xs
xsm
sm
md
lg

'สรยุทธ'ซีดคุก13ปีคดี'ไร่ส้ม'โกงอสมทช่อง3กั๊ก'ตัดหาง'-สมาคมฯจี้พักหน้าจอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"เรื่องเด่นวันนี้!" ศาลพิพากษาจำคุก “สรยุทธ” ผู้ประกาศข่าวชื่อดัง พร้อมเจ้าหน้าที่ บริษัทไร่ส้มฯ คนละ 20 ปี ทุจริตค่าโฆษณาในรายการ “คุยคุ้ยข่าว” กว่า 138 ล้านบาท พร้อมปรับ บ.ไร่ส้ม 1.2 แสนบาท คำให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุกคนละ 13 ปี 4 เดือน ส่วน “พิชชาภา” อดีต พนง.จัดทำคิวโฆษณา อสมท ลดเหลือ 20 ปี ล่าสุดศาลให้ประกันตัวคนละ 2 ล้านบาท ด้านฝ่ายรายการ ช่อง 3 เผยไม่กระทบผังรายการสถานี ให้'เรื่องเล่าเช้านี้' ออนแอร์ตามปกติ ส่วนจะเปลี่ยนผู้ดำเนินรายการหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของบริษัทไร่ส้มฯ ขณะที่นายกสมาคมนักข่าววิทยุฯ ชี้เจ้าตัวต้องแสดงความรับผิดชอบ สมควรหยุดจัดรายการ ด้าน 'มานะ นิมิตรมงคล' เผยหากเป็น ขรก.ถูกชี้มูลความผิด จะมีคำสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ ให้ต้นสังกัดใช้ดุลยพินิจ

วานนี้ (29 ก.พ.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นัดฟังคำพิพากษาในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ฟ้อง นางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด อดีตพนักงานจัดทำคิวโฆษณาของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) (บมจ.อสมท), บริษัท ไร่ส้ม จำกัด โดย น.ส.อังคนา วัฒนมงคลศิลป์ และ น.ส.สุกัญญา แซ่ลิ่ม ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บจก.ไร่ส้ม, นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง และกรรมการผู้จัดการ บจก.ไร่ส้ม และ น.ส.มณฑา ธีระเดช เจ้าหน้าที่ บจก.ไร่ส้ม ร่วมกันเป็นจำเลยฐานกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 และฐานสนับสนุนพนักงานกระทำความผิดดังกล่าว กรณีถูกกล่าวหายักยอกเงินค่าโฆษณาเกินเวลาในรายการ “คุยคุ้ยข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ อสมท กว่า 138 ล้านบาท

ในช่วงเช้าวันนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสรยุทธเดินทางมาถึงศาลโดยไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ ต่อสื่อมวลชน ก่อนเดินขึ้นไปที่ห้องฟังคำพิพากษาชั้น 9 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก

ต่อมาเมื่อเวลา 10.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องพิจารณาคดี 912 ศาลนัดอ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อ.313/2558 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ฟ้อง นางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด อดีตพนักงานจัดทำคิวโฆษณาของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน), บริษัทไร่ส้ม จำกัด โดย น.ส.อังคนา วัฒนมงคลศิลป์ และ น.ส.สุกัญญา แซ่ลิ่ม ในฐานะ กก.ผจก.บจก.ไร่ส้ม, นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง และ กก.ผจก.บจก.ไร่ส้ม และ น.ส.มณฑา ธีระเดช เจ้าหน้าที่ บจก.ไร่ส้ม เป็นจำเลย 1-4 ในความผิดฐานเป็นพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่, เป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์กร, เป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และสนับสนุนพนักงานกระทำความผิดดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.ว่า ด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ม.6, 8 และ 11

