xs
xsm
sm
md
lg

นิธิ ชาญวิทย์กับคนผ่านทาง

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

.
ผมได้อ่านข่าว “วิจารณ์แซด!” นิธิ “หย่าเมีย-แยกเรือนอยู่กินกับผู้หญิงคนใหม่” ใช้เวลาจากตอนที่นำเสนอ 12 กันยายน 2550 13:41 น. คนอ่าน จำนวน 73,991 คน เทียบกับ ชาญวิทย์ นรนิติ ปราโมทย์ กับรัฐธรรมนูญเผด็จการ 11 กันยายน 2550 21:17 น. จำนวนคนอ่าน 1,280 แพ้ “ซ้อเจ็ด” อยู่ 5-6 แสน

ทำไมจึงยังงั้น ก็คนไทยนี่ครับ นิธิคงไม่มีแฟนคลับแน่นหนายังงั้นหรอก แต่คราวนี้นิธิวางตัวหรือตกอยู่ในสถานการณ์พิเศษ ถูกนำเอาเรื่องในมุ้งมาเปิดเผยว่าเพิ่งหย่ากับเมียไปอยู่กับหญิงที่เพิ่งหย่ากับผัว เรื่องอย่างนี้คนไทยชอบนัก

ผมไม่อิจฉาเลยครับที่มีผู้อ่านน้อยกว่านิธิ 70 เท่า ผมเสียดายแต่ว่าคงมีผู้อ่านไม่กี่คนที่รู้ว่า ผมกับนิธิมีความเห็นแตกต่างกันอย่างไรเรื่องสถาบันกษัตริย์ รัฐธรรมนูญ และการเมืองไทย

ท่านผู้อ่านที่เคารพ วันนี้ผมขอพูดถึงท่านผู้อ่านสักครั้ง ท่านหนึ่งไม่ถึงกับด่าผม แต่เขียนเหมาอย่าง(1)ลำเอียงที่สุด (2) ซื่อตรงที่สุด (3) ถูกต้องที่สุด และ (4)เป็นไทยที่สุด รวมๆ กันแล้วความเห็นเช่นนี้แหละทำให้การเมืองไทยด้อยพัฒนาที่สุด
พูดถึงเรื่องลำเอียงก่อน สังคมไทยนั้นบ้าอำนาจและเงิน ถึงหากตนไม่มี ก็หวังพึ่งผู้อื่นที่มี แทนที่จะหวังพึ่งปัญญาตนเอง นักการเมืองและผู้มีอำนาจเมืองไทยดูถูกนักวิชาการ ก็เพราะ “มีบุญ เขาก็วิ่ง มาเป็นข้า พึ่งพระเดช เดชา ให้ใช้สอย ป้อยอ สอพลอพลอย ทุกเช้าค่ำ” จะให้ผลิตทฤษฎีความเห็นและงานวิจัยอะไรก็ได้ที่ถูกใจผู้มีอำนาจ นักวิชาการทำได้ทั้งนั้น

กฎหมาย โครงการ ความเข้าใจต่างๆ รวมทั้งรัฐธรรมนูญจึงเลอะเทอะเพราะนักวิชาการประเภทนี้ ประชาชน สื่อ หรือผู้อ่านก็ไม่ต่างกัน เพราะมีความเห็นหรืออุปาทานของตนเป็นที่ยึดมั่นเสียแล้ว แท้ที่จริงก็ตกอยู่ในลัทธิตามอย่าง ตามน้ำและตามพึ่งทั้งนั้น จึงเที่ยวตัดสินคนอื่นไม่เลือกหน้าตามมิจฉาทิฐิของตนและมูลนาย ส่วนใหญ่หยันว่าหากนักวิชาการเก่งจริงทำไมไม่กระโดดออกมาเล่นการเมือง ดีแต่ติคนอื่น ดีแต่พูด ท่านไม่เข้าใจว่านักวิชาการที่เป็นปัญญาชนต้องรักษาความเป็นอิสระและใช้ความรู้ของตนให้เป็นประโยชน์ เป็นเครื่องส่องทางให้สังคม โดยไม่แสวงหาปลอกคอหรือตำแหน่งใดๆ แต่นักวิชาการมิใช่ปัญญาชนทุกคน

คนไทยลืมไปว่าพระพุทธเจ้าสละทั้งอำนาจและราชสมบัติออกบวชก็เพื่อแสวงหาปัญญา แล้วสั่งสอนให้นรชนเอาปัญญานั้นชี้ทางรอด

