xs
xsm
sm
md
lg

มูลนิธิโซรอสแฉ54ปท.ช่วยซีไอเอ 'ไทย'ติดกลุ่มฐานเอื้อเฟื้อตั้งคุกลับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ – โอเพน โซไซตี้ ฟาวน์เดชัน กลุ่มสิทธิมนุษชนที่พ่อมดการเงินคนดัง จอร์จ โซรอส ก่อตั้ง แฉรัฐบาล 54 ประเทศให้ความช่วยเหลือสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ซึ่งรวมถึงการสอบปากคำผู้ต้องสงสัยอย่างโหดเหี้ยม โดยไทยมีรายชื่อติดในโผฐานเอื้อเฟื้อสถานที่ตั้ง “คุกลับ”
ถึงแม้มีรายงานข่าวระบุออกมาเป็นระยะๆ ก่อนหน้านี้ว่า ประเทศจำนวนมากได้ช่วยเหลือการปฏิบัติการลับๆ ของสหรัฐฯในยุคของคณะรัฐบาลประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช หลังจากเกิดเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน 2001 แล้ว
แต่รายงานที่โอเพน โซไซตี้ ฟาวน์เดชัน ซึ่งก่อตั้งโดยโซรอส นักเก็งกำไรปั่นค่าเงินผู้สร้างความทุกข์ยากเดือดร้อนให้คนจำนวนมากและมหาเศรษฐีใจบุญที่อุดหนุนมูลนิธิการกุศลมากมาย นำออกมาเผยแพร่ในวันอังคาร(5ก.พ.)คราวนี้ ถือว่าเป็นการเปิดเผยรายชื่อประเทศที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมซึ่งถูกนักวิจารณ์โจมตีว่าเป็นการกระทำอย่างเกินกว่าเหตุเหล่านี้อย่างกว้างขวางครอบคลุมที่สุด
การปฏิบัติการลับๆ อันสำคัญมากอย่างหนึ่งซึ่งประธานาธิบดีบุชอนุญาตให้ดำเนินการ ก็คือ “การส่งผู้ร้ายข้ามแดนแบบพิเศษ” โดยไม่ต้องมีกระบวนการทางกฎหมาย เพื่อให้หน่วยข่าวกรองของอเมริกาและต่างชาติสามารถสอบสวนผู้ต้องสงสัยเป็นกลุ่มหัวรุนแรงที่นอกแผ่นดินอเมริกัน จะได้หลีกเลี่ยงไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองสิทธิมนุษชนอันค่อนข้างเคร่งครัดของสหรัฐฯเอง
โอเพน โซไซตี้พบหลักฐานว่า รัฐบาลของ 54 ชาติสนับสนุนการปฏิบัติการดังกล่าวด้วยมาตรการต่างๆ เช่น เอื้อเฟื้อสถานที่ตั้งคุกลับเพื่อให้ซีไอเอใช้เป็นที่สอบสวนผู้ต้องสงสัย เปิดน่านฟ้าให้เที่ยวบินลับบินผ่าน หรือป้อนข่าวกรองให้
ประเทศเหล่านี้จำนวนไม่น้อย เป็นประเทศที่ต่อสู้กับนักรบอิสลามหัวรุนแรงในดินแดนอธิปไตยของตนเองมายาวนาน เช่น อัฟกานิสถาน อียิปต์ ปากีสถาน และซาอุดีอาระเบีย ขณะเดียวกัน รายงานของโอเพน โซไซตี้ ยังระบุชื่อพวกชาติพันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐฯด้วย เป็นต้นว่า ออสเตรเลีย อังกฤษ แคนาดา เดนมาร์ก ฟินแลนด์ เยอรมนี ไอร์แลนด์ อิตาลี โปแลนด์ สเปน สวีเดน ตุรกี และไทย
แอฟริกาใต้มีชื่ออยู่ในบัญชีเช่นกัน ส่วนหนึ่งจากข้อกล่าวหาว่า ในปี 2003 ทางการแอฟริกาใต้อนุญาตให้ซีไอเอลักพาตัว ซาอุด เมมอน ผู้ต้องสงสัยชาวปากีสถานในเหตุการณ์สังหารแดเนียล เพิร์ล ผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล ซึ่งสุดท้ายเมมอนเสียชีวิตในปากีสถานในปี 2007 หลังจากได้รับการปล่อยตัวไม่นาน
รายงานยังระบุว่า อิหร่าน ซึ่งแม้บาดหมางกับสหรัฐฯ แต่เอาเข้าจริงกลับเคยส่งตัวผู้ต้องสงสัยอย่างน้อย 10 คนที่ส่วนใหญ่เป็นชาวอาหรับ ให้แก่วอชิงตันผ่านทางรัฐบาลอัฟกานิสถาน
