xs
xsm
sm
md
lg

รู้ทันการเงิน : ราคาน้ำมันขยับ เงินเฟ้อขยาย …จะเพิ่มดอกเบี้ยหรือค่าเงินบาท : ทางเลือกที่ยากลำบากของประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้แรงกดดันต่อเงินเฟ้อสูงขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจไทยก็กำลังเผชิญกับการแข็งค่าของเงินบาทจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐฯ รวมทั้งปัญหาอุปสงค์ภาคเอกชนที่ยังอ่อนแอ ทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องพึ่งการส่งออกเป็นหลัก ในสถานการณ์เช่นนี้ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตกอยู่ในสภาวะที่ยากลำบากว่าจะบรรเทาผลกระทบของการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันที่มีต่อเงินเฟ้อด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือจะไม่ปรับดอกเบี้ยและปล่อยให้ค่าเงินบาทสูงขึ้นตามกลไกตลาด ซึ่งทั้ง 2 วิธีต่างก็มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งคู่ อย่างไรก็ตาม ผมมีความเห็นว่าธปท.ควรปล่อยให้ค่าเงินบาทสูงขึ้นมากกว่าที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมาจาก 80 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (NYMEX) มาอยู่ที่ประมาณ 94 -95 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยดัชนีผู้บริโภคทั่วไป (Headline CPI) และดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ปรับตัวสูงขึ้นจากร้อยละ 2.1 และ 0.8 ในเดือนกันยายน เป็นร้อยละ 2.5 และ 1.0 ตามลำดับในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แม้ว่าการปรับเพิ่มของอัตราเงินเฟ้อยังไม่สูงนัก แต่ทำให้เกิดความกังวลว่าถ้าราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับสูงต่อไปก็จะทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นอีกได้ในอนาคต นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดการคาดการณ์ต่อไปว่า ธปท.อาจจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เงินเฟ้อขยายตัวจนสร้างปัญหาต่อเศรษฐกิจในอนาคต

ทว่าผมมีความเห็นที่แตกต่างจากแนวคิดข้างต้น โดยเห็นว่าในภาวะปัจจุบัน ธปท.น่าจะเลือกไม่ขึ้นดอกเบี้ยและปล่อยให้ค่าเงินบาทปรับตัวสูงขึ้นด้วยการลดการแทรกแซงค่าเงินมากกว่าที่จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย เพราะการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นจะทำให้ราคาน้ำมันในรูปเงินบาทลดลง ซึ่งจะเป็นการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นได้


เหตุผลที่ผมคิดเช่นนี้ คือ ประการแรก การปล่อยให้ค่าเงินแข็งขึ้นจะช่วยบรรเทาผลกระทบของราคาน้ำมันที่สูงขึ้นได้ดีกว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ย การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะมีผลทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงโดยผ่านการชะลอตัวของอุปสงค์ภาคเอกชน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะส่งผลให้การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลง แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันที่อุปสงค์ภาคเอกชนชะลอตัวลงมากแล้ว และเป็นการขยายตัวต่ำสุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง (ยกเว้นปี 2541 ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจอย่างรุนแรง) ดังนั้น ถ้ามีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย จะยิ่งทำให้อุปสงค์ภาคเอกชนหดตัวและเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ ในขณะที่ถ้าปล่อยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นจะมีผลกระทบต่อการส่งออกในบางสาขาที่ใช้แรงงานในการผลิตเข้มข้นและใช้วัตถุดิบในประเทศในสัดส่วนที่สูง ทว่าค่าเงินที่แข็งขึ้นก็จะช่วยให้ราคาน้ำมันในรูปเงินบาทลดลง ซึ่งผลกระทบโดยรวมของการแข็งค่าของเงินบาทจะน้อยกว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่จะกระทบในวงกว้างมากกว่า

เหตุผลอีกประการหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะกดดันให้ค่าเงินบาทปรับตัวสูงขึ้นในทางอ้อม ดังนั้น จึงมีผล 2 ต่อ คือ นอกจากการหดตัวของอุปสงค์ภาคเอกชนแล้ว ยังทำให้การส่งออกชะลอตัวลงตามไปด้วย ขณะเดียวกัน ธปท. ก็จะต้องเพิ่มการแทรกแซงค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นภาระที่สูงขึ้นแล้ว ยังมีความเสี่ยงที่อาจจะขาดทุนมากขึ้นเนื่องจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะลดค่าลงอย่างต่อเนื่อง

โดยสรุป ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นกดดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ธปท. มีทางเลือกที่จะแก้ไขปัญหานี้ 2 ทาง คือ การขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยและปล่อยให้ค่าเงินบาทปรับตัวสูงขึ้นตามกลไกตลาดโดย ธปท. ลดการแทรกแซงลง ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ยากมาก เนื่องจากไม่ว่าจะเลือกวิธีใดก็จะมีผู้ที่ถูกกระทบทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ผมมีความเห็นว่า ธปท. น่าจะเลือกวิธีที่ 2 คือ ปล่อยให้ค่าเงินสูงขึ้นเนื่องจากมีผลกระทบน้อยกว่าการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย อีกทั้งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในทางอ้อม จึงมีผล 2 ต่อทั้งทำให้อุปสงค์ภาคเอกชนลดลงและการส่งออกชะลอตัวลงด้วย และยังเป็นการเพิ่มภาระการแทรกแซงค่าเงินบาทของ ธปท. ซึ่งมีโอกาสที่จะขาดทุนเพิ่มขึ้น ผมจึงคาดว่าธปท.จะไม่ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอเงินเฟ้อ แต่จะเลือกปล่อยให้ค่าเงินบาทปรับตัวสูงขึ้นตามกลไกตลาด ดังนั้น จึงมีแนวโน้มว่าค่าเงินบาทจะค่อยๆปรับเพิ่มขึ้นในเร็วๆนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น