xs
xsm
sm
md
lg

รอยยิ้มที่แตกต่าง

เผยแพร่:   โดย: สุวิชชา เพียราษฎร์

กลางแดดเปรี้ยง ในบ่ายปลายเดือนตุลาคมที่ร้อนอบอ้าว ไม่ได้ทำให้พนักงานหญิง-ชายสองคนในชุดยูนิฟอร์มของห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่ในใจกลางเมืองเล็กๆ อย่าง ‘แม่สอด’ ขาดความกระตือรือร้นในการทำกิจกรรมบางอย่าง

ตรงกันข้ามรอยยิ้มที่ชื่นบานของทั้งสองบ่งบอกว่าพวกเขาอยู่ในอารมณ์ไหนกับการผลัดกันโพสต์ท่าที่มีป้ายอักษรภาษาอังกฤษขนาดใหญ่ว่า ‘Tesco-Lotus’ เป็นฉากหลัง

ทั้งคู่เก็บภาพลงบนเมมโมรี่ของกล้องดิจิตอลไปเรื่อยๆ ประกายตาดูตื่นเต้น มีความสุข ขณะที่บังเอิญผมยืนอยู่ตรงนั้น มองเห็นความเป็นไป ก็อดที่จะเก็บความรู้สึก ความนึกคิดของตัวเองไปด้วยไม่ได้เช่นกัน...

นี่คงเป็นอีกหนึ่งสาขาใหม่ในจำนวนมากมายนับสิบนับร้อยสาขาของห้างใหญ่ห้างนี้กระมัง

การขยายสาขาของพวกเขาเหล่าห้างค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่ หรือโมเดิร์นเทรด 2-3 ปีมานี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก จากกระแสต่อต้านรุนแรงของคนในพื้นที่

ยังจำได้บางพื้นที่เป็นไปอย่างเข้มข้นถึงขั้น ขึ้นป้ายในพื้นที่ก่อสร้างว่า ‘มึงสร้าง กูเผา’ แต่กระนั้น แม้จะรุนแรงห้างใหญ่เหล่านี้ก็ยังคงเปิดให้บริการอยู่เนืองๆ

ข้อมูลของกรมการค้าภายในชี้ว่า การขยายตัวของสาขาโมเดิร์นเทรดเป็นไปอย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว จากจำนวน 1,800 สาขาในปี 2544 เพิ่มขึ้นเป็น 5,000 สาขา ในปี 2549 และมีแนวโน้มจะขยายสาขาเพิ่มขึ้นเป็น 5,700 สาขาในเวลาอันสั้นนี้

เหตุและผลของการขยายสาขา ผู้บริหารของห้างมักบอกเสมอว่า พวกเขาไม่เพียงทำให้เกิดการจ้างงานกระจายรายได้ให้แก่เกษตรกร-คนในพื้นที่ ประการสำคัญ ยังเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคมีทางเลือกได้จับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าและบริการในราคาที่ถูกกว่าร้านทั่วๆ ไป

สโลแกน “เราทุ่มเทกว่า..เพื่อคุณ” “เราขายถูกกว่า” สามารถมัดใจ จูงใจให้คนส่วนหนึ่งหันหลังให้กับร้านลุงมา ป้าแม้น ที่อยู่คู่ชุมชนของตนมาหลายสิบปี เปลี่ยนไปอุดหนุนพวกเขาให้เติบใหญ่สยายปีกครอบคลุมทุกหัวระแหงใกล้-ไกลทั่วไทย

ในแง่ปรัชญาทุนนิยม-โลกการค้าเสรี อาจเป็นเรื่องที่พอทำความเข้าใจได้ในหลายประเทศ แต่สำหรับไทย หรือแบบไทยๆ ปรัญชาดังกล่าวถูกครหาว่า มีไว้เพื่อสร้างความได้เปรียบ หลบเลี่ยงกฎเกณฑ์ธรรมาภิบาลเพื่อสร้างผลกำไรเท่านั้น

การล้มหายตายจากของผู้ประกอบการรายย่อยจาก 300,000 กว่ารายเหลือเพียง 200,000 รายในปีนี้ (ข้อมูลจากการประเมินของกระทรวงพาณิชย์) ที่แปรผกผันกับการขยายสาขาอย่างไร้ทิศไร้ทาง เป็นข้อพิสูจน์ที่ไม่อาจปฏิเสธได้

ที่ปิดก็ปิดไปโดยมีข้อถกเถียงและข้อเรียกร้องของการทำธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่มากมาย เช่น การขายต่ำกว่าราคาทุน จนเป็นที่มาของความพยายามผลักดันยกร่างกฎหมาย พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง ให้มีผลออกมาบังคับใช้โดยเร็ว เพื่อหวังจะยับยั้งอัตราการตายของรายเล็ก

ในภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกค้าส่งซึ่งความเกี่ยวข้องกับประชาชนทุกคน วันนี้น่าจะกลายเป็นกระดูกสันหลังใหม่ของชาติ แทนอดีตที่เคยพึ่งพาเกษตรกรรม เพราะ หากวัดจากตัวเลข ค้าปลีกค้าส่งซึ่งมีมูลค่ารวมสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท (ณ ปี 2549) คิดเป็นร้อยละ 14.27 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี

ค่าความสำคัญดังกล่าว ทุกอย่างจึงต้องรีบเร่งจัดระเบียบค้าปลีกค้าส่ง ก่อนที่จะสาย...กระดูกสันหลังผุกร่อนเกินจะเยียวยา

มองในมุมนี้ หากกฎหมายเฉพาะก็ดี การวางกติกาโดยอาศัยกฎหมายที่มีอยู่ อาทิ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าเข้ามาประกอบก็ดี ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิผล ผมเชื่อว่า เมื่อโมเดิร์นเทรดอยู่ร่วมกับโชห่วยได้ รอยยิ้มที่ชื่นบานคงไม่ได้เกิดแต่เพียงพนักงานของเทสโก้-โลตัสที่เห่อเหิมสาขาใหม่ รอยยิ้มที่เหือดแห้งมานานของเจ้าของร้านโชห่วยก็คงมีให้เห็นบ้าง... ไม่มากก็น้อย

ในทางกลับกัน หากทุกอย่างยังดำเนินไปอย่างสับสนเช่นปัจจุบัน มีกฎหมายแล้วอย่างไร?

