xs
xsm
sm
md
lg

"ไทย"เป็น1ใน4ปท.โอเค"ทรมานนักโทษ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนจาก 14 ประเทศสนับสนุนการห้ามทรมานนักโทษทุกรูปแบบ แต่อีก 4 ประเทศซึ่งร่วมถึงไทยด้วย ยอมรับให้ใช้วิธีการดังกล่าวกับผู้ก่อการร้ายได้ ทั้งนี้เป็นรายงานเผยแพร่เนื่องในวันรำลึกถึงเหยื่อการทรมานสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน
จากการสำรวจความคิดเห็นของ "WorldPublicOpinion.org" ซึ่งเป็นโครงการวิจัยทั่วโลกของมหาวิทยาลัยแมริแลนต์แห่งสหรัฐฯ โดยสำรวจความเห็นของประชาชนใน 19 ประเทศพบว่า คนส่วนใหญ่เกินครึ่ง (majority) ที่เข้าร่วมในการสำรวจจาก สเปน อังกฤษ ฝรั่งเศส เม็กซิโก จีน ดินแดนปาเลสไตน์ โปแลนด์ อินโดนีเซีย และยูเครน เห็นด้วยกับการห้ามทรมานนักโทษ
ส่วนในอีก 5 ประเทศ คือ อาเซอร์ไบจาน อียิปต์ สหรัฐฯ รัสเซีย และอิหร่าน เสียงส่วนใหญ่เกินครึ่งเล็กน้อย (modest majority) หรือ เสียงคนกลุ่มใหญ่ที่สุดทว่าไม่เกินครึ่ง (plurality) สนับสนุนการห้ามทรมานนักโทษในทุกกรณี
อย่างไรก็ตาม เสียงส่วนใหญ่เกินครึ่งใน อินเดีย (59 เปอร์เซ็นต์) ไนจีเรีย (54 เปอร์เซ็นต์) ตุรกึ (51 เปอร์เซ็นต์) และเสียงกลุ่มใหญ่ที่สุดแต่ไม่เกินครึ่งในประเทศไทย (44 เปอร์เซ็นต์) บอกว่ายอมรับการทรมานนักโทษได้ หากเป็นการจัดการกับพวกผู้ก่อการร้าย นอกจากนั้นยังมี เกาหลีใต้ ที่ผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการห้ามทรมานนักโทษทุกกรณี อยู่ในระดับเปอร์เซ็นต์เท่าๆ กัน
"มีคนจากทั่วโลกร่วมกันแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่ว่า การที่รัฐบาลทรมานนักโทษนั้นถือเป็นสิ่งที่ผิดโดยหลักการ" สตีเฟน คัล หัวหน้าโครงการวิจัยดังกล่าว ระบุและเสริมว่า
"ในประเทศส่วนใหญ่ แม้มีการสมมุติสถานการณ์ให้ผู้ตอบคำถามฟังว่า พวกผู้ก่อการร้ายมีข้อมูลที่อาจช่วยชีวิตผู้บริสุทธิ์ได้ การทรมานก็ยังคงถูกปฏิเสธไม่ยอมรับว่าเป็นเรื่องชอบธรรม"
อย่างไรก็ตาม อิวอน เทอร์ลินเกน ผู้แทนประจำสหประชาชาติขององค์การนิรโทษกรรมสากล บอกว่า "น่าตกใจมาก" ที่ "มีผู้ที่ร่วมในการสำรวจความคิดเห็นเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่เห็นด้วยกับการห้ามทรมานทุกรูปแบบ" ซึ่งตามกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว ห้ามมีการทรมานนักโทษอย่างเด็ดขาด
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คณะกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติได้มีมติเอกฉันท์ยืนยันการรับรองในเรื่องการห้ามทรมาน และห้ามกระทำการทารุณ หรือไร้มนุษยธรรม หรือลดทอนความเป็นมนุษย์อย่างเด็ดขาด โดยในปัจจุบันมีสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ 145 จากทั้งหมด 192 ประเทศที่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการทรมานแล้ว
ขณะเดียวกันเทอร์ลินเกนก็ย้ำว่า บทบาทของสหรัฐฯ "ในทางบ่อนทำลายการห้ามทรมานในเวทีสากลนั้นก็ไม่สามารถจะดูเบาได้" โดยเธอยกกรณีที่สหรัฐฯปกป้องการใช้วิธีสอบสวนนักโทษที่เรียกว่า "waterboarding" อันเป็นการสร้างสถานการณ์ให้นักโทษเข้าใจไปว่าตนเองกำลังถูกถ่วงน้ำ แม้ถูกกลุ่มสิทธิมนุษยชนประณามว่าเป็นการทรมานอย่างหนึ่ง หรือกรณีการแอบส่งตัวผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ไปทำการสอบสวนในประเทศที่สาม หรือในศูนย์กักกันนักโทษนอกอเมริกาแต่ทางสหรัฐฯเป็นผู้ดูแลอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น