xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯไฟเขียวปรับครม. เอกชนหนุน ปชป.ตะเพิด'อุ๋ย'พ้นคุมศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - "ประยุทธ์" ย้อนสื่อปรับ ครม. ให้ส่งมาเดี๋ยวไปดูเอง รับตั้งคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะกังวลการใช้งบประมาณ เด็ก ปชป.ซัดยุค "ปู" ทำหนี้สาธารณะพุ่ง จวกฝ่ายเศรษฐกิจไม่ทันเกม แนะปรับ "หม่อมอุ๋ย" พ้นหัวหน้าทีม ขณะที่ภาคเอกชนเชียร์ให้ปรับหลังแก้ปัญหาเศรษฐกิจล่าช้า ชี้ดัชนีความเชื่อมั่นอุตฯ มิ.ย.ต่ำสุดรอบ 16 เดือน คาด 3 เดือนข้างหน้าก็ยังตกต่ำหนัก

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ความคืบหน้าการปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.)ประยุทธ์ 2 ล่าสุดค่อนข้างชัดเจนว่าจะมีการปรับครม.แน่นอนอย่างเร็วที่สุดก่อนสิ้นเดือนก.ค. และอย่างช้าที่สุดก่อนวันที่ 12 ส.ค. โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.จะตัดสินใจปรับครม.ใหญ่ เนื่องจากรัฐบาลบริหารงานเกือบครบ 1 ปีแล้ว อยากปรับพร้อมกันในคราวเดียว ไม่อยากปรับเปลี่ยนบ่อย เพราะมีความเกรงใจเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นคนที่นายกฯเชิญมา

อย่างไรก็ตามการปรับครม.ครั้งนี้จะเน้นไปที่รัฐมนตรีทีมเศรษฐกิจ เนื่องจากถือเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลในขณะนี้ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นโดยรวมของรัฐบาล มีความเป็นไปได้จะปรับออกเกือบทั้งหมด โดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจส่วนใหญ่เป็นทีมที่ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ชักชวนเข้ามารับตำแหน่ง ขณะเดียวกันการปรับครม.ครั้งนี้ จะนำโผโยกย้ายนายทหารประจำปี มาประกอบการตัดสินใจด้วย เพื่อเกลี่ยตำแหน่ง เกลี่ยโควตา ให้ได้รับความพึงพอใจทุกฝ่าย

** นายกฯบอกปรับใครเสนอมาเลย

เมื่อเวลา 14.05 น. วานนี้ (21ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีการตั้ง คณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการลงทุนของประเทศ ว่า ตนกังวลที่มีการใช้จ่ายงบประมาณไปในวันนี้ที่หลายประเภทด้วยกัน 1. ค่าใช้รายปี -ประจำปีของรัฐตามงบประมาณ 2. งบเงินกู้ ซึ่งมีโครงการใหม่ๆ หลายโครงการ ตนก็เป็นกังวลว่าบางโครงการมีการใช้เงินไปมากน้อยอย่างไร ตรงนี้คือสิ่งที่รัฐบาลควรจะต้องทำ ที่จริงเราก็กังวลมาตลอดอยู่แล้ว สมมุติเรื่องน้ำ 3 แสนกว่าล้านบาท วันนี้ทำได้แค่นั้น ก็แค่นั้น เราจะไม่ผูกพันงบประมาณจนเต็มระบบ มันทำไม่ได้

