xs
xsm
sm
md
lg

ทฤษฎีระบบโลก กับ การเปลี่ยนผ่านประวัติศาสตร์โลก (4)

เผยแพร่:   โดย: ยุค ศรีอาริยะ

The Great Depression กับความพลิกผันที่เกินคาด

คำถามหนึ่งที่ผมตอบยากที่สุดคือ จากนี้ไประบบโลกจะเคลื่อนตัวพลิกผันอย่างไร

ที่ตอบยากเพราะช่วงนี้อาจจะเกิด ‘การพลิกผันที่เกินคาด’ ได้

ในเมื่อเกินคาด....ใครเล่าจะคาดเดาได้

ในกรณีที่ชาวทฤษฎีระบบโลกต้องวิเคราะห์ช่วงประวัติศาสตร์แห่งการเปลี่ยนแปลงใหญ่ พวกเขามักจะใช้ทฤษฎี Chaos มาช่วยวิเคราะห์ช่วงเวลาดังกล่าว

ตามหลักของทฤษฎี Chaos ในช่วงที่เกิดวิกฤตใหญ่ มีโอกาสที่จะเกิดการเคลื่อนตัวแบบพลิกผันที่เกินคาดได้เสมอ เนื่องจากปัจจัยเล็กๆ สามารถแสดงบทบาทที่เราคาดคิดไม่ถึงได้ และในเวลาเดียวกันมักจะเกิดการเคลื่อนตัวแบบการสวิงไปมา เช่น สวิงจากซ้ายสุดไปขวาสุด หรือจากทรุดหนักเป็นกระแสขึ้น หรือจากร้อนมากไปสู่หนาวจัด

ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์ในช่วงที่เกิด The Great Depression เราจะพบว่ามีปรากฏการณ์แห่งการพลิกผันไปแบบเกินคาดเกิดขึ้นเช่นกัน

ก่อนอื่นผมขอย้อนประวัติศาสตร์ไปก่อนเกิด The Great Depression สักนิด ผมเองคิดว่าสาเหตุสำคัญที่ก่อเกิด The Great Depression เนื่องมาจากว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เศรษฐกิจยุโรปทรุดหนักมาก มีแต่ประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่เศรษฐกิจขยายตัวอย่างยิ่ง ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากสหรัฐอเมริกาไม่ได้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วย สหรัฐอเมริกาจึงมั่งคั่งยิ่งใหญ่ขึ้นจากการค้าอาวุธและการปล่อยเงินกู้ ซึ่งส่งผลทำให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นประเทศเจ้าหนี้ของประเทศต่างๆ ในยุโรป ในเวลาเดียวกัน อเมริกาก็พัฒนากลายเป็นฐานในการลงทุนทางอุตสาหกรรมใหม่ๆ อย่างเช่น ไฟฟ้า โทรศัพท์ วิทยุ ภาพยนตร์ และรถยนต์

จากการที่ระบบโลกมีจุดขยายตัวอย่างยิ่งและโดดเด่นเพียงจุดเดียว ได้ส่งผลทำให้บรรดาทุนในยุโรปก็หันไปลงทุนที่สหรัฐอเมริกา จึงเกิดการไหลมากระจุกของทุนจากทั่วโลก นี่เองคือรากที่มาของปรากฏการณ์ฟองสบู่ครั้งนั้น

‘ความรุ่งเรืองใหญ่’ กับ ‘หายนะ’ ได้กลายเป็นปรากฏการณ์ 2 ด้านของสิ่งเดียวกัน

ในครั้งนั้น ‘ความรุ่งโรจน์’ คือที่มาของการปั่นฟองสบู่ พอฟองสบู่ที่สหรัฐอเมริกาแตกก็ส่งผลแพร่ระบาดไปทั่วยุโรปและประเทศอื่นๆ เศรษฐกิจยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 (ซึ่งระบบเศรษฐกิจแย่อยู่แล้ว) ก็ทรุดตาม

