xs
xsm
sm
md
lg

3ศาลเห็นพ้องนายกฯม.7 ไร้กม.รองรับ 'เทือก'ไม่มีข้อสรุปหารือปธ.วุฒิฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - ส.ว.ถกนอกรอบร่วมทางออกประเทศ เสนอ3 แนวทาง พร้อมเปิดประตูรับ “กำนันเทพ” ร่วมหารือ “คำนูณ”ติงต้องรับแกนนำมวลชนทุกกลุ่มป้องกันครหาด้านมาตรฐาน ส.ว.ลำพูนโวยอย่าเหมารวมเป็นมติ ส.ว. สุเทพ เคลื่อนจากเวทีสวนลุมปักหลักหน้ายูเอ็น พร้อมขอแจงที่ประชุมหาทางออกประเทศของวุฒิสภา “สุรชัย” แจงเลขาธิการสภา ดูแล ก่อนขอตัวสื่อถกส่วนตัวกับสุเทพ ส่วนผลหารือตุลาการ 3 ศาล เห็นสอดคล้องกันว่านายกฯ มาตรา 7 ไร้กฎหมายรองรับ ส่อแววไม่มีใครกล้าทำตามข้อเรียกร้องกปปส.ส่วนผลหารือสุเทพ-สุรชัย ยังไม่มีข้อสรุป สั่งมวลชนปัหหลักหน้ารัฐสภาเพื่อคุ้มกัน ลั่นอยู่จนกว่าได้คำตอบชัดเจน นปช.ลั่นยกระดับชุมนุมทันทีหากเสนอนายกฯมาตรา7

เมื่อวันที่ 10.30 น. วานนี้ (12 พ.ค.) ที่รัฐสภา ได้มีกลุ่มตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน องค์กร และสถาบันการศึกษาต่างๆ อาทิ กลุ่มจุฬารักประเทศไทย นำโดย นายสงคราม สมบูรณ์ กลุ่มพี่น้องมหิดล กลุ่ม มก.ร่วมกู้ชาติ มศว.รักประเทศ กลุ่มเครือข่ายราษฎรอาสา รวมทั้งเครือข่ายผู้รับใช้การปฏิรูปประเทศโดยสันติของประชาชนไทย เครือข่ายสมัชชาปฏิรูป เครือข่ายสุขภาพแห่งชาติ นำโดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ได้เข้ามอบดอกไม้เพื่อให้กำลังใจ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเสิศชัย รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภา และ ว่าที่ประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้วุฒิสภาเป็นผู้นำในการหาทางออก และแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ

โดยนายสุรชัย กล่าวตอบว่า จะเปิดโอกาสให้ทุกภาคสังคมระดมความคิดเห็น เพื่อช่วยหารทางออกของประเทศ เพราะวิกฤตครั้งนี้ถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศ ถ้าไม่มีใครที่กล้าหาญมาเป็นผู้นำ ลงมาแก้ไขปัญหาของประเทศ เชื่อว่าเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ต้องเกิดขึ้นแน่นอน

จากนั้นนายสุรชัย ได้ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมนอกรอบวุฒิสภาว่า ประเทศชาติที่ไม่มีผู้ใดเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหา ใครเสนอตัวเข้าแก้ปัญหาก็เจ็บตัว และถอยออกไปทุกคน ถ้าตนจะต้องเจ็บตัว แต่บ้านเมืองอยู่รอดก็พร้อม อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุมช่วยกันหาทางออก โดยให้อิสระ กับ ส.ว.ทุกคนไ ด้แสดงความคิดเห็น

เมื่อถามว่า จะนำข้อเสนอของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เข้าหารือหรือไม่ นายสุรชัย กล่าวว่า นำข้อเสนอของทุกกลุ่ม ทุกคน พรรคการเมือง นปช. จะนำมาพิจารณาทั้งหมด แล้วช่วยกันสังเคราะห์ ส่วนจะสรุปได้ในวันนี้ หรือไม่ ขึ้นอยู่กับบรรยากาศในที่ประชุม แต่แนวทางที่คนคิดไว้คือ ต้องการให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นสาธารณะประกอบด้วย ปัญหายิ่งใหญ่ขนาดนี้ จะให้วันเดียวคงเป็นไปไม่ได้

