xs
xsm
sm
md
lg

ค้านมท.-ศธ.จัดเลือกตั้ง โพลชี้ไม่โปร่งใส-การเมืองแทรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากกรณีที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีการเสนอที่จะให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้จัดการเลือกตั้งแทน กกต. ซึ่งได้มีการท้วงติงถึงการจัดการเลือกตั้งดังกล่าวว่า ไม่ควรให้ทั้ง 2 หน่วยงานดำเนินการจัดเลือกตั้ง เนื่องจากอยู่ภายใต้หน่วยงานราชการ และไม่สามารถไว้วางใจได้ว่าจะจัดเลือกตั้งได้เป็นกลาง เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน “สวนดุสิตโพล”มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,247 คน ระหว่างวันที่ 3-10 ม.ค.58 สรุปผลได้ ดังนี้
1. ปัญหาการเลือกตั้งที่ผ่านมาที่ทำให้ประชาชนหนักใจ คือ อันดับ 1 การจัดการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใส ไม่เป็นกลาง มีการซื้อสิทธิขายเสียง45.41% อันดับ 2 ประชาชนเบื่อหน่ายการเมือง ไม่สนใจการเลือกตั้ง 33.56% อันดับ 3 มีความขัดแย้ง ทะเลาะเบาะแว้ง ประท้วงไม่ยอมรับการเลือกตั้ง21.03%
2. ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ ที่จะให้ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้จัดการเลือกตั้งแทน กกต.
อันดับ 1 ไม่เห็นด้วย 62.25% เพราะ ควรให้เป็นหน้าที่ของ กกต. ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบโดยตรง การเลือกตั้งเป็นงานใหญ่ และมีความสำคัญ ฯลฯ อันดับ 2 เห็นด้วย 37.75% เพราะ น่าจะเป็นเรื่องดี หากมีการร่วมมือกัน มีความน่าเชื่อถือ และตรวจสอบได้ ฯลฯ
3. ข้อดี-ข้อเสีย ของการให้ กระทรวงมหาดไทย และ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง ในส่วนของข้อดี อันดับ 1 เป็นระบบระเบียบมากขึ้น เจ้าหน้าที่เพียงพอ 47.80% อันดับ 2 เป็นการร่วมมือที่ดี มีความใกล้ชิดประชาชน 29.67% อันดับ 3 เป็นทางเลือกใหม่ อาจป้องกันการทุจริตได้ 22.53%
ส่วนข้อเสีย อันดับ 1 ไม่เป็นอิสระ อาจถูกแทรกแซง ตรวจสอบยาก41.34% อันดับ 2 เป็นการเพิ่มภาระงาน กระทบต่องานหลัก35.04% อันดับ 3 ขาดประสบการณ์ ไม่มีความชำนาญพอ 23.62% 4. โดยสรุป ประชาชนคิดว่าใคร ควรเป็นเจ้าภาพในการจัดการเลือกตั้ง อันดับ 1กกต. (แบบเดิม)66.67% เพราะ มีความรู้ความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ รู้ปัญหาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ฯลฯ อันดับ 2 กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ 17.01% เพราะ เป็นการสร้างความร่วมมือกัน ช่วยกันดูแล เป็นระบบและตรวจสอบได้ ฯลฯ อันดับ 3 กระทรวงมหาดไทย 7.82% เพราะ มีหน่วยงานทั่วประเทศ เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองโดยตรง เคยจัดการเลือกตั้งของท้องถิ่น ฯลฯ อันดับ 4 กระทรวงศึกษาธิการ 4.42% เพราะ มีบุคลากรจำนวนมาก มีสถานศึกษาในเขตพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ มีความน่าเชื่อถือ ฯลฯ อันดับ 5ควรจะร่วมมือกันทุกภาคส่วน ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษา และ กกต. 4.08%

