xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ กับ “ทางนรก 3 แพร่ง!?”

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ความจริงแล้วพันธมิตประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่ได้เคยช่วยรณรงค์ฉบับนี้ให้ประชาชนมีความเห็นเป็นอย่างไร เพราะเห็นว่าความจริงแล้วรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่ใช่คำตอบในการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง ในขณะอีกด้านหนึ่งหากประเทศนี้ต้องมีการปฏิรูปครั้งใหญ่แล้วก็อาจจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียด้วยซ้ำไป

แต่ที่ผ่านมา พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ต่อสู้ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตลอดหลายปีที่ผ่านมาก็ด้วยเหตุผล 2 ประการสำคัญคือ

ประการแรกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ผ่านความเห็นชอบโดยการลงประชามติเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย ดังนั้น ถ้าจะมีการล้มเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วยมือของนักการเมืองกันเอง ย่อมไม่สามารถตอบคำถามในกระบวนการประชาธิปไตยที่มีประชาชนได้ลงมติเห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้

ประการที่สอง เนื้อหาและความพยายามในการล้มล้างรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นมาในรอบหลายปีนั้น ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน หากแต่มุ่งเน้นการเอื้อประโยชน์ให้กับนักการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว เช่น ความพยายามทำให้นักการเมืองฝ่ายตัวเองมีประโยชน์ในอำนาจหรือการเลือกตั้งมากขึ้น ความพยายามทำให้การตรวจสอบอ่อนแอลงหรือถูกครอบงำจากฝ่ายตัวเองมากขึ้น ความพยายามในการลดบทลงโทษนักการเมืองให้น้อยลง หรือล้างความผิดในสิ่งที่นักการเมืองได้กระทำผิดกฎหมาย ซึ่งความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญตลอดหลายปีที่ผ่านมานั้นไม่เคยเป็นประโยชน์ต่อประชาชนแต่ประการใด

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นจึงกลายมาเป็นจุดยืนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาว่าหากจะมีการแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว จะต้องทำประชามติขอความเห็นชอบจากประชาชนก่อนที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ดังปรากฏเป็นหลักฐานว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 7/25551 เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2551 ในข้อที่ 2 ความตอนหนึ่งว่า

“ดังนั้น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และองค์กรเครือข่าย จึงยืนยันที่จะต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ฉ้อฉลในครั้งนี้ทุกรูปแบบ ตราบใดที่ไม่ได้มีการทำประชามติก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้”

จุดยืนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่ได้เลือกปฏิบัติต่อฝ่ายรัฐบาลในระบอบทักษิณเท่านั้น แม้แต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็ได้เคยแถลงจุดยืนเดียวกันนี้ ดังปรากฏตามแถลงการณ์ของพันธมิตประชาชนเพื่อประชาธิปไตยฉบับที่ 12/2553 ลงวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ความท้ายอีกด้วยว่า

“พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังเรียกร้องมายังรัฐบาลที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ให้ดำเนินการโดยขอมติจากประชาชนก่อนการแก้ไข เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากการลงประชามติของประชาชนทั้งประเทศ”

จากจุดนี้เองเป็นที่มาของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ประกาศเพิ่มเติมถึง “เงื่อนไข” ที่จะเป็นเหตุทำให้เกิด “การชุมนุม” อีก 3 ประการ

1. เมื่อมีความชัดเจนว่ามีการแก้ไขกฎหมายหรือการตรากฎหมายเพื่อลดพระราชอำนาจ หรือลดโครงสร้างของสถาบันพระมหากษัตริย์

2. เมื่อมีความชัดเจนว่ามีการแก้ไขกฎหมายหรือการตรากฎหมายเพื่อล้างความผิดให้กับนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร และพวก

3. เมื่อประชาชนตื่นรู้และต้องการการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่