นี่คือปรากฏการณ์ที่เกินคาด (ความรุ่งเรืองอย่างยิ่งแปรเปลี่ยนเป็นหายนะได้) ปรากฏการณ์แรกที่เกิดขึ้น

ผมคิดว่านักลงทุนหรือคนทำธุรกิจในยุคนั้นไม่มีใครคิดถึงว่า “จะเป็นไปได้”

ในช่วงที่เกิด The Great Depression เราได้พบปรากฏการณ์การเคลื่อนตัวแบบพลิกผันอย่างรุนแรงตามหลักทฤษฎี Chaos

ปลาย ค.ศ. 1929 พอฟองสบู่แตกที่ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา ตลาดหุ้นก็ทรุดตัวลงอย่างหนักประมาณ 40 ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ คล้ายๆ กับวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ครั้งนี้

รัฐบาลสหรัฐอเมริกาในสมัยนั้น ใช้วิธีกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแรง ด้วยการตัดลดดอกเบี้ยลง จาก 6 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียง 2.5 เปอร์เซ็นต์ และทุ่มเงินจากภาครัฐเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจ (คิดเป็นเงินปัจจุบันประมาณ 5 แสนล้านดอลลาร์)

พอเวลาผ่านไปประมาณ 1 ปี ภาพรวมเศรษฐกิจทั่วไปดูดีขึ้น ช่วงปลาย ค.ศ. 1930 ถึงต้น ค.ศ.1931 นักวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ระบบเศรษฐกิจได้ก้าวผ่านจุดที่ต่ำสุดแล้ว”

ต้น ค.ศ. 1931 ยอดขายสินค้าในห้างสรรพสินค้าต่างๆ เริ่มพุ่งขึ้น และกระแสการตกงานก็เริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัด

‘การคาดหวังในอนาคตที่รุ่งโรจน์ครั้งใหม่’ ก็แพร่กระจายออกไป

พอต้น ค.ศ. 1931 ตลาดหุ้นก็เกิดการไหลขึ้นอย่างรวดเร็ว ไปยืนอยู่ในระดับเดียวกับ ค.ศ. 1927 (ก่อนที่ฟองสบู่จะแตก)

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตลาดหุ้นฟื้นตัวได้ง่ายๆ ก็เนื่องจากการเคลื่อนตัวของตลาดหุ้นไม่ได้ขึ้นกับสภาวะเศรษฐกิจจริงมากนัก แต่สามารถเคลื่อนตัวไปตามความคาดหวังว่า “อนาคตจะดีขึ้น”

หรือกล่าวได้ว่า การเคลื่อนตัวของตลาดหุ้นขึ้นกับ ‘มายาของข่าวสาร’ มากกว่าขึ้นกับความเป็นจริง

พอมีข่าวดีติดต่อกัน และข่าวดีเพิ่มมากขึ้น นักเล่นฟองสบู่ก็แห่กันเอาเงินไปซื้อหุ้นเพราะกลัวตกกระแส ตลาดหุ้นจึงพลิกฟื้นอย่างง่ายๆ

ถึงที่สุดแล้ว ความเป็นจริงจะแสดงบทบาทชี้ขาด เพราะที่แท้ เศรษฐกิจจริงยังอ่อนแออยู่ พอเกิดวิกฤตราคาทองคำ การเพิ่มขึ้นของการตกงาน และวิกฤตธนาคารรอบใหม่ ความตื่นกลัว (Panic) รอบใหม่ก็เกิดขึ้นอีก ตลาดหุ้นดาวน์โจนส์ (Down Jones) ก็ทรุดตัวลงหนักกว่าเดิม

คราวนี้ ตลาดหุ้นทรุดตัวลงไปกว่า 90 เปอร์เซ็นต์จากจุดสูงสุดใหม่ กล่าวได้ว่าทรุดหนักกว่าครั้งแรกเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ พอตลาดทรุดหนัก การตกงานก็ขยายตัวเพิ่มยิ่งขึ้นจาก 3.2 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง ค.ศ. 1929 มาเป็น 25.2 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง ค.ศ. 1933

ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP) ประเทศต่างๆ หดตัวอย่างแรง ที่แย่ที่สุดคือเยอรมนี ซึ่ง GNP หดตัวไปกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ จึงปูทางการขึ้นมามีอำนาจของฮิตเลอร์ (Hitler) และเป็นที่มาของสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนฝรั่งเศส GNP หดตัว 16 เปอร์เซ็นต์ อังกฤษซึ่งดูดีหน่อย GNP ตกไปประมาณ 6 เปอร์เซ็นต์ แต่เกิดการตกงานเพิ่มถึง 20 เปอร์เซ็นต์

เรื่องนี้น่าจะให้บทเรียนต่อบรรดานักวิชาการที่หลงคิดไปว่า วิกฤตเศรษฐกิจขนาดใหญ่จะแก้ไขกันได้ง่ายๆ เพียงแต่ใส่เงินมหาศาลเข้าไป ก็ฟื้นแล้ว

เราคงต้องระวังอย่างยิ่ง เพราะประวัติศาสตร์ครั้งนี้ ‘มีโอกาสซ้ำรอย’ อีกครั้งหนึ่ง

ตอนที่ฟองสบู่เอเชียแตก ค.ศ. 1997 ผมได้เขียนงานเรื่อง มายาโลกาภิวัตน์ ผมใส่คำว่า มายา นำหน้า โลกาภิวัตน์ เพื่อชี้ว่าการเคลื่อนตัวของเศรษฐกิจฟองสบู่แตกต่างไปจากการเคลื่อนตัวของระบบเศรษฐกิจแบบเก่าๆ ทั้งหมด

โลกาภิวัตน์ (หรือเงินไร้พรมแดน) สามารถเคลื่อนตัวด้วยมายาคติ หรือทำให้เกิดความเชื่อร่วมกันว่า “อนาคตจะรุ่งโรจน์”

นักเล่นเกมฟองสบู่ อย่าง นายจอร์จ โซรอส จะเข้าใจเรื่องนี้ดีที่สุด

อาทิตย์ที่ผ่านมา โซรอสกล่าวว่า

“วิกฤตเศรษฐกิจที่ร่วงแบบไม่มีหูรูด...ได้ยุติแล้ว และโลกสามารถหลีกเลี่ยงการล่มสลายของสถาบันการเงินได้แล้ว”

นักเศรษฐศาสตร์อีกจำนวนหนึ่ง เริ่มบอกว่า “เศรษฐกิจกำลังก้าวผ่านจุดต่ำสุดแล้ว”

นี่คือ ส่วนหนึ่งของขบวนการสร้างข่าวดี

ในขณะเดียวกัน ก็มีการประสานเสียงด้วยการทำ Stress Test บรรดาแบงก์ใหญ่ต่างๆ ในสหรัฐฯ ถึง 19 แบงก์ และรายงานว่า ‘มูลค่าความเสียหาย’ ไม่มากนัก

ข่าวทั้งหมด (ไม่ว่าจริงหรือแต่งเพิ่ม) คือการสร้างความคาดหวังว่า “อนาคตกำลังจะสดใส”

ผมคงต้องเตือนเพื่อนๆ ว่า

ประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการสร้างภาพคือ สหรัฐอเมริกา ไม่มีใครเก่งกาจเท่า ตั้งแต่สมัยสร้างภาพว่า อเมริกาสามารถส่งมนุษย์ไปเดินเล่นบนดวงจันทร์ได้ รวมถึงการสร้างภาพหายนะเรื่อง Y2K

ก่อนหน้านี้ สหรัฐอเมริกาก็ทำการสร้างภาพใหม่ เริ่มจาก ‘การสร้างภาพประธานาธิบดี’ ที่ยิ่งใหญ่และผิวดำคนแรก กับคำว่า ‘Change’

