xs
xsm
sm
md
lg

ปภ.แจ้ง 10 จังหวัดใต้ รับมือฝนถล่มระลอกใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน 360 - “ฉัตรชัย พรหมเลิศ” อธิบดี ปภ.ออกหนังสือเวียน 10 จังหวัดภาคใต้รับมือฝนตกหนัก-น้ำท่วม หลังหลายพื้นที่ฝนถล่มต่อเนื่อง จนเจอน้ำป่าไหลหลาก - ดินสไลด์ปิดช่องทางการจราจร

วานนี้ (3 ม.ค.) นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) กระทรวงมหาดไทย(มท.) ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดภาคใต้ 10 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี กระบี่ ตรัง และสตูล โดยมีเนื้อหาระบุว่า เนื่องจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทย ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศมาเลเซีย รวมถึงภาคใต้ตอนล่างทำให้มีฝนตกหนักใน 10 จังหวัดดังกล่าว ส่วนคลื่นลมมีกำลังแรงสูง 2-5 เมตร เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งถึงวันที่ 4 ม.ค.นี้

“เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ ให้จังหวัดแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณที่ลาดเชิงเขา ที่ราบต่ำ และริมชายฝั่งทะเลทราบ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยของจังหวัด พื้นที่ที่เคยได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำฝนสะสมจนทำให้เกิดดินถล่ม น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมบ้านเรือน พื้นที่เศรษฐกิจสำคัญรวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญทางน้ำ หรือทะเล สถานประกอบการ ร้านค้าบริเวณ ริมชายหาด เรือโดยสาร นักท่องเที่ยว และเน้นย้ำผู้ประกอบการประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ” หนังสือแจ้งเตือนระบุ

ในหนังสือฯ ยังระบุด้วยว่า ให้กำชับหน่วยงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสานหน่วยทหารในพื้นที่ และเครือข่ายต่างๆ จัดชุดร่วมเฝ้าระวัง เผชิญเหตุ และพร้อมให้ความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนกรณีที่มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ให้พิจารณาความจำเป็นในการอพยพประชาชนไปยังสถานที่ที่ปลอดภัย หรือจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว ให้ผอ.ปภ.แต่ละระดับพิจารณาสั่งการอพยพโดยทันที หากเกินศักยภาพให้รายงานมาที่ส่วนกลางรับทราบทันที นอกจากนี้ให้จังหวัดรายงานผลการแจ้งเตือนประชาชน การเตรียมความพร้อม และหากเกิดสถานการณ์ให้รายงานมาที่ส่วนกลางรับทราบ ภายใน 24 ชั่วโมงเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องมาเป็นวันที่ 2 นั้น ทำให้หลายพื้นที่ของจังหวัดทางภาคใต้ต้องประสบปัญหาน้ำท่วมสูงและดินสไลด์ปิดช่องทางจราจร เช่นที่ อ.นาโยง จ.ตรัง ต้องประสบภัยน้ำท่วม อันเกิดมาจากน้ำป่าที่ไหลหลากลงมาจากเทือกเขาบรรทัด โดยเฉพาะที่น้ำตกช่องได้มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก และไหลลงสู่พื้นที่ราบลุ่มด้านล่าง ส่งผลให้ ต.ช่อง มีน้ำท่วมสถานที่ราชการ บ้านเรือน และพื้นที่ทางการเกษตร หลายจุด โดยเฉพาะที่สถานีอนามัย ต.ช่อง มีระดับน้ำท่วมสูงถึง 70 ซม. เจ้าหน้าที่และชาวบ้านต้องช่วยกันขนย้ายข้าวของขึ้นสู่ที่สูงกันอย่างวุ่นวาย ทั้งที่ในวันนี้ยังคงเป็นวันหยุดยาวสำหรับการพักผ่อนและการท่องเที่ยวช่วงเทศกาลปีใหม่