เมื่อถามว่าการตั้งคณะกรรมการฯ เพราะเป็นห่วงเรื่องเศรษฐกิจมหภาค ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็ห่วงมาตลอด ตนไม่ได้สั่งงานเป็นชิ้น แต่สั่งงานในเชิงบูรณาการทั้งหมด ตนบอกแล้วว่ารัฐบาลนี้ดูคน 70 ล้านคน ไม่ได้ดูแค่ 10 ล้านคน หรือดูแต่พวกพ้อง ไม่มี ฉะนั้นต้องดูทั้งมหภาค จุลภาค ดูหมด เศรษฐกิจแนวใหม่จะต้องเสริมซึ่งกันและกัน อุตสาหกรรมเสริมอุตสาหกรรมที่ไม่มีมลพิษ การเกษตร ต้องปรับเป็นเกษตรสมัยใหม่ เกษตรกรต้องเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ สร้างตลาดระดับบน ระดับกลาง ระดับล่าง ในประเทศ นอกประเทศ ในชุมชน ชายแดนเศรษฐกิจพิเศษ ต้องคิดแบบนี้

เมื่อถามว่า ต้องมีการปรับทีมเศรษฐกิจ เพื่อให้การบริหารดีขึ้นหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ปรับมาสิ ปรับมาเลย เสนอมา ตนจะรับ เดี๋ยวตนไปคิดเอง

** ซัดยุค "ปู" ทำหนี้สาธารณะพุ่ง

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ แถลงตอบโต้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีต รมว.คลังและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีกล่าวหาว่าตนโกหก จากการให้ข้อเท็จจริงว่า รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ สร้างหนี้สาธารณะมโหฬาร ว่า ตนไม่แปลกใจว่าทำไมนายกิตติรัตน์ จึงได้ชื่อว่าเป็นคน "โกหกสีขาว" เพราะเป็นคนพูดความจริงไม่หมด ทั้งนี้ ตนขอนำตัวเลขทางเศรษฐกิจมายืนยัน ดังนี้

รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ เข้าบริหารประเทศปี 2554 ตัวเลขหนี้สาธารณะอยู่ที่ 4.2 ล้านล้านบาท พ้นตำแหน่งปี 2556 ตัวเลขหนี้สาธารณะอยู่ที่ 5.4 ล้านล้านบาท นี่คือความน่าอับอายของท่าน เพราะรัฐบาลเดียว แค่ 2 ปี สร้างหนี้ 1.2 ล้านล้านบาท และหนี้ครัวเรือนก็กระโดดขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญจาก 159,432 บาท เพิ่มเป็น 188,774 บาทต่อครัวเรือน คือ เพิ่มขึ้นถึง 29,342 บาท เพิ่มแบบก้าวกระโดดถึง 18.4 %

ส่วนกรณีที่ นายกิตติรัตน์ อ้างว่ารัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำให้จีดีพีโตนั้น ความจริงคือการนำตัวเลขจีดีพี ในช่วงหลังน้ำท่วม ที่มีการฟื้นฟูจนจีดีพี อยู่ที่ 6.5 จากปี 2554 ที่จีดีพี อยู่ที่ 0.1 % จากนั้นลดลงเรื่อยๆ จนในปี 56 อยู่ที่ 2.9 จึงแปลกใจที่ นายกิตติรัตน์ กล้านำเรื่องนี้มาอ้างเป็นผลงานของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ด้วยการพูดความจริงแค่ครึ่งเดียว

นอกจากนี้ โครงการจำนำข้าวของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังสร้างความเสียหายอย่างมาก และนายกิตติรัตน์ เคยระบุว่า หากขาดทุนเกิน 6 หมื่นล้าน มากกว่าโครงการประกันรายได้รัฐบาลคงอยู่ไม่ได้ สุดท้ายโครงการดังกล่าวสร้างความเสียหายกว่า 7 แสนล้าน จนประชาชนออกมาไล่ แต่กลับไม่เคยรับผิดชอบตามที่ตัวเองเคยพูด อ้างแต่ว่ายังไม่ปิดบัญชี ยังไม่มีความเสียหาย อีกทั้งยังมี นโยบายรถยนต์คันแรก ที่สร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์ เพราะไปแทรกแซงกลไกตลาด ทำให้เกิดกำลังซื้อเทียม สร้างหนี้ครัวเรือนเพิ่ม และใช้เงินภาษีประชาชนถึง 9 หมื่นล้าน ซึ่งสามารถนำไปสร้างโรงพยาบาลอย่างดีได้ถึง 20 แห่ง

