xs
xsm
sm
md
lg

คำคม อ.ป๋วย-งบการศึกษา

เผยแพร่:   โดย: สุวัฒน์ ทองธนากุล

ระบบการบริหารมหาวิทยาลัยของรัฐกำลังถูกเขย่าอย่างแรงจากสังคม

สำหรับผู้ที่ติดตามสภาพความเป็นอยู่และคุณค่าผลผลิตทางการศึกษาต่อสังคมทั้งจากอาจารย์และผู้จบการศึกษา ย่อมเห็นว่าจำเป็นต้อง “ปฏิรูประบบการบริหาร”

การนำมหาวิทยาลัยออกจากระบบราชการเป็นแนวคิดที่มีมานานไม่น้อยกว่า 10 ปี โดยจะแหวกข้อจำกัดของระเบียบราชการเพื่อหวังให้เกิดความคล่องตัว แล้วคิดว่าจะดีกว่าเดิม

แต่กระแสคัดค้านจากบางส่วนของวงการมหาวิทยาลัยก็มีมาตลอด แม้จนกระทั่งกรณีล่าสุด

ข้อวิตกจนมีการคัดค้านการออกนอกระบบก็ทำนองว่า

1.มหาวิทยาลัยต้องดิ้นรนหารายได้ช่วยตัวเอง เพราะอาจได้งบประมาณจากรัฐลดลง

2.บริหารอาจกลายเป็นแบบธุรกิจมากขึ้น เช่นจะมีการขึ้นค่าหน่วยกิต คนยากจนจะเดือดร้อน

3.สาขาวิชาที่มีคนเรียนน้อย หรือไม่ทำกำไรอาจจะถูกยุบ แม้ว่ามีคุณค่าในเชิงการศึกษา เช่น สาขาปรัชญา

4.ความเป็นอิสระทางวิชาการของอาจารย์ อาจจะลดลง เพราะการเป็น “พนักงานมหาวิทยาลัย”

แต่เมื่อการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ ที่จะกลายเป็น “มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ” และร่างพระราชบัญญัติที่มารองรับใหม่ได้ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติไปแล้ว 3 แห่ง คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยทักษิณ และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

แถมยังมีร่าง พ.ร.บ. ทำนองเดียวกันของอีก 4 แห่ง จ่อคิวจะให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา สำหรับมหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ด้วยเหตุผลหลักคือ เพื่อความคล่องตัวในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับบุคลากรในมหาวิทยาลัย

ทั้งๆ ที่ปัญหาในการบริหารมหาวิทยาลัยของรัฐที่สั่งสมมานานแล้ว มีเรื่องที่ต้องรีบปฏิรูปแก้ไขอีกหลายประเด็น ซึ่งรัฐบาลนี้น่าจะทำ

ปัญหาเงินเดือนและค่าตอบแทนของอาจารย์ที่ไม่อาจเทียบได้กับวงการธุรกิจ จนเกิดอาการสมองไหลไปสู่ภาคเอกชน ขณะที่อัตราเงินเดือนก็ไม่สามารถจูงใจให้ได้อาจารย์ที่มีคุณวุฒิและพื้นฐานวิชาการที่ดีๆ เข้ามาทดแทนได้พอเพียงกับความต้องการ

นอกจากนี้พัฒนาการด้านหลักสูตรวิชาการและงานวิจัยเพื่อให้เกิดพัฒนาการขององค์ความรู้ที่ก้าวหน้า ก็ขาดการส่งเสริมเท่าที่ควร

การเรียนการสอนยังขาดการเข้มงวดเท่าที่ควร คัดเลือกคนที่มีพื้นฐานเหมาะสม และยังขาดระบบการหล่อหลอมให้เป็นผู้สำเร็จการศึกษาที่มีความรู้คู่คุณธรรมอย่างจริงจัง

ก็ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณและค่าตอบแทนภายใต้ระเบียบราชการที่ต่ำเกินไปสำหรับผู้มีวิชาชีพการเป็น “ครูบาอาจารย์” ที่จะต้องทรงภูมิรู้ และเป็นแบบอย่างของผู้สร้างเสริมคุณธรรมและมีจริยธรรมในวิชาชีพที่เหมาะกับสภาพเศรษฐกิจสังคม

