xs
xsm
sm
md
lg

เบื่อแล้วโว้ย

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

“เบื่อแล้วโว้ย ข้าเบื่อเองแล้วโว้ย นึกว่าข้าหูแตกรึไง พล่ามอยู่ได้ ไม่รู้จักเหนื่อย”

ท่านผู้อ่านที่เคารพ ผมขออภัยที่ใจไม่ถึงภาษาพ่อขุนรามคำแหง และพยางค์ข้างบนนี้ ผมก็พูดกับตัวเอง มิได้กระทบกระเทียบใคร ถ้าจำเป็นผมก็พูดตรงๆ ได้ ไม่จำเป็นต้องอ้อมค้อมดอก

ในวันที่ 24 มิถุนายน 2527 ผมได้เขียนกลอนมาจากนิวยอร์ก ขอให้พลเอกเปรมเป็นผู้นำแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย เพื่อป้องกันรัฐประหารในอนาคต ปรากฏว่าไม่ได้ผล

ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2531 ผมแสดงปาฐกถาที่หอประชุมคุรุสภาเรื่อง “เลือกตั้ง 31 ระหว่างวัฏจักรน้ำเน่ากับวงจรอุบาทว์” เรียกร้องให้พลเอกเปรมซึ่งยุบสภากำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 กรกฎาคม 2531 เป็นผู้นำทำการปฏิรูปเสียก่อน เพราะเลือกตั้งแล้ว อีกหน่อยก็เป็นอย่างเดิม แบบที่พลเอกเปรมว่าอีก คือ “พรรคการเมืองต่างๆ หลายพรรคไม่สามารถจะดำเนินการในระบบพรรคการเมืองได้ ฯลฯ ก่อให้เกิดปัญหาอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดินและการพัฒนาประเทศอย่างมาก” ผลปรากฏว่าไม่สำเร็จอีก และมีการเลือกตั้งตามกำหนด

ในวันที่ 14 ตุลาคม 2533 ผมเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงพลเอกชาติชาย ขอให้ “นายกฯ นำสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งให้เป็นประชาธิปไตย ฯลฯ นายกฯ ร่วมมือกับสภาและประชาชนแก้ไขวิกฤตและปัญหาบ้านเมืองด้วยวิธีการที่เป็นประชาธิปไตย ปรากฏว่าล้มเหลว เกิด รสช.และพฤษภาทมิฬตามลำดับ

ในปี 2534 จนกระทั่งปี 2540 ผมวิงวอนร้องขอและเรียกร้องให้ รสช. พลเอกสุจินดา นายกฯ อานันท์ ปันยารชุน และสภากระทำอย่างเดียวกัน ปรากฏว่าได้รัฐธรรมนูญ รสช.กับรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งในหลักการเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองไม่ต่างกัน นอกจากเข้ากับนายทุนและผู้นำพรรคเป็นอำนาจนิยมผูกขาดมากขึ้น

ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2549 ผมกราบเท้าวิงวอนและร้องขอ ส.ส.ร.ของ คมช.ให้ร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ผลปรากฏว่า 19 สิงหาคม 2550 เราได้รัฐธรรมนูญโดยประชามติที่ผมเชื่อว่าเป็นอันตรายต่อสถาบันกษัตริย์และประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่แท้จริง

2-3 ครั้งหลัง ผมไม่ถึงกับโดดเดี่ยวเดียวดาย มีผู้เห็นด้วยมากขึ้น

ยกเว้นนายกรัฐมนตรี คมช. กกต.และแก๊งเลือกตั้งที่มีตัวบุคคลและระบบพฤติกรรมสืบเนื่องกันมา ที่พากันพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าจะต้องเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 ตามกำหนดเพื่อแสดงความจริงใจและสามารถในการเป็นประชาธิปไตยของไทย ทุเรศ

ที่ว่าทุเรศนั้นมิใช่ทุเรศผู้ใหญ่ แต่ทุเรศที่ผมต้องเอาเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ เป็นเรื่องที่เกิดในสมัยพลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรี ทุเรศเพราะคำถามและวิธีแก้ปัญหาทุกวันนี้ ก็เป็นอย่างเดิมเหมือนแกะกล่องกันออกมา

เชิญอ่านครับ แต่โปรดอย่าลืมว่านี่เป็นปี 2531

เลือกตั้ง 31 ระหว่างวัฏจักรน้ำเน่ากับวงจรอุบาทว์*

1. วันที่ 24 กรกฎาคม 2531 นี้สำคัญ
เราจะมีการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้ง เพราะการยุบสภาครั้งที่ 3 ของพลเอกเปรม นายกรัฐมนตรีที่มิได้มาจากการเลือกตั้ง และมิได้สังกัดพรรคการเมือง

เหตุผลอย่างเป็นทางการอ้างว่า “...พรรคการเมืองต่างๆ หลายพรรคไม่สามารถจะดำเนินการในระบบพรรคการเมืองได้อย่างมีเอกภาพ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดพรรคการเมืองยังไม่ยอมรับความเห็นหรือมติของสมาชิกฝ่ายข้างมากในพรรคของตน อันเป็นการข้อต่อวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตย และก่อให้เกิดปัญหาอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดินและการพัฒนาประเทศอย่างมาก”

2. จะเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้ง ขณะนี้เป็นที่ต่อรองโจษจันกันอย่างกว้างขวางว่า จะมีการเลือกตั้งหรือไม่ ถ้าไม่...ก็หมายความว่าจะมีการปฏิวัติรัฐประหาร