**ชี้ "หม่อมอุ๋ย" ไม่ทันเกมต้องโละ

นายอรรถวิชช์ กล่าวด้วยว่า กรณีงบประมาณประจำปี ที่นายกิตติรัตน์ อ้างว่าลดภาระได้นั้น แท้จริงแล้วเป็นการซุกหนี้ไว้นอกงบประมาณ คือ รัฐวิสาหกิจ โดยที่หนักสุดคือธ.ก.ส. ซึ่งต้องมีการเพิ่มวงเงินตลอดจนสุดท้ายไม่มีเงินจ่ายชาวนา เพราะไม่ขายข้าวตามปกติ แต่ขายจีทูจีปลอมให้กับรัฐวิสาหกิจมณฑลกวางตุ้ง ที่นำเข้าเครื่องเขียนและอุปกรณ์กีฬา GSSG ซึ่งไม่มีใบอนุญาตนำเข้าข้าวไปจีน แต่ข้าวที่รัฐบาลขายไป ถูกนำมาวนขายภายในประเทศ โดยรับจำนำข้าวเปลือกที่ 15,000 บาทต่อตัน แต่ไปขายเป็นข้าวสารที่สีแล้ว ในราคาเพียง 10,000 บาทต่อตัน เท่านั้น

นายอรรถวิชช์ ยังกล่าวถึงกระแสการปรับ ครม. ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ว่า ต้องยอมรับว่าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ ยังดีกว่าทีมเศรษฐกิจในรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่ถ้าต้องการปฏิรูป ต้องเปลี่ยนหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ คือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี

ที่ผ่านมา ม.ร.ว.ปรีดิยาธร มีโอกาสบริหารเศรษฐกิจ หลังการรัฐประหารสองยุค คือ ยุค คมช. และยุค คสช. แต่ก็ไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ ทำได้แค่ประคับประคองเศรษฐกิจเท่านั้น เพราะว่าไม่มีนโยบายในเชิงรุก และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่ทันท่วงที ทั้งเรื่องประมง และกรณีปัญหา ICAO เรื่องการบินขึ้นธงแดงประเทศไทย เพราะไม่มีการเดินเกมล่วงหน้า ไม่มีการเตรียมความพร้อม หากไม่รีบดำเนินการ จะกระทบกับอาหารแช่แข็งและเศรษฐกิจ แสดงให้เห็นว่านโ ยบายเศรษฐกิจ ไม่รองรับการปฏิรูป

นายอรรถวิชช์ ยังได้ยกตัวอย่างยุทธศาสตร์ของจีน ในการสร้างเส้นทางสายไหมใหม่ ในปี 2013 โดยปรับไปด้านการเดินเรือ ทำให้ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องรถไฟความเร็วสูง จึงทำให้ไม่สนใจเรื่องร่วมลงทุนกับไทยในโครงการรถไฟความเร็วสูง กทม.-หนองคาย แต่รัฐบาลชุดนี้ กลับไม่ทันเกม ไม่รู้เท่าทันกับการปรับเปลี่ยนแผนเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน

*** ส.อ.ท.ส่งซิกรัฐบาลปรับทีมศก.ใหม่

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยในเดือนมิถุนายน 2558 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ 84.0 ปรับตัวลดลงจากระดับ 85.4 ในเดือนพฤษภาคม 58 ซึ่งถือเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และยังเป็นค่าดัชนีฯ ที่ต่ำสุดในรอบ 16 เดือนนับตั้งแต่มี.ค. 57 ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการกังวลต่อเศรษฐกิจภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปัญหาภัยแล้งที่ลุกลามในหลายพื้นที่ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจคู่ค้าที่อาจกระทบต่อการส่งออก