เมื่อถามถึงกรณีการโปรดเกล้าฯ ตำแน่งประธานวุฒิสภา ที่ทางรัฐบาลทักท้วงว่า อาจมีปัญหา นายสุรชัย กล่าวว่า วันนี้ตนทำหน้าที่ในฐานะรองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 รักษาการประธานวุฒิสภา ไม่เคยบอกว่า ทำหน้าที่ในฐานะประธานวุฒิสภา คำถามมี ต้องถามแล้วเป็นเรื่องของฝ่ายธุรการที่จะเสนอโปรดเกล้าฯ ตำแหน่งใหม่ แต่ขณะนี้ตนยังทำงานในตำแหน่งเดิมอยู่

เมื่อถามว่าใครมีอำนาจทูลเกล้าฯ ตำแหน่งประธานวุฒิสภา นายสุรชัย กล่าวว่า อย่าถามคำถามนี้ ทำต้องถามในเรื่องทูลเกล้าฯ อย่าเอาเรื่องกฎหมายมาเป็นกับดักของประเทศดีกว่า ตนเคนพูดในตอนแสดงวิสัยทัศน์ ว่า ประเทศไทยที่เกิดปัญหาส่วนหนึ่งคือ การใช้กฎหมายมาเป็นโซ่ตรวนผูกมัดประเทศ ถ้าหากอยากเห็นประเทศเดินหน้าไปได้ ให้ดูเป้าหมายว่า จะมีวิธีการนำประเทศชาติให้อยู่รอดได้อย่างไร แล้วติดขัดในข้อกฎหมาย ก็ช่วยกันคิดปรุงแต่ง เพราะกฎหมายอยู่ที่คนใช้ คนตีความ และตนจะทำให้เกิดความชอบธรรม ตนไม่เคยบอกว่า ทำหน้าที่ในตำแหน่งประธานวุฒิสภา เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทย อาจยื่นตีความในเรื่องนี้ นายสุรชัย กล่าวว่า ก็ให้ทำไป

ต่อข้อถามว่า นายสุเทพ ขีดเส้นให้วุฒิสภา จะต้องมีคำตอบในวันนี้ นายสุรชัย กล่าวว่า ใจเย็นๆ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ตนตัดสินใจให้มีการถ่ายทอด นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกปปส. จะได้รับฟังว่า พวกเราทำงานเต็มที่หรือไม่ ถ้าเห็นว่าเราทำงานเต็มที่ ขอก็ขอความกรุณาท่านอย่าไปขีดเส้นตายว่า วุฒิสภาจะต้องทำให้เสร็จภายในวันนั้น วันนี้ เหมือนเป็นการกดดันวุฒิสภา

ผู้สื่อข่าวถามว่าการที่ นายสุเทพ จะนำมวลชนมาชุมนุม ถือเป็นการกดดันการประชุมหรือไม่ นายสุรชัย กล่าวว่า ตนไม่รู้สึกเป็นการกดดัน แต่เป็นการมาให้กำลังใจมากกว่า

นายพีระศักดิ์ พอจิต ส.ว.อุตรดิตถ์ ว่าที่รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง กล่าวถึงการประชุมวุฒิสภา นอกรอบ เชื่อว่าจะยังไม่ได้ข้อยุติ แม้ว่าที่ประชุมวุฒิสภาเสียงส่วนใหญ่จะเห็นชอบให้ดำเนินการในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง เพราะต้องนำความเห็นดังกล่าวไปหารือร่วมกับองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่ที่ประชุมเสนอ

