xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

กลิน เดวีส์ ภารกิจทูตซีไอเอพิชิต ม.112

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายกลิน ทาวน์เซนด์ เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เพิ่งย้ายก้นเข้ามานั่งเก้าอี้เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยยังไม่ทันอุ่นดี นายกลิน ทาวน์เซนด์ เดวีส์ ก็สามหาวออกมาทำปากมอม กังวลกฎหมายหมิ่นเบื้องสูง เป็นเหตุให้ปวงชนชาวไทยออกมาก่นด่าทั่วบ้านทั่วเมือง ถึงขนาด อดีต ส.ว.คนดัง นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ใช้ถ้อยคำว่า “อัปรีย์ไป จัญไรมา” และดูท่านายเดวีส์ จะสร้างสถิติใหม่ขึ้นแท่นท่านทูตเมกาคนแรกๆ ในประวัติศาสตร์ที่ถูกคนไทยโห่ไล่ไปให้พ้นเร็วที่สุดก็ว่าได้

และถ้อยคำที่ว่า “ไทยเป็นประเทศเอกราช มิใช่ประเทศราช : อัปรีย์ไป จัญไรมา” ซึ่งนายเจิมศักดิ์ ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว "เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง"ดูเหมือนจะเป็นคำแทนใจของคนไทยทุกหมู่เหล่าที่ออกมาเคลื่อนไหวแสดงความไม่พอใจนายเดวีส์ ทั่วประเทศตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี

นายเดวีส์ ต้องตระหนักรู้ว่ากระแส “คนรักในหลวง”ปกป้องสถาบันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนกระทบต่อความรู้สึกของคนไทย วิพากษ์วิจารณ์เมื่อไหร่ก็เป็นเรื่องเมื่อนั้น

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ถึง พ.ศ.นี้แล้ว สหรัฐอเมริกายังทำตัวจุ้นจ้านไม่เลิก ยิ่งกับประเทศไทยที่ทำตัวเป็นเด็กดีมาตลอดด้วยแล้วยิ่งเอาใหญ่ ทั้งที่สหรัฐอเมริกาควรมองดูตัวเองเสียบ้างว่ามีใครเขาชอบขี้หน้าบ้างไหมที่เที่ยวไปทำตัวเป็นเจ้าโลกยัดเยียดความคิดค่านิยมในแบบฉบับอเมริกาให้ประเทศอื่นยอมก้มหัวให้

หากย้อนกลับไปดูตอนแรกที่นายเดวีส์ อัดคลิปแนะนำตัวเองเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของสถานทูตสหรัฐอเมริกา ก่อนจะเข้ามารับตำแหน่งก็ดูคล้ายกับว่าได้ศึกษาประวัติศาสตร์และสังคมไทยมาพอสมควร นายเดวีส์มาแบบหวานหยดย้อย ถึงขนาดสร้างความเข้าใจไขว้เขวไปว่า สหรัฐฯ คงส่งนายเดวีส์ มารื้อฟื้นสัมพันธ์ร้าวระหว่างไทย-สหรัฐฯ ที่เลวร้ายมาตั้งแต่สมัยนางคริสตี้ เคนนี่ อดีตทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ที่แสบเข้าไส้ ให้ดีขึ้น

ในคลิปเสียงแนะนำตัวเองนั้น นายเดวีส์ บอกว่า “....ประเทศของเราทั้งสองผูกพันกันมานานกว่าเก้าชั่วคน ประเทศไทยเป็นมิตรและพันธมิตรที่ยั่งยืนที่สุดของสหรัฐฯ ในเอเชีย....สัญลักษณ์หนึ่งแห่งสัมพันธภาพทวิภาคีของเรา คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จพระราชสมภพในสหรัฐอเมริกา โดยพระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจตลอดพระชนม์ชีพ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเราให้แข็งแกร่ง” นายเดวีส์ กล่าว แถมยังหยอดด้วยว่า “.... เป้าหมายของผมคือส่งเสริมความเข้าใจระหว่างเราให้ดียิ่งขึ้น....”

