xs
xsm
sm
md
lg

รักในหลวงต้องเชื่อในหลวง

เผยแพร่:   โดย: สุวัฒน์ ทองธนากุล

ช่วงนี้ไปไหนก็จะเห็นผู้คนสวมใส่เสื้อยืดสีเหลืองที่มีตราสัญลักษณ์เฉลิมพระเกียรติการครองราชย์ครบรอบ 60 ปีกันน่าชื่นใจ

ขณะที่ธุรกิจการค้าเสื้อยืด มีการออกแบบผลิตเสื้อที่มีข้อความ “รักในหลวง” หลากหลายแบบวางขายตามย่านชุมชนการค้าอย่างคึกคัก

นับเป็นสีสันเสริมความเป็นสิริมงคลกันดีครับ

รวมทั้งการจัดงาน “นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ” ซึ่งจัดที่ อิมแพค เมืองทองธานี มีการขยายไปอีก 1 สัปดาห์ เพื่อให้ประชาชนที่เดินทางไปชมอย่างเนืองแน่นได้มีโอกาสชมได้จนถึงวันที่ 11 มิถุนายน ศกนี้

ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี สำหรับการขยายโอกาสได้ชมงานที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้ ซึ่งเป็นงานนิทรรศการที่เกี่ยวกับเกียรติประวัติแนวคิดและผลงานของบุคคลที่ใหญ่ที่สุดของโลกที่เคยจัดมา

ผมเชื่อว่าผู้ที่ได้ไปชมงานนี้จะเกิดปิติและความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่เห็นภาพและข้อมูลที่มีคุณค่าเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจและโครงการพระราชดำริมากมายที่ได้ทรงบำเพ็ญเพื่อการแก้ปัญหาและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตแก่ราษฎรผู้ทุกข์ยากในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วทุกภาค

พื้นที่ของ 2 อาคารขนาดยักษ์เพื่อการแสดงนิทรรศการ และอาคารการแสดงเท่ากับเป็นห้องเรียนรู้ด้วยวิธีธรรมชาติสำหรับทุกคนให้ได้ตระหนักว่า

ขนาดพระเจ้าแผ่นดินยังทรงเหนื่อยยากเพื่อ “ประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม” ขนาดนี้

เนื้อหาจากนิทรรศการ เราได้เห็นการที่พระองค์ทรงอุทิศพลังความคิดและพลังวรกายเป็นแบบอย่างความเป็นผู้นำและผู้บริหารที่ดี ที่ทรงห่วงใยต่อทุกข์ของแผ่นดิน และบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์และสุขของประชาชนเสมอหน้าทุกท้องถิ่น แม้ในที่ทุรกันดารหรือเสี่ยงภัย

เนื้อหาจากการแสดงระดับมหานาฏกรรม “มหาชนก” ซึ่งอลังการด้วยคณะนักแสดงพร้อมฉากและแสงเสียงที่ยอดเยี่ยมได้ให้หลักคำสอนเรื่องความเพียร ความมุ่งมั่นสู่จุดหมาย แม้เผชิญปัญหาชนิดที่ยังมองไม่เห็นทางสำเร็จก็ไม่ย่อท้อ รวมทั้งการเอาชนะ “อวิชชา” ด้วยการให้ความรู้ และมีจริยธรรมในการปกครอง

เนื้อหาเหล่านี้จึงมีคุณค่าทั้งสำหรับราษฎรทั้งระดับข้าราชการและนักการเมืองที่มีบทบาทในการบริหารกิจการบ้านเมืองที่สมควรตระหนักรู้และใฝ่ดีตามแนวทางพระราชดำริ

การแสดงออกถึงความเป็นเอกภาพของปวงชนที่เกิดบนแผ่นดินนี้และเรียกตัวเองว่าเป็นคนไทยทุกคน ต่างก็มีศูนย์รวมใจอยู่ที่องค์พระประมุขเหนือหัว

ประเทศไทยจึงเป็นหนึ่งเดียวในโลกที่อาณาประชาราษฎร์น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมแสดงความรู้สึกต่อพ่อของแผ่นดินว่า “เรารักในหลวง” ด้วยความซาบซึ้งและจริงใจยิ่ง

เมืองไทยเรามีศูนย์ยึดเหนี่ยวทางใจที่เป็นมงคลอยู่ 2 สถาบัน คือพระพุทธศาสนา และศาสนาอื่นๆ ที่ล้วนสอนให้คนยึดมั่นในคุณความดี และมีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ประชาชนเคารพศรัทธา

เราได้เห็นการแสดงออกในการเทิดทูนสถาบันอันเป็นที่เคารพในวันสำคัญอย่างสม่ำเสมอ

หากมีการแปรคุณค่าอันสูงส่งเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจในการปฏิบัติดีมีคุณธรรม เพื่อประโยชน์สุขของบุคคลและประเทศชาติด้วยก็จะยิ่งดีต่อเนื่อง

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานในโอกาสต่างๆ นั้นล้วนทรงไว้ซึ่งคุณค่าในหลักคิดและหลักปฏิบัติให้ตระหนักในคุณภาพและคุณธรรม

ปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรมาตลอดเวลากว่า 25 ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งที่แล้วเมื่อปี 2540

ในแต่ละปีระยะหลังทรงย้ำถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อให้รอดพ้นวิกฤติ และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความผันผวนต่างๆ

การดำเนินตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งควรเป็นแนวทางในนโยบายของรัฐบาล และหลักคิดการดำเนินงานของหน่วยราชการต่างๆ รวมทั้งทุกครอบครัวที่ต้องมี 3 คุณลักษณะ ได้แก่

1.ความพอประมาณ หมายถึงความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

2.ความมีเหตุผล หมายถึงระดับของความพอเพียงนั้นจะต้องมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ

3.การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน โดยคำนึงถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดในอนาคตทั้งใกล้และไกล

ทั้งนี้การตัดสินใจและการดำเนินการต่างๆ มีเงื่อนไขให้คำนึงถึงความรู้วิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และคุณธรรมที่ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทนเป็นพื้นฐาน

จะเห็นได้ว่า ปัญหาเศรษฐกิจครั้งใหม่อันเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขยับขึ้น ราคาน้ำมันแพงไม่หยุด และสินค้าขึ้นราคา อาการที่เริ่มส่อเค้าไม่ว่าจะมีแรงกระทบอย่างไรก็ตาม

สำหรับครอบครัวที่น้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ โดยไม่ใจแตกไปกับกระแสบริโภคนิยมแบบ “ทุนนิยมจ๋า” ก็คงไม่ก่อหนี้ตามที่ถูกยั่วยุให้เป็นภาระจ่ายเกินตัว แม้ค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้นก็ตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น