**เลขาฯสภาห้ามถ่ายทอดสด

ผู้สื่อข่าวรายงานการประชุมนอกรอบของสมาชิกวุฒิสภา ที่นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 รักษาการประธานวุฒิสภา นัดหารือเป็นกรณีพิเศษเพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกได้แสดงความคิดเห็นในการหาทางออกให้กับประเทศ พร้อมมีการถ่ายถอดสดให้สาธารณชนได้รับทราบด้วย แต่ปรากฎว่า เมื่อเริ่มเปิดประชุม เวลา 13.30 น. นายสุวิจักษณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร ได้ทำหนังสือถึง นายสุรชัย สั่งห้ามทำการถ่ายทอดสดการหารือดังกล่าว โดยอ้างว่า ไม่ได้รับอนุญาตจาก คณะกรรมการบริหารสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์รัฐสภา เนื่องจากไม่อยู่ในสมัยประชุม ไม่สามารถถ่ายทอดประเด็นที่หารือนอกรอบในที่ประชุมรัฐสภาได้ และไม่อนุญาตให้ถ่ายทอดโทรทัศน์วงจรภายในอาคารรัฐสภา รวมถึงสื่อมวลชนที่ติดตามรายงานการประชุม เข้าไปทำข่าวด้วย

ทั้งนี้ ในช่วงเช้า นายสุรชัย ได้ยืนยันกับสื่อมวลชนว่า จะมีการถ่ายทอดสดให้ประชาชนได้รับทราบถึงการแสดงความคิดเห็นของส.ว. โดยเฉพาะกลุ่มกปปส. ที่จะปักหลักติดตามความเคลื่อนไหวของส.ว. ต่อท่าทีในการหาทางออให้กับประเทศ เมื่อผลออกมาเป็นเช่นนี้ ทำให้ส.ว.หลายคนแสดงความไม่พอใจ โดยสมาชิกหลายคนได้ตำหนิการกระทำของ นายสุวิจักษณ์ เพราะถือเป็นความใจแคบอย่างยิ่ง เนื่องจากวุฒิสภา ต้องการจะช่วยกันหาทางออกให้กับบ้านเมืองอย่างแท้จริง แต่กลับต้องการปิดหู ปิดตา ประชาชน

**ให้สื่อเข้าไปทำข่าวได้

อย่างไรก็ตามในที่สุด นายสุรชัยได้อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปติดตามรายงานการหารือภายในห้องประชุมได้ แต่ยังคงไม่มีการถ่ายทอดสดแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีการหรือ นายสุรชัยได้ขอความร่วมมือไปถึงประชาชน และสื่อมวลชน 5 ข้อ ดังนี้ คือ 1 . การชุมนุมของทุกฝ่ายระหว่างที่ส.ว.มีการพิจารณา ขอให้อยู่ในความสงบ ปราศจากอาวุธความรุนแรง 2 . หยุดใช้วาจาปลุกระดม สร้างความเกลียดชัง รุนแรง 3 . ไม่ใช้แง่มุมทางกฎหมายเพิ่มเติมสร้างปัญหาเพิ่มเติมให้ประเทศ 4. ขอให้สื่อทุกแขนง เสนอข้อมูลที่ถูกต้องเที่ยงธรรม และ 5. ประชาชนที่ต้องการจะนำเสนอข้อมูล สามารถเสนอมาที่สำนักงานเลขาฯวุฒิสภา ตนและสมาชิก จะปฏิบัติภาระกิจนี้โดยเร็ว และ กล้าหาญซื่อสัตย์ และจะยึดประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง

ส่วนการอภิปรายของสมาชิกนั้น หากใครประสงค์อภิปรายพาดพิงคนนอก สามารถขออนุญาตให้เสนอประชุมลับชั่วคราว ซึ่งตนอยากให้ทุกคนหลอมหัวใจด้วยกัน มองไปข้างหน้า พาประเทศพ้นวิกฤต ขอให้ทิ้งความคิดไม่ว่าถูกหรือ ผิด ตนเชื่อว่าต้องมีความเห็นที่แตกต่างกัน ขอให้คิดว่าเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย ที่มาจากพื้นที่ และสภาพแวดล้อมต่างกัน เราสามารถอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยตนจะนำสิ่งที่ได้ไปหลอมรวมสังเคราะห์ และหารืออีกครั้งว่าแผนที่ประเทศไทย ที่จะนำไปสู่ก้าวข้ามความขัดแย้งเป็นอย่างไร หวังว่าทุกคนจะยึดถือแนวทางนี้ จากนั้นสมาชิกได้ทยอยแสดงความเห็น

