xs
xsm
sm
md
lg

ดันคลอดกม.'เมาแล้วขับ จับยึดรถ'

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"บิ๊กป้อม" เตรียมคุย รมว.คมนาคม บัญญัติมาตรการ "เมาแล้วขับ จับยึดรถ" ใส่ในพ.ร.บ. พร้อมให้ สนช. เร่งผลัดดันออกมาใช้เป็นกฎหมาย คสช.เผยสถิติ 9 วัน ช่วงสงกรานต์ พบผู้กระทำผิด 277,055 ครั้ง ยึดรถที่ฝ่าฝืนมาตรการ 6,613 คัน เผย 7 วันอันตรายสงกรานต์ 59 เกิดอุบัติเหตุรวม 3,447 ครั้ง ตาย 442 ราย เจ็บรวม 3,656 คน กทม.-โคราช ตายสะสมสูงสุด เชียงใหม่ เกิดอุบัติเหตุ-เจ็บรวมสูงสุด สาเหตุเมาเหล้า-ขับรถเร็ว เล็งนำข้อมูลวิเคราะห์หาสาเหตุ กำหนดมาตรการแก้ไข มอบ สธ.ดำเนินการ พร้อมให้ด้านคมนาคมวางระบบโครงข่ายถนน ปรับปรุงแก้ไขจุดเสี่ยง และสิ่งแวดล้อมริมทางให้มีมาตรฐานความปลอดภัย

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึง การดูแลรักษาความปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ว่ารู้สึกพอใจ และต้องขอบคุณ ตำรวจ ทหาร ข้าราชการ ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งช่วยได้มาก ตลอดจนถึงประชาชน ที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ส่วนเรื่องสติถิอุบัติเหตุที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีประชาชนใช้รถใช้ถนนเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เกิดจากการขับรถเร็ว และการดื่มสุรา ที่ยังมีมาก อย่างไรก็ตาม อยากขอร้องประชาชนให้ตระหนักเรื่องนี้ ทั้งนี้ตนเตรียมจะหารือกับ รมว.คมนาคม ให้แก้ พ.ร.บ. โดยให้บัญญัติ เมาแล้วขับ จับยึดรถ รวมถึงใบขับขี่ไว้ พร้อมให้ สนช. เร่งรัดในเรื่องนี้ด้วย

พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกคสช. กล่าวว่า จากการที่คสช.และรัฐบาล ได้มอบให้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ร่วมดูแล และอำนวยความสะดวกประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ระหว่าง 9-17 เม.ย. ตามมาตรการ"ดื่มไม่ขับ จับยึดรถ" เพื่อป้องกันและ ลดอุบัติเหตุนั้น ตลอดเทศกาลได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากประชาชน และผู้ใช้รถใช้ถนน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเทเสียสละ โดยมีสถิติการตรวจพบผู้กระทำผิดในลักษณะที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุโดยประมาทด้วยการดื่มแล้วขับตลอด 9 วัน ระหว่าง9-17 เม.ย. ดังนี้

ตรวจพบผู้กระทำความผิด277,055 ครั้ง (แยกเป็นรถจักรยานยนต์ 153,626 คัน รถโดยสารสาธารณะ และรถยนต์ส่วนบุคคล 123,429 ครั้ง) ซึ่งเจ้าหน้าที่ ได้ส่งดำเนินคดีรวม 142,820 คน (แยกเป็นรถจักรยานยนต์ 83,697 คน และ รถโดยสารสาธารณและรถยนต์ส่วนบุคคล 59,123 คน) โดยได้ยึดใบอนุญาตขับขี่ 17,449 ราย (แยกเป็นรถจักรยานยนต์ 908 ราย และรถโดยสารสาธารณและรถยนต์ส่วนบุคคล16,541 ราย) และ เจ้าหน้าที่ได้ยึดรถที่ฝ่าฝืนมาตรการดื่มไม่ขับ 6,613 คัน (แยกเป็น รถจักรยานยนต์ 4,963 คันและ รถยนต์ 1,650 คัน )

7วันอันตราย'กทม.-โคราช'ตายสะสมสูงสุด

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) ในฐานะประธานกรรมการและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) แถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2559 ว่า สถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 17 เม.ย.2559 ซึ่งเป็นวันที่ 7 ของการรณรงค์ “สงกรานต์ปลอดภัย ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย สร้างวินัยจราจร” เกิดอุบัติเหตุ 343 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 45 ราย ผู้บาดเจ็บ 385 คน ทำให้สถิติอุบัติเหตุทางถนนรวม 7 วัน (11-17 เม.ย.59) เกิดอุบัติเหตุรวม 3,447 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 442 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 3,656 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต มี 4 จังหวัด ได้แก่ ตราด ยะลา ระนอง และหนองบัวลำภู

พล.อ.อนถพงษ์ กล่าวว่า จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 168 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครราชสีมา 19 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 175 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 34.09 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 32.93 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 80.67 รองลงมา รถปิกอัพ ร้อยละ 8.85 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 64.49 บนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 37.86 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 36.12 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01-20.00 น. ร้อยละ 30.23 ผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 52.28 ทั้งนี้ ได้เรียกตรวจยานพาหนะ 4,433,019 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 730,271 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 211,502 ราย ไม่มีใบขับขี่ 204,006 ราย

“จากการตรวจผู้กระทำผิดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุโดยประมาทด้วยการดื่มแล้วขับ สรุปผลการดำเนินการสะสมระหว่างวันที่ 9-17 เมษายน 2559 ตรวจพบผู้กระทำผิดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุโดยประมาทด้วยการดื่มแล้วขับ 443,937 ราย แยกเป็น ยึดใบอนุญาตขับขี่ 17,449 ราย ส่งดำเนินคดีทางกฎหมาย 142,820 ราย ยึดรถ 6,613 คัน ประกอบด้วย รถจักรยานยนต์ 4,963 คัน และรถยนต์ส่วนบุคคล 1,650 คัน” พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวและว่า จากนี้จะนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์หาสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุเพื่อกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาในมิติเชิงพื้นที่ ทั้งระยะสั้น และระยะยาว เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทั้งเมาแล้วขับ และขับรถเร็ว และปรับปรุงข้อกฎหมายให้สอดคล้องต่อสถานการณ์ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น และพัฒนาระบบฐานข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนให้มีเอกภาพ โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นเจ้าภาพหลัก และผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเจ้าภาพในระดับพื้นที่

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2559 พบว่า มีสาเหตุหลักจากการดื่มแล้วขับ และขับรถเร็วในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน คิดเป็น 2 ใน 3 ของจำนวนอุบัติเหตุทางถนน ทำให้ดัชนีความรุนแรงของอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น โดยกว่าร้อยละ 53 เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน จะได้ถอดบทเรียน ทบทวนการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น