xs
xsm
sm
md
lg

วันนี้ของซากหอยขมดึกดำบรรพ์แม่เมาะ ฟอสซิลหอย 13 ล้านปีบนแหล่งลิกไนต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงาน
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่

แม้ว่าศาลปกครองกลาง โดยนายวีระ แสงสมบูรณ์ ตุลาการศาลปกครองฯ เจ้าของสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 459/2548 คดีหมายเลขแดงที่ 1203/2550 จะมีคำพิพากษาเมื่อ 26 กรกฎาคม 2550 ให้อนุรักษ์ซากหอยขมดึกดำบรรพ์แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง อายุ 13 ล้านปี เนื้อที่ 43 ไร่

ทั้งนี้ ได้มีคำสั่งเพิกถอนมติ ครม. (ผู้ถูกฟ้องที่ 1) เมื่อ 21 ธันวาคม 2547 ที่กำหนดพื้นที่อนุรักษ์เหลือ 18 ไร่ และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (ผู้ถูกฟ้องที่ 2) เพิกถุอนประทานบัตรเหมืองลิกไนต์เลขที่ 24349/15341 ในส่วนที่เป็นพื้นที่ซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์ เนื้อที่ 43 ไร่ ภายใน 30 วันหลังมีคำสั่ง

และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม / กรมอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ (ผู้ถูกฟ้องที่ 3) ควบคุมและสั่งการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 4 ปกติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามเงื่อนไขแนบท้ายประทานบัตรเลขที่ 24349/15341 โดยจัดทำรายงานการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมแหล่งที่พบซากฟอสซิลฯ เพิ่มเติมเพื่อขอความเห็นชอบจากผู้ชำนาญการ

โดยกำหนดให้ กฟผ.จัดทำสิ่งป้องกันมิให้เกิดการพังทลายของซากฟอสซิลอันเกิดจากการทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์และภัยธรรมชาติ และให้ ครม. สั่งการให้กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนแหล่งซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์ เป็นเขตโบราณสถาน โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายใน 180 วัน นับจากวันที่คดีถึงที่สุด

แต่จนถึงสิ้นปี 2550 (31 ธันวาคม 50) รวมเป็นระยะเวลา 159 วัน การอนุรักษ์-พัฒนาแหล่งฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์ ที่มีอายุกว่า 13 ล้านปี ล้วนแต่หยุดนิ่งอยู่กับที่

ทั้งนี้ เนื่องจากเมื่อ 24 ส.ค.50 ผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองกลาง ส่งผลให้การคุ้มครองซากฟอสซิลยังไม่ดำเนินการใด ๆ จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
ทั้งที่ 1 สิงหาคม 2550 เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และคณะ ในฐานะผู้ถูกฟ้อง เพื่อขอให้สละสิทธิ์ในการอุทธรณ์คดี เพื่อคุ้มครองซากฟอสซิลฯดังกล่าวโดยเร่งด่วนก็ตาม

ขณะที่กรมทรัพยากรธรณี เองก็ระบุว่า แหล่งฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์แม่เมาะ ถือเป็นสุสานหอยน้ำจืดที่หนาที่สุดในโลก ซึ่งไม่สามารถหาทดแทนได้อีก

แต่สภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์ ที่มีอายุกว่า 13 ล้านปี ที่มีความหนามากที่สุดเป็น 1 ใน 3 แหล่งที่พบในโลกขณะนี้ อันเป็นแหล่งฟอสซิลหอยน้ำเค็ม 2 แห่ง และฟอสซิลหอยขมที่แม่เมาะอีก 1 แหล่งนั้น ถูกปล่อยปละละเลยอย่างน่าเสียดาย

กฟผ.ที่ได้ขุดซากฟอสซิลจากบ่อเหมืองถ่านหินลิกไนต์แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เพื่อนำลิกไนต์ขึ้นมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้านั้น ได้นำฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์ มากองรวมกันไว้ โดยไม่มีการป้องกันการพังทลายจากภัยธรรมชาติ หรือภัยจากการทำเหมืองใด ๆ ทั้งสิ้น ทำให้ซากฟอสซิลส่วนหนึ่งได้รับความเสียหายจนยากที่จะกลับคืนสู่สภาพเดิมได้

นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ เลขาธิการเครือข่ายสิทธิ์ผู้ป่วยแม่เมาะ เปิดเผยว่า จากการเข้าสำรวจซากฟอสซิล บริเวณ กฟผ.ที่ได้นำซากฟอสซิลที่ขุดพบจากบ่อเหมืองถ่านหินลิกไนต์แม่เมาะ มากองรวมกันไว้อย่างมักง่าย ทำให้ซากฟอสซิลอันควรค่าแก่การอนุรักษ์ต้องเสียหาย และยากที่จะให้กลับคืนสู่สภาพเดิม เป็นที่น่าเศร้าใจสำหรับคนไทยและนักอนุรักษ์ เพราะต้องสูญเสียแหล่งการศึกษาความเป็นมาของโลกอย่างน่าเสียดาย เพราะการไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งต่อให้ชดใช้เป็นเงินมูลค่าเท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอ! และแน่นอนเพราะว่าความสูญเสียครั้งนี้ คือ การสูญเสียสมบัติของชาติและมรดกของโลก

