xs
xsm
sm
md
lg

ตอนที่ 66 มหาบัณฑิตสิบประโยค (ตอน 1)

เผยแพร่:   โดย: เรืองวิทยาคม

บริษัท สากลสถาปัตย์ จำกัด มีความเป็นสากลอยู่จริง ๆ เพราะถึงแม้จะเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างใหญ่ที่สุดของคนไทยในขณะนั้น แต่กลับมีนายช่างและผู้ชำนาญงานชาวต่างประเทศเข้ามาทำงานในด้านต่าง ๆ มากมาย

ในบรรดาคนเหล่านั้น มีทั้งพวกฝรั่ง ชาวฟิลิปปินส์ และชาวไต้หวัน ซึ่งตางก็มีความรู้ ความชำนาญ ในด้านต่าง ๆ

ผมไปทำงานตามที่มีการนัดหมายกันไว้ โดยสังกัดอยู่ในฝ่ายกฎหมาย ซึ่งมีเจ้าหน้าที่เลขานุการประจำอยู่ 2 คน แต่ผู้จัดการฝ่ายกฎหมาย มีชื่อว่าคุณประสม สุกก้อน เป็นทนายความอาวุโส มีบุคลิกภาพองอาจ สง่า พูดจาฉะฉาน มีสำนักงานเป็นของตนเองอยู่ข้างนอก ไม่ได้ทำงานอยู่ประจำที่บริษัท ส่วนในต่างจังหวัดก็จ้างสำนักงานทนายความในท้องถิ่นซึ่งบริษัททำการก่อสร้างอยู่ให้ทำหน้าที่เป็นทนายความให้

ดังนั้นในฝ่ายกฎหมายจึงมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายที่ทำงานประจำอยู่เพียง 2 คนคือปีกกับผมเท่านั้น แต่มีเจ้าหน้าที่เลขานุการคอยช่วยเหลืองานด้านเลขานุการอย่างดียิ่ง

งานของฝ่ายกฎหมายในขณะนั้นมีอยู่ 3 ประเภทงาน คือ งานด้านคดี ซึ่งทนายข้างนอกเป็นผู้รับว่าความ โดยฝ่ายกฎหมายเป็นผู้ติดตามกำกับและสรุปผลให้ฝ่ายบริหารทราบ งานด้านที่ปรึกษากฎหมายและสัญญาซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย การยกร่างและตรวจสอบสัญญาที่เกี่ยวข้องกับบริษัท และงานด้านกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้องกับพนักงานทุกคน

งานด้านคดีมีจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นคดีในต่างจังหวัดเนื่องจากบริษัทรับเหมาก่อสร้างงานจากกรมทางหลวงในพื้นที่หลายจังหวัดโดยเฉพาะในภาคอีสาน มีหน่วยงานชั่วคราวทำงานในแต่ละพื้นที่ มีรถที่ใช้ในการก่อสร้างกว่า 200 คัน จึงมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเนือง ๆ ทำให้คดีละเมิดเกี่ยวกับรถมีจำนวนกว่า 200 คดี และคั่งค้างมานาน

ผมเห็นว่างานคดีเป็นงานที่รกรุงรัง เพราะเมื่องานก่อสร้างเสร็จแล้ว หากงานคดีไม่แล้วเสร็จก็จะเป็นภาระในการติดตามและจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกมาก เนื่องจากหน่วยงานที่ทำงานในพื้นที่เคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ไปแล้ว จะต้องใช้คนจากกรุงเทพฯ ไปดำเนินงานต่อไป ดังนั้นผมจึงสรุปเรื่องทั้งหมดว่าแต่ละเรื่องมีข้อเรียกร้องอย่างไร และเป็นเงินเท่าใด

