ลำปาง - การไฟฟ้าฯล้มโต๊ะแผนอพยพเหยื่อโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หักดิบเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยฯ ปฏิเสธปลูกบ้านตามแบบ "บ้านมั่นคง" ให้ตามที่ร้องขอ อ้างต้องยึดมติ ครม.ปี 2549 จ่ายเงินชดเชยทรัพย์สินให้เท่านั้น ลอยแพ 115 ครอบครัว ด้านแกนนำผู้ป่วยแม่เมาะเตรียมทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี - ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง
นายนฤดล สุชาติพงษ์ ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ และนางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ เลขาธิการเครือข่ายฯ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการแก้ปัญหาอพยพผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ กฟผ.ว่า ขณะนี้เริ่มเกิดปัญหายุ่งยากขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจาก กฟผ.ยืนยันว่า จะไม่สร้างบ้านให้แก่ผู้อพยพในกลุ่มเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยฯ 115 ครอบครัว ตามแบบบ้านมั่นคง แต่จะดำเนินการเพียงจ่ายเงินชดเชยให้ตามมติ ครม. 9 พฤศจิกายน 2549 เท่านั้น
ทั้งนี้ อำเภอแม่เมาะ ได้มีหนังสือลงวันที่ 3 ตุลาคม 2550 เรียกประชุมชาวบ้านที่เป็นเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะจำนวน 115 ครอบครัว เพื่อชี้แจงกรณี กฟผ.เสนอเงื่อนไขไม่รับปฏิบัติตามข้อเสนอของเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยฯ ที่ให้ทางราชการ - กฟผ.สร้างบ้านให้ตามแบบบ้านมั่นคง แต่ขอยืนยันว่า เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยฯ จะไม่เข้าร่วมประชุมโดยเด็ดขาดและขอยืนยันตามหลักการเดิม คือให้ทางราชการสร้างบ้านให้เป็นแบบเดียวกันทั้งหมดคือตามแบบบ้านมั่นคง ตาม มติ ครม.วันที่ 9 พฤศจิกายน 2547
นายนฤดล กล่าวว่า ในวันที่ 14 ตุลาคม 2550 ตัวแทนเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ จะเข้ายื่นหนังสือต่อพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้เร่งดำเนินการ 4 ข้อ คือ
1) ขอให้รัฐบาลได้มีการเร่งรัดการอพยพโยกย้ายราษฎร จำนวน493 ครอบครัว ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะโดยเร่งด่วนและทางเครือข่ายฯ เสนอให้มีการแยกกลุ่มให้ เป็น 2 กลุ่มอันเนื่องจากการยึดแนวทางการอพยพตามมติ ครม.ที่แตกต่างกัน คือ มติ ครม.วันที่ 9 พฤศจิกายน 2547 และมติครม.วันที่ 10 มกราคม 2549
2)เครือข่ายฯ ขอยืนยันโดยยึดแนวทางการอพยพ ตามมติครม.วันที่ 9 พฤศจิกายน 2547 โดยให้รัฐบาลหรือ
กฟผ.ต้องเป็นผู้สร้างที่พักอยู่อาศัยตามแบบบ้านการเคหะแห่งชาติเสนอโดยราษฎรผู้ได้รัผลกระทบได้เลือกแบบบ้านเดียวกันหมดและให้มีการจัดพื้นที่รองรับผู้ที่มีรายชื่อ จำนวน 115 ราย ได้อยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ หรือหนึ่งหมู่บ้านเพราะมีความประสงค์เดียวกันและให้มีการรับรองสิทธิในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยอย่างมั่นคง
3)ทางเครือข่ายฯเสนอให้มีการกำหนดวันชี้แนวเขตและจับสลากของกลุ่มสิทธิผู้ป่วยฯอย่างเร่งด่วน
4)ให้ประสานและเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดสรรงบประมาณและส่งช่างผู้ชำนาญการก่อสร้างดำเนินการโดยเร่งด่วนและให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในการก่อสร้าง
ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะและเหมืองลิกไนต์แม่เมาะได้เรียกร้องให้รัฐบาลหลายรัฐบาล รวมทั้งรัฐบาลโดยการนำของพล.อ.สุรยุทธ์ ในการแก้ไขปัญหา และที่ผ่านมา เครือข่ายฯเห็นว่ากระบวนการแก้ไขปัญหาเต็มไปด้วยอุปสรรคต่าง ๆ นาๆอันเนื่องมาจากการไม่จริงใจต่อการแก้ปัญหาของหน่วยงานรัฐในพื้นที่ - การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ประกอบกับมติ ครม.หลายมติ เมื่อได้มีการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงที่รับผิดชอบผู้นำในการเรียกร้องได้ถูกข่มขู่ คุกคามและถูกแทรกแซงจาก กฟผ.มาอย่างต่อเนื่อง
"การแก้ไขปัญหาตามมติ ครม.ต่าง ๆ ได้สร้างความสับสนวุ่นวาย สร้างความแตกแยกในกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ โดยมีเป้าหมายเพียงเพื่อซื้อเวลาของการอพยพโยกย้ายราษฎรที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น"
ด้านนายสามารถ ลอยฟ้า รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เผยว่า ตนและทาง กฟผ.ได้เข้าพบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับการอพยพโยกย้ายผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ซึ่งยืดเยื้อมา 10 กว่าปี ล่าสุด รมว.กระทรวงพลังงานให้ทางจังหวัดเร่งดำเนินการสรุปยอดจำนวนเงินเพื่อจ่ายให้แก่ประชาชน ตามมติ ครม.2549 เพียงมติเดียว คือให้จ่ายค่าชดเชยแทนการปลูกบ้านมั่นคง ตามที่กลุ่มเครือข่ายผู้ป่วยร้องขอ
ส่วน 63 รายที่มีการอุทธรณ์เกี่ยวกับค่าชดเชยนั้น ก็ต้องรีบทำการตรวจสอบใหม่และให้สิ้นสุดภายในเดือนนี้ เพื่อให้ กฟผ.จ่ายเงินชดเชยให้แล้วเสร็จในรัฐบาลชุดนี้ โดยเงื่อนไขดังกล่าวผู้ว่าการการไฟฟ้าฯยอมรับเงื่อนไขทั้งหมดแล้ว ซึ่งต้องชี้แจงเรื่องดังกล่าวให้กลุ่มเครือข่ายทราบในเรื่องนี้โดยเร็ว
ขณะที่กลุ่มเครือข่ายฯ ซึ่งถือเป็นผู้ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันจะยอมรับหรือไม่นั้น นายสามารถ กล่าวเพียงว่า ตนยังไม่ทราบ
อนึ่ง เมื่อ 10 กันยายน 2550 นายอมรทัต นิรัติศยกุล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้ทำหนังสือรายงานผลการปฏิบัติการแก้ปัญหาดังกล่าว ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กฟผ.กระทรวงมหาดไทย และกองทัพภาคที่ 3 ให้ได้รับทราบ
โดยเฉพาะกรณีชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน ทั้ง 493 ครอบครัว มีวัตถุประสงค์ที่ต่างกันและมีปัญหาความไม่เข้าใจ จนทำให้การดำเนินการอพยพที่ผ่านมาเกิดความล่าช้า ซึ่งสามารถหาข้อยุติได้ คือ 1) กลุ่มเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ มีนายนฤดล สุชาติพงษ์ และนางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ เป็นแกนนำ ต้องการให้รัฐสร้างบ้านให้ตามแบบโครงการบ้านมั่นคง มีจำนวน 119 ครอบครัว แยกเป็นหมู่บ้านห้วยเป็ด จำนวน 23 ครอบครัว บ้านห้วยคิง จำนวน 28 ครอบครัว บ้านหัวฝาย จำนวน 30 ครอบครัว และบ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง 38 ครอบครัว
2) กลุ่มของนายสมบูรณ์ เตชะเต่ย และนางมาลี อมาตยกุล มีจำนวน 319 ครอบครัว ต้องการเงินค่าชดเชยแยกเป็นบ้านห้วยเป็ด 70 ครอบครัว บ้านห้วยคิง 175 ครอบครัว บ้านหัวฝาย 17 ครอบครัว และบ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง 57 ครอบครัว
3) กลุ่มที่เป็นกลางแต่ต้องการเงินค่าชดเชยโดยไม่อยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมี 36 ครอบครัว แยกเป็นบ้านห้วยเป็ด 10 ครอบครัว บ้านห้วยคิง 10 ครอบครัว บ้านหัวฝาย 9 ครอบครัวและบ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง 7 ครอบครัว ที่เหลืออีก 19 ครอบครัว ไม่ต้องการอพยพแยกเป็นหมู่บ้านห้วยเป็ด 1 ครอบครัว บ้านห้วยคิง 4 ครอบครัว บ้านหัวฝาย 6 ครอบครัว และบ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง 8 ครอบครัว