xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ผ่านร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ คาดก.ค.ปี'60เปิดสำรวจฯรอบ21

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360- "ครม."ฉลุยร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ....และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่จะมีระบบแบ่งปันผลผลิต(PSC )และระบบรับจ้างผลิต(SC) เพิ่มเติมจากเดิมที่มีเพียงระบบสัมปทานฯ การกำกับดูแลยังคงอยู่ภายใต้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ โดยคำแนะนำของคณะกรรมการปิโตรเลียม เตรียมดันเข้าสู่"สนช."คาดเร็วสุดก.ค.ปี 2560 จึงจะเปิดให้เอกชนยื่นสิทธิ์และสำรวจปิโตรเลียมรอบ 21 ได้ ส่วนการตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติยังไม่ชัด มอบหมายให้กระทรวงพลังงานและคลังไปศึกษาให้รอบคอบ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า ครม.ได้มีการพิจารณารับหลักการร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ....)พ.ศ..... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...)พ.ศ..... .ซึ่งแต่กระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการตั้งข้อสังเกตไป เพราะในร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีความเห็นต่าง ครม.จึงส่งกลับกับไปยังสำนักงานกฤษฎีกา พิจารณา ก่อนส่งเข้าที่ประชุมครม. อีกครั้ง เพื่อที่จะส่งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป ใน 3 วาระ

"อย่าไปวิตกกังวลกับกฎหมายฉบับนี้มากนัก เนื่องจากกฎหมายมันเป็นแบบนี้ เดี๋ยวก็ต้องมีการปรับแก้ที่ สนช. แต่ถ้ามามัวคิด และถามกันตรงนี้ ว่ามันไปไม่ได้ แล้วมันจะไปกันได้อย่างไร ในวันนี้ได้มีการสรุปว่า กฎหมายในช่วงเวลา 7 ปีที่ผ่านมา ทำไปได้ 120 ฉบับ แต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามา 2 ปี ทำไป 172 ฉบับ และขอให้ไปดูว่า กฎหมายที่ออกมานั้นมีความสำคัญอย่างไร เป็นการช่วยเหลือคนจน ให้ความเป็นธรรม" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ …) พ.ศ. … และร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่… ) พ.ศ… เพิ่มทางเลือกให้รัฐบาลสามารถนำระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract : PSC) และระบบสัญญาจ้างสำรวจและผลิต(SC) มาใช้นอกเหนือจากระบบสัมปทาน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปพลังงานของประเทศ

ทั้งนี้ร่างกฏหมายดังกล่าวเริ่มจากครม. 27 เม.ย.2558 ได้เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับโดยเพิ่มทางเลือกระบบ PSC นอกเหนือจากระบบสัมปทานต่อมาครม.วันที่ 12 พ.ค.2558 มีมติเห็นชอบและส่งให้คณะกรรมการกฏษฎีกาตรวจ ต่อมา 4 ส.ค.2558 ครม.มีมติเห็นชอบร่างฯ 2 ฉบับตามที่กฤษฎีกาตรวจและครม. 8 ธ.ค.2558 มีมติเพิ่มเติมให้คณะกรรมการกฤษฎีการับร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับ ไปพิจารณาปรับเพิ่มระบบการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม คือ ระบบสัญญาจ้างสำรวจและผลิต และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ปรับปรุงแก้ไขมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และเพิ่มเติมหมวด 3/1 และ 3/2 เพื่อเปิดโอกาสให้รัฐสามารถนำระบบPSC และ SC มาใช้โดยได้นำหลักการของระบบPSC ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย - มาเลเซีย (MTJDA) มาปรับใช้

นอกจากนี้ยังกำหนดให้การกำกับดูแลยังคงอยู่ภายใต้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน โดยคำแนะนำของคณะกรรมการปิโตรเลียม ในส่วนของพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเป็นการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับระบบบริหารจัดการที่เพิ่มเติม ทั้งนี้ ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวจะเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือ สนช.เพื่อพิจารณาต่อไป

ส่วนข้อเรียกร้องให้ตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาตินั้น ครม.เห็นว่าการตั้งบรรษัทต้องมีการศึกษาในโครงสร้าง และความพร้อมในด้านการลงทุนต่างๆ จึงให้กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลัง ไปศึกษาให้รอบคอบ และกลับมาเสนอครม.อีกครั้ง โดยหากจำเป็นต้องนำพ.ร.บ.ฉบับนี้ กลับมาแก้ใหม่ก็ต้องแก้ หรืออาจออกเป็นพ.ร.บ.เรื่องนี้โดยเฉพาะ หรือกฎหมายลูกก็ได้ ซึ่งการศึกษานั้นจะใช้คนกลางเพื่อไม่ให้เกิดการเอียงข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คาดว่าจะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ครม.รับทราบร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมพ.ศ.....ที่มีระบบ PSC ระบบสัมปทานและ ระบบ SC ซึ่งขั้นตอนจากนี้ไปกฎหมายฉบับนี้จะต้องเสนอเข้า สนช.อีกครั้ง คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 3 เดือน ขณะที่กรมฯ จะต้องทำกฎหมายลูกและกฎกระทรวงอย่างน้อย 6 ฉบับ รวมทั้งจะต้องมีประกาศจากคณะกรรมการปิโตรเลียมด้วย ดังนั้น กรมฯ จะหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอทำกฎหมายดังกล่าวควบคู่กันในระหว่างการพิจารณาของ สนช. เพราะหากรอผ่าน สนช. อาจใช้ระยะเวลานาน แต่หากสามารถดำเนินการควบคู่กันได้ คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 7-9 เดือนจะแล้วเสร็จ ดังนั้น คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบ 21 ได้เร็วสุดภายในเดือนกรกฎาคม 2560

ทั้งนี้ จะมีแปลงปิโตรเลียม 29 แปลง โดยคณะกรรมการปิโตรเลียมจะเป็นผู้เลือกว่าแปลงสัมปทานใดใช้ระบบใด ซึ่งมี 2 แนวทาง คือ ระบบสัมปทานและPSC ส่วนระบบรับจ้างผลิตนั้นอาจไม่เหมาะสมกับแหล่งปิโตรเลียมในประเทศไทยตามที่นายกรัฐมนตรีเคยกล่าวไว้ ขณะเดียวกันไม่ต้องมีการตั้งองค์กรใหม่ แต่กรมฯ จะมีการปรับโครงสร้างภายใน เพื่อมาบริหารจัดการในระบบรับจ้างผลิตที่จะเกิดขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น