xs
xsm
sm
md
lg

กกต.จังหวัด : เครือข่ายซอมบี้ ที่ต้องขจัดด้วย

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

ฟันธงไปก่อนเลยว่า 4 อรหันต์ กกต. จะต้องออกจากตำแหน่งอย่างแน่นอน เพราะเชื่อว่าคนที่ผ่านร้อนหนาวเคยเป็นข้าราชการผู้ใหญ่มาถึงขนาดนี้คงจะไม่หน้าด้านทู่ซี้นั่งเก้าอี้ต่อขณะที่มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญออกมาเช่นนี้

รากฐานทางวัฒนธรรมของคนไทย ไม่ได้ใจจืดใจดำเลยคนไทยพร้อมให้อภัยคนรู้สำนึกเสมอ ขนาดองคุลีมาลย์ฆ่าคนยังกลับใจมาบวชได้

บทความนี้เขียนเช้าวันที่ 9 พ.ค. ดีไม่ดี กว่าจะออกตีพิมพ์ กกต.ผู้มียางและสำนึกชั่วดีทั้ง 4 ท่านคงแสดงความรับผิดชอบไปแล้ว ซึ่งก็ไม่เป็นไรเพราะเป้าหมายของข้อเขียนชิ้นนี้อยู่ที่ เครือข่ายกกต.ในต่างจังหวัด ซึ่งเป็นกลไกปฏิบัติงานตัวจริงเสียงจริงที่ยังไม่มีใครไปแตะต้อง

กกต. มีมาแล้ว 2 ชุด เพราะ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.ออกมาตั้งแต่ปี 2541

กกต.ชุดแรก เกิดในภาวะที่นักเลือกตั้งยังไม่รู้ฤทธิ์เดชขององค์กรอิสระ จึงไม่ได้เข้ามาแทรกแซง ปรากฏว่าการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2544 ยุคคุณยุวรัตน์ กมลเวชช์ ควบคุมให้ใบเหลือง76 ใบ ใบแดง12 ใบ รวม 88 ใบ

อย่างนี้ปล่อยไว้ไม่ได้! พรรคการเมือง และ นักการเมืองในท้องถิ่น จึงหาช่องว่างเข้าไปแทรกแซง ส่งคนลงเป็น กกต. กลางและ กกต.จังหวัดในการสรรหารอบใหม่.. ส่งผลให้ กกต.ชุดใหม่ มีผลงานให้ใบเหลืองแดงรวมแล้วแค่ 7 ใบในการเลือกตั้งเมื่อปี 2548 ที่ผ่านมา

ทั้งๆ ที่ใครก็รู้ก็สัมผัสว่า การเลือกตั้งใหญ่ 6 ก.พ. 48 ครั้งที่ไทยรักไทยกวาดที่นั่ง 377 เสียงนั้น มีการทุจริตมโหฬารกันอย่างไม่อายฟ้าดิน

ไม่เพียงเท่านั้น กตต.ชุดนี้ก็มาแสดงอิทธิฤทธิ์สุดๆ ในการลากตั้งอัปยศ 2 เม.ย. ที่เพิ่งจะผ่านมาสดๆ ร้อนๆ

กกต.จังหวัดนั้น มีหน้าที่หลักๆ คืออำนวยการเลือกตั้งในจังหวัด, พิจารณาแบ่งเขต,รวบรวมดูจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งแท้จริงแล้วยังรวมไปถึง สำนวนการสืบสวนสอบสวนเรื่องการทุจริตในฐานะเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และให้มีมติวินิจฉัยเบื้องต้นก่อนจะส่งไปยัง กกต.กลาง

กกต.จังหวัดได้มาจากการสรรหา โดยจะมาจากการเสนอชื่อมาจากองค์กรต่างๆ ในจังหวัด เช่น องค์กรท้องถิ่น หอการค้า ฯลฯ แล้วมาเลือกเอาสุดท้ายเหลือ 5 คน

ในทางปฏิบัติก็รู้กันดีว่า บางจังหวัดที่ฐานอำนาจการเมืองเข้มแข็งหากผู้มีอำนาจจะส่งคนของตัวเองเป็น กกต.จังหวัดนั้น ไม่ได้ยากเย็นอะไรเลย

