xs
xsm
sm
md
lg

ต้องเปลี่ยน กกต.

เผยแพร่:   โดย: สุวัฒน์ ทองธนากุล

ขณะนี้กระแสสังคมยังคงจับจ้องไปที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ว่าจะมีสำนึกถึงผลที่ก่อให้เกิดปัญหาแล้วตั้งหลักใหม่ปรับตัวใหม่

แต่คงเป็นไปได้ยาก เพราะดูเหมือนกรรมการ กกต.ไม่รู้สึกว่าผิด ทั้งๆที่ผลจากการกำหนดวันเลือกตั้ง และวิธีการจัดการเลือกตั้งได้ส่งผลซ้ำเติมให้เป็นวิกฤตทางการเมืองหนักขึ้น

คุณปริญญา นาคฉัตรีย์ ถึงกับบอกว่า

“เราก็พูดกันเล่นๆ ในที่ประชุม กกต.ว่า ที่มีข่าว กกต.บางคนจะลาออก ก็อย่าเพิ่งลาออกกัน อย่าเพิ่งถอดใจ เพราะมีกันอยู่ 4 คนเท่านั้น ที่ผ่านมา เราก็ยังไม่ได้ทำอะไรผิด”

เหตุการณ์มาถึงขนาดนี้ก็ยังเหมือนไม่รู้สึกอะไร จึงเป็นเรื่องที่น่าเวทนามาก

ถึงกับต้องมีกระแสพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 25 เมษายนนี้ ซึ่งทรงถามเรื่องการเลือกตั้งให้เสร็จภายใน 30 วันถูกต้องหรือไม่ และการเลือกตั้งที่ผ่านมา เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ และการเลือกตั้งนี้เป็นโมฆะหรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้องก็จะต้องแก้ไข

น่ายินดีที่ผู้นำ 3 สถาบันคือ ศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด และศาลรัฐธรรมนูญ ก็ได้รีบนัดหมายปรึกษาหารือเป็นการด่วน เพื่อหาทางแก้ไขความไม่ถูกต้อง และได้ข้อสรุป 3 ประเด็นคือ

1. ศาลแต่ละแห่งจะวินิจฉัยคดีไปตามอำนาจของตัวเอง ด้วยความอิสระโดยสุจริตและยุติธรรม

2. การใช้และการตีความกฎหมายของแต่ละศาล ความเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อป้องกันความขัดแย้งและสับสนของประชาชน

3. แต่ละศาลจะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างรวดเร็วตามความจำเป็นเร่งด่วนของแต่ละปัญหา

สังคมได้เฮเมื่อศาลปกครองกลางได้สั่งระงับการเลือกตั้งซ่อมรอบ 3 ใน 14 เขต ของ 9 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งจะมีการเลือกตั้งในวันรุ่งขึ้น 29 เมษายน เป็นการชั่วคราวจนกว่าคดีสิ้นสุดที่มีผู้ร้องต่อศาลปกครองว่า กกต.จัดการเลือกตั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 2 เมษายน เป็นไปโดยผิดกฎหมาย

แต่ กกต.ก็ยังจะอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครอง และเดินหน้ารับรองผลการเลือกตั้งต่อไป โดยไม่ยอมรับผิด

ทั้งๆ ที่วงการนักกฎหมาย นักวิชาการต่างๆ และกระแสสังคมต่างวิพากษ์วิจารณ์ความไม่ถูกต้องในการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ จนมีการร้องต่อศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นสรุปดังนี้

1. กำหนดวันเลือกตั้งไม่เหมาะสม

2. จัดคูหาจนไม่เป็นการลงคะแนนลับ

3. มีการฮั้วกันทางการเมือง โดยพรรคใหญ่จ้างพรรคเล็กเป็นไม้ประดับลงสมัคร เพื่อหนีปัญหาการได้คะแนนไม่ถึง 20%

4. กกต.ประกาศรับรองผลเลือกตั้ง โดยไม่มีการประชุมเป็นมติคณะกรรมการ

สังคมจึงคาดหวังว่าทางออกของการแก้วิกฤตโดยกระบวนการทางศาลนั้น จะมีผลให้การเลือกตั้งครั้งพิสดารที่ผ่านมาเป็นโมฆะ

