xs
xsm
sm
md
lg

'คริสตี้'ทิ้งทวน'เชฟรอน'อ่าวไทย ต่อสัมปทานรอบ21 ภาคปชช.นัดหน้าทำเนียบ ป้องสมบัติชาติ-ทวงปฎิรูป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการ - “คริสตี้” โชว์พาว ! นำคณะทูตสหรัฐฯ เยือนแท่นผลิตก๊าซแหล่งปลาทองในอ่าวไทยของเชฟรอน หลัง “ณรงค์ชัย” ออกมายืนยันเตรียมพิจารณาเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และจะทำให้เสร็จในรัฐบาลชุดนี้ สถานทูตมะกันโอ่อีก เชฟรอนจ้างคนไทยกว่า 2 แสนคน เจียดจ่ายค่าภาคหลวง-ภาษีรวมแล้วกว่า 3 แสนล้านในรอบ 32 ปี หรือเฉลี่ยแล้วต่ำกว่า 1 หมื่นล้าน แถมยังมาบอก บริจาคทุนการศึกษาให้เด็กไทยอีกหลายสิบล้านบาท จับตาที่ประชุม”กพช.”วันนี้ (22ต.ค.)เห็นชอบกรมเชื้อเพลิง เดินหน้าเปิดสัมปทานรอบใหม่ ด้านภาคปชช.นัดรวมพลหน้าทำเนียบประตู 4 ยื่นนายกฯค้านเปิดสัมปทาน รอฟังผลประชุมกพช. ขณะที่กลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานผสมขาหุ้นฯ นัดถก 23 ต.ค.กำหนดท่าทีเคลื่อนไหวทวงสัญญาปฏิรูปพลังงาน

วานนี้ (20 ต.ค.) สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอการไปเยือนแท่นผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยของบริษัทเชฟรอน ณ ฐานผลิตปลาทอง ห่างจากชายฝั่งทะเล จ.นครศรีธรรมราช ประมาณ 200 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยคณะดังกล่าวนำโดยนางคริตตี้ เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายนนี้

ทั้งนี้ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เป็นผู้รับสัมปทานแหล่งเอราวัณ, ปลาทอง และแหล่งสตูล ทั้งยังถือผู้ลงทุนต่างชาติรายใหญ่อันดับต้นๆ ในประเทศไทย

นอกจากนี้เฟซบุ๊ก U.S. Embassy Bangkok ของสถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงเทพมหานคร ยังได้เผยแพร่ภาพและข้อความประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการเยือนแท่นผลิตน้ำมันและก๊าซดังกล่าวด้วยโดยระบุข้อความว่า เชฟรอนช่วยสนับสนุนการจ้างงานในประเทศไทยกว่า 2 แสนตำแหน่ง และก่อให้เกิดรายได้แก่รัฐบาลไทยรวมแล้วกว่า 9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 300,000 ล้านบาท) ในช่วง 32 ปีที่ผ่านมา หรือ ตกปีละไม่ถึงหนึ่งหมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังระบุว่า เชฟรอนช่วยบริจาคเงินทุนการศึกษาให้เด็กไทยอีกด้วยหลายสิบล้านบาท

“เครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ และแท่นผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา เอกอัครราชทูตเคนนี่ย์และเจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐฯเยี่ยมชมเชฟรอนซึ่งเป็นบริษัทผู้ลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของไทย ณ ฐานผลิตปลาทองซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเล จ.นครศรีธรรมราช ประมาณ 200 กม. เชฟรอนมีส่วนช่วยสนับสนุนการจ้างพนักงาน ในประเทศชาวไทยกว่า 200,000 คน และก่อให้เกิดรายได้แก่รัฐบาลไทยทั้งในส่วนของภาษีและค่าภาคหลวงกว่าเก้าพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524-2556 และได้บริจาคเงินประมาณ 1.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้แก่มูลนิธิพระดาบสเพื่อเป็นทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนไทย 360 คน”

รายงานข่าวระบุด้วยว่า การตรวจเยี่ยมดังกล่าวของคณะทูตสหรัฐฯ เกิดขึ้นภายหลังมีข่าวว่า นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ออกมาเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ภายในเดือน ต.ค.นี้กระทรวงพลังงานจะออกประกาศเชิญชวนให้ยื่นขอสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เพื่อที่จะเร่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมภายในประเทศรองรับความต้องการที่สูงขึ้นในอนาคต