เพิ่งจะมาเห็นกันเป็นจริงเป็นจังว่า หากใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ การหาผู้สมัคร การหาพรรค การหาเสียง ผลการเลือกตั้ง จำนวนพรรคการเมือง การจัดตั้งรัฐบาลก็คงจะเข้าอีหรอบเดียวกันกับการเลือกตั้งครั้งที่แล้วอีก หรือไม่ก็หนักยิ่งกว่า ปัญหารัฐบาลในอนาคตก็่จะหนักยิ่งขึ้น

ส่วน “อุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน และการพัฒนาประเทศ” นั้น แท้ที่จริง จะเป็นอย่างไร จะเหมือนกับข้ออ้างที่นำมายุบสภาหรือไม่ เห็นจะพูดกันอีกประเด็นหนึ่ง

ครั้นจะหวังให้รัฐบาลใหม่เข้ามาแก้ไข หรือจะฝากความหวังไว้กับพรรคการเมืองที่กลับเข้ามาหรือแม้แต่ ส.ส.ทั้งใหม่และเก่าที่ได้รับเลือกเข้ามา ก็ล้วนแล้วแต่เป็นผู้รับและสมประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ใครเล่าจะทำลายผลประโยชน์ของตนเอง แปดปียังไม่พอสำหรับการพิสูจน์อีกหรือ

ข้อ 3, 4, 5 ฯลฯ

6. ปัญหาที่ท้าทาย ดูเหมือนว่าเราจะเลือกระหว่างปล่อยไปตามยถากรรมให้ปัญหามันแก้ตัวเอง หรือไม่ก็ระดมปัญญาสมาธิเพื่อเผชิญและแก้ปัญหา และทางเลือกระหว่าง

หนึ่ง - มีเลือกตั้งตามกำหนด ภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งฉบับปัจจุบัน

สอง - ปฏิวัติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง โดยเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีกระยะหนึ่ง

สาม - แก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง เลื่อนการเลือกตั้งออกไปสักระยะ

หนึ่ง โดยไม่ต้องมีการปฏิวัติรัฐประหารทำอย่างไรจึงจะเลือกวิธีที่ดีที่สุด หรือวิธีที่เสียหายน้อยที่สุด ถ้าหากเลือกวิธีที่ดีสุดไม่ได้

7. ทางออกที่ไม่กล้าหาญและทางออกที่บ้าบิ่น ใครอยากเลือกทางออกทั้งสองนี้ ควรจะเตรียมตัวให้พร้อมทั้งปัจจุบันและอนาคต กล่าวคือ

ทางที่ไม่กล้าหาญ ได้แก่การจัดให้มีเลือกตั้งตามกำหนด ซึ่งอย่างน้อยก็ควรจะมีมาตรการดังต่อไปนี้ ป้องกันไม่ให้คณะรัฐบาลรักษาการที่สังกัดพรรคหาทุนต่อเพื่อการเลือกตั้งหรือดำเนินการใดให้เป็นคุณแก่การเลือกตั้งของตน ป้องกันไม่ให้คณะรัฐมนตรีรักษาการที่ไม่สังกัดพรรคครอบงำกลไกของรัฐเพื่อให้ผลการเลือกตั้งออกมาเป็นคุณแก่คณะของตนหรือบุคคลภายนอกที่มีสถาบันราชการสนับสนุน ปฏิบัติตามกฎหมายเลือกตั้งโดยเคร่งครัด ป้องกัน ปราบปรามและจับกุมผู้กระทำความผิดโดยเฉพาะการซื้อเสียงและข่มขู่ประชาชน คณะสงฆ์ ครู นิสิตนักศึกษา เลิกทำตนเป็นหัวคะแนนหรือนักเรี่ยไร แต่เข้าสังเกตและควบคุมการเลือกตั้งในฐานะผู้สังเกตการณ์ที่เป็นกลาง เพื่อให้ได้การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์เสร็จแล้วทุกฝ่ายต้องช่วยกันผลักดันให้มีการแก้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยครึ่งใบให้เต็มใบและช่วยกันสอดส่องการปฏิบัติงานของรัฐสภาและรัฐบาล อย่าให้พิษของน้ำเน่าทำลายประเทศชาติจนยากที่จะแก้ไข

สำหรับทางออกที่บ้าบิ่นหรือการปฏิวัติยึดอำนาจนั้นความรวดเร็วฉับไวและความสามารถที่จะเข้ากุมสถานการณ์คือหัวใจของความสำเร็จ แต่เป็นความสำเร็จบนหนทางของความล้มเหลว ใครจะทำก็เชิญ อาจมีผู้แซ่ซ้องสรรเสริญ แต่ก็อาจมีมากเหมือนกันที่กำลังตัดสินว่าจะ หนี สู้ หรือยอม!

8. ทางออกที่เป็นไปได้ ถ้าคนไทยทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอำนาจอยู่ในฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งขณะนี้คงสภาพเป็นเพียงพรรคการเมือง และฝ่ายที่เป็นข้าราชการประจำ ที่สำคัญคือ กองทัพบก และมหาดไทย พร้อมที่จะเสียสละโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้งแต่ฝ่ายเดียว ก็จะพากันมองเห็นหรือยอมรับทางออกว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเลื่อนการเลือกตั้ง แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่จำเป็นต้องทำการปฏิวัติรัฐประหาร

ทั้งนี้ต้องทำความเข้าใจทฤษฎีประชาธิปไตย สิทธิรัฐธรรมนูญ และความเป็นจริงของการเมืองไทย ดังต่อไปนี้ (ยังมีต่อ)
กำลังโหลดความคิดเห็น