ส่วนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประจำสำนักงาน กกต.จังหวัดยิ่งแล้วใหญ่

กฎหมายเปิดช่องให้ นักการเมืองท้องถิ่น หรือผู้ว่าฯที่ถือเอานักการเมืองเป็นพ่อ ส่งคนเข้าไปเป็นกลไก กกต.ผ่านมาตรา 32 ที่ระบุว่า กกต.อาจขอให้ข้าราชการพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการราชการท้องถิ่นรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นมาเป็นพนักงานหรือลูกจ้างในสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นการชั่วคราว

คนที่มาทำงานพิเศษนี้ให้ถือว่าได้รับอนุญาตให้ออกจากราชการหรือออกจากงานไปปฏิบัติงานใดๆ และให้นับเวลาระหว่างที่มาทำงานกับ กกต.คำนวณบำเหน็จบำนาญหรือประโยชน์ตอบแทนอื่นทำนองเดียวกันเสมือนอยู่ปฏิบัติราชการหรือปฏิบัติงานเต็มเวลา

เจ้าหน้าที่พวกที่มาโดยไม่สุจริต จะได้ 3เด้ง

เด้งแรก-สิทธิประโยชน์ - บำเหน็จบำนาญเสมือนเป็นข้าราชการและเจ้าพนักงานท้องถิ่นเช่นเดิม

เด้งสอง-เงินเดือนใหม่จาก กกต.

เด้งสาม-ผลประโยชน์พิเศษจากการรับใช้เลียตีนนักการเมือง ในการทำงานภายในสำนักงานที่ทำงานเรื่องการสืบสวนร้องเรียน ใครมาฟ้องร้องอะไร คู่แข่งขยับทางไหน พวกเป็นรู้หมด

ไม่มีใครสนใจตามไปดูว่า เจ้าหน้าที่ กกต.ที่ถูกเล่นงานให้ออกกรณีไปช่วยแก้บัญชีสมาชิกตอนที่มีการโกงส่งคนพรรคเล็กไปลงสมัครหนีกฎ 20% นั้น เป็นข้าราชการที่ขอยืมตัวมาแบบนี้หรือไม่ มาจากหน่วยงานในอดีตของ รมช.หรือเปล่า?

เจตนารมณ์การปฏิรูปการเมืองรอบแรกต้องการขจัดกลไกโกงของมหาดไทย ให้มี กกต.ที่เลียนมาจากระบบของอินเดียซึ่งมีประสิทธิภาพที่สุดในโลก การณ์กลับกลายเป็นว่า ทั้งหน่วยงานโกงเก่า และหน่วยงานใหม่ ร่วมกันโกงไปเสียฉิบ!

เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ปลัดมหาดไทยตามขบวนหาเสียงของพ.ต.ท.ทักษิณไปแทบทุกจังหวัดในระหว่างการหาเสียงปี 2548 ไม่รู้ทำอีท่าไหนได้รับปูนบำเหน็จเป็น รมช.มหาดไทย

ผู้ว่าราชการจังหวัดภาคเหนือ(คนรู้กันทั้งเมือง)นั่งหัวโต๊ะ สั่งข้าราชการว่าต้องได้ยกจังหวัดเพื่อจะได้งบประมาณมาพัฒนาเมืองของเรา

สำนักงานทะเบียนราษฎร์ของมหาดไทยก็ขยันเหลือเกิน จู่ๆ ก็ส่งรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งใหม่กะทันหันหลังจากการรับสมัครไปแล้วเพิ่มอีกเป็นหมื่นๆ ชื่อ

อย่างที่เชียงใหม่ ระหว่างการเลือกตั้งปี 48 มีชื่อพิเศษเพิ่มขึ้นกะทันหันในเขต 1 และ 4 ที่แข่งกันดุเดือด

เอาเฉพาะตัวอย่างเดียว....เขตเลือกตั้งที่ 1 สู้กันระหว่าง ปกรณ์ บูรณุปกรณ์ กับ เดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่ ที่คู่คี่มาก

กกต.ประกาศชื่อใหม่วันที่ 5 ก.พ.48 ก่อนการเลือกตั้งวันเดียว มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 116,673 คน เพิ่มจากยอดเดิมที่ประกาศเมื่อ 10 มกราคม 48 จำนวนแค่ 109,542 คน สรุปมีคนเพิ่มขึ้น 7,131 คน

