xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เรื่องมันช่างน่าอาย... “รองอธิบดี” จิ๊ก “ภาพโรงแรม” “ไม่ซื้อไม่ขายไม่ใช้ของปลอม...แต่เราขโมยของจริงจ้า”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เฮ้ย...มันเรื่องจริงหรือ”

นั่นเป็นคำอุทานแรกเมื่อได้ยินและได้ฟังข่าว “ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของไทย” ถูกจับที่ประเทศญี่ปุ่น ด้วยข้อหา “ลักขโมย” ภาพวาดประดับโรงแรมจำนวน 3 ภาพ

แล้วก็ต้องอุทานตามมาเป็นคำรบสองว่า เอาอีกแล้วหรือนี่กับ “การขายขี้หน้า” ระดับโลกของประเทศไทย หลังกำลังเผชิญกับการออกมาเปิดเผยเรื่อง “สารพัดสินบน” จนดังกระฉ่อนโลกอยู่ในขณะนี้

แถมก่อนหน้านี้หากยังจำกันได้ก็คงไม่ลืมความอับอายขายขี้หน้าที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นเหมือนกันกับกรณีของ “แจ๊ดปืนจิ๋ว” เมื่อ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ถูกตำรวจญี่ปุ่นจับกุมข้อหาพกปืนเข้าประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงกรณีแอบนั่งรถไฟฟรีในประเทศญี่ปุ่น

ทว่า เที่ยวนี้หนักหนาสาหัสกว่า เพราะคนที่ถูกจับในข้อหาลักขโมยก็คือ “นายสุภัฒ สงวนดีกุล” รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์

เกิดอะไรขึ้นกับรองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาท่านนี้ เพราะไม่ว่าจะมองมุมไหน แง่มุมใดก็ไม่อาจเข้าใจได้ว่า ทำไมถึงตัดสินใจกระทำความผิดแบบสิ้นคิดเช่นนั้น

เพราะถ้าจะว่าไปแล้วด้วยความเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ระดับรองอธิบดี เงินเดือนและทรัพย์สินเงินทองก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าจะมีปัญหา เรื่องเงินขาดมือไม่น่าจะใช่ต้นสายปลายเหตุ อย่างน้อยเงินเดือนบวกค่าโน้นค่านี่ก็ไม่น่าจะต่ำกว่า 60,000-70,000 บาท จะว่าอยากได้ ก็ไม่น่าจะใช่ เพราะถ้าอยากได้จริงๆ ไปขอซื้อ ทางโรงแรมก็คงจะยินดีขายให้

แล้วภาพทั้ง 3 ภาพที่นายสุภัฒ “จิ๊ก” จากทางโรงแรมก็มิได้มีราคาค่างวดที่แพงประการใด คือมีมูลค่า แค่ 15,000 เยน หรือ ประมาณ 4,500 บาท เท่านั้น

จะว่าไม่รู้กฎหมายก็ไม่น่าจะใช่สำหรับคนระดับนี้ เพราะทำงานในด้านกฎหมายโดยตรง แถมเมื่อตรวจสอบประวัติส่วนตัวก็พบว่า รู้จักคุ้นเคยกับประเทศญี่ปุ่นเป็นอย่างดี โดยนายสุภัฒจบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษา High School attached to Gakugei University กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยนาโกยา ประเทศญี่ปุ่น และ ปริญญาโท สาขาเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยนาโกยา ประเทศญี่ปุ่น

        ที่สำคัญคือเรื่องการขโมยเป็นกฎหมายขั้นพื้นฐานที่ไม่ได้สลับซับซ้อนเหมือนกับเรื่องกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเสียด้วยซ้ำไป

กล่าวสำหรับคดีโจรกรรมสะท้านสะเทือนประเทศไทยครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อสื่อท้องถิ่นในญี่ปุ่น ได้รายงานว่า เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองเกียวโตได้เข้าควบคุมตัวชายไทย ต้องสงสัยขโมยภาพวาด 3 ภาพ มูลค่าประมาณ 15,000 เยน หรือประมาณ 4,500 บาท ที่ติดอยู่ในโรงแรม หลังจากพนักงานโรงแรมตรวจสอบ พบว่า ภาพวาดตกแต่งชั้น 9-10 หายไป จึงได้ไปแจ้งความ และตรวจสอบกล้องวงจรปิด พบชายต้องสงสัยว่าเป็นผู้ที่เข้าพักที่โรงแรม และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอตรวจค้นกระเป๋าระหว่างเช็กเอาต์ จึงพบภาพวาดดังกล่าว

