xs
xsm
sm
md
lg

สิ่งที่ควรพิจารณาอีกครั้งในการออกแบบ และการสร้างความเป็นสถาบันของกกต.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

หลักคิดของการสร้างองค์การทางสังคมเพื่อเป็นเครื่องมือในการปฏิรูปประเทศคือต้องมีลักษณะเป็นองค์การพันธกิจที่มุ่งบรรลุเป้าประสงค์ตามความคาดหวังของสังคม การออกแบบและการสร้างความเป็นสถาบันแก่องค์การอิสระ โดยเฉพาะ กกต. ผมมีข้อเสนอแนะในการพิจารณาแก่กลุ่มบุคคล 2 กลุ่มคือ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง

ข้อเสนอต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมี 4 ข้อดังนี้

1.การได้มาของกลุ่มบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่ขับเคลื่อนองค์การ ควรมีการเปิดพื้นที่ให้องค์การภาคประชาชนซึ่งมีจิตสำนึกและการแสดงออกเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมว่ามีการปฏิบัติงานที่มีทิศทางสอดคล้องกับการปฏิรูปเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการสรรหาและการคัดเลือกกลุ่มบุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่เป็น กกต. ดังนั้นผู้ออกแบบรัฐธรรมนูญควรลดสัดส่วนองค์ประกอบของฝ่ายตุลาการและฝ่ายการเมืองในคณะกรรมการสรรหา กกต.ให้น้อยลงเพราะว่า โดยพื้นฐานของบุคคลที่เป็นคณะกรรมการสรรหาที่มาจากฝ่ายตุลาการนั้นมีแนวโน้มที่คัดเลือกบุคคลในระบบราชการหรือฝ่ายตุลาการด้วยกันเอง ซึ่งทำให้ได้บุคลากรที่มีหลักคิดที่ยึดติดกับระบบอำนาจและระเบียบที่คับแคบ และมีแนวโน้มใช้ภาวะผู้นำแบบอนุรักษ์นิยมซึ่งไม่สอดคล้องกับลักษณะขององค์การพันธกิจแบบกกต.ที่ควรมีลักษณะการใช้ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง

คณะกรรมการสรรหา กกต. จึงควรมีที่มาจาก 4 ส่วน เพื่อสร้างความสมดุลของอำนาจให้มากขึ้น ส่วนแรกมากจาก ที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาเหมือนเดิมแต่สรรหาได้เพียง 1 คน ส่วนที่สองมาจากคณะกรรมการสรรหาที่มีองค์ประกอบของประธานองค์การอิสระที่ไม่ใช่ฝ่ายตุลาการทุกองค์การโดยสรรหาได้ 1 คน ส่วนที่สามมาจากที่ประชุมของคณบดีคณะรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ และนิติศาสตร์ที่เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยของรัฐโดยเสนอได้ 1 คน ส่วนที่สี่มาจากที่ประชุมของตัวแทนองค์การภาคประชาชนที่มีประวัติการทำกิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยเสนอได้ 2 คน เมื่อเสนอชื่อแล้วก็ส่งให้วุฒิสภา “รับรอง” หรือ ไม่รับรอง” ต่อไป

2.การออกแบบเพื่อสร้างองค์การทางสังคมใหม่ควรกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของกลุ่มผู้นำองค์การยุคแรกให้เท่ากับวาระปกติ และสามารถดำรงตำแหน่งได้ไม่เกินสองวาระ เพื่อให้กลุ่มผู้นำยุคแรกซึ่งส่วนใหญ่มีความคิด ความเชื่อ และการปฏิบัติงานสอดคล้องกับทิศทางและเป้าประสงค์ขององค์การได้ปฏิบัติงานในการสร้างรากฐานของความเป็นสถาบันให้มั่นคงเพียงพอ การที่กลุ่มผู้นำที่ได้รับการคัดเลือกยุคแรกมีคุณสมบัติที่พึงประสงค์มากกว่าชุดหลังๆ เพราะว่าในยุคเริ่มแรกนั้นกระแสการปฏิรูปการเมืองและสังคมยังมีความเข้มข้นเพียงพอจนกระทั่งสามารถกดทับผลประโยชน์ส่วนตนของคณะผู้สรรหาและคัดเลือกได้ การตัดสินใจของกลุ่มผู้สรรหาและคัดเลือกจึงแนวโน้มเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับกระแสของการปฏิรูปเป็นหลัก

