xs
xsm
sm
md
lg

สนช.นัดถกแก้รธน.3วาระรวด18มิ.ย. 'อุ๋ย'ขวาง'สมคิด' เบรกคุมเศรษฐกิจ-ลั่นยังทำไหว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการรายวัน-"พรเพชร"นัด สนช. ถกแก้ร่างรัฐธรรมนูญ 18 มิ.ย.นี้ เผยพิจารณา 3 วาระรวด พร้อมเชิญผู้แทน ครม. คสช. ร่วมชี้แจง "วิษณุ"ปัดรวบรัดเร่งแก้ไข ย้ำไม่ปิดทางบ้านเลขที่ 111-109 นั่งสภาขับเคลื่อนปฏิรูป ยันไร้ใบสั่งคว่ำ แค่คาดคะเนกันไปเอง กกต.เผยผลประชามติแค่ใช้เสียงข้างมาก ไม่จำเป็นต้องเกินครึ่งของผู้มีสิทธิ์ "หม่อมอุ๋ย"โดดขวาง "สมคิด"คุมเศรษฐกิจ เผย "เขาไม่มาหรอก" ลั่นทำไหว โวเศรษฐกิจพุ่งพรวด "ยงยุทธ"ปัดแก้เพื่อปูทางปรับ ครม.

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยถึงการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2557 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่งมายัง สนช. ว่า ขณะนี้ได้รับร่างดังกล่าวแล้ว ซึ่งมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว กำหนดให้ สนช. พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับร่าง ซึ่งสิ้นสุดในวันที่ 25 มิ.ย.นี้ จึงได้นัดสมาชิก สนช. พิจารณาเรื่องดังกล่าวในวันที่ 18 มิ.ย. จะเป็นการพิจารณา 3 วาระรวด และตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภา โดยจะเชิญตัวแทนจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีอำนาจเต็มในการตัดสินใจเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย

"จะพยายามพิจารณาให้เสร็จภายในวันเดียว แต่หากไม่เสร็จ ก็สามารถขยายเวลาได้ โดยการลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ จำนวน 220 คน ดังนั้น ต้องให้ได้ 110 คนขึ้นไป หากเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ถือว่าร่างแก้ไขนี้ตกไป ซึ่งหากร่างรัฐธรรมนูญขอแก้ไขผ่านความเห็นชอบ ก็จะส่งให้นายกรัฐมนตรี นำขึ้นทูลเกล้าฯลงพระปรมาภิไธยต่อไป"นายพรเพชรกล่าว

** เผยอาจไม่ตั้งคำถามร่วมประชามติ

นายพรเพชร กล่าวว่า สำหรับเนื้อหาในร่างแก้ไขมีทั้งหมด 6 ประเด็น ส่วนประเด็นที่ 7 เป็นการขอปรับแก้ไขถ้อยคำ แต่ตนสรุปได้ 3 ประเด็นหลัก คือ 1.ขอแก้ไข มาตรา 8 (4 ) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่เคยถูกเพิกสิทธิทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกบ้านเลขที่ 111, 109 ให้มีสิทธิเป็น สนช. รวมถึงตำแหน่งอื่นๆ 2.เรื่องการแก้ไขถวายสัตย์ต่อหน้าพระมหากษัตริย์ สามารถถวายต่อรัชทายาท หรือผู้แทนพระองค์ได้ และ 3.ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต่อไปนี้ ร่างใดก็ตามจะต้องทำประชามติ โดยให้ยึดถือเป็นหลักการ

"ไม่ว่าจะเป็นฉบับของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าผ่าน สปช. ก็ต้องไปทำประชามติ หรือถ้าไม่ผ่าน สปช.แล้ว มีการตั้งคณะกรรมการ 21 คนขึ้นมาร่าง ก็ต้องไปทำประชามติเช่นกัน ซึ่งการทำประชามติในร่างแก้ไขที่ระบุว่า ให้ทำประชามติเรื่องอื่นๆ ด้วยนั้น เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญให้ถามให้ สปช.และ สนช. ตั้งคำถามได้ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับการต่ออายุรัฐบาล แต่ทั้งนี้ คำถามอาจไม่มีก็ได้ หากทั้งสองสภาเห็นว่าไม่มีความจำเป็น"นายพรเพชรกล่าว