คดีดังกล่าวอัยการโจทก์ ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2558 ระบุพฤติการณ์ว่า เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2548 - 28 เม.ย. 2549 นางพิชชาภา จำเลยที่ 1 พนักงานจัดทำคิวโฆษณาของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำคิวโฆษณารวมในรายการ “คุยคุ้ยข่าว” ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต ไม่รายงานการโฆษณาเกินเวลาเพื่อเรียกเก็บค่าโฆษณาเกินเวลา จาก บจก.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 จำนวน 17 ครั้ง ทำให้ บมจ.อสมท เสียหาย 138,790,000 บาท และยังได้เรียกรับเอาเงิน 658,996 บาท จากจำเลยที่ 2-4 เพื่อเป็นการตอบแทนที่นางพิชชาภา จำเลยที่ 1 ไม่รายงานการโฆษณา จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การร่วมผลิตรายการ จำเลยที่ 2 ทำหน้าที่เป็นผู้ผลิต ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นพิธีกรจัดรายการทำสัญญากันเป็นลายลักษณ์อักษรระบุชัดว่าถ้ามีโฆษณาเกินกว่าส่วนแบ่ง จำเลยที่ 2 ต้องขอซื้อโฆษณาส่วนเกินย้อนหลังและชำระค่าโฆษณาเกินให้แก่บริษัท อสมท จำกัด โดยจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิ์แบ่งค่าโฆษณาส่วนเกินคนละเท่าๆ กับ บริษัท อสมท นอกจากนี้ศาลปกครองสูงสุดยังมีคำพิพากษาถึงที่สุดวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 จะต้องชำระค่าโฆษณาส่วนเกินและไม่มีสิทธิ์ได้รับส่วนลดทางการค้าปกติร้อยละ 30 จากค่าโฆษณาส่วนเกิน 138,790,000 บาท เพราะจำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายผิดสัญญา ขณะที่ จำเลยที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่จัดทำคิวโฆษณา แต่ไม่รายงานการโฆษณาที่เกินเวลาให้ผู้บังคับบัญชาทราบ เป็นเหตุให้ อสมท ได้รับความเสียหาย ตามความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบทั้งสองชุดที่ อสมท ตั้งขึ้น นอกจากนี้ จำเลยที่ 1 ยังใช้น้ำยาลบคำผิดลบรายการโฆษณาที่เกินเวลาในส่วนของจำเลยที่ 2 ออกจากใบคิวโฆษณารวม แสดงถึงการปกปิดข้อเท็จจริง เมื่อจำเลยที่เป็นพนักงานมีหน้าที่จัดการทรัพย์และรับเงินตามเช็ค เป็นการต้องห้าม จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6, 8, 11 ประกอบ ป.อาญา มาตรา 83

ส่วนนายสรยุทธ จำเลยที่ 3 เป็นผู้มีอำนาจจัดการและเป็นพิธีกรจัดรายการมาโดยตลอด ดังนั้นจำเลยที่ 3 น่าจะทราบเนื้อหางานเป็นอย่างดี การใช้เงินแม้จะให้โดยเสน่หา แต่ไม่รายงานให้ทราบก็เป็นการสนับสนุน ในทางนำสืบศาลเห็นด้วยกับ ป.ป.ช.ว่าจำเลยจ่ายเช็คเพื่อจูงใจให้กระทำหรือไม่กระทำการใด ทำให้หน่วยงานของรัฐได้รับความเสียหาย การที่จำเลยที่ 2-4 นำเช็คไปมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ถือเป็นการมิชอบด้วยกฎหมายเพราะการไม่รายงานโฆษณาเกินเวลาของจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 2 ได้รับประโยชน์ จึงเป็นความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 บริษัทไร่ส้มได้ชำระค่าโฆษณาส่วนเกิน จำนวน 1438,790,000 บาท แก่ อสมท แล้ว จึงลงโทษสถานเบา

พิพากษาจำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ มาตรา 6, 8, 11 จำเลยที่ 2-4 มีความผิดฐานสนับสนุนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การฯ มาตรา 6, 8, 11 การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 6 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษสุด รวม 6 กระทง ฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับหรือยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ จำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 30 ปี ปรับจำเลยที่ 2 กระทงละ 2 หมื่นบาท รวมปรับ 1.2 แสนบาท จำคุกจำเลยที่ 3 และ 4 กระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 3 และ 4 คนละ 20 ปี แต่ทางนำสืบเป็นประโยชน์ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 20 ปี จำคุกจำเลยที่ 3และ 4 คนละ 13 ปี 4 เดือน และปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 8 หมื่นบาท ไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำเลยที่ 1, 3 และ 4

ภายหลังทนายความได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 2 ล้านบาท เพื่อขอปล่อยชั่วคราวสู้คดีระหว่างอุทธรณ์ และเมื่อเวลา 14.00 น.ศาลอาญาพิเคราะห์คำร้องและหลักทรัพย์แล้ว มีคำสั่งให้พวกจำเลยประกันตัวไประหว่างอุทธรณ์ โดยตีราคาประกันคนละ 2 ล้านบาท และกำหนดเงื่อนไขห้ามพวกจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล รวมทั้งให้พวกจำเลยมารายงานตัวต่อศาลทุก 30 วัน

สำหรับรายละเอียดคดีนี้เกิดขึ้นจากกรณีที่ นางพิชชาภา จำเลยที่ 1 ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต ไม่รายงานการโฆษณาเกินเวลาเพื่อเรียกเก็บค่าโฆษณาเกินเวลาจาก บจก.ไร่ส้ม ระหว่างวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2548 - 28 เมษายน 2549 ทำให้ บมจ.อสมท เสียหาย 138,790,000 บาท และนางพิชชาภา ยังได้เรียกรับเอาเงิน 658,996 บาท จากจำเลยอื่นๆ เพื่อเป็นการตอบแทนด้วย