ทั้งนี้ ชายคนดังกล่าว ระบุว่า ทำงานอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์ของประเทศไทย

จากนั้น เมื่อได้ตรวจสอบข้อมูลพบว่า ผู้ที่ถูกจับกุมก็คือ นายสุภัฒ สงวนดีกุล รองกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ข่าวนายสุภัฒเดินทางไปอบรมเรื่องสิทธิบัตรกับรัฐบาลญี่ปุ่น และตามกำหนดการเดิม มีกำหนดที่จะเดินทางกลับในวันที่ 25 มกราคม แต่ได้มีการแจ้งมายังกรม ทรัพย์สินทางปัญญา ว่า จะเลื่อนการเดินทางกลับโดยไม่มีกำหนด และไม่ต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปรับ

แต่ในอีกกระแสหนึ่งแจ้งว่า เดินทางไปเที่ยวส่วนตัว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องหน้าที่ราชการแต่ประการใด

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา แถลงข่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า การกระทำครั้งนี้ ถือว่าไม่ใช่เหตุที่เกิดจากการปฏิบัติราชการ แต่หากตรวจสอบว่ากระทำผิดกรณีการลักขโมยภาพจริง ก็มีโทษสูงสุด คือ ให้ออกจากข้าราชการ

        “เรื่องนี้อยู่ในขั้นตอนของกฎหมายญี่ปุ่น และไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลาดำเนินนานเท่าไร แต่ตามกฎระเบียบข้าราชการ เวลาข้าราชการไปประชุมต่างประเทศ จะไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครองเหมือนข้าราชการที่ไปประจำในต่างประเทศ และข้าราชการคนดังกล่าว ได้ไปญี่ปุ่นด้วย 2 ภารกิจ คือ เดินทางเพื่อเข้าร่วมประชุมงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาของภาครัฐ และมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่นเชิญไปร่วมประชุมเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของภาครัฐ ระหว่างวันที่ 20-25 มกราคม 2560 โดยมีกำหนดเดินทางกลับไทยวันที่ 25 มกราคม 2560 แต่ได้เลื่อนการเดินทางกลับอย่างไม่มีกำหนด”

ทั้งนี้ ตามกฎหมายญี่ปุ่นนั้น ความผิดฐานลักทรัพย์เป็นความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 235 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีและปรับเงินไม่เกิน 5 แสนเยน โดยถือเป็นความผิดอันยอมความมิได้ ซึ่งขั้นตอนหลังจากถูกควบคุมตัว ผู้ต้องสงสัยจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายของญี่ปุ่นอย่างเคร่งครัด เพื่อรออัยการยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาล และหากศาลรับฟ้องก็ต้องถูกคุมขังเพื่อรอวันนัดไต่สวนคดี ขั้นตอนแรกนี้จะใช้เวลาตั้งแต่ 45-90 วันจึงจะเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาล ซึ่งหมายความว่าในช่วงนี้ รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาผู้นี้จะยังไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ 

อย่างไรก็ดี ความผิดของนายสุภัฒถือว่าแตกต่างจากกรณีของ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ที่เคยถูกควบคุมตัวในกรณีพกปืนเข้าไปในสนามบินนาริตะ แต่สุดท้ายอัยการญี่ปุ่นสั่งไม่ฟ้อง และเนรเทศ พล.ต.ท.คำรณวิทย์กลับประเทศไทย พร้อมขึ้นบัญชีดำห้ามเข้าประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากกรณีของนายสุภัฒถือเป็นคดีอาญาที่มีผู้เสียหาย คือเจ้าของทรัพย์ ดังนั้นโอกาสที่จะถูกส่งฟ้องต่อศาลมีสูงมาก   ทั้งนี้ กฎหมายเรื่องลักทรัพย์ของญี่ปุ่นมีการแก้ไขในปี 2006 โดยเพิ่มโทษปรับเงิน ด้วยเหตุผลว่า ในอดีตคดีลักทรัพย์มักเกิดขึ้นเพราะความขัดสน การปรับเงินจึงไม่มีประโยชน์อันใด แต่ในระยะหลัง การลักขโมยโดยผู้ที่มีอันจะกิน หรือขโมยเพื่อตอบสนองความต้องการส่วนตัวเพิ่มขึ้นมาก จึงให้เพิ่มโทษปรับเงินด้วย