3.ควรให้มีอำนาจหน้าที่ในการ “สั่งให้เลือกตั้งใหม่” และ “พิกถอนสิทธิเลือกตั้ง”เอาไว้ และควรกำหนดระยะเวลาของการใช้อำนาจนี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จให้ยาวนานมากขึ้นโดยควรให้ใช้อำนาจนี้จนถึง 6 เดือนหลังการประกาศผลการเลือกตั้ง เพื่อให้กกต.ใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการกับนักการเมืองที่ทุจริตได้อย่างมีประสิทธิผล การตัดอำนาจการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ทำให้ กกต.กลายเป็นเสือกระดาษและกลายเป็นองค์การที่ไร้ความหมายและความจำเป็นใดๆต่อสังคมในที่สุด ส่วนการนำอำนาจนี้ไปให้ศาลจะทำให้สังคมขาดเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการจัดการกับนักการเมืองที่ทุจริตได้อย่างมีประสิทธิผล เพราะกระบวนพิจารณาในศาลนั้นมีเงื่อนไขและช่องทางที่ทำให้นักการการเมืองผู้ทุจริตและทรงอิทธิพลแทรกแซงและบิดเบือนพยานหลักฐานได้ง่าย ในท้ายที่สุดพวกเขาก็จะถูกตัดสินให้รอดพ้นคดีได้อย่างง่ายดาย

4.การสร้างกลไกเพื่อป้องกันการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองซึ่งเรื่องนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างความเป็นสถาบัน โดยการสรรหา กกต.ทั้งระดับชาติและจังหวัดจะต้องดำเนินการภายใต้การมีส่วนร่วมของสาธารณะให้มากที่สุด ผู้ที่สมัครเข้าสรรหาจะต้องแถลงวิสัยทัศน์ ผลงาน และยุทธศาสตร์ต่อที่ประชุมสาธารณะและใช้สื่อของรัฐในการถ่ายทอดเผยแพร่ต่อประชาชน และในการตัดสินใจว่าจะเลือกใคร คณะกรรมการสรรหาจะต้องเขียนเหตุผลและแถลงต่อสาธารณะให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสมากที่สุด เช่นเดียวกันในการสั่งให้เลือกตั้งใหม่ การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือการสั่งให้พ้นคดีที่ถูกร้องเรียน กกต.จะต้องเขียนเหตุผลและหลักฐานของการกระทำความผิดของผู้ถูกร้องโดยละเอียด และประกาศต่อสาธารณะ

สำหรับข้อเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิรูปและสร้างความเป็นสถาบันที่สังคมให้การยอมรับและเชื่อถือมีทั้งหมด 6 ข้อดังนี้

1.กกต.จะต้องปรับกระบวนทัศน์และวัฒนธรรมในการทำงานร่วมกับภาคประชาชน โดยต้องมองว่าประชาชนเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกันในการทำงานและจะต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันขึ้นมาใหม่ จากนั้นจะต้องปรับปรุงระเบียบต่างๆให้มีความยืดหยุ่น และใช้วิธีคิดเชิงยุทธศาสตร์ในการทำงานร่วมกับภาคประชาชน โดยจำแนกแยกแยะภาคประชาชนตามศักยภาพ และให้ภาคประชาชนที่มีศักยภาพสูงเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของ กกต.ในหลากหลายมิติทั้งในแง่การช่วยพัฒนาองค์การภาคประชาชนที่ยังอ่อนแอ การพัฒนางานด้านการส่งเสริมประชาธิปไตย และการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้มากขึ้น โดยยึดหลักคิดเดียวกับการที่สังคมให้ความเป็นอิสระต่อ กกต. นั่นคือ กกต.ก็ต้องให้อิสระกับองค์การภาคประชาชนในการคิดและตัดสินใจทำกิจกรรมต่างๆโดยสนับสนุนงบประมาณในลักษณะแบบเหมาจ่าย และเน้นการประเมินผลผลิตและผลลัพธ์ของงานควบคู่กันไป

2.การสร้างและพัฒนาภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงและสำนึกแห่งพันธกิจให้เกิดขึ้นภายในองค์การทุกระดับทั้งแต่ระดับผู้นำสูงสุดขององค์การ ระดับผู้บริหารที่รองลงมา จนไปถึงกกต.จว. และบุคลากร โดยร่วมมือกับสถาบันทางวิชาการและการบริหารที่โดดเด่นทั้งภายในและนอกประเทศเพื่อสร้างหลักสูตรการอบรมภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาเพื่อใช้อบรมบุคลากรทุกระดับอย่างต่อเนื่อง หลังการอบรมควรกำหนดแนวทางการปฏิบัติเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและมีการประเมินเป็นระยะ

3.ควรสร้างยุทธศาสตร์เชิงรุกอย่างแท้จริง โดยเริ่มจากการพัฒนาวิธีคิดเชิงยุทธศาสตร์ที่มีการกำหนดตำแหน่งจุดยืนและเข็มมุ่งขององค์การให้ชัดเจน ใช้ข้อมูลเป็นฐานในการวิเคราะห์จำแนกแยกแยะพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายทั้งในแง่การทุจริตเลือกตั้งและการเสริมสร้างประชาธิปไตย จากนั้นกำหนดยุทธศาสตร์ แนวทางและทรัพยากรให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของแต่ละพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย มิติที่ควรใช้ยุทธศาสตร์เชิงรุกในลำดับต้นๆคือมิติด้านการสืบสวนและสอบสวนพฤติกรรมการทุจริตเลือกตั้ง และมิติการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชน

4.ควรมีการปฏิรูปวัฒนธรรมองค์การ โดยการจัดตั้งทีมเพื่อเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์การ และอาศัยการมีส่วนร่วมของบุคลากรในการวินิจฉัยว่าค่านิยม ความเชื่อ และบรรทัดแบบใดที่เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าประสงค์ขององค์การ จากนั้นก็ร่วมกันกำหนดค่านิยม ความเชื่อและบรรทัดฐานที่พึงประสงค์ว่าควรมีลักษณะอย่างไร และกำหนดมาตรการสำหรับขจัดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์และสร้างพฤติกรรมที่พึงประสงค์ซึ่งสอดคล้องกับวัฒนธรรมแบบใหม่ที่ต้องการสร้างขึ้นมา พร้อมกับกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมให้ชัดเจนและมีการประเมินอย่างต่อเนื่อง สำหรับวัฒนธรรมที่พึงประสงค์ขององค์การแบบกกต.คือวัฒนธรรมพันธกิจและวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม

5.ควรพัฒนาขีดความสามารถในการสืบสวนและสอบสวนของบุคลากรและปรับปรุงโครงสร้างและขั้นตอนการวินิจฉัยให้มีความกระชับแต่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ขีดความสามารถในสืบสวนและสอบสวนทำได้โดยการอบรมและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานซึ่งกันและกันทั้งกับบุคลากรที่อยู่ภายในองค์การและภายนอกองค์การ การดำเนินการในเรื่องนี้จะต้องจัดทำอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง รวมทั้งการจัดตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาและแก้ปัญหาแก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านนี้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานยิ่งขึ้น และควรมีการกำหนดกรอบเวลาของการสืบสวน สอบสวน และวินิจฉัยให้ชัดเจนเพื่อป้องกันความล่าช้าที่เกิดขึ้น สำหรับมาตรการในการป้องกันการทุจริตในการสืบสวน สอบสวนและวินิจฉัยนั้นต้องกำหนดมาตรการลงโทษแก่ผู้กระทำผิดอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด

6.ควรกำหนดระเบียบห้ามมิให้ข้าราชการประจำเป็น กกต.จว. เพราะข้าราชการประจำมีแนวโน้มตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของฝ่ายการเมืองได้โดยง่าย อันเป็นผลมาจากโครงสร้างการบริหารที่ฝ่ายการเมืองเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการประจำ ขณะเดียวกันควรมีมาตรการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมเป็น กกต.จว. ให้มากขึ้น

ผมคิดว่า กกต. เป็นองค์การอิสระที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างและพัฒนาประชาธิปไตยให้มั่นคง ความล้มเหลวในการทำงานของ กกต. (การที่ประชาชนจำนวนมากปฏิเสธการเลือกตั้งเมื่อต้นปี 2557 เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญอย่างหนึ่ง) มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการพัฒนาการทางการเมืองไทยดังที่เกิดขึ้นในระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ กกต.จะต้องปฏิรูปการทำงานให้มีประสิทธิผลตามความคาดหวังของสังคม มิฉะนั้นวัฎจักรการเมืองแบบเดิมก็จะหวนกลับมาอีก และเมื่อถึงเวลานั้น กกต. อาจกลายเป็นองค์การที่ไม่มีใครต้องการอีกก็ได้


เพิ่มอำนาจประชาชนสอบโกง ยื่นคตง.-ปปช.ฟันนักการเมือง
กมธ.ยกร่างฯ ยกเครื่องปัญหานักการเมืองทุจริต เปิดช่องให้ประชาชนยื่น คตง.-ป.ป.ช. ตรวจสอบโดยตรง พร้อมบัญญัติให้มีศาลคดีทุจริต-แผนกคดีวินัยการคลังศาลปกครอง เป็นกลไกใหม่ในการกำจัดคอร์รัปชัน-ปกป้องเงินแผ่นดิน เปลี่ยนโครงสร้าง คกก.สรรหาตุลาการศาลรธน. ลดเงื่อนไขให้ประชาชนใช้สิทธิ์ร้องขอให้ศาลรธน.ตีความความข้อกฎหมายได้ง่ายขึ้น เพิ่มชั้นศาลสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีความผิดทุจริต และการถูกเพิกถอนสิทธิ์ ให้อุทธรณ์ชั้นศาลฎีกาได้ พร้อมปรับกลไกถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น