ทั้งนี้ จากข้อเท็จจริงการไต่สวนของ ป.ป.ช.ปรากฏว่า นางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด (นางชนาภา บุญโต) เจ้าหน้าที่ธุรการระดับ 5 สำนักกลยุทธ์การตลาด อสมท เป็นผู้รับผิดชอบผู้เดียวในการจัดทำคิวโฆษณารวม และเป็นผู้รายงานโฆษณาเกินเวลาเพื่อเรียกเก็บเงินจากบริษัท ไร่ส้มฯ ได้ให้ความช่วยเหลือบริษัท ไร่ส้มฯ โดยไม่มีการรายงานการโฆษณาเกินเวลาของบริษัท ไร่ส้มฯ เพื่อเรียกเก็บเงิน ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2548 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2549

จากการไต่สวนปรากฏว่า นายสรยุทธได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คของธนาคารธนชาต สาขาพระราม 4 จ่ายเงินให้นางพิชชาภา โดยมีการทำเอกสารหักภาษี ณ ที่จ่ายรวม 6 ครั้ง เป็นเงิน 739,770 บาท เพื่อตอบแทนที่นางพิชชาภา มิได้รายงานการโฆษณาเกินเวลาของบริษัท ไร่ส้มฯ

คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2555 ว่าการกระทำของนางพิชชาภา มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีมูลความผิดทางอาญา ตามมาตรา 6, 8, 11 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 การกระทำของนางอัญญา อู่ไทย ซึ่งเป็นหัวหน้างานและเป็นผู้บังคับบัญชาในฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้า สำนักกลยุทธ์การตลาด อสมท มีมูลความผิดทางวินัย

การกระทำของนายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา ซึ่งได้ใช้ให้นางพิชชาภา ไม่ต้องรายงานการโฆษณาเกินเวลาที่กำหนดในสัญญาให้แก่ผู้บังคับบัญชาทราบ และบริษัท ไร่ส้มฯ (ในฐานะนิติบุคคล) มีมูลความผิดฐานสนับสนุนพนักงานกระทำความผิดตามมาตรา 6, 8, 11 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86

หลังจากนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.ส่งรายงานถึงอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อดำเนินการฟ้องต่อศาลในคดีอาญา อย่างไรก็ดี ฝ่าย อสส.เห็นว่าข้อเท็จจริงบางอย่างยังไม่สมบูรณ์ จึงมีการตั้งคณะกรรมการร่วม อสส.-ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาสำนวนให้สมบูรณ์ โดยใช้ระยะเวลากว่าปีเศษ

ช่อง3กั๊ก"อุ้มไม่อุ้ม"

ด้านเจ้าหน้าที่ฝ่ายรายการ สถานีวิทยุโทรทัศน์ ไทยทีวีสีช่อง 3 เปิดเผยว่า คำพิพากษาดังกล่าว ไม่มีผลกระทบต่อผังรายการของช่อง3 เพราะเป็นเรื่องส่วนบุคคล รายการที่ผลิตโดยบริษัทไร่ส้ม ทุกรายการ ไม่ว่าจะเป็นรายการเรื่องเล่าเช้านี้ หรือรายการเรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์ ยังคงออกอากาศตามปกติ ส่วนจะเปลี่ยนผู้ดำเนินรายการ หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ผลิต ไม่เกี่ยวกับทางช่อง3

ด้านดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า กรณีคดีไร่ส้ม ของสรยุทธ์ สุทัศนะจินดา เป็นคดีที่ได้รับความสนใจจากคนในสังคม เนื่องจากบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นบุคคลสาธารณะ และถือเป็นคดีตัวอย่าง ซึ่งภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคำตัดสินออกมาแล้ว ก็เป็นที่ชัดเจนเพิ่มมากขึ้นว่า ข้อกล่าวหานั้นเป็นเหตุการณ์จริง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง

"จากนี้ไปจึงเป็นหน้าที่ของต้นสังกัด ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจเกี่ยวกับสื่อสารมวลชน จะตัดสินใจโดยใช้ดุลยพินิจ ว่าควรจะแสดงความรับผิดชอบอย่างเหมาะสมต่อกรณีดังกล่าวอย่างไร เนื่องจากหากเป็นข้าราชการที่ถูกชี้มูลความผิด ก็จะมีการพักการปฏิบัติหน้าที่ หรือหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีการคำตัดสินออกมา"

ทั้งนี้เพราะองค์กรสื่อ ถือเป็นแบบอย่างในสังคม เมื่อมีบุคคลที่มีชื่อเสียงถูกตัดสินจากศาลว่า ทุจริต ในฐานะที่องค์กรต้นสังกัดที่ทำงานจะต้องทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ควรจะทำอย่างไร เขาจะต้องตัดสินใจ เพราะกฎหมายบังคับไม่ได้ เพราะนี่คือเรื่องของการมีจริยธรรมในการทำธุรกิจ

