xs
xsm
sm
md
lg

ประชาธิปไตยแบบตะวันออก

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

นิตยสารไทม์ (TIME) ภาคเอเชีย ฉบับวันที่ 1 มกราคม 2552 ที่ผ่านมาตีพิมพ์เรื่องปกและเรื่องเด่นเป็นรายงานข่าวเกี่ยวกับความล้มเหลวของประชาธิปไตยในเอเชีย โดยใช้หัวเรื่องในเชิงตั้งคำถามว่า Why Democracy Is Struggling in Asia

ฮันนา บีช ผู้สื่อข่าวของไทม์เริ่มต้นเขียนรายงานชิ้นดังกล่าว ด้วยการเขียนถึง การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย โดยกระแหนะกระแหนว่าชื่อของกลุ่มพันธมิตรฯ แม้จะมีคำว่า “ประชาธิปไตย” ผสมผเสอยู่ด้วย แต่การกระทำดูเหมือนจะไม่เป็นประชาธิปไตยเอาเสียเลย ไม่ว่าจะเป็นการบุกยึดทำเนียบรัฐบาล หรือการเข้าไปชุมนุมในสนามบิน 2 แห่ง โดยบีชระบุว่า ภาพของประเทศไทยที่เคยเป็น “โอเอซิสประชาธิปไตย” ในภูมิภาคนี้ดูเหมือนว่าจะติดอยู่ในหล่มของวิกฤตการเมืองเหมือนเมื่อครั้ง พ.ศ. 2535 หรือ 17 ปีก่อน

กระนั้น เมื่อได้อ่านรายงานชิ้นดังกล่าวไปเรื่อยๆ ก็จะพบว่าสภาพความทุลักทุเลของการพัฒนาประชาธิปไตยนั้นไม่ได้เกิดขึ้นกับประเทศไทยเพียงประเทศเดียว แต่เป็นสภาพที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศในเอเชีย เช่น ปากีสถาน ติมอร์ตะวันออก มาเลเซีย มองโกเลีย บังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ อินเดีย ไม่เว้นแม้แต่ชาติเอเชียชั้นหัวแถวอย่าง เกาหลีใต้ ไต้หวัน หรือญี่ปุ่น

ทั้งนี้ทั้งนั้นปัญหาเกี่ยวกับ “ประชาธิปไตย” ของชาติเอเชียทั้งหลายที่กล่าวมาข้างต้นนั้นก็มีลักษณะและสภาพการณ์ที่แตกต่างกันออกไปอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น พรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ที่กุมอำนาจมายาวนานกว่า 50 ปี ก็ประสบกับภาวะความเสื่อมถอยในด้านความน่าเชื่อถือจนทำให้ต้องเปลี่ยนผู้นำมาแล้วถึง 3 คน ในระยะเวลาแค่ 2 ปีกว่า จากนายจุนอิชิโร โคอิซูมิ มาเป็นนายชินโซะ อาเบะ มาเป็นนายยาสุโอะ ฟูกูดะ และล่าสุดคือ นายทาโร อาโสะ ส่วนการเมืองของฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ก็ประสบกับความวุ่นวายทางในระดับที่ไม่น้อยไปกว่าประเทศไทยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้สักเท่าไหร่

แล้วปัญหาอยู่ที่ไหน?

มีชาวพันธมิตรฯ คนหนึ่ง คือ คุณวิศิษฎ์ชัย เขมะจิตพันธุ์ (Visitchai Kemajitpan) กล่าวไว้กับนักข่าวนิตยสารไทม์ค่อนข้างตรงประเด็น คือ “คุณจะมาคาดหวังว่าเราจะมีประชาธิปไตยแบบยุโรป หรืออเมริกันไม่ได้ เราต้องมี ประชาธิปไตยแบบตะวันออก (Oriental Democracy) ของเราเอง”

ประชาธิปไตยแบบตะวันออกคืออะไร? มีรูปแบบอย่างไร? มีลักษณะเช่นไร? ผู้สื่อข่าวของนิตยสารไทม์รวมถึงชาวต่างประเทศทั้งหลายต่างตั้งคำถาม

ผู้สื่อข่าว หรือชาวตะวันตกที่ไม่คุ้นเคยและไม่รู้จักวัฒนธรรมตะวันออกดีพอ หลายคนเพ้อฝัน จินตนาการเลยเถิดไปถึงขั้นว่า ชาวเอเชียผิดหวังในระบอบประชาธิปไตยที่ทั้งวุ่นวาย ยุ่งเหยิง ไร้ประสิทธิภาพ และคอร์รัปชัน จนหวนหาระบอบการปกครองแบบ “เผด็จการ” ไปโน่น หรือคิดเอาเองว่าประชาชนในบางประเทศคงอยากจะกลับไปใช้ระบบการปกครองแบบ “พ่อปกครองลูก (Paternalism)” ควบคู่ไปกับระบบเศรษฐกิจแบบตลาด (Market Economy) อย่างเช่น ประเทศไทยในสมัยสุโขทัย

กระนั้น ผมกลับพบว่าชาวตะวันตก ต้นแบบประชาธิปไตยกลายเป็นผู้ที่ยึดติดกับรูปแบบมากกว่าการพิจารณาในเนื้อหา หรือกล่าวอย่างง่ายๆ ก็คือ ยึดการเลือกตั้งเป็นสาระสำคัญของประชาธิปไตยมากกว่ายึดผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นสาระสำคัญของประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่ประชาชนชาวเอเชียที่มีความรู้-สำนึกในประชาธิปไตย จำนวนไม่น้อยต่างตระหนักดีว่า ประชาธิปไตย ไม่เท่ากับ การเลือกตั้งอีกต่อไปแล้ว