เอาแค่ประเด็นข้อร้องเรียนของรายเล็กที่ถูกพฤติกรรมการขายต่ำกว่าทุนของห้างใหญ่กลืนกินลูกค้าไป ความจริงก็มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องขณะนี้ตราไว้ชัดเจนว่า การจำหน่ายสินค้าในราคาต่ำกว่าต้นทุนทำให้คู่แข่งเสียเปรียบและไม่เป็นธรรมนั้น ถือว่ามีความผิด

โทษไม่ใช่น้อย ต้องระวางโทษขั้นสูงสุดคือ จำคุกไม่เกิน 6 ปี ปรับไม่เกิน 3 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ...แล้วอย่างไร? ก็ไม่สามารถเอาผิดได้ เพราะ ห้างจะอ้างว่าเป็นช่วงโปรโมชัน มีช่องให้ลอดออกไปได้

ถ้าปล่อยไปตามยถากรรม ไม่เพียงจะไม่ได้เห็นรอยยิ้มจากโชห่วย เราอาจไม่ได้เห็นรอยยิ้มจากผู้ประกอบการอิสระอย่างอื่นที่ไม่ใช่ร้านขายของชำ บรรดาร้านขายยา ร้านขายหนังสือ ร้านอาหารเล็กๆ ซึ่งเป็นอาชีพอิสระที่หล่อเลี้ยงวงจรเศรษฐกิจไทยไม่แพ้โชห่วยก็ทยอยตายตามกันไป

ร้านขายยา ร้านหนังสือ ฟาสต์ฟูด สาขาแฟรนไชส์ ประดามีก็เข้ามาแทนที่ ดีไม่ดี ผมไม่ทราบ! แต่มีโอกาสได้อ่านความคิดเห็นของผู้ประกอบการร้านขายหนังสือซึ่งคลุกคลีอยู่ในธุรกิจนี้โดยตรงสะท้อนไว้ใน ‘บล็อก’ ของผู้จัดการออนไลน์ http://weblog.manager.co.th/publichome/toongarden ได้อย่างน่าคิดตาม

เขาจั่วหัวบันทึกไว้ว่า “Stand Alone” ร้านหนังสือชะตากรรมเดียวกับ “ร้านโชห่วย” เนื้อความผมขออนุญาตสรุปคร่าวๆ ว่า ทุกวันนี้ร้านขายหนังสือในรูปแบบดั้งเดิม เปิดให้บริการขายแบบเดี่ยวๆ ตึกแถวบ้าง ในตลาดบ้าง บางร้านเก่าแก่ทำกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อ รุ่นแม่ กำลังย่ำแย่

พวกเขาถูกคุกคามและท้าทายอย่างหนักจากจำนวนสาขาของร้านขายหนังสือสมัยใหม่ที่ผุดขึ้นมาราวดอกเห็ดพร้อมกับสาขาโมเดิร์นเทรด ซึ่งจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นเทียบไม่ได้กับ 5 ปีก่อน

ทางรอดพวกเขาเองก็ทราบกันดีอย่างที่ใครๆต่างคิดว่า ‘ต้องปรับตัวๆ’ แต่เงื่อนไขการปรับตัวก็ไม่ง่าย เพราะ มีข้อจำกัดในเรื่องของทุน และ ระบบการค้าสู้ค้าปลีกใหญ่ไม่ได้ มิหนำซ้ำบางร้านปรับแล้วเจอทางตันไม่มีหลักประกันได้ว่า จะยืนหยัดแข่งขันกันกับรายใหญ่ไปได้อีกยืนยาวแค่ไหน...

ลูกหลานของเถ้าแก่ ลุงมา ป้าแม้น จะมีโอกาสได้ผลัดกันโพสต์ท่าถ่ายรูป ยืนยิ้มอย่างภาคภูมิใจกับกิจการของพ่อ-แม่ที่ยกให้ดูแลสืบทอดได้หรือไม่ ..ยังเป็นคำถาม?

อ่านจบผมพอมองเห็นอนาคตอีกไม่ไกล...ท่ามกลางแดดแผดเผา กระแสการค้าที่เชี่ยวกราก คนที่คิดจะประกอบอาชีพอิสระไม่ง่ายเลยจากนี้ไป อย่างมากก็อาจเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งคอยรับผลกำไรเล็กๆ น้อยๆ ที่คนบางกลุ่มเจียดมาให้

ไม่อยากคิดในแง่ร้าย แต่บางครั้งความเป็นจริงมันก็เจ็บปวดเกินกว่าจะยิ้ม...ฝืนยิ้ม แม้ยิ้มนั้นจะเป็นยิ้มเพื่อสู้ หรือเพื่อเป็นกำลังใจแก่กันและกันก็ตาม

**ท่านผู้อ่านสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ที่ http://weblog.manager.co.th/publichome/suwitcha67 หรือ อีเมล์ suwitcha@manager.co.th
กำลังโหลดความคิดเห็น