ถึงจะมีน้อย ก็ใช่ว่าเมืองไทยจะไม่มีปัญญาชน ก็ ดร.ชาญวิทย์คนหนึ่งละ และดร.สมบัติ จันทรวงศ์ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา เขียน ธีรวิทย์ วารินทร์ วงศ์หาญเชาว์ ผาสุก พงษ์ไพจิตร เป็นต้น และเมื่อก่อนนี้ผมก็เคยนับนิธิ เอียวศรีวงศ์ด้วย จนกระทั่งเขาประกาศรับเงินทักษิณมาสร้างประชาธิปไตยว่าไม่เห็นจะแปลกอะไร

คุณคนผ่านทางเขียนว่า “ผมไม่ได้ติดตามอ่านบทความของท่านอาจารย์อย่างจริงจัง เพราะผมเบื่อหน่ายกับความเป็นนักวิชาการที่ยึดติดกับความเพ้อฝันอุดมการณ์ประชาธิปไตย โดยไม่มองพัฒนาการของสังคมไทยที่แท้จริง ที่อยู่ตรงหน้า ผมจึงเห็นแต่ช่องว่างของงานเขียน งานคิดของนักวิชาการทั้งหลาย งานเขียนของนักวิชาการแบบท่านอาจารย์จะสะท้อนความคิดที่ร่ำเรียนมาจากเมืองนอก จากที่เห็น ที่อ่านในตำรา แต่แทบไม่เคยเจาะลึกลงไปว่า ทำไมปรากฏการณ์ประชาธิปไตยบ้านเรามันถึงเป็นอย่างนี้ มีแต่บอกว่า จะเอาอย่างนั้น จะเอาอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ วนไปวนมา ว่างๆ ท่านอาจารย์ลองศึกษาวิจัยงานเขียนของพวกท่านอาจารย์กันเองว่า พูดกันเรื่องอะไร ผมจะยกตัวอย่างให้ดู เพราะเห็นง่ายที่สุด จากงานเขียนของท่านอาจารย์ชาญวิทย์ ที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ”

คุณคนผ่านทางคงไม่ทราบว่าผมต่อต้านเผด็จการและเขียนเรื่องรัฐธรรมนูญมาก่อน พ.ศ. 2500 แล้ว เมื่อไม่ได้อ่าน จะทราบได้อย่างไรว่าผมเป็นนักวิชาการแบบไหน ผมมิใช่พวกที่ “จะเอาอย่างนั้น จะเอาอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ วนไปวนมา” นั่นคือนักวิชาการที่รับใช้เผด็จการต่างหาก ที่ค่อยผุดโน่นผุดนี่ขึ้นมาเหมือนประดับยนต์ แต่ตัวเครื่องจักรรักษาและผูกขาดอำนาจไม่เคยเปลี่ยน จะเป็นสากลก็ไม่ใช่จะเป็นไทยก็ไม่เชิง แต่เป็นประชาธิปไตยแบบไทย ล้วนแต่เอาพระมหากษัตริย์ไปอยู่ใต้รัฐธรรมนูญทั้งสิ้น

ผมไม่เคยเอาอย่างอื่นเลยนอกจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ที่ปวงชนและองค์พระประมุขต้องมีส่วนร่วมในการปกครองอย่างแท้จริงตามจารีตประชาธิป ไตยสากลและนิติราชประเพณีไทย

คมช.และสมุนนักร่างรัฐธรรมนูญต่างหากที่เอาอย่างอื่น ครั้นผมคัดค้าน ผู้อ่านกลับมาหาว่าไปมุดหัวอยู่ที่ไหน จะมาค้านตอนนี้ทำไม ไม่ลองจะรู้หรือว่าเป็นอย่างไร

ผมขอเรียนว่ากรุณากลับไปอ่านเรื่องของผมตั้งแต่ 20 กันยายน 2549 เป็นต้นมา ป่านนี้คงจะกว่าร้อยฉบับแล้ว ผมชมคุณคนผ่านทางด้วยใจจริงมิได้แดกดันเลย ผมเชื่อว่าท่านมีเจตนาบริสุทธิ์ และเสนอความเห็นด้วยความซื่อตรงที่สุด ไม่หวาดกลัวใคร ถูกต้องที่สุดเกี่ยวกับนักวิชาการประเภทหนึ่งที่จำแต่ขี้ปากฝรั่งมา (หากินกับผู้มีอำนาจไทย และผู้ที่เลื่อมใสลัทธิตามอย่าง) ถูกต้องที่สุดเรื่องวุฒิสมาชิกผัวเมีย ซึ่งดร.บุนทัน ดอกไธสง อดีตรองประธานวุฒิสภาให้ฉายาว่า “ทายาทอสูร”

แต่ในขณะเดียวก็ “เป็นไทยที่สุด” เพราะข้อสรุปและเหตุผลไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ ต่อกัน ตามหลักปฏิจจสมุปบาท หรืออิทัปปจยตาของพระพุทธเจ้าเลย วัตถุปัจจัยต่างๆ ทางการเมืองไทยนั้นมันทอดยอดเชื่อมโยงกันมานานตั้งแต่การยึดอำนาจปี 2590 ทำให้ทหารกับนักการเมืองไม่กี่พันคนหรือตัวตายตัวแทนพากันผูกขาดอำนาจ โดยบัญญัติให้พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญเผด็จการ