ขณะที่ความวิตกต่อมาก็คือ หาก กกต.ไม่รับผิดชอบต่อความผิดพลาดด้วยการลาออกแล้วมีการสรรหาเปลี่ยนชุดใหม่

หากยังเป็น กกต.ชุดเดิมซึ่งสังคมไม่เชื่อถือเพราะมุ่งมั่นรับภารกิจจัดการเลือกตั้งด้วยพฤติกรรมแบบเก่า ผลที่ออกมาจะเชื่อได้อย่างไรว่ามีความเป็นธรรม

บทความของคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานวุฒิสภาที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มีชัย ไทยแลนด์ ดอทคอม ได้ชี้พฤติกรรมของคนซึ่งเป็นเรื่องสำคัญให้เห็นว่า...

กกต.เป็นองค์กรเดียวภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีอำนาจมากที่สุด คือมีอำนาจทั้งการนิติบัญญัติ (การออกกฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการเลือกตั้ง) อำนาจในการบริหารจัดการ และอำนาจในการตุลาการ (การวินิจฉัยตีความ การวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง และการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ อันเป็นผลให้สมาชิกภาพของ ส.ส.หรือ ส.ว.ต้องสิ้นสุดลง)

ด้วยความอิสระและอำนาจที่มากมายเช่นนั้น รัฐธรรมนูญฝากความหวังให้เป็นหน้าที่ของ กกต.เพียงเรื่องเดียวคือ การจัดการเลือกตั้งให้เป็นไป “โดยสุจริตและเที่ยงธรรม”

คุณมีชัยเล่าว่า ก่อนจะมีการประกาศยุบสภา มีข่าวว่าฝ่ายบริหารได้หารือ กกต.ว่ารัฐบาลต้องการให้มีการเลือกตั้งเร็วที่สุด กกต.ก็สนองตอบโดยบอกว่าสามารถจัดการเลือกตั้งเร็วที่สุดในวันที่ 2 เมษายน

...ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดวันสำหรับการเลือกตั้งในกรณีที่อายุของสภาสิ้นสุดลงไว้ 45 วัน (เพราะรู้กันล่วงหน้าแล้วว่า อายุของสภาจะสิ้นสุดลงเมื่อไร) และสำหรับการเลือกตั้งในกรณียุบสภาภายใน 60 วัน (เพราะไม่มีใครรู้ล่วงหน้า ทุกฝ่ายจึงต้องใช้เวลาในการเตรียมการมากขึ้น) การกำหนดระยะเวลาไว้แตกต่างกันเช่นนี้ ก็เพราะคำนึงถึง “ความเที่ยงธรรม” ต่อทุกฝ่าย...

ขอถามว่าที่ กกต.จัดการเลือกตั้งโดยให้เวลา 37 วันเพื่อให้รวดเร็วตามความประสงค์ของรัฐบาลนั้น กกต.ได้คำนึงถึง “ความเที่ยงธรรม” สำหรับทุกฝ่ายตามหน้าที่หลักของ กกต.หรือไม่

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องของจิตสำนึก คุณธรรมของผู้มีตำแหน่งหน้าที่ว่าทำไป “เพื่อใคร”

การพยายามอ้างตัวว่าเป็นเรื่องของกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ แล้วไปโทษผู้ร่างรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย จึงเป็นการแก้ตัวแบบศรีธนญชัย

แม้รัฐธรรมนูญจะมีจุดอ่อนบางจุดที่ต้องแก้ไข แต่ก็ไม่ใช่สาเหตุทั้งหมดของความเลวร้ายที่เกิดขึ้นขณะนี้

หากไม่มีคน “เหลี่ยมจัด” ที่ครอบงำกลไกต่างๆ จนระบบตรวจสอบที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อถ่วงดุลฝ่ายบริหารถูกบั่นทอนทำลายจนกลายเป็นเครื่องมือผู้มีอำนาจทางการเมือง

ดังนั้น ถ้ามีการแข่งขันเลือกตั้งใหม่ ได้กรรมการที่ไม่เที่ยงธรรม ผลออกมาก็ยี้เหมือนเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น