xs
xsm
sm
md
lg

'บิ๊กตู่'หนุนพรรคการเมืองจับเข่าคุย-ถือเป็น"สัจจะวาจา"สู่ปรองดอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360- "บิ๊กป้อม" เผย เคาะรายชื่อคณะกรรมการปรองดอง มีทั้ง "ทหาร-ตำรวจ-ฝ่ายกฎหมาย-นักวิชาการ" ชี้ทุกฝ่ายทำเอ็มโอยู สร้างข้อตกลงร่วมกัน ยันไม่เกี่ยว "รธน. -นิรโทษ -อภัยโทษ" "บิ๊กตู่"หนุนแนวคิด"บิ๊กป้อม" เรียกทุกพรรคการเมืองจับเข่าคุย ชี้เป็น“สัจจะวาจา”นำไปสู่ปรองดอง "สุวิทย์"เตรียมชง"บิ๊กตู่" แปลงวิป 3 ฝ่าย เป็น ป.ย.ป. เสนอตั้งผู้ช่วยรัฐมนตรีลุยงาน"พีเอ็มดียู" ด้านกปปส.พร้อมคุยเอ็มโอยู ยุติความขัดแย้ง "จาตุรนต์" แนะเปิดกว้างผู้อยู่ในความขัดแย้งร่วมเวที

วานนี้ (16 ม.ค.) ที่สโมสรกองทัพบก วิภาวดีฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงความคืบหน้าการตั้งคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ว่า จะพิจารณาตั้งคณะกรรมการฯ ให้แล้วเสร็จ ในวันนี้ (16 ม.ค.) ซึ่งทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ได้มอบหมายให้ตนเข้ามาดูแลการสร้างความปรองดอง โดยให้ทุกพรรคการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในการพูดคุย พร้อมทั้งแสดงความคิดเห็น ว่าจะสร้างความปรองดองในสังคมไทยได้อย่างไร ทั้งนี้การปรองดองไม่ใช่เป็นเรื่องของพรรคการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่ประชาชนที่เข้าไปสังกัดพรรคการเมือง และมีแนวความคิดต่างๆ ก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นได้

"เรื่องเหล่านี้ ผมย้ำว่าไม่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ไม่เกี่ยวกับการอภัยโทษ และนิรโทษกรรม แต่เป็นเรื่องการสร้างข้อตกลงร่วมกัน เช่นใน หมู่บ้านจะอยู่ร่วมกัน และตกลงกันว่า การใช้น้ำ ทางทิศเหนือใช้วันจันทร์ ทางด้านทิศใต้ใช้วันอังคาร อย่างนี้เรียกว่าเป็นการตกลงร่วมกัน ซึ่งไม่ใช่การขัดกฎหมาย และผมก็ไม่ได้ตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมาเอง แต่เป็นข้อตกลงที่ทุกฝ่ายยอมรับ เพื่อสร้างความปรองดองของคนในประเทศต่อไปในอนาคต" พล.อ.ประวิตร กล่าว

เมื่อถามว่า จะต้องให้ทุกฝ่ายลงนามเอ็มโอยูร่วมกัน หรือไม่ รองนายกฯกล่าวว่า ถูกต้อง ซึ่งต้องให้ทุกฝ่ายพึงพอใจ และสามารถอยู่ร่วมกันได้ พร้อมทั้งย้ำว่า ไม่ใช่เรื่องกฎหมาย อดีตก็เป็นเรื่องอดีต คงไม่เกี่ยวกัน เมื่อถามต่ออีกว่า จะทำเอ็มโอยู ห้ามพรรคการเมืองนำประชาชนเข้าร่วมชุมนุมด้วย หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เรื่องนี้มี พ.ร.บ.ชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ พ.ศ.2559 บังคับใช้อยู่ ถ้าจะชุมนุมก็สามารถขออนุญาตได้ ดังนั้นเรื่องนี้ไม่เป็นอะไร

