xs
xsm
sm
md
lg

คำวินิจฉัยศาลรธน. "แป๊ะยิ้ม"มีแต่กำไร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 สะเก็ดไฟ

ดูเผินๆ เหมือนจะเป็นการงัดข้อกันระหว่างคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) กับศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้กรธ.ปรับแก้เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงประชามติ ประเด็นการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่มีการฟันฉับให้ส.ว. ร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีตั้งแต่รอบแรก แต่ไม่มีสิทธิ์เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งตรงนั้นเป็นหน้าที่ของส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง

จะว่าไปกรธ.ดีใจด้วยซ้ำ ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาแบบนี้ เพราะจุดมุ่งหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องการให้ส.ว.มีสิทธิ์โหวตนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะรอบไหนก็ตาม แต่การที่จะให้กรธ. เป็นคนบัญญัติด้วยตัวเองมันก็เสี่ยงที่จะให้คนนินทาหมาดูถูกว่า เขียนตามใบสั่งกันเกินไป

การให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องคนพินิจพิเคราะห์จึงเป็นสิ่งที่ชอบธรรมมากที่สุด งดงามกว่าการให้กรธ.เป็นคนเขียนด้วยตัวเอง พวกฝ่ายต่อต้านไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญอะไรมาก เพราะเสี่ยงติดคุกติดตะราง ในอดีตมีบทเรียนมาแล้วกรณี“เด็จพี่”พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย ที่เคยหมิ่นประมาทวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ จนโดนศาลอาญาพิพากษาจำคุก

ดังจะเห็นว่า พอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาแบบนี้ แม้จะมีเสียงโวยวาย แต่ไม่เอะอะโครมครามเท่าไหร่ เพราะก็แหยงๆ ซังเตเหมือนกัน อย่าลืมว่าศาลนั้นดูศักดิ์สิทธิ์กว่ากรธ.ในทางกฎหมาย ลองนึกสภาพว่าถ้าเป็นกรธ.เขียนเองแต่แรก ปานนี้โดนนักการเมืองต่อแถวกระซวกไส้ไปเละแล้ว เผลอๆ ตอนนั้นจะยังไม่หยุดด้วยซ้ำว่า เขียนรัฐธรรมนูญรับใช้ท็อปบูต

จริงๆ ถ้าสังคมไม่รุมวิพากษ์วิจารณ์ก่อนหน้า เผลอๆ ส.ว.มีสิทธิ์เสนอนายกรัฐมนตรีได้ด้วยซ้ำ เพราะคสช.เองต้องการชัวร์ที่สุดสำหรับเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ดูไอ้ห้อยไอ้โหน วันชัย สอนศิริ และ เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) หลังคำถามพ่วงผ่านประชามติก็เห็นลิ้นไก่แล้ว ที่ยืนยันว่า ส.ว.มีอำนาจเสนอชื่อ และร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี

แต่เมื่อมันน่าเกลียดเกินไป สำหรับการให้ส.ว. มีสิทธิ์เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี เหมือนกับส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง มันก็เหมือนเป็นการดูถูกประชาชนมากเกินไป เพราะ ส.ว. มาจากการแต่งตั้งของคสช. ไม่ได้ยึดโยงประชาชนตรงไหน แต่กลับได้อภิสิทธิ์ทุกอย่างเท่ากัน

ดังนั้น สิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมา อย่างไรก็เป็นคุณกับคสช. ไม่มีทางไหนที่เป็นโทษ แถมได้มากกว่าสิ่งที่กรธ.เขียนด้วยซ้ำ เอาเป็นว่า งานนี้ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งกรธ. ไม่มีอะไรที่ต้องขัดข้องหมองใจกัน เหมือนที่หลายๆคนตีความ การจะทำอะไรสามารถพูดคุยกันได้ตลอด อย่าลืมว่าในกรธ.ก็มี สุพจน์ ไข่มุกด์ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนก็เคยทำงานอยู่กับคสช.มา โดยเฉพาะ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ที่เคยเป็นกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มี “บิ๊กป้อม”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน

ขณะเดียวกัน มติของศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นเอกฉันท์ ไม่มีเสียงแตก นั่นเป็นการบ่งบอกให้เห็นอย่างหนึ่งว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ต้องการให้เห็นว่า มีความคิดเห็นไม่ตรงกันในที่ประชุม อันอาจมีการนำประเด็นเสียงข้างน้อยนี้ไปขยายปม ทั้งที่ในความเป็นจริง ถ้ากรธ.กับศาลรัฐธรรมนูญ กินแหนงแคลงใจกันจริง มติที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญไม่ออกมาแบบนี้แน่นอน ต้องมีเสียงข้างน้อยกันบ้าง