แต่เวลาเพียง 9 สัปดาห์แค่นั้น นายเดวีส์ ที่ได้รับเชิญไปเสวนาที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 ก็กระทำตรงกันข้ามโดยได้แสดงความกังวลต่อกฎหมายหมิ่นเบื้องสูงของไทยว่า “เรายังกังวลต่อบทระวางโทษที่ยาวนานอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ที่ศาลทหารไทยพิพากษาต่อพลเมืองฐานละเมิดกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” เดวีส์ บอกกับผู้ที่ร่วมเสวนา หลังจากแสดงความกังวลว่ากฎหมายหมิ่นประมาททางอาญานี้ถูกใช้สำหรับสกัดกั้นการโต้เถียงของสาธารณะกว้างขวางมากขึ้น

เอเอฟพี ยังรายงานคำกล่าวของนายเดวีส์ ที่ย้ำว่า รัฐบาลสหรัฐฯ มีความเคารพอย่างยิ่งและรู้สึกชื่นชมพระมหากษัตริย์ไทย แต่ก็อ้างถึงสิทธิการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสรเสรี “เราเชื่อว่าไม่ควรมีใครควรถูกจำคุกต่อการแสดงมุมมองอย่างสันติ และเราสนับสนุนอย่างหนักแน่นต่อความสามารถของบุคคลหรือองค์กรอิสระใดๆ ในการค้นคว้าวิจัยและรายงานประเด็นสำคัญๆ โดยปราศจากความกลัวว่าจะถูกแก้แค้น”

รายงานของเอเอฟพี ระบุด้วยว่า ภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ใครก็ตามที่ถูกพิพากษาว่ามีความผิดฐานดูหมิ่น ดูถูก กล่าวหา ใส่ร้าย และทำให้พระมหากษัตริย์ พระราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์เสื่อมเสีย มีสิทธิต้องโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี นับตั้งแต่ก่อรัฐประการเมื่อปีที่แล้ว กองทัพได้ยกระดับการตรวจตราคำกล่าวหาละเมิดสถาบันฯ มากขึ้น โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ และในเดือนสิงหาคม 2558 สหประชาชาติบอกว่ารู้สึกตกใจต่อโทษจำคุก 30 ปี และ 28 ปีต่อคนไทย 2 คน ในความผิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ฐานดูหมิ่นกล่าวหาสถาบันฯ บนเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นโทษสูงสุดเท่าที่เคยมีมา

ถ้อยคำ “....เราสนับสนุนอย่างหนักแน่นต่อความสามารถของบุคคลหรือองค์กรอิสระใดๆ ในการค้นคว้าวิจัยและรายงานประเด็นสำคัญๆ โดยปราศจากความกลัวว่าจะถูกแก้แค้น” ข้างต้นของนายเดวีส์นั่นแหละที่เกิดให้เกิดกระแสความไม่พอใจตามมาอย่างกว้างขวาง และมีการวิเคราะห์กันว่ามีหรือระดับนายเดวีส์ จะไม่รู้ว่าหากพูดออกไปในทำนองนี้จะไม่มีกระแสโต้กลับ

ดังนั้น คำถามที่ตามมาก็คือ สหรัฐอเมริกาต้องการอะไรกันแน่ถึงสามหาวได้ขนาดนี้ นี่เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องรู้เท่าทันสหรัฐอเมริกาและเชื่อมโยงต่อจิ๊กซอว์ให้เห็นภาพว่าทูตฯ ซีไอเอคนนี้รับงานจากวอชิงตันมาเดินเกมเพื่อกดดันไทยในเรื่องอะไรบ้าง และใช่รับงานเดินสายยอมเป็นเครื่องมือกับกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองในไทยบางกลุ่มที่กำลังดิ้นรนทุรนทุรายหรือไม่?