ดังเช่นที่ ท่านทูตสุรพงษ์ ชัยนาม เคยกล่าวไว้ใน หนังสือการทูต-การเมือง ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวว่า “ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อประชาธิปไตย ไม่ใช่เป็นเพราะประชาชนเห็นว่าประชาธิปไตยจะช่วยทำให้ปัญหาต่างๆ ได้รับการแก้ไขหมด แต่ประชาชนเชื่อมั่นในประชาธิปไตย เพราะว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิอันชอบธรรม ปลดผู้นำที่ไร้ความชอบธรรมได้”

เมื่อผมลองขยายความคำกล่าวของท่านทูตสุรพงษ์ ก็พบว่า เหตุการณ์ทางการเมืองระดับโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ก็พิสูจน์ได้ชัดว่า “ประชาธิปไตย” ไม่เพียงเกิดปัญหาในโลกตะวันออก แต่โลกตะวันตกเองก็เป็นผู้ทำลายความน่าเชื่อถือของประชาธิปไตยด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศสหรัฐอเมริกาในยุคของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช

ในยุคสมัยของบุช 8 ปี (ซึ่งบังเอิญมีวาระที่ใกล้เคียงกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ของไทย) เป็นยุคที่สหรัฐอเมริกาแอบอ้างคำว่า “ประชาธิปไตย” ไปทำร้าย-ทำลายคนอื่นเสมอมา ไม่ว่าจะในกรณีการอ้างเอาเหตุการณ์ 9/11 ไปยกทัพบุกประเทศอัฟกานิสถาน โดยอ้างว่าอัฟกานิสถานเป็นแหล่งกบดานใหญ่ของ บิน ลาดิน และกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์ และกรณีที่เด่นชัดที่สุดคือ การใส่ร้ายว่ารัฐบาลอิรัก นายซัดดัม ฮุสเซนสะสมอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง (Weapons of Mass Destruction : WMD) เอาไว้ และจับมือกับชาติตะวันตกทั้ง อังกฤษ ออสเตรเลีย บุกเข้ายึดครองประเทศอิรัก โดยอ้างว่าเป็น “ปฏิบัติการปลดปล่อยอิรัก”

ซึ่งในที่สุดแล้วกาลเวลาก็พิสูจน์ว่าบุชและสหรัฐฯ ทำสงครามอัฟกานิสถานและสงครามอิรักบนพื้นฐานของผลประโยชน์ส่วนตน ผลประโยชน์ทางธุรกิจ ซึ่งสุดท้าย บิน ลาดิน ก็จับไม่ได้ อาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงก็ตรวจไม่พบ แต่ผู้คนจำนวนนับแสนนับล้านกลับต้องสูญชีวิต สิ้นชาติ เสียครอบครัว บาดเจ็บ พิการ และไร้ญาติขาดมิตร เพื่อสังเวยให้กับคำว่า ประชาธิปไตย (Democracy) ในความหมายของผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตัวแทนของชาวสหรัฐฯ

ขณะเดียวกันแม้ว่าชาวสหรัฐฯ จำนวนไม่น้อยจะไม่พอใจการกระทำของรัฐบาลบุช จนทำให้บุชกลายเป็นผู้นำที่มีคะแนนนิยมตกต่ำที่สุดในรอบหลายสิบปี ขณะที่ปัญญาชนอเมริกันเองก็เริ่มสงสัยว่าเหตุการณ์ 9/11 นั้น แท้จริงแล้วรัฐบาลอเมริกันเป็นผู้อยู่เบื้องหลังหรือเปล่า? ทว่า โดยเงื่อนไขของระบบการปกครองที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้ชาวอเมริกันเองก็ไม่มีปัญญาปลดผู้นำที่ไร้ความชอบธรรม จนกระทั่งต้องรอให้หมดวาระไปเอง

ถามว่านี่คือ ประชาธิปไตยในความหมายของชาวอเมริกัน (รวมถึงชาวอังกฤษและออสเตรเลีย) หรือ?

ยิ่งไปกว่านั้นในสมัยของรัฐบาลบุช สหรัฐอเมริกายังเป็นผู้ก่อวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ หรือที่เรียกกันในชื่อเล่นว่า วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (Hamburger Crisis) ที่เชื่อกันว่าเป็นภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่ที่สุดในรอบเกือบ 80 ปีเสียอีก

ณ ห้วงเวลาเดียวกัน ในอีกซีกโลกหนึ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา หลังเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน รัฐบาลเผด็จการของจีนกลับพิสูจน์ตัวเองให้โลกได้เห็นว่า สิ่งที่จะทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี เศรษฐกิจรุ่งเรืองไม่จำเป็นต้องผูกขาดอยู่กับคำว่า “ประชาธิปไตย” เสมอไป ทั้งอิทธิพลของจีนยังถูกประเทศเพื่อนบ้านหลายแห่งนำไปเลียนแบบใช้อย่างเช่น เวียดนาม

ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมเชื่อประเทศไทยและเพื่อนบ้านเอเชียยังเป็นประเทศที่อ่อนเยาว์นักกับคำว่า “ประชาธิปไตย” พวกเรากำลังเรียนรู้ที่จะออกแบบ “ประชาธิปไตยแบบตะวันออก” ของพวกเราเอง ที่ย่อมมีความแตกต่างกับ “ประชาธิปไตยแบบตะวันตก” ที่ฝรั่งพยายามนำมาครอบหัวพวกเรา แต่จะนำความสุขมาให้ประชาชนได้เท่าเทียมหรืออาจจะมากกว่าชาวตะวันตกอย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น