xs
xsm
sm
md
lg

สิ่งที่คน อสมท น่าทำ

เผยแพร่:   โดย: สุวัฒน์ ทองธนากุล

เรื่องวุ่นๆ ที่ อสมท ช่วงนี้ทำให้ผมนึกถึงข้อสังเกตการดำเนินธุรกิจต่างๆ

มีธุรกิจอย่างน้อย 3 ประเภทที่ความแตกต่างจากธุรกิจทั่วไป ซึ่งผู้เกี่ยวข้องจะต้องตระหนักว่า จะคำนึงถึงเป้าหมายและผลประโยชน์์เชิงธุรกิจเป็นสำคัญไม่ได้

ธุรกิจที่เข้าข่ายนี้ก็คือ ธุรกิจการศึกษา ธุรกิจการรักษาพยาบาล และธุรกิจสื่อสารมวลชน

ที่ว่ามีความแตกต่างจากธุรกิจทั่วไป ก็เพราะนอกจากเป้าหมายที่มีรายได้และผลกำไรแล้ว ยังต้องมีเป้าหมายเชิงอุดมคติ คือเป็นประโยชน์ต่อสังคมด้วย

แม้ว่าในโลกธุรกิจยุคใหม่ เรามักได้ยินผู้บริหารพูดถึงการคำนึงถึงสังคมด้วยก็ตาม แต่ธุรกิจทั้ง 3 ข้างต้นจะถูกคาดหวังว่าจำเป็นต้องมีพันธกิจที่ทำเพื่อประโยชน์ต่อสังคมอย่างชัดเจนมากกว่า

กระนั้นก็ตามกรณีที่เกิดขึ้นกับบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับสื่อวิทยุและโทรทัศน์แล้วมีกลุ่มพนักงานสวมเสื้อสีดำประท้วงคณะกรรมการบริษัทชุดใหม่ และพุ่งเป้าไปที่ “อาจารย์ ป๋อง” พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร รองประธานกรรมการซึ่งรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่

การอ้างว่าเป็นการปกป้อง อสมท ไม่ให้ถูกแทรกแซงและต่อต้าน คุณพงษ์ศักดิ์ แถมหาว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนเพราะเป็นกรรมการจากค่ายมติชน โดยไม่พอใจกับนโยบายเพื่อสังคม “สัมมาปัญญา”

นับเป็นการต่อต้านที่น่าสงสัยและน่าเป็นห่วงที่มาที่ไปของความเคลื่อนไหวครั้งนี้

เพราะการแทรกแซง จนถึงขั้นครอบงำที่ระบอบทักษิณกระทำกับ อสมท มาตลอด 5-6 ปี ที่ผ่านมานั้นเป็นที่ประจักษ์ใด จนคนที่เป็นมืออาชีพด้านสื่อสารมวลชน ยอมทนไม่ได้ที่จำต้องเสนอข่าวสารเอาใจรัฐบาลด้านเดียว ทำให้ประชาชนเสียโอกาสในการรับรู้ความจริงรอบด้าน อย่างเช่น การเปิดเปิงข้อมูลการทุจริตของเครือข่ายผู้นำรัฐบาลและปฏิกิริยาต่อต้านรัฐบาลที่ชุมนุมกันนับหมื่นนับแสน ซึ่งเป็นข่าวไม่ธรรมดาแน่

ข่าวแบบนี้จะถูกละเลยและไม่ให้ความสำคัญแต่ก็น่าแปลกที่ทนกันมาได้

ดังนั้นการที่รัฐมนตรีธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ซึ่งกำกับดูแล อสมท ซึ่งเป็นสื่อของรัฐและมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ย่อมเป็นสิทธิ์ที่จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุมใหม่แทนชุดเก่าที่ลาออกไปโดยมารยาท

การหารือกับคุณชิตณรงค์ คุณะกฤดาธิการ รองผู้อำนวยการ อสมท และผู้จัดรายการเดิมที่ถูกปลดรายการออกไปด้วยเหตุผลทางการเมืองจึงเกิดขึ้น

ดร.วิทยาธร ท่อแก้ว รองศาสตจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งเป็นกรรมการ อสมท ใช้คำว่า “เป็นการคืนความเป็นธรรมให้กับผู้จัดรายการดีๆ แต่ถูกถอดอย่างไม่เป็นธรรม”