ซึ่งจากการตรวจสอบจากสื่อมวลชนของญี่ปุ่น พบว่า ปกติแล้วคดีลักทรัพย์ที่ไม่ร้ายแรงมักจะถูกตัดสินลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี นอกจากนี้กฎหมายญี่ปุ่นยังเปิดทางให้คดีลหุโทษที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนสามารถจ่ายค่าปรับแทนโทษจำคุกได้

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาโทษของศาลญี่ปุ่นจะดูจากเจตนากระทำผิด, พฤติกรรมขณะก่อเหตุว่ามีการใช้อาวุธ ใช้ความรุนแรง ข่มขู่ ขัดขืนเจ้าหน้าที่ หรือมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตหรือไม่ และจะพิจารณาประวัติของผู้ถูกกล่าวหาประกอบด้วย

        สำหรับประวัติการรับราชการนั้น นายสุภัฒเริ่มต้นทำงานที่กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นเลขานุการเอก สำนักงานที่ปรึกษาการพาณิชย์ ณ กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา, เลขานุการเอก สำนักงานที่ปรึกษาการพาณิชย์ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น, ที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) สำนักงานที่ปรึกษาการพาณิชย์ ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย, อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม, ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และผู้อำนวยการ สำนักประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เข้ามาดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2558

และที่น่าสนใจก็คือภายหลังเกิดเหตุ ได้มีผู้เข้าไปแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊กแฟนเพจของกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นจำนวนมาก เนื่องเพราะที่ผ่านมาหน่วยงานแห่งนี้ได้ประกาศแสดงเจตจำนงในการบริหารงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งมีหน้าที่ในการจับกุมผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญา แต่ผู้บริหารระดับสูงกลับมีพฤติกรรม “ลักขโมย” เสียเอง

โดยเฉพาะตัว “แอดมินเพจ” ซึ่งใช้สรรพนามแทนตัวเองว่า “บอส” ถูกแสดงความคิดเห็นเหน็บแนมเป็นจำนวนมาก

ยกตัวอย่างเช่น “ต่อไปนี้บอสพูดเตือนอะไรใครก็ยากขึ้น จะถูกย้อนถามเรื่องนี้ตลอดแน่นอน เพราะเรื่องนี้มันเป็นหน้าตาของคนไทยด้วยเลยเรื่องใหญ่ นี่ถ้าเกิดท่านรองมาแถ(ลง)อีกนะหรือไม่ลาออกจากกรม ความน่าเชื่อถือของบอสยิ่งลดลงแน่นอนเชื่อดิ คอยดูต่อไปว่าจะยังไง”

หรือ “ขโมยว้าย ขี้ขโมยว้าย ขี้ขโมยว้าย ขี้ขโมยว้าย ขี้ขโมยว้าย ขี้ขโมยว้าย ขี้ขโมยว้าย ขี้ขโมยว้าย ขี้ขโมยว้าย ขี้ขโมยว้าย ขี้ขโมยว้าย ขี้ขโมยว้าย ขี้ขโมยว้าย ขี้ขโมยว้าย ขี้ขโมยว้าย ขี้ขโมยว้าย ขี้ขโมยว้าย ขี้ขโมยว้าย”

หรือ “สัส กูสมัครงานแปป มีประสบการณ์ด้านโจรกรรมหลายปี แม่งรับกูแน่ๆ อิอิ”

และที่น่าจะเจ็บที่สุดก็คือความคิดเห็นที่บอกว่า “ไม่ซื้อไม่ขายไม่ใช้ของปลอม...แต่เราขโมยของจริงจ้า”

งานนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา “จุก” และ “เจ็บ” ไปอีกนาน เข้าทำนองปลาตัวเดียวทำเหม็นไปทั้งกรม ส่วนที่บอกว่าอาจจะมีปัญหาทางสุขภาพจิตนั้น ก็คงต้องตรวจสอบกันต่อไป และดูเหมือนว่า สังคมจะไม่ยอมรับในประเด็นนี้ล่วงหน้าไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น