ดังนั้น ไม่ว่าจะใช้พิธีกรรมอย่างไร พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็จะดำรงเจตนารมณ์ดังที่ประกาศเอาไว้อย่างชัดเจน

แต่ความจริงในวันนี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์อาจไม่ได้มีความวิตกกังวลในจุดยืนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่กำลังวิตกในปัญหาที่ไม่ว่าจะหันไปทางใดก็ล้วนแล้วแต่เจอ “กับดักทาง 3 แพร่ง” ที่รออยู่ข้างหน้ามากเสียยิ่งกว่า

ครั้นจะให้รัฐสภาลงมติวาระที่ 3 เพื่อเริ่มต้นในการฉีกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ก็คงจะต้องมีคนยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความซ้ำอีกที สมมติว่ามีคนยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความทันทีตามมาตรา 68 ถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีหน้าที่ในการยื่นทูลเกล้าฯ ให้ได้ภายใน 20 วัน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 150 จะดำเนินการต่ออย่างไร?

ก. ตัดสินใจทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน โดยยอมรับการเผชิญหน้าและข้อหาว่านำเรื่องมิบังควรที่มีความขัดแย้งว่าเป็นเรื่องที่ขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ และนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องยอมเสี่ยงร่วมเป็น “จำเลย” ในคดีที่กระทำผิดต่อรัฐธรรมนูญซึ่งมีโทษสูงสุดคือการยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิ์ในการเลือกตั้ง และคดีอาญาฐานล้มล้างรัฐธรรมนูญซึ่งมีความเสี่ยงที่มีโทษสูงสุดคือ “ประหารชีวิต”

ข. ตัดสินใจไม่ทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน ก็จะเป็นการกระทำความผิดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 150 และทำให้กระบวนการเสนอกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญไปด้วย

ยังไม่ต้องพูดถึงว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยอย่างไรในท้ายที่สุดหากมีการลงมติในวาระที่ 3 เอาแค่ตัวอย่างว่า หากมีการยื่นต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีกรอบและสมมติกระบวนการพิจารณาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลานานเกินกว่า 90 วัน (เพราะมีผู้ร้องหลายรายและพยานของแต่ละผู้ร้องมีเป็นจำนวนมาก) จะเกิดอะไรขึ้น?

สมมติว่าในระหว่างนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย จะไม่มีใครทราบเหตุผลที่แท้จริงได้ว่าทรงไม่เห็นด้วยจึงไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย หรือยังไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยเพราะทรงรอคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียก่อน แน่ใจหรือว่ารัฐบาลจะทนแรงกดดันนั้นได้!?

โดยเฉพาะแรงกดดันที่จะต้องมีคนเริ่มถามในวันนี้ว่า มันบังควรแล้วหรือที่เอาเรื่องที่รู้อยู่แล้วว่าจะมีความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว?

และตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 หากพ้นเวลา 90 วันแล้ว หากยังไม่มีการพระราชทานคืนพระราชบัญญัติกลับคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่โดยทันที โดยคราวนี้จะยิ่งยากไปกว่าเดิม เพราะมาตรา 151 บัญญัติอีกด้วยว่า รัฐสภาจะต้องยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา แน่ใจหรือว่าถึงเวลานั้นรัฐสภาจะผ่านเกณฑ์นี้ได้!?

ดังนั้น เรื่องข้ออ้างที่นักโทษชายทักษิณ ชินวัตรที่เพิ่งจะวิดีโอลิงก์ยอมหักแกนนำเสื้อแดงอ้างว่าจะมีเสียงในรัฐสภาไม่เพียงพอนั้น เป็นเพียงเรื่องที่มีแต่เด็กอมมือเท่านั้นที่จะเชื่อ

เพราะความจริงแล้วนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร อาจไม่พร้อมที่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเอาตัวเข้าไปเสี่ยงด้วย จึงให้ความสำคัญกับคนในครอบครัวให้มาก่อนอุดมการณ์และข้อเรียกร้องของเหล่าแกนนำเสื้อแดง และ นักการเมืองในบ้านเลขที่ 111