โอเพน โซโซตี กล่าวรียกร้องหาความรับผิดชอบทั้งจากสหรัฐฯและประเทศอื่นๆ โดยระบุว่า ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เจ้าหน้าที่ในคณะรัฐบาลบุชได้อนุญาตให้ดำเนินการปฏิบัติการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งขัดต่อจุดยืนด้านศีลธรรมของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี ประเทศอื่นๆ ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย ทว่า ที่ผ่านมามีเพียงแคนาดาเท่านั้นที่ออกมาขอโทษสำหรับบทบาทของตนเอง ขณะที่ออสเตรเลีย อังกฤษ และสวีเดน เสนอค่าชดใช้ให้แก่ผู้ต้องสงสัยที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน
รายงานฉบับนี้เผยแพร่ออกมา 2 วันก่อนที่คณะกรรมาธิการของวุฒิสภาสหรัฐฯ จะพิจารณาการเสนอชื่อจอห์น เบรนแนน ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการซีไอเอ โดยที่เชื่อกันว่า เบรนแนนซึ่งปัจจุบันมีตำแหน่งหน้าที่เป็นผู้ช่วยด้านความมั่นคงของประธานาธิบดีบารัค โอบามานั้น จะถูกซักถามเกี่ยวกับนโยบายการสอบสวนผู้ต้องสงสัย
ทั้งนี้ โอบามาสั่งการให้ยุติเทคนิคการสอบสวนโดยใช้ความรุนแรง หลังจากที่เขาเข้ารับตำแหน่งในปี 2009 กระนั้น โซไซตี้ ฟาวน์เดชัน ก็วิจารณ์ผู้นำสหรัฐฯผู้นี้ที่ยังคงอนุญาตการส่งผู้ร้ายข้ามแดน หากประเทศอื่นสัญญาว่า จะปฏิบัติต่อนักโทษอย่างมีมนุษยธรรม
กลุ่มสิทธิมนุษยชนแห่งนี้ระบุว่ามีผู้ถูกควบคุมตัวและส่งตัวข้ามแดนพิเศษ 136 คน อย่างไรก็ดี รายงานฉบับนี้มุ่งเน้นเฉพาะปฏิบัติการลับของซีไอเอ แต่ไม่ได้พาดพิงถึงการควบคุมตัวนักโทษที่อ่าวกวนตานาโมของคิวบา ที่ดำเนินการโดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มาตลอด
ซีไอเอควบคุมตัวนักโทษบางคนไว้ที่อ่าวกวนตานาโม และยังควบคุมตัวนักโทษจำนวนหนึ่งอย่างลับๆ ในอัฟกานิสถาน ลิทัวเนีย โมร็อกโก โปแลนด์ โรมาเนีย และไทย
รายงานสำทับว่า ระหว่างการควบคุมตัว นักโทษบางคนถูกจับโยนกระแทกผนังปลอม ถูกบังคับเปลื้องผ้า และถูกซ้อม
ก่อนหน้านี้ ไมเคิล เฮย์เดน อดีตผู้อำนวยการซีไอเอยืนยันว่า เจ้าหน้าที่สอบสวนอเมริกันเคยใช้เทคนิคทรมานด้วยการลวงให้นักโทษเข้าใจว่ากำลังจมน้ำ โดยนำผ้าไปวางบนหน้าผู้ต้องสงสัยที่ถูกพันธนากร 3 คนและราดน้ำลงไป
เดือนธันวาคมปีที่แล้ว คณะกรรมาธิการข่าวกรองของวุฒิสภาอนุมัติรายงานความยาว 6,000 หน้าว่าด้วยเทคนิคของซีไอเอ แม้เนื้อหาในรายงานถูกเก็บเป็นความลับ ทว่า ไดแอน ไฟน์สไตน์ ประธานคณะกรรมาธิการชุดนี้วิจารณ์ว่า คุกลับและการใช้ความรุนแรงในการสอบสวนเป็น “ความผิดพลาดที่น่าสยดสยอง”
ด้านซีไอเอปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรายงานฉบับนี้ ขณะที่สมาชิกรัฐสภาและผู้คร่ำหวอดในวงการข่าวกรองบางคนแก้ต่างว่า เทคนิคการสอบสวนแบบเข้มข้นเป็นสิ่งจำเป็นในการสอบสวนศัตรูที่โหดเหี้ยม
เดือนที่แล้วระหว่างพูดคุยกับกลุ่มคลังสมองกลุ่มหนึ่ง เฮย์เดนเล่าถึงเรื่องที่เคยบอกกับพวกเอกอัครราชทูตชาติยุโรปในปี 2007 ขณะที่ยังเป็นนายใหญ่ซีไอเอว่า “เรากำลังทำสงครามกับอัล-กออิดะห์และสมุน สงครามนี้เป็นสงครามระดับโลก และความรับผิดชอบทางศีลธรรมและกฎหมายของผมคือ การต่อสู้กับศัตรูเหล่านี้ไม่ว่าในที่ใดก็ตาม”
กำลังโหลดความคิดเห็น