พวกเราต้องพยายามเข้าใจปฏิจจสมุปบาทจึงจะมองเห็น ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ของการเมืองไทย จึงจะเข้าใจว่า “วิกฤตที่สุดในโลก” คือ การทำลายระบอบประชาธิป ไตย และทำลายสถาบันกษัตริย์ เกิดขึ้นและมีอยู่ โดยรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งแบบเดิมๆ ที่เราโหยหานี่อย่างไร

ผมไม่ได้แก้ต่างให้ชาญวิทย์ แต่ผมรู้ว่าชาญวิทย์เป็นนักวิชาการที่ต่อสู้เพื่อประชาชน ประชาธิปไตยและความเป็นธรรมมาตลอด ชาญวิทย์คงจะไม่โง่เหมือนผม ที่เขียนอะไรแล้วคนอ่านไม่เข้าใจ เรื่องนี้อาจจะเป็นเพราะว่าเขาเขียนสั้นๆ แจกกันอ่านระหว่างเพื่อนฝูง เลยไม่ต้องอธิบายความคิดอะไรกันมาก มีอยู่ 2 เรื่องที่ผมอยากให้คุณคนผ่านทางเข้าใจ คือเลือกที่ 1 เกี่ยวกับวุฒิสมาชิก ถ้าหากกลับไปอ่านพระราชกระแสล้นเกล้า ร. 7 จะเห็นว่าชาญวิทย์ไม่ต่างกับพระองค์เลย ส่วนเรื่องศาลนั้นผมเขียนมานานแล้ว และรู้สึกยิ่งกว่าชาญวิทย์ว่าศาลไม่ควรมาใช้อำนาจอย่างอื่น

เรื่องสำคัญที่ผมอยากให้คุณคนผ่านทางและชาญวิทย์ทำความเข้าใจกันเอง คือเรื่องสถาบันกษัตริย์ คุณคนผ่านทางเขียนว่า “นี่ยังดีนะครับว่า ท่านอาจารย์ชาญวิทย์ไม่กล้าโจมตีระบอบพระมหากษัตริย์ (คงเพราะกลัวติดคุก)” ผมเองเขียนมามากกว่าใครๆ ท่านที่สนใจกลับไปหาอ่านเอาได้ไม่ยาก ในเรื่องใครไม่เอากษัตริย์ ผมระบุพวกซ้ายใหม่ยุคเก่า กับพวกซ้ายอกหัก และในเรื่องที่ผู้อ่านส่วนใหญ่เห็นด้วยแต่ไม่ชอบหัวข้อ คือ เรื่อง “หน่ายกษัตริย์-กำหนัดเลือกตั้ง” และ “หน่ายเลือกตั้ง-คลั่งกษัตริย์” ผมเขียนไว้ค่อนข้างแจ่มแจ้งแล้ว ชาญวิทย์มิได้อยู่ในความคิดของผมเลย

ผมเองนิยมในผลงานหลายๆ อย่างของนิธิ ผมไม่เคยนึกตำหนิที่นิธิไม่เคยกระโจนลงมาร่วมวงการต่อสู้ต่อต้านเผด็จการ ผมเคารพนักวิชาการหอคอยช้างที่นั่งดูและวิจารณ์ด้วยปรีชาญาณ แต่พักหลังนี้นิธิกลายเป็นแอกติวิสต์มากขึ้น ผมเห็นด้วยที่ทหารใช้กำลังโค่นรัฐบาลเผด็จการเลือกตั้ง แต่นิธิเห็นด้วยกับการนำระบอบทักษิณกลับคืนมา ความเห็นของเราย่อมต่างกันเป็นธรรมดา

ผมเห็นว่า คมช.และรัฐบาลอ่อนแบบนี้ การใช้รัฐธรรมนูญและเลือกตั้งเร่งแบบนี้ นิธิอาจจะสมหวัง ถึงแม้เราต่างก็คัดค้านรัฐธรรมนูญเหมือนกัน แต่เหตุผลของเราต่างกัน

ผมต้องการราชประชาสมาสัย หรือประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ที่ปวงชนชาวไทยและผู้แทนถาวรของเขาคือองค์พระมหากษัตริย์ต่างก็มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

ส่วนนิธิ รัฐบาล และคมช.จะเป็นแนวร่วมมุมกลับกันหรือไม่ ผมไม่สนใจ

ผมสนใจว่าคุณคนผ่านทางและผู้อ่านส่วนใหญ่จะเอาอย่างไร เอาราชประชาสมาสัยกับผมหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น