xs
xsm
sm
md
lg

ได้โปรด...ไปที่ที่ (ท่าน) ชอบก่อนเถอะ

เผยแพร่:   โดย: สุวิชชา เพียราษฎร์

บ่ายวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา คนแปลกหน้าไม่ต่ำกว่าสิบปรี่เข้ามายกมือไหว้ และ รายล้อมตัวผมไว้ระหว่างทางที่จะก้าวเข้าบ้าน

พวกเขายื่นแผ่นพับ และ ใบปลิว ก่อนที่จะผายมือให้ผมได้รู้จักกับ ชายรูปร่างสูงใหญ่ที่กำลังก้าวลงจากรถหรูที่จอดอยู่อีกฟากถนน

‘ฝากด้วยนะครับ/ค่ะ นั่นท่าน.....อาสามาเป็นตัวแทนของพี่น้องครับ/ค่ะ’

ชายคนนั้น หรือ ‘ท่าน’ ของคนแปลกหน้าที่ร้อยวันพันปีจะมาให้เห็น ก็คือคนที่ปรากฏเป็นภาพอยู่ในใบปลิว แนะนำตัวผู้สมัครส.ส.ของพรรคการเมืองใหญ่ พรรคหนึ่งนั่นเอง

เขาเดินเข้ามาหาผม และ แนะนำตัวอีกครั้ง พร้อมกับบอกเล่านโยบายของพรรคเพื่อ ‘หาเสียง’

หลังจากตั้งใจฟังได้พักนึง ผมก็ขอตัวเข้าบ้าน ไม่สามารถฟังต่อให้จบ

นั่นเพราะ ผมเบื่อที่จะได้ยินเรื่องเก่าที่เคยได้ยินได้ฟังมาจนชิน เรื่องกว้างๆที่ไม่คิดว่าจะยังได้ยินได้เห็นในพ.ศ.นี้

นโยบายที่ทั้งเก่าและกว้าง ครั้งหนึ่งมันอาจได้ผลทำให้ประชาชนหลงเชื่อ หลงศรัทธาจนชนะเลือกตั้งท่วมท้น

ทว่า ปัจจุบันเนื้อหาที่ร่างมันขัดแย้งกับยุคสมัยที่สังคมเปลี่ยนแปลงไป พวกเขาเคยรู้หรือไม่

ผมไม่เข้าใจว่า บรรดาผู้ร่างนโยบายของพรรคการเมืองจะเขียนเรื่องเหล่านี้ไว้หลอกกันอีกทำไม? ก็ในเมื่อเวลาได้พิสูจน์แล้วว่า สุดท้ายก็เป็นนโยบาย ‘ขายฝัน’ เท่านั้น

คนในสังคมไทยวันนี้มีองค์ความรู้มากขึ้น สื่อเข้าถึงได้ง่ายกว่าเมื่อก่อน การรับรู้ ค้นคว้าข้อมูลข่าวสารย่อมพัฒนาขึ้น

อย่างน้อยที่สุด ประเภทเขียนอะไรก็ได้ที่ดูดีไว้ก่อนแล้วค่อยนำเสนอโดยใช้หลักการตลาดนำหน้านิดหน่อยแล้วคนจะเชื่อ ผมว่า โกหกกันลำบาก

ยกตัวอย่างกรณี ค่าครองชีพ
ค่าครองชีพ หรือ ปัญหาปากท้องของชาวบ้าน ทุกพรรคมีนโยบายออกมาคล้ายๆกัน คือ เพิ่มการลงทุนเท่านั้นเท่านี้ กี่แสนล้าน จุดประสงค์ก็เพื่อปั่นเศรษฐกิจให้เติบโต

เมื่อเศรษฐกิจโตคนในประเทศก็จะลืมตาอ้าปากได้เอง?

มันดูน่าเชื่อถือ แต่หนึ่ง พวกเขาไม่บอกให้ชัดว่าจะเอาเงินมาจากไหนลงทุน ตัวเลขหนี้สาธารณะ หรือ หนี้ประเทศที่คนไทยทุกคนต้องแบกภาระจ่ายล้นพ้นตัวกว่า 3.18ล้านล้าน (ตัวเลขสิ้นสุดส.ค.2550ของสำนักบริหารหนี้สาธารณะหรือคิดเป็น 37.88%)นั้นจะทำอย่างไร

สอง ปัญหาเฉพาะหน้า ความเดือดร้อนเนื่องมาจากน้ำมันแพง ผลกระทบที่เป็นลูกโซ่มีหนทางแก้ไขอย่างไร

คิดจะเสนอรูปแบบการบริหารจัดการพลังงานอะไรใหม่ๆ และ ได้ผลทันที มากกว่าการละเลงงบโฆษณารณรงค์ให้คนใช้พลังงานอย่างประหยัดได้หรือไม่

ตอบโจทย์ง่ายๆสองข้อนี้ให้ได้ก่อนดีมั้ย แล้วค่อยประโคมโอ่ถึงการนำพาเศรษฐกิจของประเทศให้โชติช่วงชัชวาล

เรื่องของการศึกษาก็เช่นกัน แทบทุกพรรคภูมิใจนำเสนอให้เด็กๆเรียนฟรี มีทั้งประกันว่า ฟรีจริงๆ ฟรีจนถึงระดับมหาลัย ฟังแล้วเคลิ้มเหมือนเคย

ไม่มีครัวเรือนไหนปฏิเสธของฟรี ใครล่ะจะไม่ชอบรัฐสวัสดิการ หรือ ประชานิยม แต่ในความเป็นจริงเขาก็ยังเป็นห่วงลูกหลานเขาอยู่ดี