นอกจากนี้ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.0 ลดลงจากระดับ 100.9 ในเดือนพฤษภาคม โดยสาเหตุที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบยอดคำสั่งซื้อโดยรวมยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการที่เอกชนมองว่ายังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควรจะเป็น

สำหรับกรณีกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.)โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจนายสุพันธุ์กล่าวว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแต่ในแง่ของภาคเอกชนต้องการให้ข้อเสนอต่างๆ ได้รับการตอบรับจากทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่ว่าจะชุดใหม่หรือเก่าก็ตามซึ่งที่ผ่านมาข้อเสนอของเอกชนได้รับการตอบสนองที่ล่าช้าโดยเฉพาะการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ทั้งในเรื่องของภาษีฯและการนิรโทษกรรม

“ ที่ผ่านมาข้อเสนอของเอกชนนั้นทีมเศรษฐกิจรัฐบาลตอบรับเราช้าเช่น การขยายวงเงินค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีหรือบสย. ภาษีฯต่างๆ ซึ่งพูดกันมาเป็นปีเพิ่งได้รับการพิจารณาไม่กี่วันนี้เอง ทั้งที่การป่วยของเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงจากวันนี้กับอดีตก็ไม่เหมือนกันจึงต้องปรับแก้ไขวิชั่นให้ชัดเจนมากกว่านี้ ที่จะทำให้เร็วขึ้นไม่เช่นนั้นก็จะมีปัญหาในอนาคต”นายสุพันธุ์กล่าว

ทั้งนี้กรณีเศรษฐกิจครึ่งปีหลังก็อยู่ที่ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลจะดำเนินการอะไรออกมากระตุ้นจากปัญหาภัยแล้งที่อาจคุกคามภาวะเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นและจะกระทบต่อกำลังซื้อประชาชน ซึ่งข้อเสนอของเอกชนที่ผ่านมาเองได้ส่งสัญญาณทุกเดือนว่าทีมเศรษฐกิจควรจะอุดหนุนหรือดูแลราคาสินค้าให้กับภาคการเกษตรบ้างแต่ทีมเศรษฐกิจก็ไม่ได้มีมาตรการอะไรออกมาในเรื่องนี้อย่างชัดเจน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลดูแลเศรษฐกิจมหภาค(แมคโคร) ดีแล้วแต่ในระดับจุลภาค(ไมโคร)ไม่มีความชัดเจนซึ่งขณะนี้ปัญหาระดับไมโครของไทยค่อนข้างรุนแรง

*** หั่นเป้าผลิตรถยนต์ปีนี้ลดอีก1แสนคัน

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.กล่าวว่า สมาชิกกลุ่มฯได้ปรับประมาณการผลิตรถยนต์ในปี 2558ใหม่ในเดือนมิ.ย.นี้ โดยประมาณการผลิตรถยนต์ปีนี้อยู่ที่ 2,050,000 คัน ซึ่งลดเป้าการผลิตจากเดิมลง 100,000 คัน แยกเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกที่ยังคงเป้าเดิมที่ 1,200,000 คันคิดเป็น 58.54 %
ของยอดผลิตทั้งหมด แต่ลดเป้าผลิตเพื่อขายในประเทศลงจากเป้าเดิม 100,000คันเป็นผลิต 850,000 คันหรือคิดเป็น 41.46%

สำหรับการผลิตรถยนต์ม.ค.-มิ.ย.58 มีทั้งสิ้น 935,251 คันลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.77% โดยพบว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศมิ.ย.มีจำนวน 60,217 คันลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว 18.4% รวม 6 เดือนแรกปีนี้มียอดขายรวม 369,0004 คันลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 16.3% ขณะที่การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปมิ.ย. 76,774 คันลดลงจากมิ.ย.57 จำนวน 26.14% รวมส่งออก 6 เดือนแรกปีนี้อยู่ที่ 576,073 คันเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 2.86%.
กำลังโหลดความคิดเห็น