แต่ก่อนอื่น มาติดตามดูกระแสโห่ไล่นายเดวีส์ ที่ดังกระหึ่มขึ้นทั่วประเทศกันเสียก่อน ซึ่งหนึ่งในเสียงที่โห่ไล่ก็คือ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ที่โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัว “เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง” เมื่อวันที่30 พฤศจิกายน 2558 ที่ตอกกลับนายเดวีส์ว่าการออกมาวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายอาญา มาตรา112 ของนายเดวีส์ ส่อสะท้อนถึงความไม่เข้ารากเหง้าและปูมหลังของไทย ไม่พยายามเข้าใจความแตกต่างในประเทศที่ตัวเองมาพำนักอยู่ หรือถ้าเข้าใจก็อาจไม่จริงใจ จึงแสดงการเคารพด้วยการไม่ให้เกียรติอย่างหยาบคาย การพูดก้าวก่ายในเชิงให้ร้ายกับการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวแบบเหมารวมในห้วงเวลาก่อนวันสำคัญไม่กี่วันถือเป็นเรื่องไม่ถูกกาลเทศะอย่างยิ่ง

นายเจิมศักดิ์ ระบุว่า สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศเกิดใหม่เมื่อ 200กว่าปีจากคนหลายเชื้อชาติที่ใช้ความรุนแรงเข่นฆ่าเจ้าของแผ่นดินเดิมคือ ชาวอินเดียนแดง ชาวสหรัฐฯ จึงมีพื้นฐานค่านิยมการใช้อาวุธ ใช้ความรุนแรง ทั้งภายในประเทศและยังเป็นผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ที่สุดของโลกอีกด้วย ซึ่งคงยากที่ทูตสหรัฐฯ คนนี้จะเข้าใจพื้นฐานทางสังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิต ความคิดของคนไทยที่ละเอียดอ่อน และองค์พระประมุขของไทยมาจากรากลึกในทางประวัติศาสตร์

“.....เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ควรต้องใส่ใจด้วยว่า พระมหากษัตริย์ในระบบของไทย ไม่อยู่ในฐานะจะไปฟ้องร้องบุคคลที่มาดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายได้ด้วยพระองค์เองแตกต่างจากชาวอเมริกัน รากฐานวัฒนธรรมต่างกัน กฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ ในเรื่องการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย ซึ่ง 3 อย่างนี้ กฎหมายอาญาทั่วไปของไทยก็ช่วยคุ้มครองทุกคน แม้แต่ชาวอเมริกัน ทูตอเมริกา ประมุขของอเมริกา ก็ได้รับการคุ้มครองในไทยเช่นกัน

“ดังนั้น การกล่าวของกลิน เดวีส์ ในการประชุมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ที่ระบุว่า การดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพสูงขึ้น ภายใต้การปกครองคณะรัฐประหาร เป็นการพูดที่กล่าวหาว่า รัฐบาลรัฐประหารไล่ล่าดำเนินคดีเกินเหตุ ทั้งที่นายกลิน เดวีส์ ควรจะกลับไปดูข้อเท็จจริงของคดีว่า มีจุดเริ่มต้นอย่างไร กฎหมายมีมาก่อนแล้ว แต่ยุครัฐบาลระบอบทักษิณละเว้น ไม่ดำเนินการ ฝ่ายการเมืองบางส่วนอาจจะให้ท้ายด้วยซ้ำ การทำผิดกฎหมายจึงหนักขึ้น

“....นายกลิน เดวีส์ ควรตระหนักว่า การเป็นเอกอัครราชทูตมีหน้าที่มาเจริญสัมพันธไมตรี มิใช่เข้ามาก้าวก่ายแทรกแซงกิจการภายในประเทศ ถึงขนาดเดินสายยอมเป็นเครื่องมือกับกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองในไทย พูดจาบีบบังคับต่าง ๆ นานา ไม่เว้นแม้กระทั่งกฎหมายอาญา มาตรา 112สิ่งที่สะท้อนจากพฤติกรรมของเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย 2 คนล่าสุด จะเห็นว่า เป็นการดำเนินการทางการทูตที่ไร้เดียงสาทางการทูต ขณะนี้ คนไทยกำลังประเมินว่า เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ 2 คนสุดท้ายนี้ คงจะทำให้ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ เลวร้ายลงอย่างน่าอับอายที่สุด และคนไทยกำลังจัดอันดับว่า ทูตสหรัฐฯ 2 คนนี้ คนไหนเลวร้ายกว่ากัน”
ขณะเดียวกัน ชมรมคนรักในหลวงทั่วประเทศ ได้รวมตัวยื่นหนังสือประท้วงเอกอัครราชทูตสหรัฐฯปากเสียวิพากษ์ ม.112ในหลายจังหวัด เช่น ที่จังหวัดเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์ธีระ วิสิทธิ์พานิช ประธานชมรมคนรักในหลวงจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยสมาชิกชมรม เครือข่ายคนรักในหลวง และประชาชนจำนวนมาก รวมตัวกันเพื่ออ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืนปกป้องสถาบัน รวมทั้งอ่านจดหมายเปิดผนึกประณามและยื่นหนังสือประท้วงที่สถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาประจำเชียงใหม่