** ต้องนิยาม”กำกับดูแล”ให้ชัด
นายสมศักดิ์ สุริยมงคล ผู้ทรงคุณวุฒิ กกต. ในฐานะ อดีตรองเลขาธิการกกต. ด้านบริหารการเลือกตั้ง กล่าวถึง แนวคิดของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะปรับเปลี่ยนการทำหน้าที่ของ กกต. จากการบริหารจัดการเลือกตั้ง เป็นการกำกับดูแลการเลือกตั้งว่า คำว่า กำกับดูแลการเลือกตั้งยังตีความได้กว้าง จะต้องมีนิยามที่ชัดเจนว่า เป็นการกำกับดูแลเพียงแต่ออกกฎระเบียบ แล้วปล่อยให้ข้าราชการไปจัดการเลือกตั้งเองเท่านั้น หรือให้อำนาจ กกต. ในการให้คุณให้โทษด้วย เพราะอำนาจในการบังคับบัญชาเป็นสิ่งสำคัญ อย่างที่การกำกับการเลือกตั้งท้องถิ่น กกต.ออกกฎระเบียบให้ท้องถิ่นไปจัดการเลือกตั้ง แต่ยังมีอำนาจในการบังคับบัญชา หากทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง ทำผิดกฎระเบียบ ต้องมีโทษทางอาญา และวินัย และกกต. มีอำนาจทางปกครอง ที่จะเปลี่ยนตัว กกต. ท้องถิ่น ผอ.เลือกตั้งท้องถิ่น จนถึงกรรมการประจำหน่วยได้หรือไม่ ไ ม่ใช่แค่กำกับอยู่ข้างนอก ออกกติกาแล้วไปทำปู้ยี่ปู้ยำยังไงก็ได้ แล้วกกต. ควบคุมพฤติกรรมไม่ได้ มันก็เป็นแค่ตรายาง เวลาเลือกตั้งล้มเหลว มีทุจริตมาก กกต.ก็รับเคราะห์อย่างเดียว แบบนั้นไม่ต้องมีกกต. ก็ได้ ให้มหาดไทย จัดการไปเลยดีกว่า
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า อำนาจที่ต้องมอบให้กกต. คือ ต้องทำให้กกต. กำกับการเลือกตั้งให้เกิดความเป็นอิสระ และยุติธรรมได้ ต้องให้ข้าราชการที่จัดการเลือกตั้งเป็นกลางในการจัดการเลือกตั้ง ต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลโดยมีภาคประชาชนเข้ามา ไม่ใช่มีเพียงข้าราชการเท่านั้น
ส่วนอำนาจที่ กกต.จะใช้จริงๆ ก็คือ อำนาจที่สามารถสั่งให้ข้าราชการคนนั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่ หรือให้ออกนอกพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันต้องไปขอให้รัฐมนตรี หรือปลัดกระทรวง เป็นคนสั่ง ซึ่งกว่าจะตั้งกรรมการสอบพิสูจน์ มันเลยการเลือกตั้งไปแล้ว หรือสอบแล้วบอกว่าไม่ผิด กกต.ก็ทำอะไรไม่ได้ ข้าวสารกลายเป็นข้าวสุก จนไหม้ไปแล้ว มันจึงต้องมีอำนาจโดยตรง เพราะช่วงเลือกตั้ง ระยะเวลามันสั้นนิดเดียว ส่วนการสอบสวนลงโทษ ต่อไปอาจจะส่งต่อให้ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อ ด้วยการกำหนดให้การละเว้น การทุจริต การปฏิบัติหน้าที่จัดการเลือกตั้งเป็นอีกฐานความผิดที่ป.ป.ช. รับไปดำเนินการได้
**ผวจ.นครสวรรค์ สวน ”สมชัย”
นายระพี ผ่องบุพกิจ ผวจ.นครสวรรค์ กล่าวถึงกรณีที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง คัดค้านการให้กระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้ง และวิพากษ์วิจารณ์ข้าราชการมหาดไทยอย่างรุนแรงว่า การจัดเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2540 หลังจากที่มีการตั้ง กกต. เป็นต้นมา ผู้ปฏิบัติงานจริงคือ ครู ตำรวจ กระทรวงมหาดไทย และหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ส่วน กกต. มีหน้าที่เป็นผู้มาติดยี่ห้อว่าทั้งหมดเป็นผลงานของ กกต. เท่านั้น เหมือนเราเป็นคนตัดเสื้อ แล้ว กกต. เอาไปติดแบรนด์