ภาพเหล่านี้หลอกทั้งคนอเมริกันและผู้คนได้ทั่วโลก

การสร้างภาพจะก่อให้เกิด ‘ความคาดหวังร่วม’ และ ‘ความมั่นใจในอนาคต’ ปัจจุบัน ตลาดหุ้นก็เริ่มทะยานตัวขึ้น

นักลงทุนสมัยใหม่ซึ่งมีชีวิตอยู่กับการเก็งกำไร ก็จะช่วยกันหา ‘กำไร’ โดยร่วมกันปั่น

นักลงทุนรู้ว่า ถ้าช่วยกันปั่น บรรดานักเล่นเกมฟองสบู่ก็จะรวยและมั่งคั่งอีก

ฟองสบู่รอบใหม่ก็จะพองตัว และขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะคล้ายกับเหตุการณ์ช่วง ค.ศ. 1931

ผมเองคิดว่า ฟองสบู่ลูกนี้จะแตกง่ายมาก เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นแล้วในปลาย ค.ศ. 1931 เพราะฐานเศรษฐกิจโลกจริงยังอ่อนแอมาก

ปรากฏการณ์แบบนี้น่าสะท้อนภาพถึง ‘ความจำกัดของภาครัฐ’ หรือนโยบายกระตุ้นอย่างแรงทั้งหลาย เพราะการใช้เงินมหาศาลทุ่มเข้าไปกระตุ้น อาจจะเกิดการฟื้นตัวปลอม และหลังจากนั้นไม่นาน จะเกิด Panics ใหญ่ ฟองสบู่รอบสองที่เกิดก็จะทรุดหนักกว่ารอบแรกอีก

เพื่อนๆ อาจจะถามผมว่า

“ถ้าไม่แก้แบบทำให้พองและแตก แล้วจะแก้แบบไหนอย่างไร”

ผมคงตอบว่า “ไม่รู้เหมือนกัน” เท่าที่เคยพบ (ในประวัติศาสตร์) มีอีกแบบหนึ่ง คือแบบญี่ปุ่น ซึ่งใช้การกระตุ้นโดยพยายามจะไม่ให้เกิดฟองสบู่รอบใหม่ขึ้น ใส่เงินเข้าไปกระตุ้น แต่จะใช้เงินไม่มากนัก

กรณีการแก้แบบญี่ปุ่นจะเกิดปรากฏการณ์ ‘ทรุด...แล้วซึม’

ในกรณีของประเทศญี่ปุ่น ฟองสบู่แตกที่ญี่ปุ่นประมาณ ค.ศ. 1990

วิธีแก้ที่รัฐบาลญี่ปุ่นดำเนินการคือ ทุ่มเงินเข้าไปกระตุ้นประมาณปีละ 1 ถึง 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จนถึงปัจจุบัน หนี้สาธารณะของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นสูงกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ของ GNP

ปรากฏว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่สามารถกระเตื้องขึ้น หรือพุ่งขึ้นเลย ในช่วงเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา

ในกรณีญี่ปุ่นนี้ ชนชั้นนำญี่ปุ่นสามารถหาเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากประชาชนญี่ปุ่นมีเงินออมเยอะ และประเทศญี่ปุ่นเองมีรายได้จากการเกินดุลทางการค้าทุกปี จึงสามารถระดมเงินทุนเข้ามาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดหนักได้ตลอดเวลานับ 10 ปี

แต่ถ้าเรามองโลกทั้งใบ และมองวิกฤตครั้งนี้ ‘ยาว...และหนักจริง’ บางประเทศเท่านั้นจึงจะทำได้อย่างเช่นที่ญี่ปุ่นได้ทำมา

มองกลับมาที่ ประเทศไทย แค่จะหาเงินมากระตุ้นรอบแรกก็นับว่า ‘แทบกระอักเลือด’ ถ้าวิกฤตยาว และมีรอบ 2 และ 3 ไทยจะหาเงินที่ไหนมากระตุ้น