**ส.ว.เสนอทางออก 3 แนวทาง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกส่วนใหญ่ที่ลุกขึ้นแสดงความเห็น ล้วนเป็นกลุ่ม 40 ส.ว. โดยประเด็นในการประชุมครั้งนี้สามารถแบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย คือ มีทั้งฝ่ายเสนอให้ประธานวุฒิสภา เดินหน้านำรายชื่อนายกรัฐมนตรี ขึ้นทูลเกล้าฯ ตามมาตรา 7 เพื่อเป็นคนกลางในการหาทางออกให้กับประเทศ อีกฝ่ายเห็นควรให้ประธานวุฒิสภา เดินสายหารือกับผู้นำองค์กรต่างๆ ให้ตกผลึกเป็นรูปธรรมก่อน ถึงจะเสนอชื่อนายกฯ ม.7 ขณะที่สมาชิกไม่กี่คนที่อภิปรายสนับสนุนให้เดินหน้าเลือกตั้งต่อไป โดยอ้างว่าเป็นความต้องการของประชาชน

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า ปัญหาความขัดแย้งหยั่งรากลึก เราแก้ได้เท่าที่กรอบจะทำได้ สังคมไม่ได้หวังให้เรามาไกล่เกลี่ยความขัดแย้งของสังคม แต่รัฐบาลบริหารงานไมได้ พิกลพิการ ประชาชนจึงเรียกร้องว่า เมื่อตำแหน่งนายกฯ ว่างลง ปล่อยว่างไมได้ ต้องมีคนใหม่ทันที แต่บังเอิญไม่มีสภา เลยเรียกร้ององค์กรที่มีความคล้ายที่สุดคือ ส.ว. พิจารณาหาทางช่วยแหลือหาทางออกในเรื่องตำแหน่งนายกฯ ปกติประธานสภาฯ เป็นผู้นำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เมื่อไม่มีประธานสภา อยากให้ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่แทน โดยใช้ ม.7 ประชาชน รอให้ประธานวุฒิฯหาทางออกให้ประชาชน ตั้งนายกฯใหม่ ที่เหมาะสม

“แม้มีบางฝ่ายบอกว่า ท่านไม่สามารถทำได้ หรือทำไปอาจจะมีปัญหา ผมจะร่วมรับผิดชอบกับท่าน โดยจะทำหนังสือถึงประธาน ขอให้พิจารณาดำเนินการเสนอชื่อบุคคลเพื่อแก้วิกฤต ไม่มีนายกฯบริหารราชการแผ่นดิน จำเป็นให้เกิดประโยชน์ ต่อประเทศ ใครเห็นด้วยก็มาร่วมเซ็นชื่อกัน ประเทศชาติต้องการผู้กล้ารักชาติ โดยเฉพาะต่อ กษัตริย์ คนที่โดยสุจริตเพื่อประโยชน์ต่อชาติ ย่อมได้รับการคุ้มครอง"

ด้านนายวันชัย สอนศิริ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ปัญหาการเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง เพราะขณะนี้องค์กรอื่นๆ เขาโยนเผือกร้อนหนีหมดแล้ว ไม่ว่า ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ปล่อยละเลยปัญหาวิกฤตหนักข้อยิ่งขึ้น เหลือแต่วุฒิสภา เวลานี้เรามีสมาชิกทั้งเลือกตั้ง และสรรหา ครบแล้วและเป็นองค์กรที่ มีน้ำหนักใกล้เคียง ในการแก้ปัญหาประเทศมากที่สุด และหากปล่อยให้มีการเลือกตั้งในสถานการณ์วิกฤตขณะนี้ คาดว่าจะใช้เวลาถึง 14 เดือน แต่ถ้าเลือกไม่ได้ มีปัญหาแม้แต่เขตเดียว ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่า เป็นโมฆะทั้งประเทศ เราจะสูญเสียทั้งเวลา

** "คำนูณ"ย้ำต้องเร่งคลี่คลายปัญหา

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ตนเห็นด้วยที่ประธานต้องเป็นตัวกลางในการดำเนินการพูดคุยกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องโดยด่วน อาจใช้เวลา 2-3 วัน ต้องทำงานทุกวัน ตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป สังคมไทยมีความขัดแย้งระดับเลือดนองแผ่นดินมาหลายหน แต่บ้านเมืองกลับคืนสู่สันติสุขด้วยองค์ประมุข แต่ความขัดแย้งครั้งนี้ ที่สืบทอดมา 10 ปี หากจะหวังว่าจะคลี่คลายลักษณะเดิมนั้นคงยาก