เพราะจะสังเกตให้ดี การเคลื่อนไหวให้ลงมติวาระที่ 3 ส่วนใหญ่ก็จะมีแต่แกนนำคนเสื้อแดงที่พลาดจากตำแหน่ง และคนในบ้านเลขที่ 111 ที่อยากนั่งตำแหน่งแทน ส.ส. และคณะรัฐมนตรีชุดนี้เต็มทีแล้ว จึงเร่งรัดจะให้ลงมติในวาระที่ 3 กันอย่างคึกคัก เพราะตัวเองไม่ได้ไปเสี่ยงคดีความด้วย หากได้รับชัยชนะก็แก้รัฐธรรมนูญได้ตัวเองก็ได้ประโยชน์ หากไม่สำเร็จการต่อสู้ของคนเสื้อแดงรอบใหม่ก็จะได้กำจัดคู่แข่งทางการเมืองในพรรคเพื่อไทยที่กำลังนั่งบริหารอยู่ในคณะรัฐมนตรีชุดนี้ไปด้วย

เพราะความรู้เท่าทันเช่นนี้ นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร จึงยอมฉีกหน้าแกนนำเสื้อแดงต่อหน้ามวลชนคนเสื้อแดง ให้เห็นและรู้ฤทธิ์ว่า “ครอบครัวชินวัตร” สำคัญเสียยิ่งกว่าข้อเรียกร้องของแกนนำคนเสื้อแดง ใครจะทำไม?

แต่ในที่สุด นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร จึงเลือกหนทางที่อ้างว่ามีโอกาสชนะ 60% !?

ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการลงประชามติ พ.ศ. 2552 ในมาตรา 9 บัญญัติชัดเจนว่า จะต้องมีคนมาใช้สิทธิ์เกิน 25 ล้านคน แต่เสียงของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลบวกกับฝ่ายค้านในส่วนที่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างมากสุดก็อยู่ประมาณ 17-18 ล้านคน ยังขาดเสียงอยู่อีกประมาณ 7 ล้านคะแนน หากพรรคประชาธิปัตย์รณรงค์ให้คนไม่ไปใช้สิทธิ์ฐานเสียง 11 ล้านคนอาจหายวับไปกับสายตา จะรณรงค์ให้กับคนที่ไม่ได้เลือกฝ่ายค้านกับรัฐบาลชุดนี้หรือคนที่นอนหลับทับสิทธิ์ก็คงจะไม่ใช่เรื่องง่าย

ยิ่งเรื่องรัฐธรรมนูญถือว่าไกลตัว ไม่มีประชานิยม ไม่มีเดิมพันตำแหน่ง ส.ส. แรงจูงใจจะให้มีคนไปใช้สิทธิ์ยิ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ดูตัวอย่างการลงประชามติเห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้ในปัจจุบันเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2550 มีคนมาลงประชามติทั้งสิ้น 25.98 ล้านคน จากจำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 45.09 ล้านคนเท่านั้น และมีผู้ไม่ไปใช้สิทธิ์สูงถึง 19.11 ล้านคน

นั่นขนาดยังไม่ได้มีการรณรงค์ให้คนไม่ต้องไปใช้สิทธิ์ในการลงประชามติ!!?

