xs
xsm
sm
md
lg

.....อย่าเอาอย่างระบบอเมริกัน (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

ท่านผู้อ่านที่เคารพ ถึงตอนสำคัญที่สุดแล้วนะครับ ผมซ.ต.พ.ว่า ระบบอเมริกันที่ไทยไม่ควรเอาอย่างคือ การปกครองระบบประธานาธิบดี และระบบอื่นๆ ที่เป็นอุปกรณ์หรือองค์ประกอบที่ติดอยู่กับระบบประธานาธิบดี

เพราะการปกครองของอเมริกัน เหมาะสำหรับผืนดินอเมริกันเท่านั้น ไม่เหมาะและไม่สามารถนำไปใช้แผ่นดินอื่นได้เลย

นักวิชาการและพรรคการเมืองที่ฝักใฝ่ระบบอเมริกัน จงลืมเสียเถิด ผมย้ำว่าประเทศที่มีเศรษฐกิจสังคมศิลปวัฒนธรรมและการศึกษาก้าวหน้าในยุโรป แม้จะเลือกมีประมุขประเทศที่เรียกขานว่าประธานาธิบดีเหมือนกัน แต่ไม่มีที่ไหนเลย นอกจากฝรั่งเศสที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนคล้ายอเมริกัน ที่อื่นๆ ล้วนแต่เลือกจากสภาทั้งสิ้น และประธานาธิบดีจะทำหน้าที่เป็นประมุขประเทศเท่านั้น ไม่ควบตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหารอย่างอเมริกาสักประเทศเดียว ยุโรปโง่ยังงั้นหรือ

ประเทศนอกยุโรป ซึ่งมีขบวนการสาธารณรัฐเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา จนเมืองไทยร่ำๆ จะเอาอย่างอยู่ทุกวันนี้ แต่หากของไทยมิใช่การเคลื่อนไหวที่บริสุทธิ์และมีปัญญาอย่างของเขา เพราะได้พกเอาตัวบุคคลและพรรคที่ต้องการแสวงหาอำนาจที่ไม่ชอบธรรมกลับคืนซ่อนเข้ามาด้วย นั่นก็คือ ประเทศเพื่อนบ้านที่ชายแดนติดกับอเมริกามากที่สุดคือ แคนาดาเป็นพวกที่มีชนชาติศาสนาและภาษาคล้ายอเมริกัน (นอกจากรัฐเควเบค ซึ่งพูดฝรั่งเศส) อีกประเทศยิ่งเหมือนกว่านั้น คือ ออสเตรเลีย

ทั้งแคนาดาและออสเตรเลียมีลักษณะการปกครองใกล้อเมริกันเข้าไปอีก คือเป็นระบบสมาพันธรัฐ (federal system) ประกอบด้วยรัฐต่างๆ ที่มีรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีหรือ prime minister ของตนเอง (แต่อเมริกันเรียกว่า governor) เสร็จแล้วก็มี federal government หรือรัฐบาลกลางภายใต้นายกรัฐมนตรี

ขบวนการสาธารณรัฐหรือ republican movement ก็คือขบวนการที่ต้องการล้มเลิกสถาบันกษัตริย์ หันไปใช้คนธรรมดาที่เลือกตั้งขึ้นมาเป็นประมุขประเทศแทน (แต่ก็มิให้ควบประมุขบริหารอย่างอเมริกันอยู่ดี) ทั้งนี้เพราะแคนาดาและออสเตรเลียต่างก็มีระบบการปกครองอย่างเดียวกันที่เรียกว่า constitutional monarchy หรือประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข และประมุขของทั้งสองประเทศก็เป็นพระองค์เดียวกัน คือสมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธ ซึ่งมิได้ประทับอยู่ในประเทศนั้นๆ เพราะพระองค์เป็นพระราชินีของอังกฤษ และประเทศในเครือจักรภพ (Commonwealth) ประเทศในเครือนี้บ้างก็มีกษัตริย์ของตนเอง เช่น มาเลเซีย บ้างก็ไม่มี

