xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลสรุปแก้รธน.วันนี้ ประเวศแนะเพิ่มตัวแทนสื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครม.ถกร่างแก้ไขรธน.ของรัฐบาลวันนี้ "ทักษิณ"ส่งสัญญาณแก้มาตราเดียว อ้างสุภาษิต อะไรไม่เสียอย่าไปซ่อม เดี๋ยวเครื่องรวน ด้าน"หมอประเวศ"แนะให้มีตัวแทนจากสภาการหนังสือพิมพ์ เข้าเป็น กก.สรรหาด้วย "เสน่ห์"ชี้ปัญหาเกิดจากการตีความกฎหมายแบบศรีธนญชัย ด้านอดีตส.ส.ร.เสนอสูตรกก.สรรหา 3-8-4

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีการเสนอให้แก้การสรรหาองค์กรอิสระหลายองค์กรไปพร้อมกัน ว่า เป็นเรื่องของ 100 คน 100 ความคิด แต่ในที่สุดความคิดจะต้องตกผลึกว่าอะไรที่ดีที่สุด สุภาษิตฝรั่งกล่าวว่า "อะไรที่ไม่เสีย อย่าไปซ่อม " ชอบซ่อมของไม่เสีย แล้วมันจะรวน ถ้าอันไหนที่เสียค่อยซ่อม อันไหนไม่เสีย ก็อย่าไปซ่อม ของมันดีอยู่แล้วมันจะรวน

"ผมบอกแล้วว่ารัฐบาลไม่มีวาระซ่อนเร้นอะไร ต้องการที่จะเห็นว่าสิ่งไหนเป็นเรื่องจำเป็นต้องแก้ ก็ต้องแก้ไข อะไรที่ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องแก้"นายกรัฐฒนตรี กล่าว และว่ายินดีรับฟังความเห็นของส.ว.ที่จะเสนอแนวทางการแก้ไขรธน.เข้ามา

สำหรับพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ระบุว่า กรรมการสรรหาองค์กรอิสระจะต้องแต่งตั้งภายใน 30 วัน แต่เมื่อดูกระบวนการแล้ว อาจจะไม่เสร็จได้ทันจะต้องมีการแก้ไขในจุดนี้ก่อนหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ มีเจตจำนงให้เกิดการเร่งรัด เพื่อไม่ให้มีการถ่วงเวลา นั่นคือ เจตนาของกฎหมายๆ ตีความโดยลายลักษณ์อักษร และโดยเจตนารมณ์ หรือจาตรีประเพณี ดังนั้นการตีความแบบนี้เป็นการตีความเจตนารมณ์ของกฎหมาย จึงตีความได้ว่า เพื่อไม่ให้มีคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือคนใดคนหนึ่ง หรือผู้ที่มีอำนาจไปดึงการแต่งตั้ง ทำให้ไม่สามารถตั้งได้ทันระยะเวลา 30 วัน ดังนั้นจึงมีการวางกรอบไว้ให้ทำภายใน 30 วัน แต่ถ้าทำไม่ได้จริงๆ ด้วยเป็นเหตุสุดวิสัย ไม่ได้ดึงมันถือว่าไม่มีบทลงโทษ เราจะต้องมองที่เจตนารมณ์เป็นหลัก

ผู้สื่อข่าวถามว่า การแก้กฎหมายลูก เพื่อปลดล็อกก่อนเป็นไปได้หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงไม่จำเป็น เพราะยังไปติดรัฐธรรมนูญอยู่ดี เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด

**รัฐบาลยังอุบประเด็นแก้รธน.

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรครัฐบาล(วิปรัฐบาล)แถลงข่าวหลังการประชุม กรรมการวิปรัฐบาล มีสองแนวทาง คือ 1.แก้มาตรา 297เพียงมาตราเดียวเพื่อความรวดเร็ว 2.ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 138 และ มาตรา 257 พ่วงกับมาตรา 297 ไปพร้อมๆกัน แม้ในมาตรา 138 และมาตรา257 จะยังไม่ถึงเวลาแก้ไขก็ตาม

นอกจากนี้ วิปรัฐบาลยังเห็นว่า การสรรหากรรมการองค์กรอิสระนั้นควรมีตัวแทนภาคประชาชนไว้ด้วยเพื่อที่จะเป็นจุดยึดโยงกับประชาชน โดยเห็นว่าประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้าน น่าจะเป็นตัวแทนในสัดส่วนพรรคการเมือง ขณะเดียวกันวิปรัฐบาลบางส่วนยังมองว่าควรให้พรรครัฐบาล และพรรคฝ่ายค้านเลือกตัวแทนมาฝ่ายละหนึ่งคน ในสัดส่วนพรรคการเมือง เพราะผู้พิจารณาคัดเลือกกรรรมการองค์กรอิสระคือ ส.ว.

