xs
xsm
sm
md
lg

อสังหาฯปีหน้าส่อแววรุ่ง แบงก์เล็งขยับเป้าปล่อยกู้ที่อยู่อาศัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน – แบงก์เล็งขยับเป้าสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่ม หลังอสังหาริมทรัพย์ปีหน้าส่อแววฟื้น จากภาวะต่างๆที่เอื้ออำนวยกว่าในปีนี้ โดยคาดว่าสินเชื่ออสังหาฯทั้งระบบจะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 12-14% ชี้หากเศรษฐกิจไทยปีหน้าโต 4.5-6.0% จะทำให้มีการลงทุนในที่อยู่อาศัยเพิ่ม 4-8% ขณะที่ทิศทางดอกเบี้ยเชื่อครึ่งปีหลังเป็นช่วงขาขึ้น ระบุหากอัตราดอกเบี้ยบ้านเพิ่มขึ้น 1% จะกระทบต่อภาระการผ่อนชำระเพิ่มขึ้น 6%

นางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวในการสัมมนาเรื่อง "สถานการณ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยปี 2550 และแนวโน้มปี 2551"ว่า เศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะขยายตัวดีที่สุดอยู่ที่ 4.5-6.0% ซึ่งจะทำให้มีการลงทุนในโครงการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 4-8% จากปีนี้การก่อสร้างโครงการใหม่โดยรวมยังซบเซา ส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัยของทั้งระบบจะมีการขยายตัวอยู่ที่ 12-14% จากในปีนี้ขยายตัวอยู่ที่ 9% แต่ในกรณีที่ปัจจัยต่างๆมีผลกระทบที่รุนแรงมากส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจจะอยู่ที่ประมาณ 3.1-4.6% ซึ่งจะทำให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยมีการขยายตัวอยู่ที่ 9-13% และในการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ในวันที่ 11 ธ.ค.นี้คาดว่ามีแนวโน้มจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก ซึ่งตอนนี้ตลาดมองว่าเฟดน่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 3 ครั้ง หรือลงไปอยู่ที่ 3.75%

นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) กล่าวว่า แนวโน้มสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในปีหน้านั้นภาพรวมแล้วจะยังมีการชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยลบประกอบด้วย ปัญหาทางการเมืองที่ยังไม่มีเสถียรภาพ ปัญหาราคาน้ำมัน และอัตราเงินเฟ้อ ที่ทำให้กำลังซื้อลดลง รวมถึงแนวโน้มราคาบ้านใหม่ปรับเพิ่มขึ้น 5-10% ตามราคาน้ำมันและราคาวัสดุก่อสร้าง โดยในส่วนของสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ทั้งระบบน่าจะอยู่ที่ 10-11% หากปัจจัยด้านการเมืองดีขึ้นและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ แนวโน้มจะมีการปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยปีหน้าจะอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยคาดว่าจะปรับตัวขึ้นในครึ่งปีหลัง จากทิศทางค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มปรับขึ้นในไตรมาส 3 เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ส่วนธนาคารบางแห่งอาจปรับดอกเบี้ยขึ้นในไตรมาส 1 เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง โดยจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากก่อน ทั้งนี้ ธอส.ตั้งเป้าปี 2550 ยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ไว้ที่ 95,000 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันมียอดสินเชื่อใหม่ 81,000 ล้านบาท คาดว่าเมื่อถึงสิ้นปีจะไม่ได้ตามเป้าแต่ใกล้เคียงเป้าที่ตั้งไว้ ดังนั้น ในปี 2551 ธอส.จึงตั้งเป้าสินเชื่อไว้ในระดับเดียวกับปีนี้

นางรัชนี นพเมือง ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มของสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังมีอัตราการเติบโตดี ทั้งระบบน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 10% โดยมีปัจจัยบวกคือความชัดเจนทางการเมือง ทำให้เกิดความมั่นใจส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น และผู้บริโภคเริ่มจับจ่ายใช้สอย ในปีหน้าธนาคารตั้งเป้าขยายสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นสุทธิ 20% หรือ 20,000 ล้านบาท โดยปีนี้ยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นสุทธิ 12-13% ส่วนอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2551 จะทรงตัว และจะปรับตัวขึ้นช่วงกลางปี เนื่องจากสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ปรับลดลง

นายธีรินทร์ เต่าทอง ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้ว่าสินเชื่อที่อาศัยในปีหน้าชะลอตัว แต่ธนาคารยังมุ่งมั่นรุกสินเชื่อที่อยู่อาศัยต่อเนื่อง และเชื่อว่าในปีหน้าธนาคารพาณิชย์จะมีการแข่งขันจริงจัง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อลูกค้า ทั้งนี้ ถ้าเศรษฐกิจอำนวยตามแผน 5 ปี ตั้งแต่ปี 2551-2555 ธนาคารตั้งเป้าขยายสินเชื่อที่อยู่อาศัยจาก 100,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 300,000 ล้านบาท โดยในปี 2550 คาดว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นสุทธิ 18% จากยอดสินเชื่อ 113,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 133,000 ล้านบาท และปีหน้าตั้งเป้ายอดสินเชื่อเพิ่มขึ้นสุทธิ 16% หรือประมาณ 20,000 ล้านบาท

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ในปี 2551 ตั้งเป้าขยายสินเชื่อเพิ่มขึ้นสุทธิ 30,000 ล้านบาท หรือ 15% สูงกว่าตลาดรวมที่คาดว่ามีอัตราเติบโต 12% ดังนั้นเมื่อมีธนาคารพาณิชย์มีสัดส่วนสินเชื่อเติบโตสูงกว่าระบบก็จะมีธนาคารบางแห่งมียอดสินเชื่อคงค้างปรับตัวลดลง

ด้านนางสาวอัญชลี เบสุวรรณ ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ธนาคารนครหลวงไทย กล่าวว่า ปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในปีหน้าซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 4% นั้นจะส่งผลต่อค่าครองชีพให้สูงขึ้นในขณะที่รายได้เท่าเดิม ส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้อาจจะต้องลดงบประมาณในการซื้อบ้านดายเลือกซื้อบ้านในราคาที่ถูกลง หรือชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย รวมถึงการออกพันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทยและกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ( FIDF) จะดูดซับสภาพคล่องบางส่วนออกจากระบบ ดังนั้นคาดว่าอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเคหะจะไม่ปรับตัวลดลงไปมากกว่านี้ โดยหากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สินเชื่อเคหะเพิ่มขึ้น 1% จะส่งผลให้ภาระการผ่อนชำระค่าบ้านของผู้กู้เพิ่มขึ้น 6%
กำลังโหลดความคิดเห็น