xs
xsm
sm
md
lg

'บิ๊กตู่'ขีดเส้น3เดือนปัญหารสก.-คนร.ไฟเขียว5ยุทธศาสตร์หลัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน 360 - "พล.อ.ประยุทธ์" ขีดเส้น 3 เดือน เร่งแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจให้เป็นรูปธรรม ด้านที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจครั้งแรกปีไก่ กำหนด 5 ยุทธศาสตร์ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางปฏิบัติ พร้อมไฟเขียวให้รฟท. พัฒนาที่ดินมักกะสัน-เดนิรถไฟสีแดงเอง เร่งไอแบงก์หาพันธมิตรให้จบภายใน มิ.ย.นี้ และสั่งการให้พลังงานดูแลการปรับโครงสร้างธุรกิจของกลุ่มปตท.

วานนี้ (9 ม.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)ร่วมกับรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวในช่วงต้นของการประชุมว่า การประชุมต่อไปนี้ทุกคณะให้เวลา 3 เดือน ในทุกเรื่อง ถ้า 3 เดือนไม่ยุติ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ก็จำเป็นต้องดูแลงานโครงสร้างทั้งหมดรวมทั้งผู้ปฏิบัติงานทั้งหมด ที่ผ่านมาได้ตรวจสอบแล้วยังพบมีปัญหาอยู่บ้างในทางปฏิบัติ ยังติดปัญหาหลายอย่าง จึงต้องมีคณะทำงานปฏิรูปขึ้นมา เช่นเดียวกับเรื่องนี้ คือการแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจทั้งหมด มันอยู่ที่ความร่วมมือ หรือที่ทุกคนมีจิตใจอยากจะทำ อยากจะให้มันเกิดขึ้น เพื่อให้เป็นผลดีกับประเทศ โดยไม่นึกถึงตัวเอง เรื่องนี้เป็นวิธีที่ตนเองคิดมาตลอด

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เปิดเผยว่า การประชุมครั้งที่ 1/2560 ได้เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ และมอบหมายให้รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจเป็นการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และหลักการสำคัญของกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ไทยแลนด์ 4.0 แผนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy) และนำสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน มาใช้ เป็นกรอบแนวคิดในการพัฒนายุทธศาสตร์ขึ้น

ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1. กำหนดบทบาทรัฐวิสาหกิจให้ชัดเจน เพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ โดยกำหนดบทบาทและทิศทางการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้ชัดเจนและแยกบทบาทระหว่างผู้กำกับดูแล ผู้กำหนดนโยบายและผู้ให้บริการออกจากกันอย่างชัดเจน

ยุทธศาสตร์ที่ 2.เร่งการลงทุนที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ โดยการจัดให้มีแผนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจราย 5 ปี ที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุน

ยุทธศาสตร์ที่ 3. เสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน เพื่อให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจการเงินที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

ยุทธศาสตร์ที่ 4.สนับสนุนการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยเฉพาะการมุ่งสร้างนวัตกรรมและนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องคล้องกับไทยแลนด์ 4.0 และแผนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ประชาชนและลดต้นทุนการดำเนินงาน

ยุทธศาสตร์ที่ 5. ส่งเสริมระบบธรรมาภิบาลให้มี ความโปร่งใสและมีคุณธรรม มีกลไกส่งเสริมและสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจปรับปรุงกระบวนการบริหารจัดการ เพื่อเป็นองค์กรคุณธรรม

ในส่วนการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจ 7 แห่ง ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานตามแผนการแก้ไขปัญหา รวมทั้งแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรของรัฐวิสาหกิจปี 2560 และกรอบเป้าหมายการประเมินผลการดำเนินงานประจำปี 2560 ของรัฐวิสาหกิจทั้ง 7 แห่ง คือ 1.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) โดย ธพว. มีผลการดำเนินงานในภาพรวมดีขึ้นและเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด เช่น การขยายสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้น 34,000 ล้านบาท การบริหารหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs)เป็นต้น ทั้งนี้ ในปี 2560 ได้กำหนดให้ ธพว. เร่งปล่อยสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท ให้เพิ่มขึ้น และการบริหารจัดการ NPLs ให้มีจำนวนไม่เกิน 16,600 ล้านบาท รวมทั้งมอบหมายให้กระทรวงการคลังกำกับการดำเนินการของ ธพว. ให้เป็นไปตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยโดยเคร่งครัด