แถมส่วนใหญ่เพิ่มมาจากพื้นที่เทศบาลตำบลช้างเผือกซึ่งมีนายกเล็กฯ นามสกุล บูรณุปกรณ์ เหมือนกับผู้สมัคร

กกต. ก็ทำตาใส บอกว่า มหาดไทยส่งมายังไงก็เอาตามนั้น

รอบที่แล้วไม่มีใครสนใจ รอบนี้เอาใหม่..เชียงใหม่เมืองเดิมนั่นแหละ

การเลือกตั้งปี 49 ยอดผู้ใช้สิทธิ์เลือก ส.ส. กับ ส.ว. ห่างกัน 2 หมื่นชื่อ ทั้งๆ ที่เวลาห่างกันแค่ 2 สัปดาห์

เลือก ส.ส. 2 เม.ย. มีผู้ใช้สิทธิ์ 1,161,954 คน

เลือกส.ว. 19 เม.ย. 1,143,384 คน

เพียงไม่กี่วันคนหายจากบัญชีเกือบ 2 หมื่นชื่อ มีผู้สื่อข่าวหน้าหล่อในท้องถิ่นไปถาม กกต. มันก็ตอบเลี่ยงๆ ไปว่าจะตรวจสอบดู แล้วก็เงียบไป เหมือนกับการเลือกตั้งเมื่อปี 48

เขาว่ากันว่า มีปลัดอำเภออยากก้าวหน้าเร็วบางคน เป็นนายหน้าไปติดต่อชาวบ้านเอาชื่อผีลงบ้านละ 2-3 คน ในบางเขต .. เจ้าบ้านเองก็สมยอมเพราะสวามิภักดิ์กับพรรคการเมืองชื่อดังอยู่แล้ว

ได้ทั้งตังค์ได้ทั้งเหลี่ยม!

แบบนี้แหละครับที่เขาระเรียกว่าระบอบทักษิณ คือระบอบที่ปลัดกระทรวงเดินตามหาเสียง ผู้ว่าฯรองผู้ว่าฯ ก็ต้องไปรับและอยู่ในที่หาเสียงด้วย จู่ๆทะเบียนราษฎร์ฯ จะเพิ่มกะทันหัน กกต.ก็รับมาประกาศโดยดีไม่เฉลียวใจสักแอะ

เอากะเขาสิ..กกต.บางคนยังเป็นดองกับพ่อเลี้ยงใหญ่ พ่อตารัฐมนตรีอีกต่างหาก!!

สำหรับคนในต่างจังหวัดแล้ว กตต.ใหญ่ออกไปให้หมด 4 คนมันก็ไม่เป็นผลอะไรหรอก

ในเมื่อภายในสำนักงาน กกต.จังหวัด มีแต่ซอมบี้ที่ติดรีโมตเต็มไปหมด

และในศาลากลางจังหวัดมีแต่หัวคะแนนพรรคการเมือง..สวมเสื้อสีกากีติดบั้งนั่งอยู่เต็ม

ไหนๆ เราจะเดินหน้าทำการเมืองให้สะอาด เลิกระบบมั่วๆ ที่วิกฤตที่สุดในโลกกันแล้ว การเลือกตั้งรอบนี้ หากทำอะไรที่สะอาดกว่าเดิมได้ก็ควรทำ

กกต.จังหวัด และ เจ้าพนักงานที่ยืมตัวมาทั้งหมด ออกไปเถอะครับ

แล้วมหาดไทยเองก็ต้องทำตัวให้โปร่งใส ให้ตรวจได้ว่ามีการเพิ่ม-ลดประชากรผิดปกติหรือไม่อย่างไร

ผู้ว่าฯ ก็ต้องเลิกรับจ๊อบเป็นหัวคะแนนได้แล้ว

กกต.กลางลาออกยังไม่พอครับ ต้องล้างไพ่ระบบจัดการเลือกตั้งทั้งระบบด้วย ใช้เวลาเพิ่มสักหน่อย ทำประเทศไทยให้สะอาดจริงๆ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นการปฏิรูปการเมืองรอบใหม่!!
กำลังโหลดความคิดเห็น