การให้กรธ.ทำเองตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ไม่เหมาะสม เพราะกรธ.ได้รับการแต่งตั้งมาจากคสช. การเขียนแบบนั้นถูกมองว่ารับใบสั่งแน่ อีกทั้งตัวซือแป๋มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.เอง ก็เป็นสมาชิกคสช. อาจมีปัญหาในภายภาคหน้า เรื่องการมีส่วนได้ส่วนเสีย ถ้ามีการนำประเด็นนี้ไปขยายความโจมตี

เมื่อผลออกมาแบบนี้แล้ว อะไรๆ มันก็ชัดขึ้นเรื่อยๆ โอกาสที่ประเทศไทยจะได้นายกรัฐมนตรีชื่อ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกสมัยในการเลือกตั้งครั้งหน้ามีสูง เพราะ ส.ว. 250 ชีวิต ที่กำลังจะถูกแต่งตั้งจากคสช.ในอนาคต มีสิทธิ์ร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีตั้งแต่รอบแรก

ไม่มีทางเป็นไปได้ ที่ 250 ส.ว.ลากตั้ง ที่คสช.ตั้งมากับมือจะไปยกมือโหวตเลือกนายกรัฐตรีที่พรรคเพื่อไทย หรือพรรคประชาธิปัตย์เสนอ ดังนั้น ถ้าสองพรรคนี้เสนอใคร เป็นเรื่องยากมากที่คะแนนจะถึงครึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา หรือ 376 เสียง เพราะระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม มีการกำหนดเพดานไม่ให้พรรคใดได้คะแนนเสียงชนะขาด เหมือนที่แล้วๆ มา

พรรคเพื่อไทยที่มีโอกาสเข้าวินเป็นที่หนึ่งเต็มที่มีโอกาสได้ส.ส. 100 กว่าคน พรรคประชาธิปัตย์ จับผลัดจับผลูเผลอๆ จะไม่ถึง 100 คนด้วยซ้ำ คะแนนที่เหลือกระจัดกระจายไปที่พรรคขนาดกลาง และพรรคขนาดเล็ก ต่อให้สองพรรคนี้จับมือกัน ถ้าปราศจากไม้ประดับอย่างพรรคร่วม หรือเสียงส.ว.มาช่วยหนุน อย่างไรก็ไม่ถึง 376 เสียงแน่ ตัวชี้ขาดในสังเวียนเลือกนายกรัฐมนตรี จึงอยู่ที่ 250 ส.ว.

เพราะถ้า 250 ส.ว. เอาใคร คนพวกนี้จะขาดคะแนนเพียง 126 คนเท่านั้น โอกาสที่จะผลักดันใครให้เป็นนายกรัฐมนตรีง่ายนิดเดียว ไปจับมือควงแขนกับพรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็ก ก็แทบจะสบายแล้ว และดูท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์นาทีนี้ แม้ตัวเองจะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่การไม่เอากับเขาด้วย อาจทำ
ให้ต้องไปเป็นฝ่ายค้านคู่กับพรรคเพื่อไทย ดูท่าคงเกิดขึ้นยาก

ขณะที่ “บิ๊กตู่”เอง ก่อนหน้านี้เคยย้ำมาตลอดว่า ผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมีความสง่างาม เข้าอีหรอบนี้เรื่องนายกรัฐมนตรีคนนอกที่หวาดระแวงกันอาจไม่มี เพราะมันอาจจะจบตั้งแต่การประชุมรัฐสภาครั้งแรกแล้ว ชื่อของ“บิ๊กตู่”อาจไปถูกเหน็บอยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง โดยเฉพาะพวกขุมข่ายทหาร ที่เตรียมตัวออกไปตั้งพรรคมารองรับ

ไม่น่าจะมีรายการปล่อยให้ยืดเยื้อไปถึงต้องขอยกเว้นบุคคลในบัญชี เพราะอย่างนั้นอาจทำให้นายกรัฐมนตรีคนที่จะได้ ดูจะเป็นการดันทุรัง เจาะจงกันเกินไป ยิ่งถ้าดันทุรังจะเอานายกรัฐมนตรีคนนอก แล้วได้ “บิ๊กตู่”ขึ้นมาจริงๆ มันก็ดูหวยล็อก อย่างนี้ไม่เรียกสง่างาม

ฉะนั้น โอกาสจบตั้งแต่รอบแรกมีสูง เพราะต้นทุน 250 ส.ว. ลากตั้งมันมากพอจะดันก้น “บิ๊กตู่”ให้เถลิงอำนาจเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ตรงนี้คงสง่างามเหมือนที่เจ้าตัวบอก จริงไหมเล่า ปัดโธ่
กำลังโหลดความคิดเห็น