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้มอบหมายให้ นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ ไปประสานกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้เตรียมร่างการการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเสนอ ครม.พิจารณาในวันที่ 7 มิ.ย.ไว้สองร่าง คือ แก้ไข มาตรา 297เพียงมาตราเดียว และร่างการแก้ไขสามมาตรา

**"ประเวศ"แนะให้มีตัวแทนสภาการนสพ.ด้วย

ด้านน.พ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวว่า ต้องระวังเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ การกระทำอะไรนั้นต้องมีศักดิ์ศรี มีความถูกต้อง ต้องกระทำด้วยความเคารพ อย่าทำลวกๆ เร็วๆ

ดังนั้นหากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงนี้ ควรกระทำกับปัญหาเฉพาะหน้า คือการสรรหาคณะกรรมการป.ป.ช.เพียงเรื่องเดียวอย่าพ่วงเรื่องอื่นๆ เข้าไป โดยตัวแทนพรรคการเมือง ก็ไม่ควรจะเข้าไปเป็นกรรมการสรรหาฯ เพราะตอนนี้พรรครัฐบาลเป็นพรรคใหญ่ที่อาจเข้าไปครอบงำการสรรหาได้ และองค์กรอิสระจะอ้างความเป็นอิสระไม่ได้เลย

เนื่องจาก ป.ป.ช. ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบนักการเมือง ตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน หากรัฐบาลส่งคนในสังกัดไปเป็นกรรมการองค์กรอิสระ จะทำให้การตรวจสอบขาดกลไกที่เชื่อถือได้ และ มันอาจย้อนกลับมาทำลายนักการเมืองและรัฐบาล ทำให้รัฐบาลไม่เป็นอันทำงาน ในที่สุดจะอ่อนเปลี้ยเพลียแรง

"ตอนนี้รัฐบาลก็ถูกกล่าวหาว่าทุจริตหลายเรื่อง หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญในการสรรหากรรมการองค์กรอิสระ ที่มีตัวแทนพรรคการเมืองไปร่วมสรรหาด้วยนั้น มันจะเกิดผลเสียกับรัฐบาลในอนาคต"น.พ.ประเวศ กล่าว และว่า ที่มาของกรรมการสรรหาองค์กรอิสระ ควรต้องเป็นกลาง เพื่อประชาชนจะได้เชื่อถือ เช่น อธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างๆ ผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่ด้านยุติธรรม และ สภาการหนังสือพิมพ์ ซึ่งมีความเป็นกลาง เป็นต้น

นายเสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญที่กำลังทำอยู่ในขณะนี้ เป็นการแก้ตัวหนังสือที่วนไป เวียนไป บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญพอไปเจอปัญหาก็แก้ไขกันทีผลที่สุดก็ต้องกลับมาที่เดิม คือ แก้ตัวหนังสืออีกครั้ง จะเขียนอย่างไร ก็ Abuse (ผิดเพี้ยน)ไปหมด เพราะการตีความทางกฎหมายแบบศรีธนญชัย จนทำให้เกิดวิกฤตทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะทางการเมือง

"มานั่งพูดกันว่าจะแก้อย่างนั้น แก้อย่างนี้ หมายความว่า เราเอานักกฎหมายมาตีความตัวบทต่างๆ ก็แก้ไม่ได้ เพราะปัญญาของคนนำมาใช้ในทางชั่วได้ทั้งนั้น จะเขียนอย่างไร ไม่เกินวิสัยปัญญาชั่วของคน ตราบใดที่สังคมไทยยังไม่ตระหนักไม่สำนึกในเรื่องของวัฒนธรรมที่กำลังวิกฤต ถึงแก้รัฐธรรมนูญไปก็แก้อะไรไม่ได้ เพราะเป็นแค่ตัวหนังสือ แก้ไปแก้มาในที่สุดก็เป็นวัวพันหลัก ทำนองเดียวกับสุนัขวิ่งไล่กัดหางตัวเองก็วนอยู่อย่างนั้น" นายเสน่ห์ กล่าว