เรียนฟรีดี แต่จบมาแล้วไม่มีคุณภาพก็เปล่าประโยชน์

ไม่ว่าชาวไร่ ชาวนา คนหาเช้ากินค่ำ พนักงานบริษัท เจ้าของธุรกิจเล็กๆ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศทุกๆคนต่างเห็นลูกหลานของตนได้รับการศึกษาในสถานศึกษาที่ดี ครูผู้สอนมีคุณภาพ

ไม่งั้นธุรกิจการศึกษาเอกชนคงไม่รุ่งเรืองเท่านี้ ธุรกิจสอนพิเศษไม่อู้ฟู้อย่างที่เห็น คนจำนวนไม่น้อยยอมจ่าย กระเสือกกระสนเป็นหนี้เพื่อให้ลูก-หลานได้เข้าโรงเรียนดีๆ จบแล้วเป็นคนมีคุณภาพ

ร่างนโยบายที่จะทำให้ระหว่างสถาบันการศึกษามีคุณภาพทัดเทียมกัน มุ่งเน้นไปในทิศทางที่จะดูแลอนาคตของชาติอย่างมีคุณภาพไม่ดีกว่าหรือ?

นักการเมืองอาชีพอาจบอกว่า เรื่องการศึกษาต้องใช้เวลา ไม่เป็นไร งั้นตอบโจทย์สั้นๆ

ปัญหาเฉพาะหน้า หนี้สินคุณครูนับแสนล้านบาทในระบบทั้งหมด (ฐานตัวเลขของกระทรวงศึกษาธิการปี 2548 ระบุว่า ครูหนึ่งคนเป็นหนี้ราว 1.1 ล้านบาท) ซึ่งหมักหมมมานาน พวกคุณจะจัดการแก้ไขอย่างไร?

พรรคการเมืองกล้าพูดชัดๆหรือไม่? จะทำอย่างไรให้ภาระหนี้บรรเทาเบาบางลง ครูไม่ถูกรบกวน ทำหน้าที่พ่อพิมพ์ แม่พิมพ์ของชาติจะได้อย่างสมบูรณ์เหมือนในอดีต

การศึกษาจริงๆ ทุกคนก็ทราบว่ามีองค์ประกอบอื่นๆเข้ามาเกี่ยวข้องมากกว่ามองแค่ตัว เด็ก แค่นั้น ครู หลักสูตร สถานศึกษา ล้วนทรงคุณค่าด้วยกันทั้งนั้น

บางครั้งเป็นเรื่องที่อับจนปัญญาจริงๆ เมื่อคิดถึงพฤติกรรมของนักการเมืองทั้งหลังและก่อนเลือกตั้ง

เขียนแปะข้างฝาตัวโตๆไว้ได้เลยว่า พวกเขาพูดตอนหาเสียงไว้อย่างไร ภายหลังก็จะทำอีกอย่าง โดยมีข้อแก้ตัวสารพัดจะเอ่ยอ้าง

ทิศทางของประเทศภายใต้การดูแลบริหารของรัฐบาลใหม่แทบจะคาดเดาได้ว่าหวังพึ่งพาได้มากน้อยแค่ไหน

ภาวะเช่นนี้ ไม่มีอะไรดีไปกว่า ‘ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน’

ค่าครองชีพแพงก็ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองเสียใหม่ และ คงต้องมากกว่าคำว่าแค่ปากกัดตีนถีบ รอให้น้ำมันลิตรละ 70 บาทอาจจะช้าไม่ทันการณ์

การศึกษาการเลี้ยงดูบุตรก็พยายามยักแย่ยักยันกันต่อไป ค่าเทอม 5-6 หมื่นบาทก็ยอมจ่ายกันไปเถอะ เพื่อแลกกับลูกหลานได้เรียนที่ดีๆ ครูมีคุณภาพ สถานศึกษาปลอดภัย

เกิดเป็นไทยแล้ว...ใจต้องสู้ จริงๆ

สัปดาห์หน้า หรือ ต่อๆไป จนกว่าจะถึงวันเลือกตั้ง ผมคงต้องเจอกับผู้สมัครส.ส.รายอื่นๆที่จะแห่แหนมาหาเสียงที่ชุมชนอีก

ปัญหาของผม คือ ทำอย่างไรผมจะทนทำใจยอมรับฟังได้ครบถ้วนทุกๆคนเพื่อเปรียบเทียบก่อนไปลงคะแนนโดยไม่เบื่อ ไม่ตายด้าน

สำหรับคน-พรรค ประเภทที่ผมไม่ชอบ จะปฏิเสธเขาอย่างไร ให้เขาไปหาเสียงที่อื่นก่อนไม่ต้องมาเสียเวลากับผม

ด้วยความเกรงใจจริงๆ ยิ่งเขาอาสามารับใช้เราอย่างเสียสละ กล้าที่จะบอกรักประชาชนไม่เลือกที่ ผมยิ่งไม่กล้าเสียมารยาทบอกปัดโดยไม่ไยดี เท่าที่นึกออกตอนนี้ ผมคงพูดได้เรียบๆ เพียงว่า...

‘ท่านครับ...เชิญไปที่ชอบๆ ก่อนเถอะครับ’


**ท่านผู้อ่านสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ที่

http://weblog.manager.co.th/publichome/suwitcha67 หรือ อีเมล์ suwitcha@manager.co.th
กำลังโหลดความคิดเห็น