xs
xsm
sm
md
lg

ปฐมวัยไทยเข้มแข็ง..สู่มาตรฐานอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
อย่างที่ทราบกันดีว่าการส่งเสริมและพัฒนาเด็กปฐมวัยช่วงอายุระหว่างแรกเกิดถึง 6 ขวบนั้น มีความสำคัญ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นช่วงที่เด็กมีการพัฒนาทางด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญาที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงการเข้ามาของประชาคมอาเซียนที่ทำให้การยกระดับคุณภาพทางการศึกษาเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ ประเทศไทยจึงจำเป็นจะต้องวางรากฐานให้เด็กไทยเติบโตไปอย่างมีคุณภาพที่สุด . .

พัฒนาเด็กปฐมวัย..เทียบเคียงสากล

เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่ทางสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จัดทำโครงการพัฒนาเด็กปฐมวัยไทยสู่มาตรฐานอาเซียนขึ้น โดยจะสัญจรไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศ นำนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กปฐมวัย ไปให้ความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาสมรรถนะของเด็ก
 
โดยได้วางแผนเริ่มสัญจรไปยังจังหวัดเชียงใหม่, ราชบุรี, ขอนแก่น, สงขลา และปิดท้ายที่กรุงเทพมหานคร ในเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม 2559 โดยตั้งเป้าให้ความรู้แก่ครู พ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้ดูแลและผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย จำนวน 1,500 คน

“ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์” รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวถึงสถานการณ์การพัฒนาเด็กปฐมวัยในประเทศไทยว่า “สำหรับสถานการณ์การพัฒนาเด็กปฐมวัยในประเทศไทยที่ผ่านมา ได้มีการพัฒนาพอสมควร มีโรงเรียนอนุบาลและศูนย์เด็กเล็กเกิดขึ้นทั่วประเทศ และมีเอกสารสมรรถนะที่จัดทำขึ้นเพื่อช่วยเหลือพ่อแม่ผู้ปกครอง ครูผู้ดูแลเด็ก
ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์
 
แต่ในความเป็นจริงแล้วยังคงพบว่ามีอีกหลายส่วนที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติม ในการประเมินสมรรถนะทั่วประเทศเมื่อเร็วๆ นี้ มีผลออกมาเป็นที่น่ากังวลว่า 30% มีพัฒนาการไม่สมวัย ข้อนี้เป็นประเด็นหนึ่งที่เราจะต้องมาใส่ใจให้มากขึ้นในการพัฒนาสมรรถนะของเขาให้เป็นไปตามพัฒนาการที่สมวัย

เดิมประเทศไทยมีมาตรฐานเด็กอยู่หลายส่วนจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเราได้รวบรวมทุกมาตรฐานนำมาเทียบเคียงกับมาตรฐานของอาเซียน เพื่อจะจัดทำมาตรฐานของประเทศไทยขึ้นสำหรับการเลี้ยงดู หรือดูแล หรือพัฒนาเด็กปฐมวัยให้เป็นอันเดียวกัน และสามารถเทียบเคียงกับสากลได้”

ลงทุนกับเด็กปฐมวัย..ผลตอบแทนสูงสุด

“ผมแทบจะบอกไม่ได้ว่าสถานการณ์ไทยอยู่ตรงไหนของอาเซียน ผมว่านี่คือจุดอ่อนของปฐมวัยเราไม่เข้าใจสถานการณ์ของปฐมวัย เหตุผลคือถ้าย้อนกลับไปตั้งแต่เราเด็กๆ ทุกครั้งเวลาเราพูดถึงการศึกษา เราเข้าใจระดับประถม มัธยม มหาวิทยาลัย แต่เราแทบจะไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาปฐมวัยเลย”

“ผศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง” ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นกับคำถามที่ว่า “เด็กปฐมวัยไทยอยู่ตรงไหนของอาเซียน” ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนต่างรู้ว่าการให้ความสำคัญแก่เด็กปฐมวัยเป็นเรื่องที่ควรทำเป็นอันดับหนึ่ง ทว่ามันยังใหม่ในเชิงนโยบายทางด้านการศึกษา ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์อาจารย์จึงมองว่าการหันมาลงทุนในเด็กปฐมวัยคือการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด

ในมุมมองของอาจารย์วีระชาติในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ไม่ใช่นักการศึกษา แสดงให้เห็นถึงแง่การลงทุนที่ควรอย่างยิ่งที่จะก่อรากสร้างฐานอนาคตของชาติ โดยเริ่มที่เด็กปฐมวัย ซึ่งสอดคล้องกับความคิดของอาจารย์ “ทิพย์สุดา สุเมธเสนีย์” อดีตรองเลขาธิการสภาการศึกษา ได้ให้ความเห็นว่าในมุมมองของการลงทุนในเด็กเล็กและเด็กด้อยโอกาสมีผลตอบแทนดีที่สุด
 
“ในมุมมองของนักเศรษฐ์ศาสตร์จะมองในแง่ของการลงทุน ถ้าไปลงทุนในเด็กเล็กๆ และกับเด็กผู้ด้อยโอกาส ผลตอบแทนจะมีมาก อย่างไรก็ตามถ้าให้โอกาสกับเด็กด้อยโอกาส โดยเฉพาะในวัยที่อยู่ในช่วงปฐมวัย มันจะเกิดการตอบแทนที่ค่อนข้างสูง

สิ่งที่พวกเรานักการศึกษาปฐมวัยเรียนรู้มา สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยคงจะต้องเรียนว่าตั้งแต่ปี 2520 เรามีแผนพัฒนาเด็กของชาติเป็นแผนยาว 20 ปี ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญ ประกอบกับเมื่อปี 1990 การศึกษาของอเมริกาสะท้อนให้เห็นว่าพัฒนาการทางสมองเกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา”

 
ความคิดตรงนี้จึงทำให้ทั่วโลกหันกลับมาเปลี่ยนความคิดในการพัฒนาเด็กเล็ก ทุกคนได้ให้ความสนใจกับเด็กที่อยู่ในครรภ์มารดา ซึ่งแน่นอนว่าประเทศไทยก็ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก รวมถึงประชาคมอาเซียนที่เกิดขึ้นมาจึงทำให้ย้อนกลับไปสู่คำถามที่ว่าเราดูแลรากฐานของชาติดีแล้วหรือยัง

“ในส่วนของประชาคมอาเซียนที่เกิดขึ้นมา ทุกคนตื่นเต้นและสนใจ ในเมื่อเราจะนำพาอาเซียนไปสู่เศรษฐกิจที่มั่งคั่งมั่นคง ประชาชนหรือเด็กๆ ที่กำลังจะโตขึ้นไปในศตวรรษที่ 21 แข็งแรงหรือยัง เพราะฉะนั้นต้องมาดูตั้งแต่ปฐมวัย”

ทางด้านคุณ “เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป” กรรมการผู้จัดการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก มองการพัฒนาเด็กปฐมวัยไทยสู่มาตรฐานอาเซียนว่า ช่วงวัยอายุที่มีต้องการการเรียนรู้ที่สุดคือปฐมวัย ซึ่งถือเป็นช่วงอายุที่เรียกได้ว่าเป็นภาชนะที่กำลังเปิดกว้าง พร้อมที่จะเรียนรู้และเปิดรับสิ่งต่างๆ จากรอบตัวได้ง่ายดายที่สุด

“ในชีวิตของคนเราวัยที่ต้องการการเรียนรู้มากที่สุด คือปฐมวัย เราเลยคิดว่าลองทำจริงๆ จังๆ เรื่องปฐมวัยตั้งแต่ปี 2539 พอเรามาอยู่กับกลุ่มหลายๆ อายุ เวลาตัดช่วงจริงๆ ปฐมวัยอัมพาตมากตั้งแต่รุ่นแรกๆ การให้การสนับสนุนยังน้อย เราเลยย้อนกลับมาจับวัยที่เป็นฐานสำคัญ

ถ้าเกิดช่วงปฐมวัยเราให้น้อย ต่อไปข้างหน้าก็จะน้อย ถ้าเราให้พร่องสังคมก็จะพร่องอย่างที่เราเห็น เราจึงตัดสินใจมาทำเรื่องของปฐมวัย ถ้าปฐมวัยเราใส่อะไรลงไปก็จะได้อย่างนั้น พ่อแม่ที่เป็นแบบยังไงลูกก็จะเป็นแบบนั้น แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่รอบตัวเด็ก เด็กจะกักเก็บหมด”

