xs
xsm
sm
md
lg

ตัวแปรการนำไปสู่การเป็นมหาอำนาจ

เผยแพร่:   โดย: ลิขิต ธีรเวคิน

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการเมืองระหว่างประเทศ เช่นเดียวกับการเมืองภายในประเทศ จะขึ้นอยู่กับตัวแปรต่างๆ หลายตัว ตัวแปรที่สำคัญได้แก่ การปรากฏของประเทศที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี โครงสร้างทางสังคม อาวุธยุทโธปกรณ์เหนือกว่าประเทศอื่น ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในฐานะเป็นมหาอำนาจ จะเห็นได้ว่าในอดีตนั้น อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน วิลันดา โปรตุเกส ถือได้ว่ามีบทบาทอย่างมากในการกำหนดการเมืองระหว่างประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ต่อมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต ได้กลายเป็นสองมหาอำนาจที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเหตุการณ์ระหว่างประเทศ ดังนั้น ความรู้และความเข้าใจ และมีวิสัยทัศน์ว่าสภาวะการเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบันเป็นอย่างไร และศักยภาพของประเทศที่จะพัฒนาไปในอนาคตเป็นอย่างไรนั้น จะเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด

ในระหว่างยุคสงครามเย็น ประเทศที่มีบทบาทอย่างมากมีสองมหาอำนาจคือ สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต โดยสองประเทศนี้ได้บดบังความสำคัญของประเทศในยุโรปตะวันตก ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน ในขณะเดียวกันประเทศที่มีอำนาจอย่างมากทางเศรษฐกิจคือประเทศญี่ปุ่น โลกต่างหันมองญี่ปุ่นเป็นแบบอย่างของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็มองดูสาธารณรัฐประชาชนจีนเพียงเป็นหนึ่งประเทศในโลกที่สามที่ด้อยพัฒนา สำหรับอินเดียนั้นแม้จะมีประชากรเป็นจำนวนมากก็ถูกมองว่าเป็นประเทศที่กำลังเกิดวิกฤตทั้งเศรษฐกิจและสังคมเพราะความคลั่งศาสนา

การมองอย่างผิวเผินเช่นนั้นทำให้มองข้ามศักยภาพอันสำคัญของประเทศจีนและประเทศอินเดีย เมื่อกว่า 30 ปีที่แล้วผู้เขียนได้ศึกษากับศาสตราจารย์ เอ.เอฟ.เค ออร์สแกนกี้ แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแ กน ซึ่งได้กล่าวว่า ความจำเริญเติบโตแห่งชาติ (National Growth) จะส่งผลถึงอำนาจแห่งชาติ (National Power) โดยมีตัวแปร 5 ตัวคือ

ตัวแปรแรก จะต้องมีการพัฒนาการเมืองโดยมีระบบและกระบวนการที่เอื้ออำนวยต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในวิถีการผลิต การกำหนดการตัดสินใจนโยบายสาธารณะ

ตัวแปรที่สองจะต้องมีการพัฒนาเศรษฐกิจจากเกษตรไปสู่อุตสาหกรรม ข้อสังเกตคือ ในยุคนั้นการพัฒนาทางเทคโนโลยีสารสนเทศยังไม่พัฒนาอย่างเต็มที่จึงไม่มีการกล่าวถึง

ตัวแปรที่สาม ได้แก่ การมีระบบสังคมที่เอื้ออำนวยโอกาสให้มีการขยับชั้นทางสังคม ด้วยการเข้าถึงการศึกษา

ตัวแปรที่สี่ ประชากรจะต้องมีจิตวิทยาที่ทันสมัย มีความคิดแบบวิทยาศาสตร์ มีเหตุมีผล ไม่หลงงมงาย

และที่สำคัญตัวแปรที่ห้า ได้แก่ จำนวนประชากรที่มากพอ มหาอำนาจในอดีตเช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน มีประชากรไม่น้อยกว่า 30 ล้านคน ทั้งนี้เนื่องจากประชากรที่มีจำนวนมากพอนั้นจะเป็นแรงผลิตทางเศรษฐกิจ จะมีการนำไปสู่อุปสงค์ของตลาดภายในจนทำให้เกิดการผลิตที่มีจำนวนมาก อันจะนำไปสู่ต้นทุนการผลิตที่ต่ำ แต่ที่สำคัญประชากรจะต้องเป็นประชากรที่มีคุณภาพ ซึ่งได้แก่ มีการศึกษา มีรายได้เพียงพอ และโครงสร้างอายุต้องอยู่ระหว่างการผลิตคือระหว่าง 16-60 ปี เป็นจำนวนมากพอ