“นายกลิน เป็นเอกอัครราชทูต การออกมากล่าวในที่สาธารณะ วิจารณ์กฎหมายสำคัญของไทย ในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำอยู่แล้ว ยิ่งกว่านั้นการกล่าวในลักษณะยุยงให้บุคคลอื่นๆ กระด้างกระเดื่องต่อกฎหมายฉบับนี้ ย่อมถือว่าเป็นพฤติการณ์ที่ผิดมารยาททางการทูต ทั้งยังสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำความผิดตาม ป.อาญา ม.116(3) อีกด้วย ซึ่งประเทศสหรัฐก็มีกฎหมายคุ้มครองประธานาธิบดีเช่นกัน โดยเมื่อปี 2553นายสเปนเซอร์ ชาวเมืองหลุยส์วิลส์ มลรัฐเคนตทักกี่ ได้ถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุกนานถึง 33เดือนจากการกระทำในการเขียนบทกวีพาดพิงประธานาธิบดีสหรัฐ ดังนั้น ก่อนที่จะก้าวก่ายกิจการภายในของประเทศไทย นายกลิน ควรที่จะได้ดูกฎหมายของประเทศตนเองก่อนว่าขัดขวางเสรีภาพของประชาชน และมีการลงโทษมากเกินไปหรือไม่”

นั่นคือบางส่วนในเนื้อหาจดหมายเปิดผนึกที่ชมรมคนรักในหลวง ยื่นประท้วงสหรัฐฯ

เจอเข้าแบบนี้ ทูตอเมริกันรีบออกมาบอกว่า อยากเข้าร่วมโครงการ “ปั่นเพื่อพ่อ”ที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนนี้ เพื่อแสดงความเคารพต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พร้อมยืนยันว่าอเมริกามี“ความผูกพันพิเศษ” กับพระมหากษัตริย์ของไทย

ในกระแสความเคลื่อนไหวแสดงความไม่พอใจทูตสหรัฐฯ ขอขีดเส้นตรงประเด็นที่นายเจิมศักดิ์ ระบุว่า “....ถึงขนาดเดินสายยอมเป็นเครื่องมือกับกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองในไทย พูดจาบีบบังคับต่าง ๆ นานา ไม่เว้นแม้กระทั่งกฎหมายอาญา มาตรา 112....” จริงหรือเท็จ ใช่หรือไม่ใช่? น่าเคลือบแคลงสงสัยอย่างยิ่ง