เคล็ดลับ “ปั้นลูกให้แกร่ง” รับประชาคมอาเซียน

หลังเสียงแจ้วๆ และบุคลิกท่าทางการเล่านิทานจากหนูน้อยหน้าตาน่ารัก “น้องอินเตอร์” จบลง เสียงปรบมือดังขึ้นพร้อมรอยยิ้มของผู้ฟังที่ได้ร่วมกันตั้งใจฟังนิทานเรื่อง “ความลับของแสงแดด” หลายคนเกิดคำถามว่าทำไมหนูน้อยวัย 4ขวบ ถึงได้มีความสามารถเก่งเกินวัยถึงเพียงนี้ เราจึงไม่พลาดที่จะคว้าตัว คุณ “ไม้-พนาพรรณ รุ่งลิขิตเจริญ” คุณแม่ผู้อยู่เบื้องหลังทุกย่างก้าวของเจ้าตัวน้อย

“ส่วนใหญ่ไม่ได้มีเคล็ดลับอะไรนะคะ เหมือนคุณแม่ทั่วๆ ไป ถ้าเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ส่วนใหญ่คือ เวลาเราไปเดินเที่ยวในห้าง เราจะชอบชวนเขาไปดูร้านหนังสือให้เขาไปดู ไม่ว่าจะเป็นหนังสืออะไรก็ตามที่เขาสนใจหรืออยากได้ ถ้ามันเหมาะกับเขาเราก็จะให้เขาเลือกเอง

พอกลับมาถึงบ้านเขาจะมีความสนใจว่า หนังสือเล่มนี้เขาเลือกมาเอง เขาจะอยากอ่าน ถ้าเขายังอ่านไม่ออกเราก็จะช่วยกันดู มีการเล่านิทานก่อนนอนกันทุกคืนทั้งครอบครัว ให้เขาลองใส่ความคิดเห็นดูว่า นิทานเป็นอย่างนี้แล้วต่อไปน่าจะเป็นยังไง เขาเลยรู้สึกซึบซับว่าเขาชอบหนังสือ”
 “น้องอินเตอร์กับนิทานความลับของแสงแดด”

 
คุณไม้เล่าให้ฟังต่อไปว่าแรกเริ่มเห็นแววการเล่านิทานของน้องอินเตอร์มาจาก การที่หนูน้อยเป็นคนชอบพูดคุยกับคนอื่นๆ ชอบคุย ชอบแนะนำ สิ่งเหล่านี้จึงฉายแววการกล้าแสดงออกของเธอออกมา นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวมาเป็นหนูน้อยเล่านิทาน

“เรื่องเล่านิทานทีแรกไม่ได้เห็นแววค่ะ แต่เริ่มมาจากการกล้าแสดงออก เขาเป็นคนชอบพูดคุยกับคนอื่น ชอบเล่า ชอบแนะนำ เรารู้จักโครงการนี้อยู่แล้ว คุณครูเขาเลยแนะนำให้ลองมาฝึกดู เริ่มแรกเราไม่มั่นใจ เพราะเขายังอ่านหนังสือไม่ได้ แต่เขาจำได้ด้วยความเข้าใจนิทาน ไม่ได้จำเป็นประโยค หรือมาท่องให้ฟัง เขารู้ว่าเรื่องนี้พูดถึงอะไรและเขาก็เล่ามันออกมาจากความรู้สึกของเขา” 
นอกจากนี้ คุณไม้ยังฝากถึงคุณพ่อ-แม่ยุคใหม่ที่กำลังเตรียมพร้อมให้ลูก สำหรับการเข้ามาของประชาคมอาเซียนว่าควรโฟกัสที่ลูกจะดีที่สุด และไม่เพียงแต่เลือกสิ่งดีๆ ให้พวกเขาแต่ควรเลือกสิ่งที่เหมาะกับเขาด้วยเช่นกัน

“จริงๆ อยากให้เอาลูกเป็นศูนย์กลาง อย่างการเปิดสู่อาเซียนให้เราดูว่าอะไรที่มันกำลังเข้ามา และให้เลือกหยิบที่มันเข้ากับตัวลูกของเรา โดยที่ไม่ได้ยัดเยียดทุกอย่างที่มันเข้ามาในสังคมไปอยู่ในตัวเขาหมด เพราะว่าทุกๆ อย่างถ้าเด็กๆ เขาทำแล้วมีความสุข เขาจะทำมันได้นาน

มันจะเป็นตัวของเขาไปเองโดยปริยาย เราไม่จำเป็นต้องป้อนทุกอย่าง แต่เขาจะรับรู้จากตัวเราเองว่าสิ่งที่พ่อ-แม่แนะนำ คือ สิ่งที่ดีสำหรับตัวเขาและให้เขาเป็นคนคัดเลือกอีกทีว่าเขาจะทำอะไรบ้าง”
น้องอินเตอร์กับคุณแม่

กำลังโหลดความคิดเห็น