เมื่อมองจากตัวแปรทั้งห้าตัวแล้ว ก็มีการสรุปว่าจีนจะเป็นมหาอำนาจและเศรษฐกิจของจีนอาจจะล้ำหน้ากว่าสหรัฐอเมริกา ผู้เขียนได้นำการวิเคราะห์ดังกล่าวมาใช้กับประเทศอินเดียด้วย แต่เมื่อมีการพูดถึงศักยภาพและโอกาสของการเป็นมหาอำนาจของจีนและอินเดีย ปรากฏว่าเพื่อนอาจารย์หลายคนเห็นเป็นเรื่องขบขัน บางคนก็กล่าวว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ทั้งนี้และทั้งนั้นก็เนื่องจากนักวิชาการดังกล่าวนั้นประเมินจีนและอินเดียจากความรู้สึก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากความเข้าใจอย่างผิวเผินโดยมองว่าคนจีนส่วนใหญ่คือตาแป๊ะและยายซิ้ม เก่งในการค้าขาย มีความเป็นอยู่แบบคนที่ไม่มีการศึกษามากนัก โดยดูจากคนจีนส่วนใหญ่ที่อยู่ในเมืองไทย และมองว่าคนอินเดียก็คือแขกขายโรตี แขกยาม และแขกขายผ้า โดยมิได้ดูตัวแปรในเรื่องอาณาเขตของประเทศอันกว้างใหญ่ ทรัพยากรอันมหาศาล และจำนวนประชากรเป็นร้อยๆ ล้านคน โดยในยุคนั้นจีนมีประชากร 600 ล้านคน อินเดียมีประชากรประมาณ 300-400 ล้านคน สิ่งที่นักวิชาการได้ยินมาเกี่ยวกับจีนและอินเดียได้ยินโดยผ่านนักวิชาการตะวันตกที่ประเมินทั้งสองประเทศอย่างดูถูกดูแคลน โดยมองข้ามตัวแปรที่กล่าวมาทั้งห้าตัวแปร มองข้ามความจริงที่ว่า ทั้งจีนและอินเดียเป็นประเทศที่มีอารยธรรมและวัฒนธรรมเก่าแก่ของโลก อารยธรรมและวัฒนธรรมจีนประมาณ 4-5 พันปี ของอินเดียประมาณ 3-4 พันปี และที่สำคัญการที่มีพื้นที่ภูมิศาสตร์อันกว้างใหญ่นั้นย่อมสะท้อนถึงประสิทธิภาพของระบบการเมืองและการปกครองในอดีต จึงสามารถขยายอาณาจักรจนกลายเป็นประเทศที่ใหญ่โตมหึมา

เมื่อผู้เขียนได้ไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 1976 (2519) โดยผู้เขียนเดินทางจากเกียวโตไปรวมกับคณะนักวิชาการจากประเทศไทยที่ฮ่องกง เพราะในขณะนั้นผู้เขียนกำลังเป็นนักวิจัยของศูนย์ศึกษาอุษาอาคเนย์ ของมหาวิทยาลัยเกียวโต เมื่อผู้เขียนกลับมาก็ได้บรรยายให้นักวิชาการญี่ปุ่นฟังโดยมีเนื้อความว่า ประเทศจีนมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ พื้นที่กว้างใหญ่ มีประชากรจำนวนมหาศาลเป็น 6 เท่าของญี่ปุ่น มีระบบการเมืองที่ยังไม่มีเสถียรภาพ แต่ถ้ามีเสถียรภาพเมื่อใดก็จะเป็นตัวแปรที่สำคัญ มีอุดมการณ์ที่ปลุกระดมมวลชนได้ สิ่งที่ขาดอยู่คือทิศทางในการพัฒนาแบบทันสมัย และที่สำคัญที่สุดคือความรู้ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เมื่อใดจีนมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจีนจะก้าวล้ำหน้าไปอย่างรวดเร็ว นักวิชาการญี่ปุ่นส่วนใหญ่ฟังแล้วไม่แสดงความคิดเห็นอะไร เนื่องจากมีความเชื่อมั่นว่าญี่ปุ่นจะต้องเป็นเอกทางการพัฒนาเศรษฐกิจตลอดไป