ขบวนการสาธารณรัฐเห็นว่าสถาบันกษัตริย์ไม่มีประโยชน์และไม่มีความจำเป็น จึงทำการเคลื่อนไหวอย่างสงบเปิดเผยและเป็นผู้ดี มีการระดมปัญญาและปุจฉาวิสัชนากันอย่างเข้มแข็งต่อเนื่องตลอดมา ในปี 1999 ออสเตรเลียก็มี referendum คือการให้ประชาชนลงประชามติว่าจะเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐหรือไม่ แคนาดาก็เช่นเดียวกัน ในแคนาดามีการสำรวจสาธารณมติล่าสุดปี 2002 ผู้ตอบกว่าครึ่งเห็นว่าระบบกษัตริย์ของแคนาดาล้าสมัย แต่เสียงส่วนใหญ่คงให้รักษาสถาบันไว้เพียง 41 % ต้องการให้ล้มเลิกต่ำกว่าในปี 1994 ที่ 47 % เห็นว่าสมควรเลิก คนออสเตรเลียกับคนแคนาดาโง่ยังงั้นหรือ

ทำไมพวกเขาจึงไม่เอาระบบประธานาธิบดีแบบอเมริกัน เพราะเขาเห็นว่าระบบกษัตริย์ของเขาถึงจะไม่ทันสมัยและอยู่ห่างไกล ก็ยังดีกว่าระบบประธานาธิบดีของอเมริกันใช่หรือไม่

ประเทศทั้งคู่นี้ประชาชนอยู่ดีกินดี และดัชนีแห่งความสุขสูงกว่าอเมริกาทั้งคู่

ทีนี้ผมจะเล่าให้ฟังย่อๆ สัก 2-3 ข้อว่าทำไมระบบประธานาธิบดีอเมริกันจึงจำเป็นและดีสำหรับอเมริกันเท่านั้น

1. เพราะคนอเมริกันส่วนใหญ่หนีความโหดร้ายและเอาเปรียบของระบบการปกครองแบบราชอาณาจักรและศาสนจักรที่เป็นเผด็จการและกดขี่ประชาชน ถึงแม้จะเป็นกษัตริย์ก็ไม่ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม

2. บรรดาผู้อพยพหนีมาสู่ชีวิตใหม่ในอเมริกา ต่างก็อยู่ในกลุ่มเมืองและรัฐหรืออาณานิคมของตนเอง ไม่มีใครยอมใคร เมื่อรวมกันต่างก็สงวนอำนาจของรัฐและความเท่าเทียมกันไว้ โดยไม่คำนึงถึงขนาดและประชากรซึ่งไม่เท่ากัน จึงไม่สามารถรวมกันเป็นหนึ่งใต้กษัตริย์หรือผู้นำเดี่ยวได้ ผู้อ่านอาจจะไม่เชื่อว่าแม้กระทั่งทุกวันนี้ ประธานาธิบดียังมีอำนาจไม่เท่ากำนันในเรื่องการปกครองท้องถิ่นของอเมริกัน ตัวอย่างเช่น ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และผู้ว่ามลรัฐนิวยอร์กไม่สามารถลบล้างมติของสภาตำบลอันเป็นเจ้าของที่ตั้งสนามบินที่ไม่ยอมให้เครื่องบินของโซเวียตบินลงได้ เป็นต้น

อาณานิคมเหล่านี้ต่างก็เข็ดขี้อ่อนขี้แก่กับเผด็จการไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์หรือพระ จึงไม่มีใครยอมให้ใครเป็นกษัตริย์ และไม่ยอมให้ใครครองอำนาจยาวๆ จึงออกแบบให้ประธานาธิบดีจำกัด 2 เทอม 4 ปี และแยกอำนาจบริหารกับนิติบัญญัติออกจากกันเด็ดขาด ให้เลือกผู้แทนบ่อยๆ ทุกๆ 2 ปี อำนาจของผู้แทนนั้นมีมากกว่าประธานาธิบดี เพราะประธานาธิบดีเป็นผู้เสนอ (ขอ) สภาเป็นผู้สนอง (ว่าจะให้หรือไม่ให้ก็ได้) อย่างที่โอบามากำลังปวดหัวเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ในวันนี้

