xs
xsm
sm
md
lg

รำลึกเลือดตุลาคม : การควบคุมฝูงชนเปรียบเทียบทหารกับตำรวจ

เผยแพร่:   โดย: วิทยา วชิระอังกูร

โดย...วิทยา วชิระอังกูร


ผมนั่งเขียนบทความนี้ ท่ามกลางสายฝนเดือนตุลาคมที่ตกติดต่อกันมาหลายวัน เดือนตุลาคมของทุกปี เป็นวันสิ้นสุดวาระการทำงานของข้าราชการผู้เกษียณอายุราชการ ขณะเดียวกันก็เป็นวันเริ่มต้นการทำงานของผู้เข้ามารับตำแหน่งแทนวนเวียนไปตามวิถีทางที่กำหนด

หลังๆ มานี้เดือนตุลาคมของทุกปี ทำให้คนที่เริ่มเข้าสู่วัยชราอย่างผมเริ่มคิดถึงความหลังภาพเก่าๆ ที่เกี่ยวกับเดือนตุลาคม ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่เป็นภาพความฮึกเหิมร้อนระอุของวัยหนุ่มของตน ที่ได้ร่วมประท้วงร่วมเดินขบวนกับนิสิต นักศึกษา ประชาชน ชนิดข้ามวันข้ามคืนจนจบลงด้วย “วันมหาวิปโยค” (จากพระโอษฐ์ของในหลวง) อันเป็นความทรงจำที่ปวดร้าวของคนไทยทุกคน

ชัยชนะจากการขับไล่ทรราชลงจากอำนาจได้เพียงชั่วระยะหนึ่ง เนื่องจากขบวนการนิสิต นักศึกษา ประชาชนที่มีเพียงอุดมการณ์ความรักชาติ รักบ้านรักเมือง แต่อ่อนด้อยประสบการณ์ในการที่จะบริหารจัดการบ้านเมืองให้เป็นไปโดยถูกต้องตามที่ปรารถนาในครั้งกระโน้น จึงเหมือนการจับยักษ์ยัดลงขวดโดยลืมปิดฝาขวด แถมยังเหลือบริวารว่านเครือยักษ์ที่ลอยนวลแอบซ่อนรอจังหวะอยู่อีกเป็นพะเรอเกวียน

ขบวนการกู้ชาติ 14 ตุลาคม 2516 จึงชื่นชมผลงานที่ไม่รู้จะจัดการกับมันอย่างไร ได้เพียงไม่ครบ 3 ปี ก็เกิดการปลุกระดมล้อมปราบ เข่นฆ่านักศึกษาและประชาชน ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างโหดร้ายทารุณ ผมอาจโชคดีที่หลุดรอดมาอยู่ด้านนอกได้ก่อนมีการระดมยิงเข้าไปในมหาวิทยาลัย แต่ภาพเหตุการณ์การลากศพคนมาแขวนคอ กระหน่ำทุบตี และจับเผาไฟสดๆ กลางสนามหลวง ก็ยังเป็นภาพที่ติดตาสะทกสะเทือนใจอยู่จนถึงทุกวันนี้ ซึ่ง ว.แหวนลงยาเคยรำลึกถึงด้วยบทกลอน ในปี 2551 ไว้ว่า

สามทศวรรษผ่าน     ตำนานเลือดเดือนตุลา
มหากาพย์แห่งการฆ่า คงคับแค้น ไว้คาใจ
คราบเลือดยังคงคราบ เป็นตราบาปแห่งยุคสมัย
เลือดหลั่งล้วนเลือดไทย ที่พลีแลก สิทธิเสรี


(www.oknation.net/blog/wachira89)

ถัดจากนั้นมา ผู้คนในขบวนการกู้ชาติที่ถูกหมายหัว และไม่แน่ใจในความปลอดภัย ตลอดจนการไม่อาจทนรับสภาพการปกครองในระบอบเผด็จการเต็มรูปแบบ ก็ทยอยหลบหนีเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เกิดการปราบปรามสู้รบกันด้วยอาวุธนานถึง 4 ปี จนคลี่ลายลงด้วยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ในยุคสมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ผมจะขอผ่านเหตุการณ์เลวร้ายของเดือนพฤษภาคมทมิฬ ซึ่งเป็นหน้าประวัติศาสตร์การปราบปรามประชาชนที่เป็นความทรงจำเจ็บปวดอีกหน้าหนึ่งที่ประชาชนคนไทยผู้รักชาติรักความเป็นธรรมจดจำได้ดี