ในกรณีของอินเดียนั้น หลายคนลืมไปว่าแม้ในยุค 30 ปีก่อนอินเดียก็เป็นประเทศที่มีนักวิทยาศาสตร์เป็นที่สามของโลก ที่หนึ่งได้แก่ สหรัฐฯ ตามมาด้วยสหภาพโซเวียต แต่ที่สำคัญอินเดียมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย มีระบบการบริหารซึ่งเป็นมรดกตกทอดของอังกฤษ มีความรู้ภาษาอังกฤษที่สามารถจะศึกษาค้นคว้าหาความรู้จากตำรับตำราเพื่อเรียนรู้วิทยาการต่างๆ ของโลก นอกเหนือจากนั้นปรัชญาต่างๆ แม้จะมีทั้งบวกและลบก็เป็นฐานสำคัญของความเข้าใจโลกที่เป็นรูปธรรม เนื่องจากความมั่งคั่งในหลักการต่างๆ ที่เป็นนามธรรมอันสร้างสมมาจากปรัชญาสังคม ศาสนา และวิทยาศาสตร์ ศักยภาพของอินเดียแม้จะด้อยกว่าจีนในบางด้านแต่ก็สูงพอที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่เป็นมหาอำนาจได้ ประเด็นสำคัญที่สุดคือความทันสมัยทางจิตวิทยาศาสตร์ของคนส่วนใหญ่ยังเป็นปัญหา เพราะความศรัทธาเชื่อมั่นอย่างสุดโต่งในศาสนา แต่ก็มีกลุ่มคนที่เป็นคนได้รับการศึกษาแบบตะวันตก และมีนักธุรกิจที่จัดว่าเป็นคนร่ำรวยหรือชนชั้นกลางที่มีฐานะอย่างต่ำ 200 ล้านคน

ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้ทำให้มองเห็นได้ว่า ทั้งสองประเทศคือจีนและอินเดียจะต้องเป็นมหาอำนาจในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า นี่คือสิ่งที่ผู้เขียนได้วิเคราะห์ไว้เมื่อประมาณกว่า 30 ปีที่แล้ว แต่ไม่มีนักวิชาการคนใดเห็นคล้อยตาม อันสะท้อนถึงจุดบอดแห่งความสามารถในการวิเคราะห์อย่างวัตถุวิสัย โดยดูจากทฤษฎีและตัวแปร รวมทั้งการทำนายอนาคตจากสิ่งที่ปรากฏในปัจจุบัน โดยข้อมูลและทฤษฎีรวมทั้งการใช้วิสัยทัศน์ในการวิเคราะห์

ในปัจจุบันมีการกล่าวว่า ประเทศที่จะต้องจับตามองต่อไปในอนาคตในศตวรรษที่ 21 ได้แก่ประเทศที่เรียกว่า BRIC อันได้แก่ Brazil Russia India China ซึ่งก็คงต้องประเมินจากตัวแปรห้าตัวที่กล่าวมาเบื้องต้น

ในกรณีประเทศไทยนั้น ระดับการพัฒนาการเมืองอยู่ในระดับที่ไม่เลวนัก เห็นได้ว่าความตื่นตัวของประชาชนนั้นมีเพิ่มขึ้น ในแง่โครงสร้างก็จัดว่าอยู่ในขั้นใช้ได้ แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือ วัฒนธรรมทางการเมืองและจิตวิญญาณแห่งความเป็นประชาธิปไตยซึ่งยังต้องมีการพัฒนาอีกมาก ทั้งในหมู่ผู้ครองอำนาจรัฐและในหมู่ประชาชน ในส่วนของสังคมนั้นโอกาสของการขยับชั้นทางสังคมมีสูงขึ้นกว่าอดีต ระดับการศึกษาก็อยู่ในขั้นใช้ได้ คนไม่รู้หนังสือมีจำนวนน้อย ในแง่การพัฒนาเศรษฐกิจนั้นเรามีทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจดีพอสมควร แต่สิ่งที่ขาดคือการวิจัย ค้นคว้าและพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของตนเอง ส่วนใหญ่ใช้วิธีซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ในแง่ประชากรนั้นยังมีปัญหาที่ว่าประชากรจำนวนไม่น้อยยังมีลักษณะของคนชนบท และยังไม่มีความทันสมัยทางจิตวิทยา คนจำนวนมากยังเชื่อและหลงงมงายในอำนาจเหนือธรรมชาติ

ถ้าหากสามารถยกคุณภาพของประชากร 65 ล้านคนด้วยการปฏิรูปวัฒนธรรมสังคมและวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย และระบบการศึกษาที่สอดคล้องกับยุคปัจจุบัน ศักยภาพและโอกาสของการก้าวไปสู่ความเป็นมหาอำนาจระดับกลางย่อมเกิดขึ้นได้

ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน
ราชบัณฑิต
กำลังโหลดความคิดเห็น