่ผ่านมา เราตรวจสอบแบบตั้งรับ ไม่เคยตรวจสอบแบบเชิงรุก

*** ร้อง"บิ๊กตู่" งัด ม.44 สอบ"จรัมพร"

ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานก.พ. นายโยธิน ภมรมนตรี อดีตกัปตัน บริษัท การบินไทย และ อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะตัวแทนกลุ่มธรรมาภิบาล ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ขอให้ตรวจสอบการพฤติกรรมของ นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) และ นายณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกษ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ จากกรณีนายจรัมพร อนุมัติการเดินทางซึ่งมีค่าวีซ่า ระยะเวลา 10 ปี และค่าดำเนินการให้ นายณรงค์ชัย ไปร่วมงานของ บริษัทโบอิ้ง ประเทศ อังกฤษ เมื่อวันที่ 12-13 ก.ค.59 จำนวนเงินกว่า 7 หมื่นบาท ทั้งที่นายณรงค์ชัย เป็นพนักงานจ้างตามสัญญา 4 ปี เหลืออายุปฏิบัติงานอีกประมาณ 19 เดือน เท่านั้น

นอกจากนี้ ขอให้ตรวจสอบความโปร่งใสกระบวนการจัดซื้อเครื่องบิน แอร์บัส A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำ ที่ขณะนี้ถูกจอดทิ้งไม่มีการใช้งาน ว่ามีความโปร่งใส หรือคุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่ ทั้งนี้เครื่องบินดังกล่าวมีกระบวนการจัดซื้อตั้งแต่ ปี 2545-2546 โดยมีการอนุมัติมาเป็นขึ้นตอนตั้งแต่บริษัทการบินไทย ผ่านระดับกระทรวง แต่เมื่อมาถึงขั้นตอนของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เห็นควรให้การบินไทยทบทวนโครงการและเสนอโครงการใหม่ แต่การบินไทยก็ยังดำเนินการจัดซื้อ และเมื่อนำมาให้บริการ ขาดทุนปีละประมาณ 3-5 พันล้านบาท จึงจำเป็นต้องหยุดให้บริการ โดยหลังจากนั้น มีผู้สนใจซื้อต่อในราคาลำละ 760 ล้านบาท แต่คณะกรรมการการบินไทยไม่อนุมัติให้ขาย เพราะราคาขณะจัดซื้อลำละประมาณ 5-6 พันล้านบาท และขณะนี้เครื่องบินทั้งหมด ปลดประจำการ และจอดอยู่ที่สนามบินดอนเมือง และสนามบินอู่ตะเภา

อย่างไรก็ตาม การจัดซื้อดังกล่าว ถือเป็นการจัดซื้อที่ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน มีความไม่ชอบมาพากลของการบินไทย จึงขอให้นายกฯใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ตรวจสอบการทุจริตและประพฤติมิชอบในการบินไทย ทั้งในอดีต และปัจจุบัน โดยการตั้งกรรมการพิเศษเพื่อตรวจสอบเฉพาะ และให้มีการปฏิรูปเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและไร้ทุจริต

*** ประสานSFOขอข้อมูลสินบนโรลส์-รอยซ์

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะประธานคณะทำงานสืบสวนและรวบรวมข้อมูลกรณีบริษัท โรลส์รอยซ์ จ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และเจ้าหน้าที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวถึง ความคืบหน้าในการสืบสวนว่า คณะทำงานฯได้นัดประชุมทางไกลเทเลคอนเฟอร์เรนซ์กับสำนักงานปราบปรามการทุจริตของสหราชอาณาจักร (SFO) เพื่อขอข้อมูล หากมีความชัดเจนในรายละเอียด เช่น ตัวบุคคล พฤติการณ์ หรือสถานที่ในการจ่ายสินบน คณะทำงานฯจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป แต่ยอมรับว่ายังไม่สามารถเสนอข้อมูลต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ทัน เนื่องจากต้องรอข้อมูลจากทั้ง 3 บริษัท และข้อมูลจาก SFO ด้วย

นายสรรเสริญ กล่าวอีกว่า ภายหลังการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนฯแล้ว ต้องประสานขอข้อมูลเอกสารอย่างเป็นทางการจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และจะประสานขอข้อมูลอย่างเป็นทางการกับ SFO และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกาผ่านสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) และกระทรวงการต่างประเทศตาม พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศทางอาญา จึงคาดว่าอาจต้องใช้เวลาในการไต่สวนเกินกว่า 1 เดือน ทั้งนี้การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาจเป็นแนวทางที่ช่วยย่นกรอบเวลาการดำเนินการได้ หากฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลพิจารณาแล้วเห็นความจำเป็น และความเหมาะสม

ส่วนความคืบหน้าการตรวจสอบกรณี บริษัทเจเนอรัล เคเบิล ผู้ผลิตสายเคเบิล และสายไฟ จ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐ ประกอบด้วย การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และบริษัท ทีโอทีนั้น ป.ป.ช. ได้เก็บข้อมูลตั้งแต่ก่อนจะปรากฏเป็นข่าว เพราะมีข้อมูลเชิงลึกว่าเกิดการทุจริตขึ้น จึงตรวจสอบต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่า จะสามารถตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงได้ ก่อนกรณีสินบนโรลส์รอยซ์

รายงานข่าวแจ้งเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบข้อมูลปมสินบน โรลส์-รอยซ์" นั้น อดีตรัฐมนตรี ชื่อย่อ "ท" เป็นผู้มีอำนาจอนุมัติ และมีข้าราชการระดับสูง ชื่อย่อ "ส" เป็นผู้ติดต่อประสานงานรับสินบนในครั้งนี้ จนเป็นที่รู้กันแพร่หลายว่าเป็น "ดีดี" เงาของการบินไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น