การต่อสู้กับเผด็จการทรราชในแต่ละยุคแต่ละสมัยที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า เป็นการรวมตัวกันอย่างไม่สู้จะเป็นระบบนัก เป็นการรวมตัวที่เกิดจากแรงปะทุของอารมณ์ร่วมที่ทนไม่ได้กับความไม่เป็นธรรม การทุจริตคดโกง และการฉ้อฉลของขุนศึก นายทุน และนักการเมืองที่ร่วมกันปกครองแบบกินบ้านกินเมือง

ไม่น่าเชื่อว่า กาลเวลาผ่านไปเกือบสี่ทศวรรษ คนเก่าๆ ในยุค 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งต่างก็ล่วงเข้าสู่ปัจฉิมวัยเช่นเดียวกับผม กลับต้องลุกขึ้นมาต่อสู้กับเผด็จการทรราชในยุคไฮเทคที่ออกแบบเป็น “ระบอบทักษิณ” อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นการต่อสู้ที่หนักหนาสาหัสกว่าครั้งใดๆ และที่น่าประหลาดใจคือ กลายเป็นการรวมกลุ่มของคนวัยกลางคนถึงวัยชราภาพ โดยช่วงแรกไม่มีเยาวชนคนหนุ่มสาวเข้าร่วมด้วยเลย

ผมยังจำช่วงแรกเมื่อได้พบกับอาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง หลังเวทีที่สะพานมัฆวานฯ อาจารย์เป็นคนแรกที่ปรารภเป็นข้อสังเกตเสียงดังให้ได้ยินว่า เอ๊ะ ทำไมมันมีแต่คนแก่ๆ รุ่นเราเท่านั้นที่มากันซึ่งทำให้ผมสะดุ้ง และคิดคล้อยตามอาจารย์ด้วยความวังเวงในหัวใจอย่างบอกไม่ถูกในขณะนั้น

แต่ในที่สุด “มหาวิทยาลัยราชดำเนิน” ของพันธมิตรฯ ก็ก่อให้เกิดการรวมตัวของประชาชนหลากหลายอาชีพ หลากหลายวัยมากขึ้น รวมทั้งที่น่าดีใจคือได้เกิดขบวนการ Young PAD ที่คนหนุ่มสาวเข้ามาร่วมด้วยจำนวนมากพอสมควร

และผมสังเกตได้เช่นกันว่า การต่อสู้ของขบวนการประชาชนครั้งนี้ไม่เหมือนกับเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน และแต่ละครั้งที่ผ่านมา ที่รวมตัวต่อสู้กันไปตามยถากรรมตามกำลังแรงรักชาติของแต่ละกลุ่มแต่ละคน แต่การรวมตัวครั้งนี้ มีการวางแผนจัดรูปแบบค่อนข้างรัดกุม โดยการเริ่มต้นของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ที่มีทั้งสื่อหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และสื่อโทรทัศน์ ASTV ซึ่งต่อมาได้ส่งมอบให้เป็นทีวีของประชาชนโดยปริยายแล้ว เพราะดำรงอยู่ได้ด้วยการสนับสนุนทุนจากประชาชน

ผมต้องการฉายภาพให้ท่านเห็นเพื่อเปรียบเทียบการต่อสู้ของขบวนการประชาชนที่มีพัฒนาการมาตามแต่ละยุคสมัย พ.ศ. 2548- 2549 ที่เริ่มโดยคุณสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นแกนนำทุ่มสรรพทรัพยากรส่วนตัวสู้กับระบอบทักษิณแบบตายเป็นตาย เจ๊งเป็นเจ๊ง จนทำให้เกิดแนวร่วมจากองค์กรภาคประชาชนและรัฐวิสาหกิจ ผู้ใช้แรงงาน ตลอดจนศิลปินและประชาชนหลากหลายอาชีพมารวมตัวกันจัดตั้งเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยมีแกนนำ 5 ท่านประกอบด้วย นายสนธิ ลิ้มทองกุล ภาคสื่อสารมวลชน, พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายทหารเก่า ที่มีกองทัพธรรมจากสันติอโศกเป็นกำลังหนุน, นายพิภพ ธงไชย จากองค์กรภาคประชาชน (NGO), นายสมศักดิ์ โกไสยสุข ภาครัฐวิสาหากิจและสมาพันธ์แรงงาน และนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ภาคนักวิชาการ และสมัชชาประชาชน

เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของขบวนการประชาชนที่มีการตั้งเวทีถาวร แสง เสียงไม่แพ้งานคอนเสิร์ตใหญ่ๆ ทั่วไป และมีการถ่ายทอดสด 24 ชั่วโมง ซึ่งผมเชื่อว่า ยังไม่มีประเทศใดในโลกที่ทำได้เช่นนี้ และน่าจะเป็นครั้งแรกที่มวลชนส่วนใหญ่มาจากทุกภูมิภาคของประเทศไทย

การต่อสู้ชะงักงันไปชั่วขณะ ช่วงการปฏิวัติหน่อมแน้มที่ทำได้แค่ขับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกไปอยู่นอกประเทศ และมีรัฐบาลรักษาการที่รักษาการแบบเกียร์ว่างจนวงศ์วานว่านเครือระบอบทักษิณพลิกฟื้นคืนตัวขึ้นมาอีกโดยใช้หุ่นเชิดสมัคร สุนทรเวช และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งท้ายที่สุดถูกตุลาการภิวัฒน์เขี่ยตกจากเก้าอี้ทั้งคู่

ในยุคของนายสมัคร สุนทรเวช ผู้ปลุกระดมให้มีการเข่นฆ่านักศึกษาประชาชนในห้วง 6 ตุลาคม 2519 ขณะเป็นนายกฯ หุ่นเชิดได้มีความพยายามที่จะใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อใช้ทหารปราบปรามประชาชนตามแนวที่ตนถนัด แต่โชคดีที่ทางทหารไม่เล่นลูกด้วย ขบวนการประชาชนก็รอดตัวไป

แต่แล้วกงล้อประวัติศาสตร์ก็หมุนวนมาซ้ำรอยจนได้ ในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้แบ่งกำลังคนส่วนหนึ่งจากการยึดทำเนียบรัฐบาลไปปิดล้อมรัฐสภาเพื่อขัดขวางการแถลงนโยบายของรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ฝ่ายรัฐบาลได้ระดมกำลังตำรวจโดยสั่งการประกาศิตว่า ต้องเปิดทางเข้ารัฐสภาเพื่อให้ ครม. ส.ส. และส.ว.เข้าประชุมรัฐสภาให้ได้

ตำรวจหน่วยปราบจลาจลจึงใช้กำลังเข้าสลายโดยยิงแก๊สน้ำตา ปาระเบิดแก๊สเข้าใส่ฝูงชนที่มาประท้วงอย่างไม่ยั้งมือโดยใช้การยิงในวิถีระนาบเข้าใส่ตัวผู้ชุมนุมโดยตรง ซึ่งผิดหลักวิธีการยิงแก๊สน้ำตาที่ต้องยิงในวิถีโค้งขึ้นเบื้องบน

ในช่วงเช้า จึงปรากฏว่ามีประชาชนถูกยิงแขนขาด ขาขาด ลูกตาหลุด และบาดเจ็บสาหัสมากมาย แต่ก็ยังมียิงถล่มตลอดทั้งวันจนถึงช่วงกลางคืน ซึ่งผลสรุปจากการสลายการชุมนุมที่โหดเหี้ยมอำมหิตไม่เป็นไปตามขั้นตอนการปฏิบัติในการควบคุมฝูงชนหรือปราบการจลาจลตามหลักสากล จึงทำให้ประชาชนผู้ร่วมชุมนุมเสียชีวิตทันที 2 ราย บาดเจ็บอีกเกือบห้าร้อยราย ทั้งนี้มีผู้พิการแขนขาขาด และมีที่ยังไม่ฟื้นคืนสติ และกระทบกระเทือนทางจิตอีกบางส่วนด้วย (มีบทกลอน สานฝันวีรชน เขียนไว้อาลัยคุณอังคณา ระดับปัญญาวุฒิ และ พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี ที่ www.oknation.net/blog/wachira89)