"คดีที่ตัดสินในครั้งนี้ เป็นเพียงศาลชั้นต้นที่ตัดสินออกมา ซึ่งคดีเกี่ยวกับการทุจริตในแวดวงราชการ ไม่ว่าจะเป็นใคร ศาลจะพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยไม่ได้สนใจว่าบุคคลนั้นเป็นใคร ฉะนั้นจึงเป็นเครื่องเตือนใจอย่างหนึ่งว่า ใครที่จะหาผลประโยชน์ด้วยการโกงชาติ โกงแผ่นดิน หากทุจริตต้องถูกลงโทษ" ดร.มานะ กล่าว

ช่อง3 งดออกอากาศช่วงเจาะข่าวเด่น

เมื่อวันที่ 29 ก.พ. สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ได้งดออกอากาศช่วงเจาะข่าวเด่น ในรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ ซึ่งมี นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งตามปกติช่วงดังกล่าวจะออกอากาศเป็นประจำทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ในเวลา 17.35 -18.00 น. หลังจากเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นายสรยุทธ ได้ถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกพร้อมเป็นเวลา 13 ปี 4 เดือน

'เอเจนซี่'ชี้หาตัวแทนมีผลต่อเรตติ้ง

แหล่งข่าววงการเอเจนซี่ กล่าวว่าต้องดูองค์ประกอบ 2ส่วนหลักเป็นสำคัญ คือ 1.ตัวรายการและ2.ตัวบุคคล โดยในส่วนของรายการนั่น ปัจจุบัน นายสรยุทธ จัดรายการอยู่ทางช่อง3 เป็นหลัก คือ เรื่องเล่าเช้านี้, เรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์ และช่วง" เจาะข่าวเด่น" ในรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ ในส่วนนี้ต้องรอดูนโยบายของทางช่อง3ว่า จะมีการถอดรายการที่นายสรยุทธจัดออกไปหรือไม่ ถ้ายังอยู่ลูกค้าก็ยังซื้อโฆษณา แต่ถ้าถอดออกลูกค้าก็ไม่สามารถซื้อโฆษณาได้

ส่วนที่สองคือตัวบุคคล กรณีรายการยังคงอยู่แต่ปลดนายสรยุทธ์ออกหรือมีใครเข้ามาดำเนินรายการแทนไปก่อน ต้องดูต่อว่าคนที่มาแทนจะยังคงดึงเรตติ้งได้ดีเท่าที่นายสรยุทธทำไว้ได้หรือไม่ ถ้าดีลูกค้าก็ยังซื้อโฆษณา ถ้าไม่มีก็ไม่ซื้อ ถือเป็นเรื่องปกติ

จี้'สรยุทธ'แสดงสปิริต พักหน้าจอ

วานนี้ (29 ก.พ.) นายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า ถือเป็นบทเรียนสำหรับคนทำสื่อ ที่เตือนให้รู้ว่าต้องมีความโปร่งใส ครอบคลุมในทุกเวที หากต้องการให้ข้าราชการ นักการเมือง มีมาตรฐาน สื่อก็ต้องมีมาตรฐานด้วย

ส่วนนายสรยุทธ์จะสมควรที่จะยุติการจัดรายการหรือไม่ นายเทพชัย มองว่า ชัดเจนอยู่แล้วหลังศาลมีคำตัดสิน ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องสปิริต แต่เป็นเรื่องที่ต้องแสดงความรับผิดชอบ สมควรที่ต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่

สอดคล้องกับ นายมานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ระบุว่า ควรจะแสดงสปิริตด้วยการยุติทำหน้าที่หน้าจอเอาไว้ก่อน

ส่วนต้นสังกัดอย่างไทยทีวีสีช่อง 3 ต้องคำนึงถึงภาพลักษณ์ของช่องรายการและสื่อมวลชน เพราะบทบาทไม่ใช่แค่เสนอข่าวสารเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นแบบอย่างต่างๆ ด้วย

"ในเรื่องจริยธรรมมีการตั้งคำถามกันเยอะในแวดวงว่าควร ไม่ควรอย่างไร โดยเฉพาะหลังจากที่ ป.ป.ช. มีการชี้มูลต่างๆ แต่วันนี้เมื่อศาลตัดสินชัดเจนแล้ว เป็นบทบาทที่ดีที่ตัวพิธีกรควรจะแสดงสปิริตออกมาอย่างชัดเจน ขณะเดียวกัน ช่องเองก็แสดงบทบาทชัดเจนออกมาด้วย มันเป็นจริยธรรม มันไม่ได้เป็นเรื่องของกฎหมาย" นายมานะ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น