สำหรับรูปแบบการสร้างความปรองดองนั้น จะมีตัวแทนพรรคการเมืองแต่ละพรรค มาแสดงความคิดเห็น และเสนอแนะ โดยเราจะที่ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่เป็นผู้ใหญ่ ทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายกฎหมาย นักวิชาการ และผู้ที่เกี่ยวข้องมารับฟัง พร้อมรวบรวมประเด็นทั้งหมด เพื่อเขียนเป็นกติกา และจะมาชี้แจงให้พรรคการเมือง และทุกๆ ฝ่ายรับทราบ ซึ่งกติกาข้อใดที่ไม่เห็นด้วยก็สามารถหารือกันได้

เมื่อถามว่าทางคสช. จะแก้คำสั่งปลดล็อกเพื่อให้นักการเมือง สามารถประชุมพรรคด้วย หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่จำเป็นปลดล็อกนักการเมือง เพราะตน และคสช. อยู่ในส่วนการพูดคุย ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า การสร้างความปรองดอง เพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน ทางทหารจะทำอย่างไร เพราะว่าในอดีตทหารก็เป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า นั่นเป็นการโจมตีกองทัพ ซึ่งกองทัพไม่เคยโจมตีใคร และกองทัพไม่เคยมีศัตรู อีกทั้งตนไม่เคยขัดแย้งกับใคร เพียงแค่นักข่าวขัดแย้งกับตน แต่ตนไม่ขัดแย้งกับนักข่าว

** "ประจิน"แพ็ก"สมคิด"กำกับดูแลกก.ปฏิรูป

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการทำงานของคณะกรรมการ ป.ย.ป. ว่า ตนได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ร่วมกับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี โดยในวันที่ 17 ม.ค.นี้ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการป.ย.ป. จะร่างเรื่อง พร้อมกับปรึกษาหารือกันในกรอบแนวทางตามที่ตกลงกัน เมื่อการประชุมครั้งที่แล้ว ซึ่งจะออกมาเป็นรายเอียด และจะถามความเห็นจากตน นายสมคิด ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แล้วจะเอามาปรับเพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ลงนาม คาดว่าภายในสัปดาห์นี้ จะได้เห็น

**"บิ๊กตู่"เรียกทุกพรรคขอสัจจะวาจา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีแนวคิดให้พรรคการเมืองมาลงสัตยาบรรณร่วมกันเพื่อความปรองดองว่า เห็นด้วยกับแนวคิดของ พล.อ.ประวิตร ที่มีแนวคิดเรียกพรรคการเมืองแต่ละพรรคมาคุยกันว่าอะไรที่จะร่วมมือกันได้บ้าง และอะไรที่จะไม่ทำอีก เช่น การทำให้เกิดปัญหากับประชาชน จะไม่ทำอีก ได้หรือไม่

"เขาเรียกว่าเป็น สัจจะสัญญา แต่ไม่ใช่สัตยาบัน เป็นสัจจะวาจา ทำนองนั้น คือพูดแล้วต้องไม่ลืม ต้องทำตามนั้น ก็ขึ้นอยู่กับทุกคนว่าต้องการให้ประเทศเดินหน้าหรือเปล่า แต่อย่าเอามาพันกัน ซึ่งมีหลายเรื่องหลายประเด็น ผมได้ให้แนวนโยบายไปว่า การปรองดองมีหลายมิติ และมีคดีความมากมายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคดีอาญา คดีแพ่ง คดีการเมือง แต่ละอย่างจะทำกันอย่างไร ระหว่างนี้ก็สร้างการรับรู้กับสังคม ประชาชน ให้รู้ว่าเขาคิดกันมาแบบนี้ ไม่ใช่งุบงิบทำ มันทำไม่ได้" นายกฯ กล่าว

** เสนอแปลงวิป3ฝ่าย เป็นป.ย.ป.

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขา ป.ย.ป. กล่าวถึงการเดินสายพูดคุยกับองค์กรต่างๆ เกี่ยวกับการตั้งป.ย.ป. ว่า จากการหารือกับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกฯ และร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสปท. ถึงการทำงานร่วมกัน เพื่อเตรียมการปฏิรูป และได้เสนอให้เพิ่มบทบาทของวิป 3 ฝ่าย ครม.-สนช.-สปท. จากเดิมที่มีเพียงตัวแทนมาคุยกัน ให้เพิ่มกรรมาธิการของสนช.และสปท. มาร่วมหารือเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูป และสร้างความปรองดองด้วย เป็นการแปลงวิป 3 ฝ่าย เป็น กรรมมาธิการ ในคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นคณะที่ 2 ของ ป.ย.ป.