ขณะที่ นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการ จ.ตรัง ได้เดินทางไปตรวจพื้นที่ดินสไลด์และต้นไม้ล้มขวางถนนเพชรเกษม สายตรัง-พัทลุงที่บริเวณบนเขาพับผ้า ช่วงระหว่างจุดพักรถตรังอันดามันเกตเวย์ จนส่งผลให้รถสามารถวิ่งได้ช่องทางเดียวและติดขัดเป็นทางยาว เจ้าหน้าที่แขวงทางหลวงตรัง ต้องเร่งทำการขนย้ายดิน และตัดต้นไม้ออกไปจากท้องถนน เพื่อเปิดการจราจรตามปกติ ทั้งนี้ได้สั่งให้หน่วยงานต่างๆ เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ อ.นาโยง อ.ปะเหลียน และ อ.เมืองตรัง อย่างใกล้ชิด เพราะลำคลองหลายจุดมีระดับน้ำสูงขึ้นมาก
เช่นเดียวกับที่ จ.พัทลุง โดยเฉพาะพื้นที่ อ.กงหรา ศรีนครินทร์ ศรีบรรพต และ อ.เมือง ก็ได้รับผลกระทบจากน้ำป่าไหลหลากจากเทือกเขาบรรทัด เข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน หน่วยงานราชการ และถนนสายเพชรเกษม พัทลุง -ตรัง และถนนสายรองระหว่าง อำเภอ เส้นทางระหว่างตำบล เป็นระลอก โดยเฉพาะในพื้นที่ของ อ.ศรีนครินทร์ น้ำไหลบ่าจากเทือกเขาเข้าท่วมหนักที่สุด โดยที่เส้นทางระหว่างหมู่บ้าน เส้นทาง บ้านหน้าเกาะ กับบ้านวง อ.ศรีนครินทร์ ระดับน้ำสูงกว่า 2 เมตร ทำให้ชาวบ้านหลายครอบครัวต้องอยู่เหมือนติดเกาะ ไม่สามารถออกมาด้านนอกได้ และปริมาณน้ำยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ขณะที่ นายอุดม ทิพย์เดโช ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 17 (ผส.ชป.17) ดูแลพื้นที่ จ.ยะลา นราธิวาส และ ปัตตานี เปิดเผยว่า ขณะนี้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพบบริเวณลุ่มน้ำปัตตานี, บางนรา, สายบุรี และ โก-ลก ยังมีปริมาณน้ำมาก โดยเฉพาะที่ลุ่มน้ำสายบุรี ซึ่งมีต้นน้ำอยู่ในเขต อ.ศรีสาคร, รือเสาะ และ สุคิริน จ.นราธิวาส ตอนกลางของลุ่มน้ำเป็นพื้นที่ราบลุ่มอยู่ในเขต อ.ทุ่งยางแดง, กะพ้อ จ.ปัตตานี และ อ.รามัน จ.ยะลา ตอนปลายลุ่มน้ำอยู่ในเขต อ.สายบุรี จ.ปัตตานี รวมทั้งหมด 3 จังหวัด จึงทำให้กินพื้นที่ค่อนข้างมาก ประกอบกับจุดดังกล่าวยังไม่มีระบบชลประทานที่ใช้สำหรับบริหารจัดการแบบถาวร แต่ในส่วนของลุ่มน้ำปัตตานี, บางนรา และ โก-ลก นั้นเดิมมีคันกั้นน้ำรวมถึงโครงการตามแนวพระราชดำริต่าง ๆ ที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนอยู่แล้ว จึงทำให้น้ำสามารถระบายลงทะเลได้เร็วขึ้น จากการสำรวจพบว่าจุดที่ประสบภาวะน้ำท่วมขังส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การเกษตรเช่น สวนยางพารา สวนผลไม้ และ นาข้าว สำหรับภาพรวมคาดว่าน่าจะมีประชาชนไม่ต่ำกว่า 100,000 คน ใน 3 จังหวัด ได้รับความเดือดร้อน แต่ยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ

“จากการประมวลข้อมูล คาดการณ์ว่าภายใน 2 - 3 วัน ปริมาณฝนจะลดลง และ สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งทางสำนักงานชลประทานที่ 17 มีความพร้อมที่จะสนับสนุนเครื่องสูบน้ำเข้าไปเร่งผลักดันมวลน้ำออกจากบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัด” นายอุดม กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น