ระบบพรรคการเมืองของอเมริกันก็ประหลาด เพราะดูๆ ก็เป็นระบบ 2 พรรค แต่เอาจริงแล้วอาจจะเป็น 2-3 หรือ 4 พรรคก็ได้ ถึงแม้ในบัญชีขานชื่อจะมีแค่รีพับลิกันกับเดโมแครต แต่ก็แยกเป็น 4 คือพรรคเดโมแครตที่สนับสนุนประธานาธิบดี และเดโมแครตที่คานประธานาธิบดี รีพับลิกัน ซึ่งแยกกันเป็นฝ่ายค้านและฝ่ายสนับสนุนประธานาธิบดีเช่นเดียวกัน แล้วแต่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร บางทีก็เรียกว่า presidential party บ้าง congressional party บ้าง แสดงความเป็นอิสระ ว่าไม่เคยมีพรรคเดียวเสียงข้างมากเหมือนอังกฤษเลยซักที จนเป็นที่ยอมรับกันว่า นายกรัฐมนตรีอังกฤษมีอำนาจมากกว่าประธานาธิบดี (ภายในประเทศ) เพราะฉะนั้นเขาจึงเรียกรัฐบาลอเมริกันว่า Presidential System ระบบประธานาธิบดี แต่เป็นการปกครองโดยสภา Congressional Government อาศัยอเมริกาเป็นประเทศใหญ่ ไม่ต้องรบกับเพื่อนบ้าน เข้าสงครามทีหลัง จึงเป็นอภิมหาอำนาจขึ้นมาได้ ซึ่งผมคิดว่าเฮงมากกว่าเก่ง

แล้วใครจะเอาอย่างอเมริกาได้ และจะเอาอย่างไปทำไม

3. รัฐธรรมนูญของอเมริกัน ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรที่เก่าที่สุดของโลก และแก้ไขน้อยที่สุดในโลก ก็ไม่มีพูดถึงพรรคการเมืองสักคำเดียว ระบบพรรคการเมืองอเมริกันก็ไม่เหมือนกับระบบพรรคการเมืองที่ไหนในโลก คือไม่มีหัวหน้า มีแต่ประธานบริหารซึ่งทำหน้าที่จัดการพรรค เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามตัวผู้สมัครประธานาธิบดี(หรือตำแหน่งอื่นเช่นผู้ว่า) เป็นคราวๆ ไป หมุนเวียนกันไป ระเบียบและการบริหารพรรค แม้กระทั่งระเบียบในการเลือกตั้งและนับคะแนนก็ต่างกัน แล้วแต่รัฐไหนจะเอาอย่างไร เช่น การเลือกผู้สมัครประธานาธิบดี บางรัฐก็เลือกแบบ Caucus คือประชุมกินกาแฟโต้กันในห้องรับแขกหรือวัดก็ได้ บางรัฐก็เลือกคล่อมพรรคหรือข้ามพรรคได้ บางรัฐก็ไม่ได้ บางรัฐก็ใช้เลือกตั้งเบื้องต้นหรือไพรมารี กำหนดวันและจำนวนชั่วโมงที่ให้ลงคะแนนก็ต่างกันแต่ละรัฐ บัตรเลือกตั้ง หรือแม้แต่เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้กดลงคะแนนแต่ละรัฐก็ไม่เหมือนกัน ฯลฯ ถ้าหากอเมริกามี กกต.แบบไทย เลือกตั้งเสร็จแล้ว 100 ปี รับรองประกาศผลไม่ได้

นี่คือเอกลักษณ์อัจฉริยภาพ และสารพัดภาพของระบบประธานาธิบดีอเมริกัน ที่ในโลกนี้ไม่มีใครเอาอย่างหรือสมควรเอาอย่าง

นอกจาก (1) ระบบประธานาธิบดี ที่เราไม่ควรเอาอย่างแล้ว ยังมี (2) ระบบการจัดสรรตำแหน่งและแต่งตั้งบุคลากรที่ทำงานคาบเกี่ยวระหว่างการเมืองกับงานประจำ (3) ระบบเลือกตั้งสารพัดตำแหน่งทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษาหรือหัวหน้าตำรวจ และระบบย่อยอื่นๆ อีก

ระบบเหล่านี้ มีไม่น้อยที่นักการเมืองและนักวิชาการไทยกระสันอยากจะเอามาใช้ หรือแอบเอามาใช้แล้วแบบขี้ก้อนใหญ่กว่าช้างก็มี

ฉบับหน้าผมจะเล่าต่อ ฉบับนี้ขอจบก่อนว่า บ้านเมืองจะพัง ถ้าไม่ระวังตามก้นอเมริกันแบบไม่ลืมหูลืมตา
กำลังโหลดความคิดเห็น