น่าสงสัยเพราะคล้อยหลังจากนั้น นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ได้ออกมาให้ท้ายทูตสหรัฐฯ และปรามกระแสเอาเรื่องทูตปากเสียคนดังกล่าว โดยบอกว่า การที่มีหลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของท่านทูตสหรัฐและพยายามจะขยายผลออกไปต่างๆนาๆ บ้างถึงขนาดที่เสนอให้ รมว. ต่างประเทศเรียกตัวท่านทูตสหรัฐให้ไปพบ จะเป็นด้วยเหตุผลใดก็สุดแล้วแต่ก็อยากให้คำนึงถึงภาพโดยรวมของประเทศเอาไว้บ้าง เพราะไทยเรายังต้องพึ่งพาอาศัย อยู่ในโลกใบนี้ร่วมกับคนอื่นเขา เราเคยอาศัยอยู่ในโลกเสรีมานานเกินกว่าที่จะหันกลับไปใช้วิธีอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐเป็นผู้บริโภครายใหญ่ของสินค้าไทย เราต้องพึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐ และล่าสุดก็มีโอกาสที่ไทยเราจะถูกตัดสิทธิพิเศษทางการค้าของสินค้าไทยที่จะส่งไปขายในสหรัฐฯก็จะทำให้สินค้าส่งออกของไทยมีราคาแพงขึ้นและก็จะกระทบผู้ส่งออกไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ที่น่าเสียดายที่สุดก็คือสำนักงานบริหารการบินของสหรัฐฯหรือFAA ประกาศลดอันดับความปลอดภัยของสายการบินไทยตกจากอันดับหนึ่งไปอยู่อันดับสอง ก็อยากให้เราคิดหรือทำอะไรให้รอบคอบ ไม่ควรใช้อารมณ์ออกมาพูดหรือแสดงความคิดเห็นอวดเก่งหรืออวดดี เพราะบางคนถึงขนาดออกมาพูดว่าไม่ง้อตลาดอเมริกาแล้ว ไปหาตลาดค้าขายใหม่ก็ได้ อะไรทำนองนี้ก็อยากจะบอกให้ท่านเหล่านั้นทราบว่าการหาลูกค้าใหม่มันไม่ได้ง่ายอย่างที่ท่านคิดครับ รักษาลูกค้าเก่าและเพื่อนเก่าเอาไว้จะดีกว่า ก็อยากให้รัฐบาลคิดให้รอบคอบ และกระทรวงการต่างประเทศต้องพิจารณาให้ดีอย่าทำตามกระแสจนทำให้กระทบภาคธุรกิจส่งออก และกระทบเศรษฐกิจในภาพรวมพูดง่ายๆว่าอย่าบ้าจี้ไปเชิญทูตสหรัฐมาพบตามแรงกดดันที่เกิดขึ้นโดยไม่คำนึงถึงเหตุผลให้รอบคอบ”นายสุรพงษ์ กล่าว

การที่นายสุรพงษ์ ออกมาแก้ต่างแทนลูกพี่เพราะว่ามีคนรู้ทันเกมของสหรัฐฯ กับ “กลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองในไทย” ใช่หรือไม่?

ส่วนท่าทีจากท่านผู้นำ แน่นอน เจอทูตปากมอมเช่นนี้ ย่อมไม่สร้างความรื่นรมย์ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดย พล.อ.ประยุทธ์ ตอบทูตสหรัฐฯ ในกรณีมาวิพากษ์วิจารณ์ มาตรา 112 นี้ว่า “ก็เรื่องของเขา...”

เมื่อถามว่าได้มีการอธิบายให้ต่างชาติเข้าใจเรื่องประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 หรือไม่ นายกรัฐมนตรี บอกว่า “ก็พูด แต่เขาไม่เข้าใจ พอใส่กันเรื่อยๆ ก็กลายเป็นมารังแกกัน รังแกว่าพวกนี้ใช้กับฝั่งตรงข้าม มันก็เป็นกฎหมาย คือกฎหมายหมิ่นประมาททุกประเทศมีหมด แต่นี่เพื่อสถาบันฯ เพราะสถาบันฯฟ้องร้องใครไม่ได้ ดังนั้นทำไมถึงต้องมีมาตรา 112 ก็เพื่อปกป้องสถาบันฯ สื่อก็ไปอธิบายคนเขาแบบนี้สิ หน้าที่ของคนไทยที่เราจะต้องปกป้องพระองค์ท่าน ก็ต้องมีการออกกฎหมายเพื่อปกป้องพระองค์ท่าน ปัญหาคือใครจะใช้ประโยชน์อะไรมันเรื่องของคน เข้าใจหรือเปล่า”

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สวนกลับว่านายเดวีส์ ควรคิดก่อนที่จะพูด

กลับมาประเด็นสำคัญที่ต้องรู้เท่าทันสหรัฐอเมริกาและเชื่อมโยงต่อจิ๊กซอว์ให้เห็นภาพว่าทูตสหรัฐฯ คนนี้รับงานจากวอชิงตันมาเดินเกมเพื่อกดดันไทยในเรื่องอะไรบ้าง ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเป็นเบื้องต้นก่อนว่า สหรัฐอเมริกานั้นมีเครื่องมือกดดันประเทศต่างๆ ให้ดำเนินการสนองผลประโยชน์ของสหรัฐฯ อยู่ 3 อย่าง คือ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเวลานี้ประเทศไทยเจอสหรัฐฯ เล่นงานทั้งสามดอก