“สำหรับการต่ออายุสัมปทานปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณและบงกช ที่จะหมดอายุประมาณปี 2565-66 จะพยายามสรุปให้ได้ภายในปีนี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับ ส่วนการเจรจาพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา มีการตั้งคณะทำงานร่วมกันแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้มีการดำเนินการร่วมกันอยู่แต่เกิดปัญหาทางการเมืองส่งผลให้ไม่สามารถตกลงเรื่องเส้นเขตแดนได้ ถ้าหากปัญหานี้ยุติลงก็สามารถที่จะตกลงร่วมกันได้ง่ายขึ้น โดยจะพยายามสรุปข้อตกลงให้ได้ภายในรัฐบาลชุดนี้” นายณรงค์ชัยระบุเมื่อวันที่ 6 ต.ค. ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ กรณีที่แปลงสัมปทาน แหล่งปลาทอง ของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และแหล่งบงกช ของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. จะหมดอายุสัญญาสัมปทานภายในปี 2565 หลังจากขอต่ออายุสัมปทานมาครั้งหนึ่งแล้วเป็นระยะเวลา 10 ปี หากจะต่ออายุอีกครั้ง กฎหมายปิโตรเลียมระบุว่าไม่สามารถดำเนินการได้โดยรายงานระบุว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเห็นว่า แม้ภายในปี 2565 แหล่งปลาทองของเชฟรอนจะหมดอายุสัมปทานแล้ว แต่คาดว่าจะยังมีปริมาณสำรองประมาณ 4-6 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตก๊าซอยู่ที่ 1.2 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

“พิจารณาว่าผู้รับสัมปทานเดิมสามารถดำเนินการต่อได้หรือไม่ เพราะทั้ง 2 แหล่ง มีกำลังการผลิตก๊าซคิดเป็นประมาณร้อยละ 50 ของปริมาณการผลิตก๊าซทั้งประเทศที่ 3.8 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน”

มีรายงานอีกว่า กรณีที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติต้องเร่งศึกษาข้อกฎหมายใหม่นี้ ทั้งที่อายุของสัมปทานทั้ง 2 แหล่งยังเหลืออีก 9 ปี เนื่องจากการศึกษากฎหมายใหม่ต้องใช้ระยะเวลานาน ขณะเดียวกันหากไม่เจรจากับผู้รับสัมปทานเดิมแต่เนิ่นๆ จะทำให้ผู้รับสัมปทานเดิมจะไม่ลงทุนในช่วง 5 ปีสุดท้ายของอายุสัมปทาน จะส่งผลให้ปริมาณก๊าซขาดแคลน และกระทบต่อภาคการผลิตไฟฟ้าได้

มีรายงานด้วยว่า ในส่วนของการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชานั้นทางกระทรวงการต่างประเทศ จะเร่งดำเนินการภายหลัง นายกรัฐมนตรีไทยได้หารือทวิภาคีกับนายกฯกัมพูชา ระหว่างการประชุมอาเซม ที่อิตาลี เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

***‘กพช.’หารือสัมปทานปิโตรเลียมวันนี้

รายงานข่าวแจ้งว่า การประชุมกพช.วันนี้ (22ต.ค.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กระทรวงพลังงานโดย กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ(ชธ.) จะเสนอให้ รับทราบถึงความจำเป็นที่ประเทศไทย จะต้องเร่งเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 บนพื้นที่บนบกและในทะเลรวม 29 แปลง เพื่อเปิดให้เอกชนมาลงทุนสำรวจและขุดเจาะแหล่งพลังงานในประเทศ รองรับความต้องการในอนาคต ซึ่งหากกพช.เห็นชอบ ชธ. ก็จะกลับมาทำข้อมูลรายละเอียดต่างๆในการเปิดต่อไป

“ เงื่อนไขล่าสุดทางชธ.เองได้กำหนดไว้เบื้องต้นแล้วในเรื่องของอัตราจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ แบบให้เปล่าที่เพิ่มขึ้นโดยสัญญาใหม่นี้จะเรียกว่าไทยแลนด์ทรีพลัสคือรัฐได้ประโยชน์มากกว่าเดิมในภาพรวม”แหล่งข่าวกล่าว

นอกจากนี้จะมีการรายงานความคืบหน้าแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าหรือ PDP ฉบับใหม่ 2015 (ปี 2558-78)ที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำแผนซึ่งจะเกี่ยวข้องกับแนวทางการจัดหาเชื้อเพลิงทั้งในและนอกประเทศซึ่งในแผนจะเน้นลดสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติลง แต่เพิ่มสัดส่วนถ่านหินและพลังงานทดแทนให้มากขึ้น และจะรวมถึงการคงนิวเคลียร์ไว้ปลายแผน 1 แห่ง

ขณะเดียวกันจะมีการเห็นชอบอัตราค่าไฟฟ้าที่รับซื้อจากพลังางานทดแทนหรือ Feed in tariff ในส่วนของไฟฟ้าจากขยะ ลม ชีวมวล เป็นต้น รวมถึงจะพิจารณาข้อเสนอของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.)ในเรื่องขออนุมัติให้ พพ. ออกประกาศพพ.ให้สามารถติดฉลากเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงานหรือเบอร์ 5 ให้กับเครื่องจักรกลการเกษตรขนาดเล็ก 5 ชนิด อาทิ รถจักรกลการเกษตร รถไฟถน เครื่องสูบน้ำขนาดเล็กฯลฯ เพื่อจูงใจให้เกษตรกรที่ทำการเกษตร

***นัดรวมตัวต้านเปิดสัมทานปิโตรฯวันนี้

พ.ญ. กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี แกนนำกลุ่มต่อสู้เรื่องพลังงานภาคประชาชน กล่าวว่า เครือข่ายได้รณรงค์ให้ประชาชนร่วมเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ที่หน้าประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล ในวันนี้ (22 ต.ค.) เวลา 10.00 น. เพื่อคัดค้านการเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมยอบที่ 21 รวมถึงการปรับขึ้นราคาแอลพีจีและเอ็นจีวีให้สะท้อนต้นทุน รวมถึงการติดตามผลการประชุมกพช.