ถ้าเราศึกษากรณีของญี่ปุ่น และมองย้อนไปที่สหรัฐอเมริกา ผมคาดว่าชนชั้นนำอเมริกันไม่คิดเลือกวิธีกระตุ้นไปเรื่อยๆ แบบญี่ปุ่น จึงหันไปใช้วิธีกระตุ้นขนาดใหญ่ อาจจะเพราะชนชั้นนำอเมริกันชอบเล่นเกมแบบเสี่ยงๆ ซึ่งสอดคล้องไปกับวัฒนธรรมทุนนิยมคาวบอย

วัฒนธรรมแบบคาวบอยนี้ไม่ได้กลัวฟองสบู่ และพร้อมที่จะสร้างฟองสบู่ลูกใหม่ขึ้นอีก จึงเลือกใช้วิธี ‘ทุ่มเงินมหาศาล’ และ ‘สร้างความหวังที่ยิ่งใหญ่’ ขึ้น

แต่...ต้องระวัง ถ้าตลาดหุ้นสวิงกลับมากๆ ในขณะที่เศรษฐกิจจริงของโลกยังดูซึมๆ อยู่ โอกาสพลิกผันจะยิ่งสูง

ตัวอย่างเช่น ในช่วงขาขึ้น นักเล่นฟองสบู่ทั้งหลายก็จะช่วยกันปั่นกำไร ทั้งจากตลาดหุ้น และบางกลุ่มก็จะมาปั่นกำไรจากราคาน้ำมันด้วย

ราคาน้ำมันอาจจะพุ่งขึ้นเมื่อฟองสบู่ขยายขึ้นใหม่ และเมื่อราคาน้ำมันพุ่งขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้เศรษฐกิจจริงที่ยังทรุดอยู่ ทรุดต่อ และอาจจะเกิดวิกฤตการเงิน (การพลิกผันของค่าเงิน หรือวิกฤตระบบ เครดิต (Credit) และการตกงานที่เพิ่มขึ้น)

ปรากฏการณ์ของ ‘การวิ่งสวนทางกัน’ ระหว่างเศรษฐกิจฟองสบู่และเศรษฐกิจจริงจะเกิดขึ้น ไม่นานนักจะทำให้เศรษฐกิจจริงทรุดต่อ และจะลากให้ตลาดหุ้นทรุดตัวรอบใหม่ ซึ่งจะทรุดหนักลงกว่าเดิม

ทรุดรอบนี้จะฟื้นยากขึ้นกว่าเก่าอีก

‘ความคาดหวัง’ จะกลายเป็น ‘ความสิ้นหวัง’ อย่างยิ่ง


เมื่อเป็นเช่นนี้ ศูนย์ของระบบโลกหรือสหรัฐอเมริกาจะทรุดรอบใหม่ แต่การทรุดรอบนี้จะแก้ยากมากขึ้น สาเหตุเนื่องจากประชาชนสหรัฐอเมริกาไม่มีเงินออม เงินออมเป็นศูนย์ มีแต่หนี้ ที่คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 14 ล้านล้านดอลลาร์ ภาครัฐเองก็มีหนี้มหาศาล ประมาณกันว่า กว่า 10 ล้านล้านดอลลาร์

ผู้นำสหรัฐอเมริกาคงต้องทุ่มเงินมหาศาลเข้าไปอีก แต่จะหามาจากที่ไหน หรือไม่ก็ต้องพิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะก่อปัญหาใหม่ เช่น การทรุดลงของค่าเงินดอลลาร์อย่างหนัก

หลังจากนี้ไป สิ่งที่เราต้องระวังหรือต้องติดตามคือ ปรากฏการณ์การพลิกผันที่เกิดคาด ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้คล้ายๆ กับช่วงวิกฤต ค.ศ. 1932 ถึง 1933

พลิกจาก ‘วิกฤตเศรษฐกิจ’ เป็น ‘สงครามโลก’