**อดีตส.ส.ร.เสนอสูตร3-8-4

น.ท.สุรินทร์ แสงสนิท อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ได้ยื่นข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เนื่องจากไม่เห็นด้วย ต่อกรณีที่รัฐบาลเสนอตัดตัวแทนพรรคการเมืองออกจากการเป็นคณะกรรมการสรรหากรรมการป.ป.ช.เนื่องจากขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

น.ท.สุรินทร์ กล่าวว่า เวลานี้ ป.ป.ช.เกิดสูญญากาศ ควรจะต้องแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้เร็วที่สุดแต่การที่รัฐบาลเสนอตัดตัวแทนพรรคการเมืองออกนั้น ไม่เห็นด้วย เพราะพรรคการเมืองถือเป็นตัวแทนของประชาชน รวมทั้งกรณีที่เสนอให้มีกรรมการสรรหา 16 คนตนก็ไม่เห็นด้วย เพราะ เวลาโหวตอาจจะทำให้มีปัญหาทางตัน บล็อกโหวตเกิดขึ้นได้ ฉะนั้นไม่ควรเสนอเลขคู่ ต้องเป็นเลขคี่ แม้แต่ตัวประธานรัฐสภา ที่จะเอาเข้ามาเป็นกรรมการสรรหานั้น ก็ไม่ควรเข้ามา เพราะ ต้องทำหน้าที่เป็นกลาง ไม่ควรจะมาเป็นกรรมการสรรหา

"ผมขอเสนอให้กรรมการสรรหาดังกล่าว มาจากสัดส่วน 3-8-4 โดยมาจากประธาน 3 ศาล อธิการบดี และผู้แทนพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ซึ่งเลือกกันเองจำนวน 2 คน ผู้แทนพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ซึ่งเลือกกันเอง 2 คน แค่นี้ก็ไม่เถียงกันแล้ว ตอนนี้ผมเห็นด้วยกับร่างรัฐบาลแค่ครึ่งเดียว ที่ไม่เห็นด้วยคือ การตัดตัวแทนพรรคการเมืองออก และการเสนอให้ประธานรัฐสภาเข้ามาเป็นกรรมการสรรหา"น.ท.สุรินทร์ กล่าว

**วุฒิฯลบภาพนักต่อรองหนุนแก้มาตราเดียว

ด้าน คณะกรรมการพิจารณาศึกษาประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ของวุฒิสภา โดยมีนายนิพนธ์ วิศิษฐยุทธศาสตร์ รองประธานวุฒิสภาเป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมได้ตกลงที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงประเด็นเดียว ในเรื่องของคณะกรรมการสรรหา กรรมการ ป.ป.ช.

อย่างไรก็ตาม วุฒิสภา ต้องศึกษาร่างทั้งของ ฝ่ายค้าน และรัฐบาล ว่าตรงไหนจะเกิดประโยน์สูงสุด และวุฒิสภาก็จะช่วยหาทางออกร่วมด้วย โดยจะตั้งคณะกรรมาธิการร่วมสองสภาขึ้นมาพิจารณา

ทั้งนี้วุฒิสภาได้มีมติให้ คณะกรรมาธิการทั้ง 23 คณะ เสนอชื่อมาเพียงคณะละ 1 คน จากนั้น ที่ประชุมวุฒฺสภาคัดให้เหลือ 13 คน เพื่อส่งไปเป็นกรรมาธิการฯ พิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญใน วาระ 2 ตามสัดส่วนของวุฒิสภา ส่วนที่เกรงว่า วุฒิสภาจะพ่วงแก้กรณีปลดล็อก 90 วันให้ส.ศ. แลกกับให้ ส.ว.ลงสมัครได้อีกสมัยนั้นไม่มีแน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในที่ประชุมนายชุมพล ศิลปอาชา ส.ว.กทม. ได้กล่าวถึงปัญหาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ที่จริงแล้ว ไม่ใช่ทางตัน แต่วิกฤตเกิดจากฝ่ายรัฐบาล และ ฝ่ายค้านทะเลาะเพื่อเอาชนะกันทางการเมือง

"ที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือกรณีศาลปกครองสูงสุด ไม่มีคนยอมมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะอยู่ได้นานกว่า ขณะที่ทางศาลรัฐธรรมนูญเองก็ไม่มีใครอยากเป็นประธานศาล ซึ่งจุดนี้จะเป็นเดดล็อก นอกจากนี้ต่อไป มหาวิทยาลัยต่างๆ จะออกนอกระบบ ซึ่งก็จะเหลือมหาวิทยาลัยของรัฐเพียงไม่กี่แห่ง และจะเป็นปัญหาตามมา" นายชุมพล กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น