xs
xsm
sm
md
lg

“คุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ”

เผยแพร่:   โดย: สุวัฒน์ ทองธนากุล

ขณะนี้สื่อหนังสือพิมพ์หลายฉบับพากันใช้คำว่า “พี่หนา” เมื่อเรียกขานถึงประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

คล้ายการใช้คำเรียกอย่างคนคุ้นเคย เหมือนอย่างที่เรียกแหล่งข่าวบางคนว่า “ป๋า” ว่า “เสี่ย” ก็อาจจะได้

หรือเพราะต้องใช้คำที่ประหยัดตัวอักษร ตามความจำเป็นในการสื่อความของพาดหัวข่าวก็เลยใช้คำว่า “หนา” แทนการเรียกชื่อ “วาสนา” จนมีคนพากันเรียกบ้าง

หรือบังเอิญไปพ้องเสียงกับโฆษณาคุณสมบัติที่กระเบื้อง “ตราช้าง” หรือ “ตรา 5 ห่วง” ที่อวดว่า “ใช้ทน” ก็แล้วแต่ใครจะคิดโยงไปเอง

แต่ที่แน่ๆ สังคมขณะนี้ต่างจับตาดูว่า คณะ กกต.ทั้ง 4 คน จะทนแบกหน้ารับสภาพความไม่เชื่อถือจากสังคมต่อไปได้สักอีกกี่น้ำ และสงสัยมากว่าทำไมต้องดื้อขนาดนั้น

ทั้งๆ ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่า การจัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน ที่ผ่านมานั้น ขัดรัฐธรรมนูญ และให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วัน นับแต่พระราชกฤษฎีกาแก้ไขฉบับเดิมออกมามีผลบังคับใช้

ยิ่งกว่านั้น ต่อมาที่ประชุมประธานศาลฎีกา ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ ก็ยังมีความเห็นว่าต้องมีการสรรหา กกต.ชุดใหม่มาดำเนินการเลือกตั้งใหม่ เพื่อให้สุจริตและเที่ยงธรรม

คำแนะนำของประมุข 3 ศาลได้ให้เกียรติใช้คำว่าให้ “เสียสละ” ในการลาออก เพื่อรับผิดชอบต่อผลการดำเนินงานที่ผ่านมา

แต่คณะ “พี่หนา” ก็ยังยืนยันว่า “ไม่ออก”

แถมยังเดินหน้าเตรียมการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ โดยวันนี้จะจัดประชุมหารือกับเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ตัวแทนพรรคไทยรักไทย และตัวแทนพรรคเล็ก โดยบรรดาพรรคฝ่ายค้านปฏิเสธที่จะเข้าร่วมหารือ

ก็ถ้าไปร่วมวงก็เท่ากับยอมรับกรรมการเก่า ซึ่งหมดความเชื่อถือแล้ว

ส่วนวันพรุ่งนี้ 16 พฤษภาคม การประชุม กกต.น่าจะต้องมีการพิจารณาผลการสอบสวนของอนุกรรมการต่อกรณีข้อร้องเรียนว่า พรรคไทยรักไทยจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง

ผลการสอบสวนกรณีนี้ได้เผยแพร่ไปตามสื่อต่างๆ แล้ว และตามการวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการซึ่งมีคุณนาม ยิ้มแย้ม อดีตรองประธานศาลฎีการะบุไว้นั้น ระบุถึงแกนนำหลายคน

โทษถึงขั้นยุบพรรค!

