xs
xsm
sm
md
lg

มุมมอง นักบริหารหนี้ : เม็กกะโพรเจ็ก คือคำตอบที่จะช่วยตรึงและดึงเศรษฐกิจปี 2551

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เศรษฐกิจโลกที่ผันผวนและชะลอตัวลง ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมาก และค่าเงินบาทที่มีทิศทางที่แข็งค่าขึ้น ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยดิ่งต่ำลงอีก หากรัฐบาลชุดใหม่ไม่มีฝีมือในการบริการจัดการเศรษฐกิจมหภาคทีดี ขาดจริยธรรม และความโปร่งใสตรวจสอบได้ และยิ่งอุปสงค์จากภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคหรือบริโภค และการลงทุนที่จะตกต่ำลง ภาวะเศรษฐกิจอาจจะประสบกับภาวะเงินเฟ้อและหยุดชะงัก (stagflation) ได้

ดังนั้น ในระยะหนึ่งถึงสามปีข้างหน้ารัฐจักต้องมีส่วนเพิ่มเงินในระบบเศรษฐกิจโดยการใช้จ่ายด้านการลงทุนมากขึ้นเพื่อทดแทนหรือกระตุ้นการเพิ่มอุปสงค์ภายในประเทศที่ลดต่ำลง หรือใช้มาตรการอื่นๆที่เหมาะสมกับสถานะการณ์ โดยเฉพาะการดำเนินการโครงการที่มีความสำคัญอันดับแรกในปี 2551 ที่จะถึงนี้ ให้มากพอที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปให้จงได้

โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐหรือ เม็กกะโพรเจ็ก (megaprojects) ในช่วงปี 2548-2552 ที่ ครม.เคยมีมติให้ดำเนินการไว้เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2548 และ 1 พฤศจิกายน 2548 นั้นควรจะดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเงินที่ต้องใช้สูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท นอกจากต้องคำนึงถึงแหล่งที่มาของเงินทุน ผลได้ ผลเสียของแต่ละโครงการ ผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้แล้ว จักต้องจัดลำดับความสำคัญแต่ละโครงการให้ชัดเจน และสอดคล้องกับความต้องการในระยะยาวอย่างพอเพียงด้วย

โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐประกอบด้วย การขนส่งมวลชน ที่ต้องใช้เงินลงทุนมากที่สุดโดยมีวงเงินลงทุนถึง 423.4 พันล้านบาท รองลงไปคือ คมนาคม 345.6 พันล้านบาท ที่อยู่อาศัย 330.3 ล้านบาท ทรัพยากรน้ำ 203.1 พันล้านบาท การศึกษา 96.3 พันล้านบาท และสาธารณสุข 94.8 ล้านบาท ตามลำดับ นอกนั้น เป็นโครงการอื่นๆอีก 310.7 พันล้านบาท ซึ่งโครงการอื่นๆนี้ประกอบด้วย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและระบบไฟฟ้า การพัฒนาระบบโทรคมนาคมและการสื่อสาร รวมทั้งการพัฒนา ด้านอุตสาหกรรม

เหตุผลพื้นฐานเดิมที่รัฐตัดสินใจในการดำเนินการกับเม็กกะโพรเจ็กนี้ ก็เพื่อเพิ่มสต๊อกทุนสุทธิของประเทศที่มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ การเพิ่มขีดความความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การยกระดับสวัสดิการทางสังคมของประเทศในด้านการมีที่อยู่อาศัยและการสาธารณสุข และการแก้ไขปัญหาความยากจนและการกระจายรายได้ของประเทศ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันของประเทศนั้น ในปี 2549 ประเทศไทยตกต่ำกว่าหลายประเทศในภูมิภาคเดียวกัน โดยจากการสำรวจประเทศต่างๆ 61 ประเทศ ขององค์กรที่จัดลำดับขีดความสามารถระหว่างประเทศ พบว่า ด้านโครงสร้างทางวิทยาศาสตร์ ไทยอยู่ที่อันดับ 53 จาก 61 ประเทศ ในขณะที่โครงสร้างพื้นฐานโดยรวม ด้านเทคโนโลยี ด้านการศึกษา และด้านสุขภาพและสิ่งวดล้อมอยู่ที่อันดับ 48 และด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานอยู่ที่อันดับ 38 แสดงว่าหากต้องการให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆในยุคโลกาภิวัตนี้ได้จำต้องใช้เงินเพื่อการพัฒนาอีกมาก

เงินทุนที่จะใช้ในโครงการต่างๆดังกล่าว รัฐได้กำหนดแหล่งที่มาของเงินจากการกู้ยืมมากที่สุดถึงร้อยละ 44 รองลงไปเป็นเงินจากงบประมาณร้อยละ 39 จากรายได้ร้อยละ 11 และจากแหล่งเงินทุนอื่นๆอีกร้อยละ 6 ตามลำดับ ซึ่งแต่ละโครงการก็มีแหล่งเงินทุนแตกต่างกันออกไป

ไม่ว่าเงินทุนจะมาจากแหล่งใด ภาระสุดท้ายก็ตกอยู่ที่ประชาชน ดังนั้น ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลต้องใช้เงินสร้างโครงขนาดใหญ่ดังกล่าวอย่างคุ้มค่า โดยมีวิธีขจัดการคอรัปชั่นตามกระบวนการต่างๆซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ให้ต้นทุนบานปลาย ได้ของแพงแต่คุณภาพต่ำ ซึ่งวันที่ 23 ธันวาคม 2550 นี้ เป็นโอกาสของประชาชนที่จะใช้สิทธิเลือกใครมาดูแลเงินก้อนโต จนตาโตนี้ ด้วยการไปออกเสียงเลือกตั้ง ตามกระบวนการประชาธิปไตย

อย่านอนหลับทับสิทธิ์ จนเป็นเหตุให้ได้คนไม่พึงประสงค์เข้ามาบริหารประเทศ แล้วจะเสียใจในภายหลัง

กำลังโหลดความคิดเห็น