แต่การพลิกผันที่เกินคาดอาจจะเกิดได้ทั้งในด้านบวกและด้านลบเช่นกัน

ผมคาดว่า อีกปรากฏการณ์หนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในแบบพลิกผันเกินคาดได้ คือในช่วงที่เกิดการพลิกผันไปมารอบสอง ถ้าประเทศจีนและเอเชียซึ่งสามารถพยุงเศรษฐกิจไว้ได้ ก็อาจจะพลิกกลายเป็นโอกาสทองของเอเชีย

เมื่อสิ้นหวังจากสหรัฐอเมริกา เงินทั่วโลกก็จะไหลเข้าสู่เอเชียอีกครั้งหนึ่ง

‘ยุคแห่งมหาเอเชียบูรพา’ ก็อาจจะก่อเกิด และขยายตัวขึ้น

สิ่งที่น่ากลัวมากคือ ‘วิกฤตในส่วนรอบนอก’ ซึ่งประเมินว่าน่าจะพลิกผันรุนแรงกว่าวิกฤต ณ จุดศูนย์กลาง

เรามักจะพูดกันว่า เวลาที่สหรัฐอเมริกาป่วยเป็นหวัด เราหรือประเทศโลกที่สามก็จะล้มป่วยหนัก...อาจถึง ‘ตาย’ ได้

หรือกล่าวได้ว่า ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตที่ศูนย์กลางของระบบโลก ส่วนรอบนอกจะวิกฤตรุนแรงกว่าศูนย์กลางเสียอีก

ตัวอย่างเช่น ถ้าเราย้อนศึกษาเรื่องราววิกฤตโลกที่ผ่านมาในช่วง ค.ศ. 1970 ถึง 1985 ซึ่งถือว่าเป็นวิกฤตลูกยาว

เราก็พบคลื่นขาลงใหญ่ 2 ครั้ง

รอบแรกคือ การทรุดตัวใหญ่ ในช่วง ค.ศ. 1973 ถึง 1975 จุดวิกฤตเริ่มก่อตัวที่ศูนย์กลางของระบบโลก (หรือสหรัฐอเมริกา) ด้วยวิกฤตค่าเงินดอลลาร์ และวิกฤตน้ำมัน หลังจากนั้น ระบบเศรษฐกิจโลกก็เริ่มทะยานขึ้นอีก แต่ทะยานขึ้นแบบคนไข้ที่ยังป่วยอยู่ ในที่สุดก็เกิดการทรุดตัวครั้งใหม่ ที่อาการหนักกว่าเดิม แต่แทนที่จะทรุดหนักที่ศูนย์กลางของระบบ กลับเกิดการทรุดใหญ่ที่ประเทศชายขอบของระบบโลก

ในช่วง ค.ศ. 1980 ถึง 1983 ช่วงนี้ประเทศโลกที่สามจำนวนมากในละตินอเมริกา และแอฟริกา...ถึงกับล้มละลาย

วิกฤตใหญ่ครั้งนี้ เกิดขึ้นที่ศูนย์กลางระบบทุนโลกเช่นกัน (น่าจะหนักกว่าช่วง ค.ศ. 1970 ถึง 1985 เสียอีก) หลังจากเกิดวิกฤต ได้เกิดคลื่นสึนามิทางเศรษฐกิจใหญ่มาก ซัดกระหน่ำไปทั่วโลก (รวมทั้งประเทศโลกที่สาม)

ถ้ามองไปยังบรรดาประเทศโลกที่สาม ผมคาดว่า วิกฤตครั้งนี้จะก่อเกิดปรากฏการณ์ ‘การทรุดใหญ่’ และ ‘การเปลี่ยนใหญ่’ ที่รุนแรงมาก

ประเทศไหนๆ ก็ตาม ถ้าไม่สามารถแก้วิกฤตเศรษฐกิจได้ (ซึ่งยากจะแก้ได้) และวิกฤตในโลกที่สามดังกล่าว จะแปรเปลี่ยนเป็นวิกฤตการเมือง (หรือสงครามกลางเมือง) ในอนาคต