“เราจะมีกิจกรรมให้เขียนข้อความใส่ผ้าขนาดยาวฝากให้นายกรัฐมนตรี ซึ่งวันนี้จะมาประชุมกพช.เราจะมาติดตามวาระว่ามีการอนุมัติเปิดสัมปทานหรือไม่อย่างไร”พ.ญ.กมลพรรณกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าด้านเว็บไซต์เฟซบุ๊กรุ่งคุณ กิติยากร ของ ม.ล.รุ่งคุณ กิติยากร แกนนำการเคลื่อนไหวด้านพลังงาน ก็ได้เขียนข้อความเชิญชวนด้วยเช่นเดียวกับแฟนเพจ "หยุดการปล้น สมบัติชาติประชาชน หยุดการขายชาติ ให้อำนาจตะวันตก คัดค้านสัมปานที่ 21 โดยนัดรวมพลพุธ 22 ต.ค.57 เวลา 10.00 น. ทำเนียบประตู 4 หรือข้อความ "หยุดทำลายเกาะแห่งชีวิต สมุย พะงัน เต่า ที่ได้ประกาศรณรงค์ให้ล่ารายชื่อคัดค้านการให้สัมปทานและไปร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศในวันนี้ (22 ต.ค.) เช่นเดียวกัน" โดยในโลกโซเชียล ได้มีการแชร์ข้อความเป็นจำนวนมาก

***ภาคประชาชนถก23ต.ค.กำหนดท่าที

นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา แกนนำกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงาน กล่าวว่า วันที่ 23 ต.ค. กลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานและเครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงานจะนัดหารือท่าทีของภาคประชาชนถึงการติดตามแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปพลังงานของรัฐบาลซึ่งขณะนี้พบว่าการดำเนินงานยังคงอยู่ภายใต้รูปแบบเดิมๆ ตามแนวทางระบบราชการวางไว้เป็นหลักซึ่งส่งผลให้กลุ่มทุนที่เกาะติดกับระบอบราชการได้ประโยชน์

“เราคงต้องมาหารือท่าทีกันว่าภายใต้กฏอัยการศึกจะทำอะไรได้บ้าง ซึ่งนโยบายการปรับโครงสร้างพลังางนของรัฐบาลช่วงนี้จะบอกว่าไม่ตอบโจทย์ภาคประชาชนก็คงไม่ใช่เสียทีเดียวแม้ว่าน้ำมันที่ลดราคาลงมาไม่ใช่ฝีมือของรัฐบาลแต่เหตุผลหลักมาจากราคาน้ำมันตลาดโลกลดลงจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องลด แต่หากไม่ใช่รัฐบาลนี้โอกาสจะเห็นเบนซินและดีเซลลดราคาลงมาก็อาจไม่มีก็ได้”นายอิฐบูรณ์กล่าว

สำหรับประเด็นพลังงานที่กลุ่มฯจับตาที่สำคัญคือการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 การต่ออายุสัมปทานที่จะหมดลงของสัญญาไทยแลนด์ I คือแหล่งบงกช และเอราวัณ ในอ่าวไทย กลุ่มฯเห็นว่ามีการเร่งรีบและการอ้างว่าผลประโยชน์สัมปทานปิโตรเลียมที่ได้รับตลอดที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเมื่อตรวจสอบกลับพบว่าเพิ่มขึ้นตามปริมาณการผลิตที่สูงขึ้น ขณะที่การหมดอายุของแหล่งสัมปทานไทยแลนด์ I ถือเป็นโอกาสที่ดีของไทยที่จะนำกลับมาพิจารณาว่าควรดำเนินการอย่างไรต่อเพื่อให้สัมปทานนี้ตกเป็นของรัฐเพื่อประโยชน์สูงสุดเช่น อาจให้รายเดิมรับจ้างผลิต หรือเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตจะดีกว่าหรือไม่

นอกจากนี้การปรับโครงสร้างราคาพลังงานคาดว่าเร็วๆ นี้จะมีการเดินหน้าปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตโดยเฉพาะในส่วนของดีเซลเพิ่มขึ้นประมาณ 3-4 บาทต่อลิตร ซึ่งเห็นว่าควรจะเก็บเงินที่ส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาเป็นภาษีฯดีเซลแทนเพื่อไม่ให้กระทบราคาขายปลีกและหากเป็นไปได้ควรจะกำหนดเงินภาษีฯดีเซลส่งคลังให้ชัดเจนว่านำเงินดังกล่าวไปส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างสาธารณูปโภคคือ ระบบราง เพื่อลดการนำเข้าพลังงานในอนาคต.
กำลังโหลดความคิดเห็น