**โพล สปช.หนุนตั้งสภาขับเคลื่อน

นายประชา เตรัตน์ ประธาน กมธ.การมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นของประชาชน สปช. กล่าวถึงผลสำรวจความเห็นประชาชนจากทั่วประเทศโดยมีประเด็นที่น่าสนใจในส่วนของการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติว่า ประชาชนร้อยละ 82.85 เห็นว่า ควรมีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เพราะจะช่วยให้การปฏิรูปเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และบรรลุเป้าหมาย มีเพียงร้อยละ 17.15 ที่เห็นว่า ไม่ควรมี

"ผลการสำรวจครั้งนี้ จะนำไปประกอบความเห็นกับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญด้วย เช่น เรื่องการเลือกตั้งที่ในร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นหน้าที่ของประชาชน แต่เมื่อการสำรวจความเห็นออกมาร้อยละ 55.95 ให้เป็นสิทธิของประชาชน ก็อาจจะนำไปปรับในร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้การสำรวจความเห็น จะยังมีครั้งที่ 2 และ 3 ต่อไป โดยจะนำประเด็นที่มีความสำคัญและเป็นที่ถกเถียงมาสำรวจอีกครั้ง"นายประชากล่าว

** “วิษณุ” ปัดรวบรัดแก้รัฐธรรมนูญ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากที่ สนช.กำหนดประชุมเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวในวันที่ 18 มิ.ย. ตนจะไปเข้าร่วมในฐานะตัวแทน ครม. เพื่อชี้แจงหลักการและเหตุผล และเปิดโอกาสให้ สนช.อภิปราย ส่วนการพิจารณาแบบ 3 วาระรวด ไม่ได้เป็นรวบรัดในวันเดียว เพราะเคยทำมาแล้วในอดีต

ผู้สื่อข่าวถามว่า การแก้ไขให้ผู้ที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองสามารถเป็นสมาชิกสภาต่างๆ และรัฐมนตรีได้ จะมีโอกาสที่นักการเมืองบ้านเลขที่ 111 และบ้านเลขที่ 109 จะมาเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนปฏิรูปได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นเรื่องของคนที่มีอำนาจแต่งตั้ง แต่เมื่อเปิดทางไว้อย่างนี้ ให้รู้ว่าทุกอย่างเป็นไปได้ ซึ่งเมื่อก่อนปิดทาง แต่มาคิดกันภายหลังว่าการปิดไว้อย่างนั้นเหมือนมีอคติ หากเปิดไว้แล้วจะตั้งหรือไม่ตั้งยังพอได้ เมื่อเปิดทางไว้แล้วเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นว่าไม่มีอคติ ไม่ได้มีความรู้สึกต่อต้าน ที่ผ่านมา จะเห็นว่าหลายคนมีบทบาทสร้างสรรค์ อาจจะเห็นคนหน้าแปลกๆ เข้ามาในสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศก็ได้

** เผย สปช.คว่ำร่างแค่คาดคะเน

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า หากมีการปรับ ครม. หลังจากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จ จะเป็นการเอื้อให้กันหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ทุกเรื่องมีสิทธิใช้ได้ทั้งนั้น เริ่มต้นที่ใช้ระดับแรก คือ การขยายเวลาให้ กมธ.ยกร่างฯ ส่วนเรื่องอื่นยังไม่รู้ สำหรับเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณก็เพื่อให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นการใช้หลักการเดียวกัน

สำหรับคำถามอื่นที่ สนช. หรือ สปช. จะเสนอให้ถามในการทำประชามติด้วยนั้น สามารถส่งมาคำถามได้ก่อนลงวันลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือหลังจากลงมติเสร็จแล้วก็ประชุมต่อเนื่องเพื่อพิจารณาเรื่องนี้กันในวันเดียวกันได้ ส่วนคำถามที่ให้รัฐบาลปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง 2 ปีนั้น ถามได้ แต่ต้องโหวตกันและเอาชนะกันให้ได้ในที่ประชุม สปช.ก่อน และต้องรอดูว่า ครม.จะว่าอย่างไร

เมื่อถามถึงการที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า สปช.จะโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นายวิษณุ กล่าวว่า คงคาดคะเนอย่างนั้นไม่ได้ เพราะต้องรอดูว่า กมธ.ยกร่างฯ ปรับแก้อย่างไร หากออกมาดีแล้ว คงไม่ต้องคว่ำ ต้องลองดูก่อนว่าเขาปรับแก้อย่างไร และยืนยันว่าไม่มีใบสั่งจาก ครม. และ คสช.ให้คว่ำร่าง มีแต่ไปสันนิษฐานกันเองหมด เรื่องนี้ไม่จริง ถ้าจะต้องคว่ำมีวิธีอื่น ไม่ต้องลงทุนถึงขนาดนี้