ถึงแม้สมมติว่านักโทษชายทักษิณ ชินวัตร จะมีความมั่นใจ 60% เพราะคิดว่าหากมีการรณรงค์ให้ไปใช้สิทธิ์ จะทำให้วัดผลง่าย ซื้อเสียงง่าย เพราะไม่ต้องสนใจว่าเข้าคูหากากบาทในช่องใด แต่วัดผลว่า “มาใช้สิทธิ์” หรือ “ไม่มาใช้สิทธิ์” จึงสามารถวัดเป้าเป็นแรงกดดันให้ข้าราชการและนักการเมืองทำตามเป้าให้ได้ แต่เอาเข้าจริงก็ยังไม่ใช่เรื่องง่ายอีก เพราะเป็นตัวเลขจำนวน 6-7 ล้านคน ที่หวังจะได้จากคะแนนที่เหลือทั้งจากคนที่นอนหลับทับสิทธิ์เดิม 11-12 ล้านคน (ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา) หรือได้จากคนที่ไม่ได้เลือกขั้วการเมืองใดประมาณ 5 ล้านคน มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

ความจริงแล้วก่อนจะไปไกลถึงวันลงประชามติได้ รัฐบาลก็คงจะต้องเผชิญกับปัญหาอีกมาก เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ลงประชามติได้ในสิ่งที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเสียเอง ดังนั้น การตั้งคำถามผิดถึงขั้นจะฉีกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็อาจทำไม่ได้ ยังไม่นับว่าหากหวังจะนำไปเชื่อมโยงกับการลงประชามติวาระที่ 3 ของสมาชิกรัฐสภาซึ่งได้ทำผิดขั้นตอนไปแล้ว อาจทำไม่สำเร็จอีกเช่นกัน

เหลือเพียงอย่างเดียวที่ไม่อยากจะเดินทาง 2 แพร่ง แรกที่ดูจะมีความเสี่ยงสูงและเป็นไปได้ด้วยความยากลำบาก คงเหลือแต่ “ทางแพร่งที่ 3 คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา” ซึ่งถ้าเริ่มคิดเช่นนี้เมื่อไหร่ ก็ขอให้ตอบให้ได้ว่าประโยชน์และมาตราที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนหรือนักการเมืองกันแน่!?

เพราะถ้าเลือกแก้ไขมาตราเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองด้วยกันเอง ก็ต้องให้พิจารณารัฐธรรมนูญมาตรา 122 ให้ดี ซึ่งบัญญัติเอาไว้ว่า :

มาตรา 122 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยโดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์

การเมืองน้ำเน่าแบบนี้ จะเลือกนรกโดยใช้เส้นทางใดก็ขอให้สรุปกันเร็วๆหน่อย เพราะรอดูจนเมื่อยแล้วจริงๆ!!!
“มาร์ค” ชี้ “แม้ว” ขี้โม้ ท้าประชามติหมูอย่าแก้ กม.นับคะแนน ซัดแก้ ม.309 หวังล้างผิด
“มาร์ค” ชี้ “แม้ว” ขี้โม้ ท้าประชามติหมูอย่าแก้ กม.นับคะแนน ซัดแก้ ม.309 หวังล้างผิด
หน.ปชป.จวก “นช.แม้ว” พูดเอาดีเข้าตัว บอกแก้ รธน.เพื่อ ปชต. แท้จริงทำเพื่อตัวเอง ชี้ รบ.มุ่งทำเพื่อนายใหญ่หรือ ปชช. รอบทสรุปประชามติยันต้องโปร่งใส แจงไม่ยุ่ง ม.309 หวั่นกระทบสถาบันฯ ศาล องค์การอิสระ แต่ รบ.กลับไม่สน เตือนถูกนายใหญ่หลอก มีปัญหาชิ่งหนี ย้อนบอกแก้ไขไม่แก้แค้น แต่การกระทำขัด ปัดอุ้มเผด็จการ เหตุขวางแก้ ม.309 ชี้อ้าง ปชต.แต่เห็นจะล้มคำสั่ง คตส.ท่าเดียว ท้าพูดให้ชัด พ.ร.บ.ปรองดองไม่ยุ่งคดี ดัก “ปู” หนีความรับผิดชอบไม่พ้น แนะคิดให้ดีพาประเทศสู่ขัดแย้ง เหน็บ “นช.แม้ว” ประชามติหมู อย่าแก้ กม.นับคะแนน
กำลังโหลดความคิดเห็น