ถ้านักจัดรายการที่เอ่ยถึงมีทั้ง คุณสนธิ ลิ้มทองกุล คุณสุทธิชัย หยุน ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ยอมที่จะหมุนเวียนมาแบ่งวันจัดในเวลาดึกของช่วงเวลาเดียวกับรายการ “ถึงลูกถึงคน”

ถามว่าเหตุการณ์นี้ “ใครช่วยใคร” กันแน่

เพราะชื่อชั้นเหล่านั้น ล้วนเป็นบุคคลที่ได้รับความเชื่อถือ มีคนนิยมเหนือกว่ามากมายอยู่แล้ว

ถ้าเจรจาสำเร็จจริงก็เท่ากับได้นักจัดรายการระดับ “แม่เหล็ก” มาช่วยยกระดับความนิยมให้ช่อง 9 อสมท ด้วยซ้ำไป

เหมือนอย่างที่คุณรองพล เจริญพันธุ์ เคยหารือกับผู้บริหาร อสมท และอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ก่อนรัฐบาลนี้จะเข้ามาสานต่อแนวคิดในการสื่อสารกับประชาชนหลังการปฏิวัติหมาดๆ ว่า

หากบุคคลเหล่านี้ได้กลับมาจัดรายการทางโทรทัศน์จะทำให้บรรยากาศของประเทศไทยหลังรัฐประหารมีภาพความเป็นประชาธิปไตยมากกว่ายุครัฐบาลทักษิณ

อย่างไรก็ตามขณะนี้มีการยอมรับว่า เกิดปัญหาในการสื่อสารของระดับคณะกรรมการบริษัท อสมท และรักษาการผู้อำนวยการ จนทำให้พนักงานรวมตัวกันคัดค้านการเปลี่ยนแปลงจนต้องมีการยืดเวลาการปรับผังรายการออกไป

ทั้ง?ๆ ที่ ถ้าไม่มีการสับสนด้านข้อมูล หรือมีใครปล่อยข่าวหรือบิดเบือนข้อเท็จจริง โอกาสนี้น่าจะเป็นจังหวะดีของการเปลี่ยนแปลงที่ดี

เพราะรัฐบาลนี้มีเวลาประมาณ 1 ปี และไม่ควรเป็นแค่ “รัฐบาลรักษาการ” แต่ น่าจะเป็น “รัฐบาลเฉพาะกาล” ที่มีพันธกิจสานต่อภารกิจการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองฯ

กฎกติกาและมาตรการที่จำเป็นในการ “ปฏิรูปประเทศไทย” ซึ่งรัฐบาลปกติจากการเลือกตั้งมักไม่กล้าทำ เพราะต้องทดแทนบุญคุณทางการเมืองหรือเห็นแก่คะแนนนิยม ทำให้สิ่งที่จำเป็นต้องทำ ถูกเบี่ยงเบนไป

ถ้าจะสร้างความคุ้มค่าต่อการรัฐประหารซึ่งไม่ชอบธรรมในความคิดแบบตะวันตก โดยทำให้เห็นคุณประโยชน์ต่อสังคม ก็จะเป็นการใช้ “โอกาสทอง” พิสูจน์ความจริงใจตอบข้อโจมตีของผู้ยึดหลักประชาธิปไตย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปสื่อของรัฐ และการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สื่อมวลชนทำหน้าที่เสนอข่าวสารและการตรวจสอบกรณีทุจริตประพฤติมิชอบของนักการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีกลไกป้องกันการแทรกแซงหรือครอบงำให้ต้องรับใช้อำนาจนักการเมือง

ดังนั้นแทนที่จะเคลื่อนไหวประท้วง การเปลี่ยนแปลงผังรายการให้เกิด “สัมมาปัญญา หรือมีปัญญาอย่างมีคุณธรรม” จนสังคมสงสัยว่าทำไปเพราะสับสนกับบทบาทตัวเอง หรือเพราะไม่อยากเปลี่ยนแนวจากที่เคยรับใช้ระบอบทักษิณ?

คน อสมท ที่บอกว่า ต้องการปกป้ององค์กรจริงน่าจะใช้โอกาสนี้สรุปบทเรียนในอดีตที่เคยถูกการเมืองครอบงำ โดยเสนอแนวทางการเป็นองค์กรสื่อของรัฐ ให้มีความเข้มแข็งป้องกันการแทรกแซงของนักการเมือง เพื่อจะทำหน้าที่ให้ข่าวสารแก่ประชาชนให้มีความรู้และความคิดที่มุ่งผลประโยชน์แก่ส่วนรวม
กำลังโหลดความคิดเห็น