ขณะที่รายชื่อรองนายกฯ ที่จะมานั่งใน 4 คณะย่อยของ ป.ย.ป.นั้น ยังไม่มีความชัดเจน คาดว่าในสัปดาห์นี้ จะมีรายชื่อปรากฏออกมา โดยนอกจากรองนายกฯแล้ว จะประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน คนที่เมื่อพูดถึงการปฏิรูปปรองดองแล้วคนส่วนใหญ่จะนึกถึง

นายสุวิทย์ กล่าวว่า เช้าวันที่ 17ม.ค. ตนมีกำหนดการหารือกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม เพื่อหารือถึงโครงสร้างคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง เป็นการหาแนวทางว่าการสร้างความปรองดอง จะผนวกรวมกับการปฏิรูปได้อย่างไร โดยเฉพาะการขับเคลื่อนคณะกรรมการที่ พล.อ.ประวิตร รับผิดชอบดูแล กับอีก 3 คณะที่เหลือ ซึ่งจะรายงานผลการหารือทั้งหมดต่อนายกฯ ในวันที่ 17 ม.ค.นี้

สำหรับการจัดตั้งสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (พีเอ็มดียู) คาดว่าจะต้องใช้อำนาจตา มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อจัดตั้งสำนักงานนี้ โดยวางโครงสร้างองค์กรให้สามารถตั้งขึ้นง่าย ยุบง่าย 2 ปีต้องจบ หากรัฐบาลหน้าจะทำต่อก็สามารถทำได้ โดยจะดึงคนที่มีความรู้ความสามารถจากภายนอกเข้ามาทำงาน และต้องมีความคล่องตัว มีงบประมาณเป็นของตัวเอง เบื้องต้นจะเสนอให้ใช้ผู้ช่วยรัฐมนตรี ซึ่งยังเหลือโควตาที่ยังไม่แต่งตั้งเข้าให้มาทำงานปฏิรูประดับบัญชาการ 10 เรื่อง แบ่งเป็น 10 ทีม โดยจะสรรหาคนที่เก่งและดีมาทำงานตรงนี้ ไม่เกิน 10 คน จากนั้นจะมีการตั้งคณะทำงานระดับรองลงมา ไม่ว่าจะเป็นผู้ช่วยคณะทำงาน คณะทำงาน ใช้ระบบจัดจ้างพิเศษ

"บทบาทของพีเอ็มดียู คือ การตรวจสอบติดตามประเมินผลการทำงานของป.ย.ป. ที่สำคัญคือ สามารถปลดล็อกปัญหาต่างๆได้ โดยรายงานตรงต่อนายกฯและการทำงานจะไม่ล้ำเส้นบทบาทของรองนายกฯ เป็นหน่วยงานที่ปิดทองหลังพระ ผลงานที่ออกมาจะเป็นของรัฐบาลไม่ใช่พีเอ็มดียู เพราะเป็นเพียงเครื่องมือที่จะทำให้เกิดผล ป.ย.ป.ไม่ได้ตั้งช้า เรื่องทั้งหมดรัฐบาลได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง แต่ครั้งนี้เป็นการบูรณาการ" นายสุวิทย์ กล่าว