ทั้งนี้ ส่วนตัวไม่อยากรับงานเลือกตั้งมาให้กระทรวงมหาดไทยจัดทั้งหมด เพราะไม่อยากอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งและผลประโยชน์ และไม่อยากถูกด่า ไม่อยากถูกมองว่ามีส่วนได้ส่วนเสียกับการเมืองขั้วใดขั้วหนึ่ง ถ้าไม่ใช่หน้าที่ที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย ถ้าเลือกได้ขอไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ขอทำงานบำบัดทุกข์บำรุงสุขตาม อุดมการณ์ของมหาดไทยย่างเดียวก็ภาคภูมิใจแล้ว

**วอนขรก.มหาดไทยยุติขัดแย้งกกต.

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า "เรียนท่านประธานสหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทย (น้องเรวัต เครือบุดดีมหาโชค) กรณีที่ท่านได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว กรณีกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) บางท่าน ให้สัมภาษณ์ถึงบทบาทของข้าราชการมหาดไทยกับการเลือกตั้งทั่วไป พี่ใคร่ขอเรียนมายังน้องๆ ปลัดอำเภอทุกท่านด้วยความจริงใจ และในฐานะที่เราเป็นคนมหาดไทยด้วยกัน รู้จักคุ้นเคยกันมานาน พี่ไม่อยากให้ถือโทษโกรธกัน ที่จะยิ่งไปเข้าทางผู้ไม่ประสงค์ดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ของปวงชนชาวไทย พวกเขารอคอยจังหวะนั้นอยู่ตลอดเวลา แต่ภาครัฐก็รู้ทัน และพยายามแก้สถานการณ์อยู่ไม่ขาดสาย
การพูดจาให้ข้อคิดเห็น เป็นเรื่องที่พี่คิดว่าทั้งบรรยากาศที่คร่ำเครียดของหลายๆ คน อันเกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และอาจรวมไปถึงข้อคำถามที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง น่าจะมีส่วนให้คู่สนทนาคิดไปถึงหลายสิ่งหลายอย่าง ที่ถือเป็นองค์ประกอบของคำถาม-คำตอบ ซึ่งได้กับตัวพี่เองมาก่อน และอาจจะมิได้หมายความเช่นนั้นเสียทีเดียว "ไม่มีผู้ใดแม้เพียงผู้เดียวกล้านิยามว่าเราเป็นโจร" มหาดไทย เป็นสถาบันพระราชทาน จากล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 แต่ก็เคยมีอยู่เหมือนกัน ที่บางยุคบางสมัยปรากฏผู้บริหารที่มีความประสงค์ร้ายต่อกระทรวงมหาดไทยของเรา และมีพฤติกรรมอันเป็นภยันตรายต่อความมั่นคงของมหาดไทยและของชาติ
กกต.ทำหน้าที่มาสืบเนื่องหลายปีแล้ว อาจต้องมีการปรับปรุง แก้ไขกฎระเบียบที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดการทุจริต คอร์รัปชันการเลือกตั้งอย่างง่ายดาย และตรวจสอบได้ไม่ทันท่วงที ในขณะที่ "เราคนมหาดไทย มีหน้าที่รักษามรดกของพระองค์ท่านไว้ด้วยชีวิต" คือ ภารกิจในการบำบัดทุกข์-บำรุงสุข และช่วยกันเสริมช่วยกันสร้างความสมัครสมานสามัคคีในหมู่ประชาชนคนไทย ให้กลับฟื้นคืนดีโดยเร็ว ไม่ควรนำพามหาดไทยไปยุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้ง หรือพรรคการเมืองใดๆ ที่บริบทปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
พี่มีความรัก และความจริงใจกับทุกๆ ท่าน รู้จักกับทุกท่านมานานเสมือนญาติพี่น้อง ใคร่ขอให้ท่านประธานสหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทยและน้องๆ ปลัดอำเภอทุกท่าน ได้เป็นหลักแก่ข้าราชการฝ่ายปกครอง และระบบราชการ ดีกับผู้ใดได้ที่ไม่ใช่ผู้บ่อนทำลายชาติประเทศขอจงดี อภัยให้กันได้ ขอจงให้อภัย เพื่อกระทรวงมหาดไทยและประเทศชาติบ้านเมืองอันเป็นที่รักยิ่งของเราทุกคนสืบไป"