รายละเอียดของแหล่ง- ชั้นหอยขมโผล่ให้เห็นคลุมพื้นที่กว้าง 90-200 เมตร ยาว 595 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ ทั้งใต้ดินและบนดิน รวมกว่า 50 ไร่

- ชั้นหอยอยู่ระหว่างชั้นถ่านหิน 2 ชั้นลักษณะเป็นเลน ความหนาสูงสุด 12 เมตร เป็นหอยน้ำจืด สกุลเดียวกับ Bellamya อายุ 13 ล้านปี

- ชั้นหอยตัวสมบูรณ์ สลับชั้นหอยแตกหัก ไม่มีตะกอนสลับชั้น หรือมีน้อยมาก

- ความหนาที่พบเป็นหอยน้ำจืดที่ หนาที่สุดในโลก

ลำดับเหตุการณ์การค้นพบซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์

การค้นพบแหล่งฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์ อายุกว่า 13 ล้านปีที่เหมืองลิกไนต์แม่เมาะนี้ เริ่มในปี 2545 - 2546 จากการที่ชาวบ้านกลุ่มเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ ที่เป็นชุมชนที่อาศัยอยู่รอบ ๆ โรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหินลิกไนต์แม่เมาะ ได้เริ่มพบเห็นสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นจากการที่มีซากหอยขมเป็นจำนวนมากถูกรถขนดินนำมาทิ้งเรี่ยราดไปทั่วบริเวณที่ทิ้งดิน จึงได้เข้าติดตามตรวจสอบร่วมกัน

นอกจากนี้ พบว่าซากหอยเหล่านั้นมาจากการขุดพบในบริเวณเขตประทานบัตรที่ 14349/15341ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และไม่มีการป้องกันปัญหาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมตามเงื่อนไขแนบท้ายประทานบัตร จึงได้มีการรวบรวมข้อมูลเผยแพร่สู่สาธารณชนและรณรงค์ให้ภาคประชาสังคมทั้งใน - นอกจังหวัดลำปาง ร่วมกันอนุรักษ์ซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์ 13 ล้านปี

พร้อมกับร้องขอไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนชุดนายวสันต์ พานิช อนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนด้านทรัพยากรน้ำและแร่ เข้าตรวจสอบเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2548 โดยได้พบว่ามีการทำลายซากหอยขม อายุ 13 ล้านปีไปอย่างน่าเสียดายโดยที่ยังไม่ได้ทำการศึกษาความเป็นมาที่ไม่เคยพบเห็นที่ไหนมาก่อนในโลก

วันที่ 9 มีนาคม 2548 ที่ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มีการประชุมระหว่างตัวแทน อบจ. ภาคเอกชน ภาคประชาชน องค์กรอิสระ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อ.แม่เมาะ เพื่อกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหว ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชะลอการระเบิดสุสานหอยขมดึกดำบรรพ์ 13 ล้านปี เพื่อขุดถ่านหินลิกไนต์ไว้ก่อน

วันที่ 15 มีนาคม 2548 ที่หน้าศาลากลาง จังหวัดลำปาง แนวร่วม 7 องค์กรภาครัฐเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายประชาชน และองค์กรสิทธิมนุษยชนในจังหวัดลำปาง นำโดยนายประสิทธิ์ สิริศรีสกุลชัย ประธานหอการค้าจังหวัดลำปาง ได้ยื่นหนังสือถึง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในสมันนั้นผ่านนายอธิคม สุพรรณพงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เรียกร้องให้ทบทวนมติ ครม. เรื่องการอนุรักษ์ซากหอยขมดึกดำบรรพ์ 13 ล้านปี 43 ไร่ ในเหมืองแม่เมาะ ซึ่งขณะนั้นมี มติ ให้อนุรักษ์เพียง 18 ไร่ และยังขอให้ชะลอการขุดทำลายซากฟอสซิล เพื่อนำถ่านหินลิกไนต์ที่อยู่ใต้พื้นซากฟอสซิลมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า และขอให้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงแนวทางการอนุรักษ์ซากหอยฟอสซิลเพื่อศึกษาวิจัยและส่งเสริมการท่องเที่ยว

วันที่ 7 เมษายน 2548 กลุ่มชาวบ้านจากเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ จำนวน 18 คน ได้มอบอำนาจให้ ทนายความจาก โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม โดยนายสุรชัย ตรงงาม และคณะฯ เป็นตัวแทนยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง


กำลังโหลดความคิดเห็น