xs
xsm
sm
md
lg

คมช.จะเป็นเป้าหรือ

เผยแพร่:   โดย: สุวัฒน์ ทองธนากุล

น่าคิดนะครับ รูปแบบบางทีเป็นภาพลวงตาที่ “ดูเหมือนมี” แต่เนื้อแท้แล้ว “ไม่ใช่” จึงไม่สามารถทำหน้าที่ตามเจตนารมณ์ได้

อย่างเรื่อง “รัฐธรรมนูญ” ซึ่งในรัฐบาลยุคทักษิณมีการอ้างอิงถึงบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งมีผลบังค?ับใช้อยู่

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ก็ถูกทำให้เหมือนไม่มีความหมาย เจตนารมณ์ที่ต้องการเป็นกฎกติกาให้มีระบบรัฐสภาเป็นกลไก และมีองค์กรอิสระในการตรวจสอบการถ่วงดุลให้เกิดความโปร่งใส ก็ถูกอำนาจเงินและอำนาจการเมืองทำให้หมดสภาพในการทำหน้าที่จนแม้มีการเลือกตั้ง แต่ด้วยสภาพของระบบการเลือกตั้งที่ขาดอิสระ นั่นคือ

1. สิทธิในการเลือกลงคะแนน โดยไม่ถูกจัดตั้งและให้ผลประโยชน์หรือข่มขู่จากผู้มีอิทธิพล

2. สิทธิในการได้รับรู้ข่าวสารอย่างเท่าเทียมรอบด้านจากสื่อของรัฐและเอกชน

3. ระบบราชการมีความเที่ยงธรรมเป็นกลาง โดยเฉพาะกรรมการจัดการเลือกตั้ง

4. ประชาชนมีระดับความรู้และรู้ทันนักการเมือง

เมื่อขาดความสมบูรณ์ “การเลือกตั้ง” จึงเป็นเพียงรูปแบบซึ่งอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่ผลก็คือ คนที่ขาดจิตสำนึกในการทำงานเพื่อประโยชน์ของสังคม แต่มีเงินและอิทธิพลก็เข้ามามีบทบาทเป็นผู้นำกลุ่มได้

เมื่อเงินทำให้ได้ตำแหน่งก็ใช้อำนาจทางการเมืองสร้างโอกาส สร้างเงื่อนไขแก้กฎกติกาเพื่อเอื้อต่อการทุจริต “ฉ้อราษฎร์บังหลวง” กอบโกยผลประโยชน์ให้ครอบครัวและพวกพ้อง โดยไม่คำนึงถึงจริยธรรมทางการเมือง

ความเลวร้ายจากการบริหาร โดยเฉพาะประเด็นการทุจริตคอร์รัปชันที่ได้ลุกลามไปแทบทุกวงการ มีมากมายทั้งจำนวนกรณีและขนาดการโกงกินนับเป็นพันเป็นหมื่นล้าน ยิ่งมีโครงการขนาดยักษ์ออกมามากเท่าไร การฉ้อฉลผลประโยชน์ของรัฐก็สูงตามมา

จนพบจุดจบด้วยการถูกยึดอำนาจจากคณะทหารที่ใช้ชื่อว่า “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งสอดคล้องกับกระแสเรียกร้องให้จัดการด้วยวิธีไม่ปกติ

ผลจากการรัฐประหารก็เลยทำให้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ถูกยกเลิกไปด้วย

แต่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่กำกับรายการ โดยคณะปฏิวัติที่แปลงร่างมาเป็นคณะมนตรีความมั่นงคงแห่งชาติ (คมช.) ปัจจุบันก็กำลังถูกสังคมจับตาและมีข้อสงสัยที่ต้องตระหนัก

วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เพิ่งเผยผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชน จากกลุ่มตัวอย่าง 1,508 คน จากพื้นที่ทุกภาค มี 51.92% พอใจที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลทักษิณ ที่ไม่พอใจมี 27.45% ไม่ออกความเห็น 20.62%

แต่ในประเด็นการเขียนรัฐธรรมนูญนั้นมีอยู่ 25.90% เชื่อว่าเอื้อประโยชน์ให้แก่พวกพ้อง คมช.และยังมี 34.88% ที่เชื่อว่าจะมีการสืบทอดอำนาจ คมช.

เพราะกระบวนการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 100 คน ที่สุดแล้ว คมช.เป็นผู้เลือกจาก 200 คนที่เลือกกันเองในหมู่สมัชชาแห่งชาติเกือบ 2,000 คนที่มาจากกลุ่มคนหลากหลาย

เป็นความพยายามแสดงว่าเป็น “การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน” ที่มาจากหลากหลายอาชีพ

ทั้งๆ ที่นี่คือกระบวนการคัดสรรไปสู่การเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งควรมีเป้าหมายในการสร้างรัฐธรรมนูญเพื่อ “การปฏิรูปการเมือง”

เพื่อให้เกิดการเมืองใหม่ที่มีโครงสร้างของสถาบันทางการเมือง พรรคการเมือง และนักการเมืองที่ต้องไม่เดินตามรอยแห่งวงจรอุบาทว์แบบเดิมๆ

เพื่อให้การปฏิวัติครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย และชำระความสกปรกสร้างกฎกติกาใหม่ให้ “คุ้มกับต้นทุนกติกาที่เสียไป”

ถ้าตั้งเป้าหมายเช่นนี้ ก็ต้องมีกระบวนการเพื่อให้ได้ผู้มีความสามารถ ผู้มีคุณธรรม มีจริยธรรมและเห็นแก่ผลประโยชน์ของสังคมและประเทศชาติเป็นสำคัญ

คนแบบนี้ย่อมได้เคยแสดงความคิดเห็นที่เฉียบคมและมีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม “เป็นที่ประจักษ์”

จะไม่มีทางได้คนที่ผ่านเข้ามาจากสมัชชาแห่งชาติ โดยได้คะแนนสูงลิ่วแต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักยอมรับของสังคมมาก่อน

ยิ่งมาถึงขั้นออกกฤษฎีกากำหนดคุณสมบัติ 35 กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไว้ล่วงหน้า ก็เลยถูกวิจารณ์ว่ามีการ “ล็อกสเปก” เพื่อให้ได้คนที่รู้ใจทำงานให้

แต่เอาละ...ไหนๆ คมช.ก็ปฏิวัติมากับมือ และรู้เห็นความไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรมของรัฐบาลทักษิณถึงขนาดยึดอำนาจมาแล้ว หากจะทำอะไรให้รัดกุมเพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีกว่าแก่การเมืองไทยก็ไม่ว่าละครับ

เพียงแต่ให้แน่ใจว่ากำหนดวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าจะได้คนที่มีความคิดดี มีเป้าหมายที่จะสร้างกติกาที่ “เที่ยงธรรม” และเป็นประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติ

ไม่เอื้อประโยชน์เพื่อพวกพ้อง และไม่หวังสืบทอดอำนาจอย่างที่ผลการสำรวจมีคนเกือบครึ่งหนึ่งเชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้น

ของอย่างนี้ดูจากบทบาทในอดีตและความเชื่อมโยงของบุคคลที่จะปรากฏชื่อเป็นกรรมาธิการร่างฯ ก็พอจะวิเคราะห์ได้

คมช.ก็ต้องพิสูจน์ความจริงตั้งใจจากท่าทีการกระทำ และมีการสื่อสารที่ดีเพื่อสร้างความเข้าใจกับสังคมควบคู่กันไป แต่สังคมคอยตรวจสอบอยู่แล้ว

ความจริงประวัติศาสตร์การเมืองไทยมีตัวอย่างมาแล้วทุกรูปแบบ เช่น นายกรัฐมนตรีและวุฒิสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง หรือมาจากการแต่งตั้ง ก็มีทั้งคนดีคนเลวได้

ถ้าสรุปบทเรียนและแก้จุดอ่อนเอาวัตถุประสงค์ “ผลประโยชน์แห่งชาติ” เป็นที่ตั้ง ส่วนที่มาของคนที่จะได้ตำแหน่ง ถ้าตอบโจทย์การได้ว่ามีคุณภาพเป็นที่ประจักษ์ จะได้ไม่ต้องมาเหนื่อยขับไล่กันอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น