นายคำนูณ กล่าวว่าเวลานี้บ้านเมืองเรากำลังมีสองลู่ทาง คือ หนึ่งหากจะมีการเลือกตั้งใหม่ ยังมีปัญหาข้อกฎหมายว่า รักษาการนายกฯมีอำนาจหน้าที่ มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเรื่องนี้อาจจะเริ่มมีความชัดเจนขึ้น เมื่อมีการหารือระหว่าง กกต.กับรักษาการนายกรัฐมนตรี แต่ผลการหารือ จะเป็นตัวกำหนดว่า หนทางเลือกตั้งจะมีความจำเป็นและชอบธรรมหรือไม่ อย่างไร หรือที่สุดจะนำไปสู่การเลือกตั้ง จะกลับไปสู่ความสงบได้หรือไม่ ขณะที่ในส่วนของการเสนอนายกรัฐมนตรีคนใหม่ มีระยะเวลาถึง วันที่ 6 มิ.ย. เชื่อว่าเวลาจะช่วยตอบคำถามได้ระดับหนึ่ง หรือหากจะให้เร่งรัดเร็วขึ้นประธาน ควรเชิญบรรดาองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ กกต. หารือให้ชัดเจนว่า ถ้าจะให้มีการเลือกตั้งจะมีความชัดเจนเรื่องอำนาจหน้าที่แค่ไหน หรือ ถ้าไปสู่การเลือกตั้ง จะกลับไปสู่จุดเดิมเหมือน 2 ก.พ. หรือไม่

“แต่ถ้าจะมาตัดสินว่า วุฒิสภาต้องตั้งนายกรัฐมนตรีตอนนี้ ผมเห็นว่าอาจจะเร็วเกินไป เพราะต้องทำด้วยความละเอียดรอบคอบ เพราะความขัดแย้งครั้งนี้ มาจากฝ่ายที่มีความเห็นกันโดยมีมวลชนมหาศาล กระบวนการแต่งตั้งนายกฯ โดยวุฒิสภา จะใช้ ม.7 ที่สุดไม่ได้จบลงที่วุฒิ เชื่อว่าประธานทราบดีว่า การจะไปถึงจุดนั้น ต้องมีความมั่นใจอย่างยิ่งประการใด โดยต้องแสวงหาความเห็นชอบจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะองค์กรราชการ องค์กรอิสระ หรือผู้ที่อยู่แถวหน้าในเวลามีการเข้าเฝ้าฯ แม้จะไม่ใช่หน้าที่โดยตรงขององค์กรเหล่านั้น แต่หน้าที่เบื้องต้นของคนไทยทั้งมวลแม้รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ แต่ต้องส่งมอบประเทศไทยที่ไม่สูญสิ้นไปสู่รู่นต่อไป ถือเป็นภาระหนักอึ้งของประธานวุฒิสภา เมื่อสมาชิกมอบความไว้วางใจให้ ก็ต้องให้ความร่วมมือทุกอย่างที่จะร่วมกันทำงานตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป ทำให้สุดความสามารถ จะใช้เวลากี่วันก็แล้วแต่ หารือกับทุกภาคส่วน ทางออกบางอย่างจะเกิดขึ้นมาเอง แต่ที่สำคัญเราต้องทำโดยคำนึงถึงสิ่งที่เราเคารพสูงสุดอย่างแท้จริง เราจะมีนายกรัฐมนตรี ม.7 ได้หรือไม่ คิดว่าภายใน 2-3 วันนี้ น่าจะได้คำตอบ”

ทั้งนี้นายสุรชัย กล่าวว่า อยากให้สมาชิกช่วยเสนอความเห็นในประเด็นนายกฯ เรื่อง ม.7 และวิเคราะห์ว่า ปัญหาที่มีขณะนี้ เส้นทางเดินของปัญหา คืออะไร จะเลือกเส้นทางไหน ต้องเอาเป้าหมายประเทศเป็นที่ตั้ง

นายประภาส นวนสำลี ส.ว.หนองบัวลำภู ซึ่งเป็นสมาชิกเพียงคนเดียว ที่แสดงความเห็นว่าควรจะเดินหน้าให้มีการเลือกตั้ง

นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ขณะนี้ต้องยอมรับว่าบ้านเมืองกำลังมีปัญหาวิกฤต ประธานควรเชิญ กกต.มาหารือ ส่วนเรื่องอำนาจหน้าที่ของนายนิวัฒน์ธำรง ว่ามีอยู่หรือไม่ เป็นปัญหาที่ต้องถามกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะศาล ถือเป็นองค์ธิปัตย์หนึ่งในอำนาจตุลาการ ดังนั้นควรมีการพบกับประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ไม่จำเป็นต้องหารือแบบเปิดเผยก็ได้

** "เทือก"นำมวลชนปักหลักราชดำเนิน

เมื่อเวลา 14.14น.วานนี้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ได้นำขบวนเดินเท้าออกจากสวนลุมพินี แล้วมาปักหลักบริเวณถนนราชดำเนินนอก โดยตั้งเวทีหน้าองค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น)

***กปปส.ล้อมรัฐสภา ขอแจงที่ประชุมส.ว.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. เดินทางถึงเวทีปราศรัยหน้ายูเอ็นเสร็จ ได้เดินทางมายังรัฐสภา เพื่อติดตามการประชุมวุฒิสภานัดพิเศษ และมีการชุมนุมหน้ารัฐสภา จากนั้นนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย แกนนำ กปปส. ได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่รัฐสภา เพื่อขอให้นายสุเทพ ได้เข้าชี้แจงต่อประชุมวุฒิสภา จากนั้นเวลา 18.25 น. นายสุเทพ พร้อมแกนนำ กปปส. อาทิ นายสาทิตย์ นายวิทยา แก้วภราดัย นายสมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ และร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ ผู้ประสานงานกองทัพธรรม ได้เข้ามายังอาคารรัฐสภา 2 เพื่อหารือกับนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ว่าที่ประธานวุฒิสภา ที่ห้องรับรองพิเศษ โดยมีกลุ่ม 40 ส.ว. ให้การต้อนรับ กระทั่งเวลา 18.45 น. นายสุเทพ ชี้แจงต่อนายสุรชัยว่า การเดินทางเข้าหารือ เนื่องจากมีเหตุผลสองประการคือ 1.สถานีโทรทัศน์และวิทยุรัฐสภาไม่ถ่ายทอดสดการหารือของวุฒิสมาชิก เหมือนปิดหูปิดตา จึงต้องเข้ามาดูว่า เป็นเพราะอะไร และ 2.สถานการณ์ขณะนี้ ส.ว. สมควรรับรู้สถานการณ์การเมืองปัจจุบันและความคาดหวังของประชาชนที่มีต่อวุฒิสภา ตนและตัวแทนจึงอยากขอเข้าชี้แจงในห้องประชุมวุฒิสภา และจะเปิดโอกาสให้ส.ว. ซักถาม รวมทั้งขอให้ถ่ายทอดสดการประชุมด้วย

ด้านนายสุรชัย กล่าวว่า สาเหตุที่ไม่มีการถ่ายทอดสด ไม่ใช่ความตั้งใจของวุฒิสภา แต่การควบคุมห้องประชุมรัฐสภา อยู่ในการดูแลของเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ระบบสัญญาณทั้งหมดถูกล็อกรวมทั้งการถ่ายทอดสดในห้องประชุม จึงไม่สามารถถ่ายทอดสดได้ ซึ่งส.ว.ไม่ได้กีดกันการถ่ายทอด และตั้งใจว่า หากมีการสื่อสารไปยังประชาชนแล้ว จะเป็นช่องทางช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดทางเมืองได้ และขอโทษที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น แต่เบื้องต้นแก้ปัญหาโดยให้ถ่ายทอดสดทางวิทยุรัฐสภาแล้ว จากนั้นนายสุเทพขอให้สื่อมวลชนออกจากห้องรับรอง เพื่อหารือเป็นการส่วนตัวกับนายสุรชัย