นั่นคือทั้งกดดันให้ไทยมีการเลือกตั้งโดยเร็วโดยอ้างเพื่อให้ประชาธิปไตย ทั้งมีการยกเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม คือ การจับกุมผู้ต้องหามาตรา 112ที่นายเดวีส์ ออกงิ้วล่าสุด การประณามไทยส่งคืนผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวอุยกูร์ให้จีน และการจัดอันดับการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ ที่จัดไทยคงอยู่ใน Tier 3คือ ประเทศที่มีปัญหามากแต่ไม่แก้หรือไม่พยายามแก้ปัญหาอย่างจริงจังในเรื่องนี้ ขณะที่มาเลเซียซึ่งไม่ได้แก้ไขปัญหาดีไปกว่าไทยถูกยกขึ้นสู่ Tier 2แลกกับการเข้าร่วม TPP กับสหรัฐฯ

กดดันทุกทิศทางเพื่ออะไร? “....ก็เห็นส่งคนมาเจรจาการค้าขายกับผมอยู่ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา...” ถ้อยคำที่ตอบสื่อของพล.อ.ประยุทธ์ บอกนัยว่า เวลานี้สหรัฐฯกดดันไทยเพื่อหวังผลทางการเมืองและการเจรจาการค้าอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งแน่นอนล้วนแต่เป็นผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และบางเรื่องก็ได้ตามประสงค์แล้วด้วย

หากจะไล่เรียงจะพบเห็นเงื่อนงำ อันดับแรก คือ คณะรัฐมนตรี ผ่านร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. ... หรือ ร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558สนองตอบความต้องการของกลุ่มทุนอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ สารเคมี และเทคโนโนโลยีชีวภาพข้ามชาติของสหรัฐฯ ที่ผลักดันเรื่องนี้มาโดยตลอดเพิ่งมาประสบผลสำเร็จก้าวแรกผ่านคณะรัฐมนตรีฉลุยในรัฐบาลชุดนี้ชนิดที่ไม่สนเสียงท้วงติงของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) และกระทรวงพาณิชย์ เอาเสียเลย

อันดับที่สอง การกดดันให้ประเทศไทยเข้าร่วมกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นเแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership : TPP) ที่มีสหรัฐฯ เป็นหัวเรือใหญ่ ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือทางการค้าพหุภาคีที่มีการเปิดเสรีครอบคลุมประเด็นต่างๆ อย่างกว้างขวางที่สหรัฐฯ ต้องการเอาไว้สู้กับจีนโดยเฉพาะ โดยท่าทีตอนนี้เห็นสัญญาณรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ มีความโน้มเอียงจะเข้าร่วมด้วย ขณะที่กลุ่มคัดค้านชี้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทั้งการเข้าถึงยาและราคายานำข้าที่จะพุ่งขึ้นปีละหลายหมื่นล้าน รวมทั้งจะเกิดผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมและฐานทรัพยากรชีวภาพของไทยด้วย

เงื่อนงำอันดับสาม ในระหว่างการต้อนไทยเข้า TPP ก็ปรากฏข่าวคราวว่าองค์กรการบินพลเรือนของสหรัฐอเมริกา หรือ FAA (Federal Aviation Administration) ประกาศลดระดับมาตรฐานการบินพลเรือนไทยจากcategory 1 เป็น category 2 ซึ่งหมายถึงอยู่ในบัญชีเฝ้ามองและห้ามเครื่องบินของไทยบินตรงเข้าสหรัฐอเมริการวมทั้งขยายเส้นทางการบินเพิ่ม

เห็นแล้วใช่ไหมว่าการวิจารณ์มาตรา112 ของทูตสหรัฐฯคนนี้ มีเบื้องหน้าเบื้องหลังกลิ้งกลอกเป็นจิ้งจอกเจ้าเล่ห์แค่ไหน?

นี่ไม่นับรวมถึงเกมรุกในเรื่อง “พลังงาน” ซึ่งเชื่อว่า จะเห็นลูกเล่นอันแพรวพราวตามมาอีกเป็นระลอกๆ



กำลังโหลดความคิดเห็น