** ทำคู่มือสืบสวนสอบสวนคดีเลือกตั้ง

นายบุญส่ง น้อยโสภณ กรรมการ กกต. ด้านสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการจัดทำจัดทำ คู่มือสืบสวนสอบสวนคดีเลือกตั้ง ว่า กกต.ยังคงเดินหน้าจัดทำคู่มือดังกล่าว โดยหลังจากจัดประชุมเชิงวิชาการเรื่องการดำเนินคดีเลือกตั้ง ระหว่างสำนักงาน กกต.กับศาลยุติธรรม ก็ได้ข้อเสนอการประชุมในครั้งนี้ มีกรอบการประชุมในประเด็นสำคัญคือ เรื่องระบบงานสืบสวนสอบสวนของสำนักงาน กกต. ที่มีข้อเสนอให้ใช้สำนวนการสืบสวนสอบสวนของ กกต.เป็นหลักในการพิจารณาคดีเลือกตั้งในชั้นศาล โดยกกต.ต้องปรับปรุงกระบวนการสืบสวนสอบสวนให้มีความเป็นสากล เพื่อให้มีความน่าเชื่อถือ รวมทั้ง กกต.จะต้องมีอำนาจในการออกหมายเรียกหมายจับ หมายค้น หมายเรียกพยาน ที่ กกต.ต้องมีอำนาจถาวร ใช้ได้ทุกสถานการณ์ ไม่ใช่แค่ในช่วงจัดการเลือกตั้ง รวมทั้งการออกกฎหมายเพิ่มเดิมว่าด้วยการคุ้มครองพยาน ทั้งนี้คาดว่าการจัดทำคู่มือสืบสวนสอบสวนคดีเลือกตั้งจะแล้วเสร็จภายในปลายเดือน ก.พ.นี้ หลังจากนั้นก็จะมีการแยกการทำคดีแต่ละประเภทออกเป็นเล่ม อาทิ การซื้อสิทธิขายเสียง การย้ายทะเบียนบ้านเพื่อให้เป็นประโยชน์ในการเลือกตั้ง การจัดเลี้ยง และการหาเสียงล่วงหน้า เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้การสืบสวนสอบสวนของ กกต.มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตามคู่มือนี้สามมารถนำมาใช้ได้หมด แม้ในอนาคต กกต.จะไม่ได้เป็นผู้จัดการเลือกตั้งแล้วก็ตาม เพราะกฎหมายดังกล่าวเปรียบเสมือนต้นน้ำของการสืบสวนสอบสวนคดีเลือกตั้ง

**ฟัน"ปู"คดีทัวร์นกขมิ้นเดือนม.ค.นี้

นายบุญส่ง ยังกล่าวถึง ความคืบหน้าสำนวนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งส.ส. เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 57 ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้สำนวนคำร้องคัดค้านทั้งหมด อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนของคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย สำนักงาน กกต. ซึ่งแต่ละเรื่องเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ต้องทำด้วยความรอบคอบ แต่ละสำนวน มีหลายคำร้องที่ร้องเข้ามา เราต้องมาเอารวมเพื่อพิจารณาในคราวเดียว โดยเฉพาะสำนวนคำร้องคัดค้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ใช้ทรัพยากรของรัฐลงพื้นที่ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ระหว่างที่มี พ.ร.ฎ.ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ หรือคำร้องคัดค้านทัวร์นกขมิ้นนั้น พยานในสำนวนนี้ มีจำนวนมาก เพราะไม่ว่าอดีตนายกฯ จะลงไปจังหวัดไหน ก็มีพยานทุกจังหวัด
ดังนั้น คณะอนุกรรมการสืบสวนฯ ต้องสอบพยานทุกคน เพื่อความรอบคอบของสำนวนคดี อย่างไรก็ตาม ตนให้เกียรติ และมั่นใจคณะอนุกรรมการสืบสวนฯทุกคน โดยจะไม่เข้าไปก้าวก่ายในทุกสำนวน และขณะนี้สำนวนทุกสำนวนก็มีการสอบพยานเสร็จเรียบร้อยแล้ว รอเพียงคำวินิจฉัยเท่านั้น คาดว่าไม่เกินสิ้นเดือนม.ค.นี้ น่าจะแล้วเสร็จ

--
กำลังโหลดความคิดเห็น