xs
xsm
sm
md
lg

คำถามก็ผิด คนตอบก็เพี้ยน ผลลัพธ์จึงอัปลักษณ์

เผยแพร่:   โดย: การุณ ใสงาม

.
ผมมีข้อสงสัยมานานเกี่ยวกับคุณภาพหรือการบริหารประเทศโดยเฉพาะฝ่ายนิติบัญญัติ ที่พากันอ้างถึงการทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชน เรียกขานตนเองกันว่า ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ

กฎหมายออกมากี่ฉบับ เคยตอบสนองตามความต้องการของประชาชนบ้างหรือไม่ ทั้งๆ ที่แต่ละท่านก็เป็นผู้ที่มีชื่อเสียง มีเกียรติประวัติชีวิตมากมาย

สิ่งนี้ทำให้ผมต้องเริ่มตั้งคำถามว่า ความผิดพลาดที่มีเกิดจากอะไร ปัญหาที่แท้จริงเกิดจากสาเหตุใด รัฐสภาแห่งนี้เคยมีการประเมินผลการทำงานของสมาชิกกันบ้างหรือไม่

แล้วผมก็พอจะเข้าใจอะไรมากขึ้น

วันนี้เราลองมาเป็นนักเรียนเรียนวิชาระเบียบวิธีวิจัยกันดีไหม มาลองวิจัยรัฐสภากันสักวัน

การทำวิจัยเรามักจะเริ่มตั้งต้นที่คำถามของการวิจัย (Research question) สภาแห่งนี้พากันกำหนดไว้ว่า ทำอย่างไรประเทศเราจะพัฒนาได้ ทำอย่างไรเราจะสามารถแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ดูเหมือนจะดี

ต่อมาก็พาตั้งวัตถุประสงค์ (Objective) เป็นส่วนที่ชี้ให้เห็นเหตุผลที่เราต้องการศึกษา บอกจุดมุ่งหมาย ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเพื่อแก้ปัญหาของประชาชนคนไทย เพื่อพัฒนาประเทศไทย เพื่อให้เกิดกระบวนการนิติบัญญัติที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ เป็นประโยชน์ที่ผู้วิจัยคาดว่าผลของการวิจัยเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ใดด้านใดบ้าง ย่อมเขียนเอาไว้อย่างสวยหรูและดูเหมือนจะเป็นสูตรสำเร็จว่า ประโยชน์ทั้งหมดที่เกิดจากการทำงานของสภาจะตกแก่พี่น้องประชาชนและประเทศชาติ

สมมติฐานของการวิจัย (Hypothesis) ก็พากันตั้งพากันเดาไปว่าทำอย่างไรถึงจะตอบสนองประชาชนได้ ปัจจัยอะไรบ้างที่จะทำให้ประชาชนพึงพอใจ

นี่แค่บทแรกนะครับ พอดูเค้าโครงขึ้นต้นบทที่ 1 บทนำ (Introduction) ก็พอรับได้

แต่บทที่ 2 ที่พวกท่านไม่เคยทำกันเลย นั่นคือ การทบทวนวรรณกรรม (Review Literature) หมายถึงการทบทวนเอกสารต่างๆ โดยประมวลหลักการ แนวคิด ทฤษฎีและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เราจะศึกษาในเชิงวิเคราะห์สังเคราะห์และบูรณาการ

สภาแห่งนี้มีองค์ความรู้แฝงอยู่ในตัวบุคคลมากมาย แต่สิ่งที่น่าเสียดายคือ ไม่เคยมีการสรุปบทเรียน ความถูกต้อง ความผิดพลาดที่ผ่านมา ข้อเสียอย่างหนึ่งคือการที่สภาเป็นที่รวมคนเก่ง แต่ละคนนั้นย่อมมีอัตตา หรือบางทีเราเรียกว่า Ego ไม่ยอมรับฟัง ไม่แม้ที่จะเปิดใจรับฟังความเป็นจริงบ้างเลย

สิ่งที่บันทึกไว้ในการประชุมไม่ว่าจะเป็นสภาผู้แทนฯ หรือวุฒิสภา ต่างสะท้อนความคิด ตัวตนของคนที่เข้ามาทำหน้าที่ในสภาอันทรงเกียรติได้เป็นอย่างดี

และไม่เคยมีการทำสถิติกันเลยว่า พี่น้องที่พากันมาร้องเรียนอยู่หน้าสภา หน้าสวนสัตว์ดุสิต มาด้วยความทุกข์ยากประการใด สิ่งเหล่านี้น่าศึกษาครับเพราะไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดมานานแล้ว

ต่อมาบทที่ 3 เรื่องวิธีการดำเนินการวิจัย (Methodology) จะเป็นการกำหนดรูปแบบของการวิจัยว่าจะดำเนินการวิจัยในรูปแบบใด วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นอย่างไร ประเภทของเครื่องมือที่จะใช้ในการวิจัยเป็นอย่างไร

รูปแบบการวิจัย ส่วนใหญ่จะมี 3 รูปแบบคือ แบบทดลอง แบบไม่ทดลอง หรือกึ่งทดลอง ผมว่าสภาเราทำงานแบบพิเศษครับคือ แบบลองผิดลองถูก

วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล ที่บอกให้ทราบถึงวิธีการขั้นตอนในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบไปด้วย

หน่วยในการวิเคราะห์ (Unit of analysis) ได้แก่ประเทศชาติประชาชน

กลุ่มตัวอย่าง (Population) ก็คือประชาชนคนไทยทั้งหมด

การสุ่มตัวอย่าง (Sampling) เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผิดพลาดมากที่สุดเพราะ การสุ่มตัวอย่างตามวิธีการเลือก ส.ส. หรือ ส.ว. เข้ามาทำหน้าที่นั้นไม่สามารถเป็นตัวแทนของประชากรได้อย่างแท้จริง (no representative) ผิดหลักการทำวิจัย คนรวยย่อมไม่เข้าใจปัญหาของคนจน เฉกเช่นเดียวกันกับเรื่องกฎหมายที่เป็นประโยชน์กับคนจนไม่เคยผ่านมือคนรวย

เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล สภาเราแทบไม่เคยใช้ทั้งการสอบถาม การสัมภาษณ์ หรือแม้แต่การสังเกต อาศัยแต่ตนเอง (ส.ส. , ส.ว.) เป็นเครื่องมือในการวิจัย คือการใช้ความคิดของตนตัดสินใจในเรื่องของคนอื่น

วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล ไม่เคยมีการวิเคราะห์ผลการทำงาน ความผิดพลาดต่างๆ ที่ผ่านมาเลย


สิ่งที่น่าเศร้าใจคือ บางครั้งมีการแก้สมมติฐานอีกเมื่อไม่เป็นไปตามที่ตนเองต้องการ

ความเป็นจริงอาจผิดตั้งแต่ชื่อเรื่องแล้วก็เป็นได้ครับ ทำให้สภาไม่สามารถแก้ปัญหาของพี่น้องได้ตามที่เขาคาดหวังไว้

แล้วตอนนี้ร่างรัฐธรรมนูญต่างก็พากันดันทุรังทำแบบเดิม ถกเถียงกันแต่เรื่องเดิมๆ สุดท้ายก็จะลอก Proposal แบบเก่าๆ แล้วจะมีประโยชน์อะไรครับ เมื่อไม่สามารถตอบโจทย์ของการวิจัยได้เลย
กำลังโหลดความคิดเห็น