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า “พี่หนา” ประธาน กกต.ซึ่งถูกกระแสวิพากษ์จากสังคมอย่างหนัก จนหลบไปออสเตรเลียโดยอ้างว่าไปเยี่ยมลูกนั้น จะกลับมาและกล้าดำเนินการอย่างไรต่อไป

แต่ดูจากพฤติกรรมที่ผ่านมา กกต.มีปัญหาต่อการทำหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นองค์กรอิสระที่ดำเนินการเลือกตั้ง และวินิจฉัยข้อร้องเรียนด้วยความ “สุจริตและเที่ยงธรรม”

ตอนนี้จึงกลายเป็นว่า กกต.ถูกฟ้องดำเนินคดีต่อศาลปกครองหลายคดี ไม่ใช่แค่ถูกสังคมโห่ไล่

ความจริงนับแต่มีมติและคำวินิจฉัยจากหลายศาล ทั้งศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ และการประชุมร่วมกับศาลฎีกาต่อกรณีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง สังคมน่าจะโล่งใจได้ว่าสถาบันด้านการยุติธรรมได้เข้ามารองรับการสนองพระราชดำรัสเกี่ยวกับการสร้างความสุจริตและเที่ยงธรรมแล้ว

แต่ก็ได้เห็นความพยายามดิ้นรนของอำนาจทางการเมืองที่ยังสามารถครอบงำองค์กรอิสระ และก็สนองตอบที่จะปกป้องฝ่ายรัฐบาล โดยไม่หวั่นเสียงวิจารณ์

ขณะที่การทำลายกลไกการตรวจสอบอำนาจนักการเมืองฉ้อฉล และการใช้อำนาจเงินซื้ออำนาจการเมือง ซื้ออำนาจการบริหารประเทศ เพื่อสร้างนโยบายและวิธีการที่เอื้อต่อการกอบโกยผลประโยชน์ให้ตระกูลและพวกพ้องนักการเมืองได้ปรากฏผลชัดเจนถึงความเสียหายต่อผลประโยชน์ของสังคมและประเทศชาติ จนกลายเป็นวิกฤตการณ์

ปัญหาขณะนี้จึงไม่ใช่แค่ “เกมการเลือกตั้ง” เพราะด้วยระบบพรรคการเมืองที่มีอยู่ และนักการเมืองส่วนใหญ่จำนวนมากที่ยังขาดอุดมการณ์ทำเพื่อผลประโยชน์สังคมอย่างแท้จริง

จึงน่าคิดว่า เราจะเลือกตั้งให้ได้นักการเมืองมาอยู่ในอำนาจ เพื่อกำกับดูแลให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และระบบต่างๆ เพื่อ “ปฏิรูปการเมือง” ครั้งใหม่ อยู่ประมาณปีเศษแล้วยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่

หรือว่าควรจะมีคนกลางมามีอำนาจในการบริหารเพื่ออำนวยการให้มีกลไกเพื่อการปฏิรูปการเมืองแล้วค่อยมีการเลือกตั้งใหม่ด้วยกติกาใหม่ โดยไม่ต้องเสียเงินอีก 2 พันล้าน แล้วยังเสี่ยงต่อความหวังที่จะให้รัฐบาลหลังเลือกตั้งจะยอมแก้ไขกฎหมายเพื่อลดการรักษาอำนาจ และความได้เปรียบที่เคยมี

วิกฤตความเลวร้ายที่เกิดจากการบริหารที่มุ่งผลประโยชน์ทางธุรกิจการเมือง โดยละเลยการคำนึงถึงคุณภาพระยะยาวของประชาชน หลักธรรมาภิบาลเป็นเพียงคำที่ฟังดูดี แต่ผู้นำรัฐบาลไม่ยึดมั่นทำเป็นตัวอย่าง

เราน่าจะใช้โอกาสนี้เตือนภัยให้เร่งฟื้นฟู และปฏิรูปประเทศไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนประชาชนอยู่ดีมีสุขอย่างมีคุณธรรม โดยไม่เน้นแค่ทำตัวเลขการขยายตัว

ที่จริงแนวความคิดเหล่านี้ก็ล้วนมีอยู่ในแผนของ “สภาพัฒน์” ที่จะบรรลุในแผนฉบับที่ 10 รวมทั้งมีผลการวิจัยและการสัมมนามากมายอยู่แล้ว

แต่บทบาทของรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศจะเป็นตัวชี้ขาดสิ่งที่เกิดขึ้น ฉะนั้นจึงต้องแก้ที่กฎกติกาเพื่อ “ควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ” ตามที่เคยมีพระราชดำรัส
กำลังโหลดความคิดเห็น