จากนั้นก็นำไปเสนอกรรมการรองผู้อำนวยการ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง เสนอให้ช่วยพิจารณากำหนดแนวทางการประนีประนอม เพื่อให้คดีทั้งหลายยุติลงได้อย่างรวดเร็ว กรรมการรองผู้อำนวยการก็เล็งการณ์ไกล เห็นถึงปัญหาในวันข้างหน้าหากคดีเนิ่นช้าต่อไป จึงกำหนดแนวทางทั่วไปของแต่ละคดี เพื่อให้คดียุติลงได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นการประหยัดทั้งค่าใช้จ่าย ค่าเดินทาง และป้องกันปัญหาต่อเนื่องในวันข้างหน้า

เมื่อทราบแนวทางที่จะยุติคดีแล้ว ผมก็เร่งประสานงานกับทนายความในต่างจังหวัด แจ้งให้ทราบถึงแนวทางที่จะยุติคดีเพื่อให้ทนายความนำไปปฏิบัติ และด้วยวิธีนี้เพียงไม่เกิน 8 เดือน คดีก็แล้วเสร็จไปเกือบหมด คงเหลือค้างคาบ้างก็เฉพาะคดีที่ค้างอยู่ในศาลสูง

การที่เรื่องราวยุติลงด้วยความพอใจของผู้เกี่ยวข้องเช่นนี้ ก็คือการทำให้ธรรมนั้นยุติเพราะคดีก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง เมื่อธรรมยุติลงด้วยความพอใจจึงเป็นความยุติธรรมแท้ และอำนาจแห่งความยุติธรรมนี้ก็ได้ทำให้ปัญหาของงานด้านคดีเสร็จสิ้นไปอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นผลงานที่เป็นหน้าเป็นตาของผมไป

ส่วนงานด้านที่ปรึกษาและสัญญานั้น เมื่อมีกรณีปัญหาหรือมีร่างสัญญามาให้ตรวจ ผมก็ทำรายงานความเห็นหรือรายงานการตรวจสอบพร้อมความเห็นให้กับกรรมการรองผู้อำนวยการ ซึ่งส่วนใหญ่ท่านก็ให้ความเห็นชอบ อันแสดงให้เห็นว่ากรรมการรองผู้อำนวยการมีประสบการณ์และมีความรู้ในงานด้านนี้อย่างช่ำชอง จึงสามารถตัดสินใจในเรื่องราวที่นำเสนอได้อย่างรวดเร็ว

ยกเว้นก็แต่คำปรึกษาเรื่องสำคัญหรือสัญญาสำคัญ บางครั้งเมื่อผมนำเสนอแล้ว กรรมการรองผู้อำนวยการจะสั่งเรื่องให้รอนำเสนอหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและที่ปรึกษากฎหมายพิจารณาก่อน

ในกรณีเช่นนี้ผมก็ต้องเก็บเรื่องรอไว้จนถึงวันที่หัวหน้าฝ่ายกฎหมายเข้ามาบริษัท ซึ่งปกติท่านจะเข้ามาสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งท่านอาจจะพิจารณาแก้ไขหรือมีความเห็นตามข้อเสนอประการใดก็ได้ทั้งนั้น จากนั้นผมก็จะสรุปความเห็นของหัวหน้าฝ่ายกฎหมายเสนอกรรมการรองผู้อำนวยการเพื่อทราบอีกครั้งหนึ่ง

บางครั้งเมื่อได้พิจารณาแล้ว ท่านก็จะสั่งให้ดำเนินการไปได้เลย แต่บางครั้งก็มีคำสั่งให้รอฟังความเห็นของที่ปรึกษากฎหมายก่อน ซึ่งที่ปรึกษากฎหมายก็จะมาทำงานที่บริษัทสัปดาห์ละครั้ง ครั้งละครึ่งวัน

ที่ปรึกษากฎหมายท่านนี้คือท่านบุศย์ ขันธวิทย์ อดีตอธิบดีผู้พิพากษาภาคหลายภาค และเป็นอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ท่านเกษียณอายุในตำแหน่งสุดท้ายคือผู้พิพากษาศาลฎีกา ท่านผู้นี้คือผู้ที่ปีกเรียกว่าลุง

ที่ปรึกษากฎหมายของบริษัทมีห้องทำงานเฉพาะ และบริษัทจัดให้มีเลขานุการประจำคอยอำนวยความสะดวกในวันเวลาที่ท่านมาทำงานที่บริษัท