**กปปส.พร้อมคุยเอ็มโอยู ยุติความขัดแย้ง

นายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส. กล่าวถึงกรณีคสช. จะตั้งกล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.) ขึ้นมาว่าการสร้างความปรองดองนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ว่าการสร้างความปรองดองอย่างเดียว ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้บ้านเมืองสงบ หากระบบราชการยังคงมีปัญหาบ้านเมืองก็จะวุ่นวาย ดังนั้นก็ฝากไปยัง ฃป.ย.ป.ด้วยว่า เหตุที่บ้านเมืองนั้นวุ่นวายไม่ได้มาจากความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน แต่เกิดจากระบบบริหารราชการ ระบบบริหารบ้านเมืองปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต อาทิ การทุจริตในปี 2547-2548 นำไปสู่การชุมนุมทางการเมือง นำไปสู่การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร และฝ่ายที่ทุจริตก็ตั้งคนเสื้อแดงขึ้นมา เพื่อมาปะทะกับกลุ่มพันธมิตร เป็นเหตุให้ทหารกลัวว่าประชาชนจะบาดเจ็บ ล้มตาย จึงนำไปสู่การรัฐประหาร ในปี 2549 ดังนั้นจึงนับว่าความขัดแย้งนี้มีที่มาจากการทุจริต

เมื่อถามถึงกรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กระทรวงกลาโหม มีแนวคิดที่จะเชิญทุกฝ่ายเข้ามาพูดคุยเพื่อนำไปสู่การทำข้อตกลงเอ็มโอยู เพื่อยุติความขัดแย้ง นายถาวร กล่าวว่าทาง กปปส. มีความยินดีและพร้อมที่จะไปพูดคุย

** ปรองดองแบบขอไปที มีสิทธิพัง

นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า มีการพูดจาแสดงความเห็นที่ผ่านมา น่าจะมีปัญหาคำนิยามคำว่า "ปรองดอง" อาจจะยังเข้าใจไม่ตรงกัน หลายคนยังมีความเข้าใจผิดว่าคือการนิรโทษกรรม นอกจากความหมายแล้ว ยังมีเรื่องผู้เข้าร่วม เรื่องของการปรองดองจำเป็นจะต้องมีหลายฝ่ายเข้าร่วม ทั้งที่เป็นกรรมการ เป็นที่ปรึกษาพิจารณา ผู้ดำเนินการทำให้เกิดความปรองดอง รวมทั้งผู้ที่จะร่วมแสดงความคิดเห็น ควรให้ผู้ที่อยู่ในความขัดแย้งได้คุยกัน แต่ว่าเฉพาะผู้ที่อยู่ในความขัดแย้งคุยกัน ก็ไม่อาจจะแก้ปัญหาได้ทั้งหมด และจำเป็นต้องให้ผู้ที่ขัดแย้งทั้งหลาย ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน แต่ยังติดปัญหาอยู่คือ บางส่วนอาจรู้สึกไม่อยากเสียหน้า ว่าเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง และบางส่วนโดยเฉพาะผู้มีอำนาจในปัจจุบันอาจไม่เข้าใจเลยด้วยซ้ำว่า ตนเองคือส่วนหนึ่งความขัดแย้งโดยตรง

สำหรับการให้นักการเมืองมาลงเอ็มโอยู ยังเป็นเรื่องผิวเผิน ไม่ครอบคลุม เพราะจริงๆ ความขัดแย้งในสังคมไทยในช่วง10 ปีที่ผ่านมานี้ ไม่ได้มีอยู่เฉพาะฝ่ายการเมือง แต่เกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย ขณะที่ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยซับซ้อน และเกี่ยวพันกับหลายฝ่าย หลายองค์กร

การจะทำให้เกิดความปรองดองได้ ไม่ล้มเหลวเหมือนในอดีต ลำดับแรกๆ ต้องให้หลายฝ่าย ทั้งผู้ที่อยู่ในความขัดแย้ง ทั้งผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในการแก้ปัญหา ได้มีโอกาสพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา และเท่าเทียม ที่สำคัญไม่น้อยกว่ากัน ผู้มีอำนาจต้องแสดงความจริงใจ และสนใจแก้ปัญหาความขัดแย้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น