ล่าสุด เมื่อเวลา 21.03 น. ที่หน้ารัฐสภา นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. กล่าวปราศรัยตอนหนึ่งว่า วันนี้่ได้รับคำตอบเบื้องต้นว่าวุฒิสภาจะรับเป็นภาระที่จะปรึกษาหารือกันดำเนินการเพื่อให้มีนายกฯคนใหม่ของประเทศไทย ฉะนั้นหน้าที่เราวันนี้ออกมารวมพลังกันสนับสนุนวุฒิสภา เพราะจะมีคนขัดขวางเยอะเลย ถ้าไม่มีมวลมหาประชาชนออกมาช่วย เป็นกำแพงให้วุฒิสภาเหล่านี้เอาหลังพิง เรื่องนี้ไม่มีทางสำเร็จแน่ และเราจะเฝ้าอยู่ตรงนี้จนกว่าจะได้คำตอบชัดเจนว่าทำสำเร็จหรือไม่อย่างไร

** ปธ.ป.ป.ช.พร้อมร่วมหารือทางออกประเทศ

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวกรณีที่ประชุมวุฒิสภา มีการหารือนอกรอบเกี่ยวกับข้อเสนอของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่สนอให้ ประมุข 3 ศาล และประธานกกต. หารือกันเพื่อตั้งนายกรัฐมนตรีคนกลาง และหาทางออกประเทศว่า วุฒิสภาประชุมหารือกันเรื่องนี้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปโดยเร็ว ทั้งนี้หากวุฒิสภาเชิญให้เข้าร่วมหารือด้วย ทางป.ป.ช. ก็จะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมป.ป.ช. เพื่อลงมติว่า จะเข้าร่วมหารือหรือไม่ แต่ส่วนตัวยินดีที่จะเข้าร่วม หาทางออกประเทศ เพราะเห็นว่าทุกฝ่ายต้องช่วยกัน เพื่อให้ประเทศชาติเดินต่อ

**ยัน"นิวัฒน์ธำรง"ไร้อำนาจ ทูลเกล้าฯ

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ คณะทำงานกฎหมาย พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง ข้อถกเถียงทางกฎหมายเกี่บวกับการแต่งตั้งประธานวุฒิสภา ที่มีข้อถกเถียงว่า นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี จะมีอำนาจดำเนินการได้หรือไม่ว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 171 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สถานภาพความเป็นนายกรัฐมนตรีหมดไป ทำให้ ครม.พ้นสภาพไปแล้วทั้งคณะ นายนิวัฒน์ธำรง จึงไม่มีอำนาจกราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ เพราะเป็นเพียงผู้ปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากคณะรัฐมนตรีพ้นสภาพไปแล้ว ตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จึงมีหน้าทีเพียงแค่การทำงานประจำ

แต่การนำความกราบบังคมทูลเป็นภาระของนายกรัฐมนตรี ดังนั้นนายนิวัฒน์ธำรง จึงไม่มีอำนาจกราบบังคมทูลแต่งตั้งประธานวุฒิสภา เมื่อฝ่ายบริหารไม่มีอำนาจ คณะทำงานกฎหมายเห็นว่า ควรเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ แต่กรณีนี้เป็นการแต่งตั้งประธานวุฒิสภา จึงไม่บังควรที่ นายสุรชัยจะเสนอชื่อตัวเอง แต่เลขาสำนักงานวุฒิสภา สามารถดำเนินการได้ หรืออีกแนวทางหนึ่งคือ ให้ประธานศาลฎีกากราบบังคมทูล ซึ่งเป็นไปตาม มาตรา 7 แต่ถ้าประธานศาลฎีกาไม่อยากก้าวล่วง ก็เป็นหน้าที่ของเลขาวุฒิสภา ที่สามารถดำเนินการได้

ส่วนใครสมควรเป็นผู้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนกลาง ในขณะที่ไม่มีนายกฯและครม.แล้วนั้น นายวิรัตน์ เห็นว่าเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ และตุลาการ ดังนั้น ประธานศาลฎีกา และประธานวุฒิสภา ควรจะหารือกัน แต่หากประธานศาลฎีกาเห็นว่า เป็นเรื่องของฝ่ายการเมือง ประธานวุฒิสภา เมื่อได้รับการโปรดเกล้าฯ ก็สามารถตั้งคณะทำงานที่มีองค์ประกอบจากผู้นำองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เพื่อเสนอกรอบของผู้ที่ควรเป็นนายกคนกลาง หรือเตรียมการนำเสนอ จากนั้นภาระหน้าที่จะเป็นของ นายสุรชัย ที่จะเสนอชื่อกราบบังคมทูลฯต่อไป