2.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) หรือไอแบงก์ คนร. รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาของ ธอท. โดยมีการจัดทำแผนรองรับการดำเนินงานตลอดจนการเพิ่มช่องทางให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินของ ธอท. ได้มากขึ้น และได้จัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์เป็นไปตามแผนแล้ว ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังมีความพร้อมในการเพิ่มทุนและ ธอท. จะมีการโอนหนี้ NPFs ไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ ทั้งนี้ คนร. ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังกำกับการดำเนินงานของ ธอท. ในเรื่องต่างๆ อย่างใกล้ชิด รวมถึงการสรรหาพันธมิตรภายในเดือน มิ.ย. 2560

3.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้แก่ความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาของ ขสมก. โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมกำกับการดำเนินงานของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และ ขสมก. ให้เป็นไปตามมติ คนร. และ/หรือ แผนการแก้ไขปัญหาองค์กร ทั้งนี้ คนร. ได้เน้นย้ำให้มีการตรวจสอบความปลอดภัยโดยเข้มงวด

4.บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาของการบินไทย ซึ่งในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 มีผลประกอบการดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2558 อย่างไรก็ตาม การดำเนินการตามแผนส่วนใหญ่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ จึงมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมกำกับดูแลโดยเคร่งครัด ทั้งนี้ มอบหมายให้ บกท. เร่งจัดทำระบบขายตั๋วให้สามารถเพิ่มสัดส่วนการขายผ่าน Internet ให้เร็วขึ้น และพิจารณาความเหมาะสมในการลงทุนในบริษัทลูกต่างๆ

5) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาของ รฟท. ทั้งนี้ สำหรับข้อเสนอของ รฟท. ที่จะรับผิดชอบเรื่องการดำเนินการพัฒนาที่ดินย่านมักกะสันและดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงเอง มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม โดยนายพิชิต อัครทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และ รฟท. พิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง ซึ่งจะต้องกำหนดเงื่อนไขความสำเร็จ รวมทั้งจะต้องสามารถลดภาระหนี้สินของ รฟท. ลงด้วย

ส่วน 6) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (บมจ. ทีโอที.) และ 7) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (บมจ. กสท.) คนร. รับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการปรับโครงสร้างการประกอบธุรกิจของ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท โดยจัดตั้งบริษัท NGDC ในการดำเนินธุรกิจเคเบิ้ลใยแก้วใต้น้ำและอินเตอร์เน็ตดาต้าเซ็นเตอร์ และ NGN ในการเนินธุรกิจอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์พร้อมกันนี้ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) รับทราบข้อสังเกตการณ์ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ต่อกรณีการที่บมจ.ปตท. (PTT) จะปรับโครงสร้างธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก ก่อนนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยให้มีการทบทวนเรื่องดังกล่าว เพราะอาจทำให้ทรัพย์สินของประเทศต้องสูญหาย โดยเรื่องดังกล่าวได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานไปพิจารณาแผนการปรับโครงสร้างดังกล่าวของปตท.

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เรื่องการปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยแยกธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกออกมาเป็นบริษัทPTTOR ก่อนนำเสนอขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯนั้น ทางกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการพิจารณาอยู่ ซึ่งหากได้รับความเห็นชอบก็จะส่งผ่านเรื่องนี้ไปตามขั้นตอนสุดท้ายต้องผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงจะเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นปตท.เพื่อเห็นชอบต่อไป หากไม่ทันช่วงเม.ย.นี้ที่จะประชุมผู้ถือหุ้นปตท. ก็สามารถเรียกประชุมผู้ถือหุ้นวาระพิเศษได้
กำลังโหลดความคิดเห็น