** เรียก กกต.ถกเตรียมงานประชามติ

วันเดียวกันนี้ นายวิษณุ ได้เชิญตัวแทนจาก 3 หน่วยงาน ประกอบ นายภุชงค์ นุตาวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายกฤษฎา บุญราช อธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และตัวแทนสำนักงบประมาณ เพื่อกำหนดแนวทางและเตรียมความพร้อมการออกเสียงทำประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยใช้เวลาหารือ 2 ชั่วโมง

นายภุชงค์กล่าวภายหลังการประชุมว่า จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว กำหนดให้กระบวนการออกเสียงทำประชามติเป็นหน้าที่ กกต. ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งขณะนี้นับถึงวันที่ 1 ม.ค.2559 มีผู้มีสิทธิออกเสียง มีจำนวน 49 ล้านเสียง และต้องพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญแจกจ่ายให้ประชาชน 23 ล้านครัวเรือน ขณะที่วิธีการทำประชามติ จะมีการออกประกาศ กกต. เกี่ยวกับวิธีการดำเนินการว่าจะใช้บัตรกี่ใบ หีบบัตรอย่างไร และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 บางส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดบทลงโทษผู้กระทำความผิด และการเปิดโอกาสให้ สนช.และ สปช.ให้ตั้งคำถามอื่นได้ อาจต้องใช้บัตรลงคะแนนถึง 3 บัตร เพราะถ้าใช้บัตรเพียงใบเดียวจะเกิดความสับสนได้ โดยจะให้บัตรและหีบบัตรมีสีฉูดฉาดแตกต่างกัน โดยงบประมาณที่คิดไว้ประมาณ 2,600 ล้านบาท แต่ไม่ถึง 3,000 ล้านบาท ส่วนวันลงมติยังคาดว่าจะเป็นวันที่ 10 ม.ค.2559

"รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้ยึดเสียงข้างมากของจำนวนผู้ออกเสียงประชามติเป็นผลการลงประชามติ โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ออกใช้สิทธิเกินครึ่งหนึ่งตามกฎหมายเดิมกำหนด และการทำประชามติครั้งนี้ จะไม่มีการลงคะแนนนอกราชอาณาจักร"นายภุชงค์กล่าว

** “หม่อมอุ๋ย” ปิดประตู “สมคิด”คุมเศรษฐกิจ

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ กล่าวถึงกระแสข่าวที่จะมีการดึงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา คสช.เข้าร่วม ครม.เพื่อมาดูแลงานด้านเศรษฐกิจแทนตนเองว่า "ไม่มี ท่านไม่มาหรอก"

ผู้สื่อข่าวถามว่าภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ จำเป็นต้องหาคนมาช่วยทีมเศรษฐกิจหรือไม่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ไม่มีความจำเป็น เพราะทำได้อยู่แล้ว ขณะนี้เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในทิศทางบวกมา 2 งวด ขึ้นมาเรื่อยจนถึงร้อยละ 3 สวนทางกับเศรษฐกิจประเทศอื่นที่ลดลง และทั้งโลกที่ชะลอตัว ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะจีนที่ปรับฐานเศรษฐกิจของเขา และจากราคาน้ำมันที่ลดลงถือว่าแรงที่สุด ราคาโลหะ ราคาสินค้าเกษตรลดลง ทำให้การส่งออกของทั้งโลกลดลง การนำเข้าก็ลดลง การค้าทั้งโลกชะลอตัว ของเราถือว่าดีแล้ว และเชื่อว่าจากนี้ไปก็จะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น

***ยันไม่ใช่ปูทางเพื่อนำไปสู่การปรับ ครม.

นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวทั้ง 7 ประเด็น ถือเป็นความเห็นร่วมกันของ ครม.และ คสช. ส่วนการแก้ไขให้ผู้ที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิ์การเลือกตั้งเป็นรัฐมนตรีได้นั้น ไม่คิดว่าเป็นการปูทางเพื่อนำไปสู่การปรับ ครม. เพราะตอนนี้ไม่มีสัญญาณใดๆ จากรัฐบาล มีเพียงข่าวเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น