ผมได้ยินกิตติศัพท์จากปีกมาก่อนว่าลุงเป็นคนเก่งทางกฎหมายมาก และเคยเป็นทนายความมาก่อนที่จะมารับราชการเป็นผู้พิพากษา ทั้งทราบด้วยว่าลุงของปีกเป็นนักหมากรุกชั้นยอดของศาลยุติธรรม

ผมเองนั้นรักที่จะคบหาเสวนากับคนเก่งคนกล้ามาแต่ไหนแต่ไร และใฝ่ที่จะได้รู้จักกับลุงของปีกมาตั้งแต่แรกเข้าทำงาน โดยในใจลึก ๆ นั้นคิดว่าเมื่อท่านเป็นนักหมาก รุก ชอบหมากรุกก็เป็นคอเดียวกัน เห็นจะคบหากันได้โดยง่าย และเข้าใจเอาเองว่านักหมากรุกจากวงการศาลยุติธรรมคงฝีมือไม่เท่าใดนัก แม้ปีกจะชื่นชมนักหนาว่ามีฝีมือดี แต่ผมก็เชื่อว่าผมคงเล่นสู้ได้สบายมาก

แรกที่ผมเข้าทำงานนั้น แม้ทราบว่าที่ปรึกษาเข้ามาบริษัท แต่ผมก็ไม่กล้าเข้าไปพบ เนื่องจากบางครั้งปีกไม่อยู่เพราะไปเรียนหนังสือเสียบ้าง แต่พอเอาเข้าจริงถึงแม้ปีกอยู่ที่บริษัทกลับไม่กล้านำผมไปพบลุงของตน ผมก็ได้แต่แปลกใจ

ในที่สุดปีกก็รับสารภาพว่าไม่อยากพบหน้ากับลุงเท่าใดนัก เพราะพบหน้าคราใดลุงก็มักจะถามไถ่ความรู้ด้านกฎหมาย แต่ปีกตอบไม่ค่อยได้ ก็จะถูกต่อว่าต่อขาน ที่สำคัญปีกนั้นมักดื่มสุราเป็นอาจิณ และบางครั้งก็ดื่มสุราตั้งแต่เวลาเที่ยง หรือไม่ก็เมาค้างมาตั้งแต่ตอนกลางคืน จึงไม่กล้าเข้าหาพบหน้าลุง ผมจึงพลาดโอกาสไป

ดังนั้นยามใดที่มีคำสั่งของรองผู้อำนวยการให้นำเรื่องเข้าปรึกษาที่ปรึกษากฎหมาย ผมก็เห็นเป็นโอกาสอันดี เฝ้ารอจังหวะและเวลา พอท่านที่ปรึกษามาถึงบริษัท กะเวลาให้ท่านดื่มน้ำท่าเป็นอันดีแล้ว ผมก็ขออนุญาตเข้าไปพบ

ท่านที่ปรึกษาวางตนเป็นสง่าราศี ประกอบเข้ากับห้องทำงานและเลขานุการหน้าห้องก็มีสง่าราศียิ่งกว่าเจ้าหน้าที่ธรรมดามากมายนัก จึงดูน่าเกรงขาม แต่ความน่าเกรงขามที่ว่านี้แท้จริงแล้วอาจเกิดจากความทรงธรรมและภูมิปัญญาอันแก่กล้าที่แผ่ออกมาก็เป็นได้

ครั้งแรกที่ผมเข้าไปพบ ผมก็รายงานตัวว่าเป็นเพื่อนของปีก กำลังเรียนกฎหมายอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ค่าใช้จ่ายในการดำรงอยู่ไม่พอและขัดสน ปีกจึงชวนมาทำงานซึ่งได้ค่าจ้างเป็นรายวัน และทำหน้าที่อยู่ในฝ่ายกฎหมาย.

โปรดติดตามตอนที่ 66 “มหาบัณฑิตสิบประโยค ตอน 2 (จบ)” ในวันที่ 4 มกราคม 2551
กำลังโหลดความคิดเห็น