แน่นอนการบริหารมหาวิทยาลัยยุคนี้ มีการแข่งขันสูง ทั้งในส่วนที่เป็นสถาบันของรัฐ และยังมีมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีพัฒนาการไม่น้อยหน้าทั้งหลักสูตรและอาจารย์พิเศษที่สามารถจ้างพิเศษจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของภาครัฐและนักบริหารเด่นจากภาคเอกชน

ดังนั้น แม้มหาวิทยาลัยของรัฐที่ยังอยู่ในระบบราชการแทบทุกแห่งก็ดิ้นรนหาวิธีการสร้างรายได้จากหลักสูตรพิเศษกันอยู่แล้ว

ข้อวิตกของผู้ไม่เห็นด้วยกับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบจึงน่ารับฟัง

แต่ผมเห็นว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่รูปแบบหรือคำเรียกที่เกี่ยงกันว่า “นอกระบบ” หรือ “ในระบบ”

ประเด็นอยู่ที่ว่าเราตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยของรัฐได้ชัดเจน ครอบคลุม และเห็นพ้องต้องกันหรือไม่

มาตั้งสติ ลดทิฐิ และพิจารณาเหตุผลว่าจำเป็นต้องทำให้ระบบการศึกษามหาวิทยาลัยของรัฐ ไม่ว่าในสถานภาพเดิมหรือที่จะปรับใหม่ก็ตาม ต้องไม่ใช่แค่แก้เชิงระเบียบสถานภาพ

ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นสูงของประเทศ รัฐจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณที่พอเพียงและพัฒนาหลักสูตร และอาจารย์ให้มีความเป็นเลิศทางวิชาการและเป็นแบบอย่างของผู้มีคุณธรรมแก่ผู้จบการศึกษาตั้งแต่ระดับบัณฑิตขึ้นไป

ต้องสามารถเป็นต้นแบบที่ดีทั้งระบบและบุคคลากร ซึ่งจะมีส่วนช่วยกดดันยกระดับให้ทั้งวงการให้มีคุณภาพประสิทธิภาพและคุณธรรมไปทั้งวงการ

ต้องกำหนดในกฎหมายว่า ยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณตามแผนที่เสนออย่างพอเพียง

ขณะเดียวกันค่าหน่วยกิตหรือค่าเล่าเรียนนั้น มีผลวิจัยยืนยันว่า คนที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐนั้นเป็นลูกคนมีฐานะเป็นจำนวนมากที่มีสอบเข้าได้และรับภาระค่าหน่วยกิตที่อาจปรับเพิ่มขึ้นได้ตามความจำเป็นของสภาพเศรษฐกิจ แต่จะต้องมีช่องทางช่วยเหลือผู้มีฐานะยากจนอย่างเพียงพอ

รัฐบาลชุดนี้มีวาระ “เฉพาะกาล” ที่เข้ามาต่อยอดจากคณะปฏิรูปการปกครองฯ จึงสมควรดำเนินการเชิงรุกในเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วนและต้องทบทวนความเหมาะสม มิใช่เดินเรื่องคั่งค้างจากรัฐบาลเก่าเท่านั้น

โดยเฉพาะ “การศึกษา” เป็นเรื่องสำคัญในการ “สร้างคน” จึงไม่ควรคิดแบบธุรกิจที่ยึดหลักต้นทุน ราคาขาย และกำไร

ดังที่ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยชี้ให้เห็นความจำเป็นในการจัดงบประมาณเพื่อการศึกษาว่า

“การปกครองประชาธิปไตย หรือแม้แต่การเศรษฐกิจและการผลิตต่ำ ปัญหาเหล่านี้จะป้องกันแก้ไขไม่ได้ ถ้าเราไม่ยอมลงทุนในสิ่งที่ประเสริฐที่สุด คือ คน”
กำลังโหลดความคิดเห็น