"แนวคิดในการตีความรัฐธรรมนูญตามนี้ ไม่มีการรื้อรัฐธรรมนูญ แต่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญทุกประการ ถ้าทำได้นายกฯ คนกลางจะเข้ามาปฏิรูปแล้วค่อยจัดการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นไปอย่างที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคได้เคยเสนอไว้ บ้านเมืองจะไปได้ แม้ว่าฝ่ายเสื้อแดงจะขู่ว่าไม่ยอม แต่เชื่อว่าไม่มีกำลังมากพอที่จะยับยั้งพลังขับเคลื่อนของมวลมหาประชาชนได้" นายวิรัตน์ กล่าว

**ซัดปชป.ยึดแนวทางเผด็จการปล้นอำนาจปชช.

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าการที่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ พยายามอ้างกฎหมายแบบศรีธนชัยว่า นายนิวัฒน์ธำรงไม่มีอำนาจทูลเกล้าฯ หรือไม่มีอำนาจบริหาร นั้นทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า นายนิวัฒน์ธำรง มีอำนาจที่จะปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐนตรีได้ทุกประการ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

"สิ่งที่นายวิรัตน์ และทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์เสนอนั้น เป็นแค่เกมการเมือง เพื่อแย่งชิงอำนาจรัฐบาล และน่าจะเป็นการปล้นอำนาจประชาชนแบบหน้าด้านๆ "

***ผลหารือ 3 ศาล นายกฯ ม.7 ไร้กฎหมายรองรับ

วานนี้ (12 พ.ค.) แหล่งข่าวศาลปกครองกล่าวถึงข้อเสนอของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. เรียกร้องให้ว่าที่ประธานวุฒิสภา ประธานศาลศาลฎีกา ประธานศาลปกครอง ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หารือร่วมกันเพื่อเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรีคนกลาง ว่า จากการพูดคุยกับตุลาการศาลยุติธรรม ซึ่งได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องดังกล่าว ก็มีความเห็นที่สอดคล้องกันว่าข้อเสนอดังกล่าวว่าไม่มีกฎหมายรองรับ แล้วจะดำเนินการกันได้อย่างไร เช่นนั้นแล้วก็ไม่รู้จะมีใครกล้าทำตามข้อเรียกร้องของนายสุเทพหรือไม่ อย่างไร

***เสนอนายกฯม.7 ชุมนุมทันที

ที่บริเวณถ. อักษะ นายจตุพร พรหมพันธ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยตรอต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พร้อมแกนนำนปช.ขึ้นเวที จากนั้นได้ปราศรัยกับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยนายจตุพร ยืนยันว่า หากมีการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจริง ก็เท่ากับว่านายสุรชัย ทำผิดกฎหมายฐานก่อการกบฏในราชอาณาจักร ซึ่งนปช.จะแจ้งความดำเนินคดีกับนายสุรชัย ทันที และจะยกระดับการชุมนุม โดยจะได้เห็นการเคลื่อนพลครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของกลุ่มคนเสื้อแดง

***“มัธยมวัดมกุฏฯ-ราชวินิตมัธยม” ยังเปิดเทอมปกติ

นายบุญธรรม พิมพาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนราชวินิต มัธยม กล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มกปปส.บริเวณทำเนียบรัฐบาล ว่า ยังเหลือเวลาอีก 2-3 วันที่จะเปิดเทอม ซึ่งจะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้งหนึ่งว่าจำเป็นจะต้องเลื่อนกำหนดเปิดเทอมออกไปหรือไม่

เช่นเดียวกับ นายจรัสฤทธิ์ กลิ่นสุวรรณ ผอ.โรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริย์ กล่าวว่า ในเบื้องต้นมองว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะถนนราชสีมายังใช้สัญจรได้ปกติ ดังนั้น โรงเรียนจึงยืนยันเปิดเทอมวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ตามปกติ
กำลังโหลดความคิดเห็น