แต่ที่เสียความรู้สึกอย่างมากๆ ก็เมื่อได้ยินคำสัมภาษณ์ของนายตำรวจใหญ่ระดับรองผู้บัญชาการที่สำรากผ่านจอทีวีประชดประชัน ป.ป.ช. ว่า จะให้ตำรวจปฏิบัติอย่างไร ให้กำหนดขั้นตอนการปฏิบัติให้ตำรวจ 1, 2, 3, 4 ด้วย จะได้ดำเนินการได้ถูก ไม่อย่างนั้นให้ไปปราบเสือดำ เสือใบดีกว่า เพราะมีกติกาชัดเจนกว่า ผมฟังแล้วก็ให้รู้สึกผะอืดผะอมอย่างไรชอบกล ไม่นึกว่าถ้อยคำไร้ตรรกะฟังดูเหมือนไร้เดียงสาเยี่ยงนี้จะหลุดจากปากนายตำรวจใหญ่ระดับนี้ได้ แถมต่อมาบรรดาตำรวจเก่าตำรวจแก่แห่งสมาคมตำรวจยังดาหน้ากันออกมาปกป้องว่าตำรวจทำถูกต้องแล้ว ทำตามหน้าที่ ป.ป.ช.มาชี้ผิดกล่าวโทษได้อย่างไร ฟังแล้วก็อเนจอนาจใจสลดสังเวชตำรวจไทยอย่างบอกไม่ถูก ใครอยากสัมผัสความรู้สึกนี้ก็ลองไปหาอ่านบทกลอนชื่อ “ตำรวจเฒ่า ขายขี้เท่อ ตำรวจไทย” ที่ Mblog /wachira89 กันเอาเองก็แล้วกันนะครับ

ผมอยากให้สาธุชนลองเปรียบเทียบการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนระหว่างวันที่ 7 ตุลาคม 2551 กับวันที่ 13-14 เมษายน 2552 ดูว่ามันแตกต่างราวฟ้ากับดินอย่างไร

การชุมนุมของคนเสื้อเหลืองที่ยืดเยื้อกว่าครึ่งปี ไม่เคยมีวี่แววจะก่อความรุนแรงเลย แม้จะมีการเคลื่อนที่ไปประท้วงแบบดาวกระจายหลายต่อหลายแห่งก็เป็นไปโดยสงบ สันติ (เรื่องอาวุธคงไม่ปฏิเสธว่าจำเป็นต้องมีไว้บ้างเพื่อป้องกันตัวจากคนพาล) ตำรวจใช้วิธีสลายราวกับทำสงครามการเมืองแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการกระทำของกลุ่มคนเสื้อแดงที่มีทั้งการไล่ทุบรถ การทำลายทรัพย์สินสาธารณะ และในวันที่ 13 เมษายน ที่มีทั้งการเผารถเมล์ การเปิดแก๊สจากรถแก๊ส การนำถังแก๊สมาวางขวางถนน ตลอดจนการผลิตระเบิดขวดให้เห็นกันจะจะซึ่งหน่วยควบคุมฝูงชนโดยฝ่ายทหารที่น่าจะใช้การปราบปรามอย่างเด็ดขาด แต่ก็ไม่ได้ใช้ความรุนแรงกับประชาชนเลย เพียงใช้วิธีนำกำลังเข้ากดดันจนฝูงชนยอมสลายและไม่มีการสูญเสียชีวิตหรือบาดเจ็บมากมายเหมือนวันที่ 7 ตุลาคม 2551 แต่อย่างใด

ผมจึงอยากตะโกนตอบพล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน และบรรดาตำรวจเฒ่าแห่งสมาคมตำรวจแทน ป.ป.ช.ดังๆ ว่า

“ถ้ายังไม่รู้วิธีปฏิบัติ ก็ให้ไปขอเรียนขอฝึกจากทหารซึ่งเขาทำเป็นตัวอย่างให้ดูแล้ว ในเดือนเมษายน ไงเล่าโว้ย!”
กำลังโหลดความคิดเห็น