ในกรณีนี้ ประเทศที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือประเทศไทย เพราะประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศทุนนิยมพึ่งพา มีการพึ่งพาสูงมาก พึ่งพาทั้งการลงทุนจากต่างประเทศ พึ่งพาการส่งออก รวมทั้งพึ่งการท่องเที่ยวจากต่างประเทศคิดเป็นประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของ GNP

ถ้าวิกฤตระบบโลกครั้งนี้ยาวเกินกว่า 5 ปี ประเทศทุนนิยมพึ่งพาทั้งหมด จะเผชิญหายนะใหญ่ ถึงใหญ่มาก หรือหมายความว่า ในอนาคตอันใกล้ โครงสร้างระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบพึ่งพาทั้งหมดจะพังทลายลง

ผมเองคาดว่า ปีนี้ประเทศไทยอาจจะติดลบถึง 5 เปอร์เซ็นต์ และอย่าคิดว่า ปีต่อไปจะดีขึ้นเสมอไป (คิดกันง่ายๆ แบบที่นักเศรษฐศาสตร์ชอบนำเสนอ) เพราะอาจจะเกิดปรากฏการณ์แบบ ‘ทรุด... แล้วซึมยาว’ ได้

ถ้าประเทศไทยแก้ไม่ถูกทาง เราอาจต้องเผชิญกับวิกฤตค่าเงิน รวมทั้งการโจมตีค่าเงินบาทรอบใหม่

ถ้าวิกฤตเคลื่อนตัวแบบนี้ เราจะพบวิกฤตที่หนักกว่า พ.ศ. 2540


แต่ถึงอย่างไร ผมคิดว่า

“โครงสร้างเศรษฐกิจทุนนิยมแบบพึ่งพาจะไม่สามารถยืนได้ อีกนาน”

ความจำเป็นอย่างเร่งด่วน ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างที่ผู้นำรัฐบาลคิดทำกัน แต่คือการวางรากฐาน หรือปฏิรูประบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่ ทั้งหมดเพื่อใช้แทนที่ระบบทุนนิยมแบบพึ่งพาที่กำลังล้มลง

สิ่งที่สำคัญ ต้องหันมาสร้างระบบเศรษฐกิจภายในใหม่ ที่มีตลาดภายในและตลาดรอบๆ ประเทศที่แข็งแกร่ง และสามารถพึ่งตนเองได้

อาจจะต้องรื้อแนวคิดเรื่อง 3 เหลี่ยมเศรษฐกิจ 4 เหลี่ยมเศรษฐกิจ และ 5 เหลี่ยมเศรษฐกิจ มาพิจารณาใหม่

แต่ไม่ควรจะเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจเท่านั้น

และเราคงหนีไม่พ้นที่จะต้องมาทบทวนหรือหันมาผลักดันการสร้างระบบเศรษฐกิจพอเพียงกันอย่างจริงจัง หรืออาจจะต้องปฏิวัติเกษตรกรรมใหม่สู่เกษตรกรรมที่ยั่งยืน หรือเกษตรธรรมชาติที่ไม่ใช้สารเคมีประสานกับแผนการที่เป็นรูปธรรมในการปฏิวัติพลังงานทางเลือกใหม่ รวมทั้งการสร้างชุมชน และเมืองสีเขียว

ที่สำคัญ ประเทศไทยอาจจะต้องพยายามหาความร่วมมือกับประเทศในย่านเอเชียด้วยกัน เพื่อผลักให้เกิดการผนึกประเทศในย่านนี้ให้เป็นหนึ่งเดียว

เราคงต้องช่วยกันสร้าง ‘มหาเอเชียบูรพา’ ขึ้นมา

ไม่ใช่เพื่อความรุ่งเรืองร่วมกันของชาวเอเชียเท่านั้น แต่เพื่อช่วยกันสร้างโลกทางวัฒนธรรมใหม่ ที่เอื้ออาทรต่อธรรมชาติและมนุษยชาติด้วยกัน
(ยังมีต่อ)
กำลังโหลดความคิดเห็น